สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2553 และแนวโน้มปี 2554(อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 21, 2010 14:27 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สถานการณ์ทั่วไป

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกสูงโดยปี 2553 ในช่วง 10 เดือนแรก มีมูลค่าการส่งออก 9,548.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เป็นอันดับที่ 3ของสินค้าส่งออกสำคัญของไทยในหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ซึ่งในปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัวจึงมีส่วนช่วยสนับสนุนภาคการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ แม้สถานการณ์ราคาทองคำจะอยู่ในภาวะที่สูงถึงสูงมากเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับก่อให้เกิดการพัฒนาของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกัน ตั้งแต่การทำเหมือง การเจียระไน การออกแบบ การทำและประกอบตัวเรือน การผลิตเครื่องมือเครื่องจักรในการเจียระไนพลอย และการทำวัสดุหีบห่อ เป็นต้น ก่อให้เกิดการจ้างงานประมาณ 1.3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็ก มีโรงงานที่จดทะเบียนกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประมาณ 700 โรงงาน อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจึงเป็นอุตสาหกรรมหลักประเภทหนึ่งที่สำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ

การผลิต

จากตัวเลขประมาณการภาพรวมในปี 2553 ดัชนีผลผลิต เครื่องเพชร พลอย และรูปพรรณและของที่เกี่ยวข้องกัน (ดูตารางที่ 1 ประกอบ) อยู่ที่ 59.47 ลดลงจากปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 1.94 ซึ่งเป็นการลดลงเพียงเล็กน้อยในภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว ดัชนีส่งสินค้า (ดัชนีการจำหน่าย) อยู่ที่ 62.09 ลดลงจากปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 3.63 เป็นการลดลงเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังอยู่ที่ 72.29 ลดลงจากปี 2552 คิดเป็นร้อยละ 2.41

การตลาด

การส่งออก

จากตัวเลขประมาณการภาพรวมในปี 2553 อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่าการส่งออก (ดูตารางที่ 2 ประกอบ) คิดเป็นมูลค่า 11,457.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 17.37 ซึ่งปี 2552 มีมูลค่าการส่งออกอยู่ที่ 9,762.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ การส่งออกสินค้าที่สำคัญ เช่น การส่งออกเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทองมีมูลค่า 1,642.02 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.22 เนื่องจากราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับอยู่ในช่วงเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว ผู้บริโภคจึงมีกำลังใช้จ่าย อันดับถัดมา ได้แก่ เครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยเงินมีมูลค่า 1,222.74ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.84 เนื่องจากผู้บริโภคบางส่วนนิยมบริโภคสินค้าประเภทเงินมากขึ้น ในภาวะที่สินค้าที่ประกอบด้วยทองคำมีราคาสูงขึ้น เพชรมีมูลค่า 1,082.35 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.25 และพลอยมีมูลค่า 489.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.28 เป็นต้น

ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 31.79, 20.65, และ 15.74 ตามลำดับ โดยสินค้าส่งออกที่สำคัญในตลาดสวิตเซอร์แลนด์ ได้แก่ทองคำยังไม่ขึ้นรูป สินค้าส่งออกที่สำคัญในตลาดฮ่องกง ได้แก่ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป และพลอย และสินค้าส่งออกที่สำคัญในตลาดออสเตรเลีย ได้แก่ ทองคำยังไม่ขึ้นรูป เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงิน และเครื่องประดับแท้ทำด้วยทอง

การนำเข้า

จากตัวเลขประมาณการภาพรวมในปี 2553 ไทยมีการนำเข้าสินค้าเครื่องเพชรพลอยอัญมณี เงินแท่งและทองคำ (ดูตารางที่ 3 ประกอบ) คิดเป็นมูลค่า 10,248.00 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นจากปีก่อนคิดเป็นร้อยละ 87.10 สาเหตุที่มูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังฟื้นตัว ทำให้การนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบขยายตัว ประกอบกับราคาทองคำในตลาดโลกโดยเฉลี่ยปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อน โดยในปี 2553 อยู่ที่ระดับประมาณ 1,300เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ ซึ่งในปี 2552 ราคาทองคำโดยเฉลี่ยประมาณ 1,200 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์จึงคาดว่ามูลค่าการนำเข้าทองคำโดยรวมจะมีมูลค่า 8,178.01 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 116.05 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยการนำเข้าเพชรจะมีมูลค่า 824.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ6.47 อันดับถัดมา ได้แก่ เงิน พลอย และโลหะมีค่า และโลหะอื่นๆ

แหล่งนำเข้าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญของไทย ได้แก่ ออสเตรเลีย จีนฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และอินเดีย

สรุปและแนวโน้ม

โดยสรุปภาพรวมการผลิตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2553 เมื่อเทียบกับปี 2552 ลดลงร้อยละ 1.94

ภาพรวมด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2553 จะมีการขยายตัวร้อยละ 17.37 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และออสเตรเลีย ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นมูลค่า 6,392.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

ด้านการนำเข้าในอุตสาหกรรมนี้ คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 87.10 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ ออสเตรเลีย จีน ฮ่องกง สวิตเซอร์แลนด์ และอินเดีย ซึ่งสินค้านำเข้าส่วนใหญ่จะใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต

จากการประมาณการมูลค่าการส่งออกและการนำเข้าในปี 2553 พบว่าไทยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกมากกว่ามูลค่าการนำเข้า

สำหรับแนวโน้มการผลิต ในปี 2554 คาดว่าการผลิตจะขยายตัว ซึ่งจะเป็นไปตามการส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัว

สำหรับแนวโน้มด้านการส่งออก ในปี 2554 ปัจจัยบวก คือ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวได้ระดับหนึ่ง ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น แนวโน้มราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจึงปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมีผลต่อราคาทองคำเพิ่มสูงขึ้น จะทำให้การส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปเพิ่มขึ้น ปัจจัยลบ คือค่าเงินบาทที่คาดว่าจะแข็งค่าต่อเนื่องจากปีก่อน ซึ่งส่งผลต่อราคาสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับในสายตาต่างชาติที่จะสูงขึ้น จากปัจจัยบวกและปัจจัยลบดังที่กล่าวมานั้น ปัจจัยบวกจะมีผลกระทบด้านดีมากกว่า จึงคาดว่าการส่งออกในปี 2554 จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 8.00

แนวโน้มด้านการนำเข้า ในปี 2554 อุตสาหกรรมนี้การนำเข้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าวัตถุดิบ คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 5.00 ซึ่งจะสอดคล้องกับการส่งออกที่เพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ