สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไทยปี 2553 และแนวโน้มปี 2554(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 21, 2010 14:30 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2553 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 3.2 เนื่องจากการผลิตในหลายสินค้า ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่จากการที่หลายประเทศในยูโรโซนยังประสบปัญหาวิกฤตทางการเงิน ผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท และปัญหาวัตถุดิบขาดแคลน ทำให้ระดับราคาสินค้าในตลาดโลกมีความผันผวนอย่างมากในเกือบทุกสินค้า ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประเทศผู้ผลิตสำคัญหลายประเทศประสบปัญหาด้านวัตถุดิบจากภัยธรรมชาตินอกจากนี้การเปิดตลาดสินค้าในประเทศใหม่ๆ ยังมีข้อจำกัดทางเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างแท้จริง จึงทำให้การผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยได้รับผลกระทบไปด้วย สำหรับภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในแต่ละกลุ่ม มีดังนี้

  • กลุ่มปศุสัตว์ สินค้าสำคัญ คือ ไก่สดแช่แข็งและไก่แปรรูป โดยภาพรวมของกลุ่มปี 2553 จะมีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.5 เป็นผลจาก EU ได้เปิดนำเข้าไก่แปรรูปเต็มโควตา ประกอบกับตลาดญี่ปุ่นและตลาดใหม่ในแถบตะวันออกกลางเริ่มนำเข้าไก่จากไทยเพิ่มขึ้น
  • กลุ่มประมง สินค้าสำคัญ คือ กุ้งและผลิตภัณฑ์จากกุ้ง โดยภาพรวมของกลุ่ม ปี2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก เป็นผลจากการที่ประเทศผู้ผลิตซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญ ได้แก่ เวียดนามอินโดนีเซีย และประเทศในแถบอเมริกาใต้ ได้รับผลกระทบจากโรคระบาด และการที่สหรัฐฯ ประกาศปิดอ่าวเม็กซิโก ห้ามทำการประมงจากปัญหาน้ำมันรั่วไหลจากแท่นขุดเจาะน้ำมันระเบิด ประกอบกับผลิตภัณฑ์จากปลาทูน่า ปรับตัวดีขึ้น ทำให้ปริมาณการผลิตในภาพรวมเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 7.0 โดยเฉพาะการผลิตกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ที่เป็นสินค้าหลักได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมากจากปริมาณวัตถุดิบที่สามารถขยายการผลิตได้เพิ่มขึ้น
  • กลุ่มผักผลไม้ ภาพรวมของการผลิต ปี 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 จากการผลิตเพิ่มขึ้นของสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ สับปะรดกระป๋อง เนื่องจากวัตถุดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้น จากระดับราคาตลาดโลกที่จูงใจให้ผลิตเพิ่มขึ้น แต่จากการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลให้มีการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น จำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้น
  • ผลิตภัณฑ์นม ธัญพืชและแป้ง และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป การผลิตในปี 2553ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 5.0 และ 8.5 เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบนำเข้าในสินค้าผลิตภัณฑ์นม ข้าวและแป้งสาลี ลดลง ทำให้ต้นทุนลดลง กระตุ้นการผลิตสินค้าแปรรูปเพิ่มขึ้น
  • น้ำมันพืช การผลิตในปี 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 เนื่องจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้นำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองมาผลิตเพิ่มขึ้น ส่วนปาล์มน้ำมัน แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติทั้งภัยแล้งช่วงต้นปีและน้ำท่วมช่วงปลายปี แต่ยังมีผลผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อย
  • น้ำตาล การผลิตในปี 2553 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5 เนื่องจากผลผลิตอ้อยเพิ่มขึ้น จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกตามราคาที่จูงใจให้เกษตรกรปลูกอ้อยเพิ่มขึ้น

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

ภาพรวมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหาร ในปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 4.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากปัญหาความไม่แน่นอนทางการเมืองที่รุนแรงในช่วงไตรมาสที่ 2 และเริ่มคลี่คลายลง ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการบริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วงไตรมาสที่ 3-4 เกิดปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลต่อเนื่องให้ระดับต้นทุนสินค้าและราคาสินค้าอุปโภคบริโภคสูงขึ้น และอาจทำให้ตลอดทั้งปีการบริโภคในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย

2.2 ตลาดต่างประเทศ

ภาพรวมการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในปี 2553 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนในรูปเงินเหรียญสหรัฐร้อยละ 14.2 เนื่องจากได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลัก คือ สหรัฐ ญี่ปุ่น และอาเซียน ประกอบกับการปิดอ่าวเม็กซิโกทำให้ยอดการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ประมงโดยเฉพาะกุ้ง เพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท สำหรับการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์ มีดังนี้

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ประมง ภาพรวมการส่งออกในปี 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1 เมื่อเทียบกับปี 2552 ที่ขยายตัวลดลงร้อยละ 3.5 โดยมีกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง เป็นสินค้าส่งออกสำคัญที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.2 ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และ EU จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มปรับตัวดีขึ้นทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มมีแนวโน้มขยายตัว
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักและผลไม้ ภาพรวมการส่งออกในปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของสินค้าแปรรูปมากกว่าในรูปของผักผลไม้สดและแห้ง และเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา และยุโรป
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ สินค้าหลัก คือ ไก่และสัตว์ปีก ในปี 2553 ภาพรวมการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 เนื่องจากระดับราคาสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจของโลกที่เริ่มฟ้นื ตัวตั้งแต่ช่วงต้นปี
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช ภาพรวมการส่งออกของสินค้าในกลุ่มนี้ เพิ่มขึ้นในเชิงมูลค่าประมาณร้อยละ 6.0 เป็นผลจากการปรับราคาส่งออกเพิ่มขึ้นของผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และข้าว เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งเป็นตลาดหลักในการส่งออกมันเส้นและแป้งมันสำปะหลัง
  • น้ำตาลทราย ภาพรวมการส่งออกมีการขยายตัวลดลงในเชิงปริมาณ แต่ในเชิงมูลค่าปรับตัวเพิ่มขึ้นตามระดับราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่เพิ่มขึ้น จากการที่ประเทศอินเดียประสบปัญหาภัยแล้ง ทำให้สต็อกน้ำตาลในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้ในปี 2553 มูลค่าการส่งออกน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.2

3. สรุปและแนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2554 คาดว่า จะขยายตัวจากปี 2553 ร้อยละ 1.0 ขณะที่การคาดการณ์การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2553 ในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 10.0 โดยมีปัจจัยภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกาและประเทศผู้นำเข้าทั้งสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การผลิตและการส่งออกของไทยในสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น และยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การประกาศลดค่าเงินของประเทศคู่แข่งและการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคที่ยังชะลอการจับจ่ายใช้สอย การแพร่ระบาดของเชื้อไข้หวัดนกรอบใหม่ ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้และมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังการประกาศมาตรการกีดกันรูปแบบใหม่ โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัยของแรงงาน ซึ่งจะทะยอยประกาศใช้เพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศ รวมถึงการเร่งแก้ไขปัญหาความปลอดภัยของอาหารที่จีนเคยถูกปฏิเสธการนำเข้า เริ่มกลับมาส่งออกได้ อาจส่งผลต่อการแข่งขันกับสินค้าไทยได้ในอนาคต ในขณะที่รายกลุ่มผลิตภัณฑ์มีปัจจัยสนับสนุน เช่น กลุ่มปศุสัตว์ จะได้รับผลดีจากการตรวจรับรองโรงงานผลิตไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากสหภาพยุโรป และประเทศอียิปต์ ซึ่งจะทำให้สามารถส่งออกไก่สดแช่แข็งได้อีกครั้งหลังจากประสบปัญหาไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 2547 กลุ่มประมงมีการควบรวมกิจการโดยบริษัทของไทยได้ซื้อกิจการที่มีการจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องในสหภาพยุโรปทำให้สามารถจำหน่ายในยุโรปโดยมีภาษีนำเข้าที่ลดลง นอกจากนี้ทางการสหรัฐฯ ยังได้ยกเลิกการประกาศห้ามทำประมงในอ่าวเม็กซิโกจากกรณีแท่นขุดเจาะน้ำมันของ BP ระเบิด ซึ่งคาดว่าจะมีผลในช่วงไตรมาสแรก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจาก กลุ่มผักผลไม้ ธัญพืชและแป้ง และน้ำตาล ซึ่งพื้นที่เพาะปลูกได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทำให้ผลผลิตเกิดความเสียหายในหลายพื้นที่

--สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ