รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนธันวาคม 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 12, 2011 12:05 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนพฤศจิกายน 2553

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2553 ลดลงจากเดือนตุลาคม 2553 ร้อยละ 0.4 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตยังคงขยายตัวในหลายอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนการส่งออกสูง เช่น ยานยนต์เครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนพฤศจิกายน 2553 อยู่ที่ระดับร้อยละ 63.6ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 63.9 ในเดือนตุลาคม 2553

ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญ

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

  • การผลิตและการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าจะขยายตัวได้อีก รวมทั้งการจำหน่ายในประเทศและการส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอาเซียนภายใต้ข้อตกลงการเปิดเสรีการค้าและการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558

อุตสาหกรรมยานยนต์

  • ในเดือนธันวาคม 2553 บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานประกอบรถยนต์แห่งที่ 3 ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งจะทำการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กที่มีความกะทัดรัด และประหยัดพลังงาน เพื่อตอบสนองความต้องการรถยนต์ประเภทนี้ของตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตในช่วงต้นปี 2555 สำหรับโรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตเบื้องต้นอยู่ที่ 150,000 คันต่อปี และมีจ้างงานประมาณ 3,000 คน

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ต.ค. 53 = 191.2

พ.ย. 53 = 190.4

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่

  • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
  • Hard Disk Drive
  • ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

ต.ค. 53 = 63.9

พ.ย. 53 = 63.6

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่

  • อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง
  • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
  • เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนพฤศจิกายน 2553 มีค่า 190.4 ลดลงจากเดือนตุลาคม2553 (191.2) ร้อยละ 0.4 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนพฤศจิกายน 2552(180.2) ร้อยละ 5.6

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม2553 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม Hard Disk Drive ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เม็ดพลาสติก เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนพฤศจิกายน 2553 อยู่ที่ระดับร้อยละ 63.6 ลดลงเล็กน้อยจากเดือนตุลาคม 2553 (ร้อยละ 63.9) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนพฤศจิกายน2552 (ร้อยละ 60.3)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนตุลาคม 2553 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐานชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เม็ดพลาสติก อาหารสัตว์สำเร็จรูป เส้นใยสิ่งทอ เป็นต้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนพฤศจิกายน 2553

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2553เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2553 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 329 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนตุลาคม 2553 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 342 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 3.80 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 14,430.37 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2553 ซึ่งมีการลงทุน 13,128.19 ล้านบาท ร้อยละ 9.92 และการจ้างงานรวมมีจำนวน 8,761คน เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2553 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 7,340 คน ร้อยละ 19.36

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2553เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 310 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 6.13 มีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่มีจำนวนการจ้างงาน8,159 คน ร้อยละ 7.38 แต่มียอดเงินลงทุนรวมลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งมีการลงทุน21,163.40 ล้านบาท ร้อยละ 31.81

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน2553 คือ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์และเคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 21 โรงงานรองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิตเสาเข็มคอนกรีตอัดแรง คานสะพานคอนกรีตอัดแรงและแผ่นพื้นคอนกรีต จำนวน 16 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2553 คืออุตสาหกรรม ผลิต และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า เงินลงทุน จำนวน 4,884.30 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรม ผลิตเครื่องดื่มจากผักหรือพืช ผลไม้ และบรรจุในภาชนะที่ผนึกและอากาศเข้าไม่ได้ เงินลงทุน จำนวน 1,563.00 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2553 คือ อุตสาหกรรม ผลิตเชือก ตาข่าย แห อวน จำนวนคนงาน 1,020 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป จำนวนคนงาน 664 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนตุลาคม 2553 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 89 ราย น้อยกว่าเดือนตุลาคม2553 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 114 ราย คิดเป็นร้อยละ 21.93 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 747.54 ล้านบาท น้อยกว่าเดือนตุลาคม 2553 ที่ การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,922.87ล้านบาท และการเลิกจ้างงานมีจำนวน 2,002 คน น้อยกว่าเดือนตุลาคม 2553 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 3,939 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนพฤศจิกายน 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการมากกว่าเดือนพฤศจิกายน 2552ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 85 ราย คิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 4.71 แต่มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,378.18 ล้านบาทและมีการเลิกจ้างงานน้อยกว่าเดือนพฤศจิกายน 2552 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 2,144 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน 2553 คืออุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป จำนวน 27 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์และเคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 11 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2553คืออุตสาหกรรมฟอก ย้อมสี หรือแต่งสำเร็จด้ายหรือสิ่งทอ เงินทุน 279.2 ล้านบาทรองลงมาคือ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์และเคาะพ่นสีรถยนต์ เงินทุน 74.8 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนพฤศจิกายน 2553คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป คนงาน 931 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งร่างกาย คนงาน 185 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม —พฤศจิกายน 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 1,420 โครงการ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวน 905 โครงการ ร้อยละ 56.91 และมีเงินลงทุน 456,000 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 260,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 75.38

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม —พฤศจิกายน 2553
            การร่วมทุน                     จำนวน(โครงการ)        มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%                 567                     144,700
          2.โครงการต่างชาติ 100%                505                     164,300
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ          348                     147,000
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม — พฤศจิกายน 2553 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 175,700 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องไฟฟ้า มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 94,200 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารคาดว่า จะชะลอตัวลง หลังจากที่ได้ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนก่อน ประกอบกับราคาน้ำ มันที่ปรับเพิ่มขึ้น ทำ ให้ต่างประเทศชะลอการสั่งซื้อลง นอกจากนี้การจำหน่ายภายในประเทศอาจปรับตัวดีขึ้นภายหลังอุทกภัยคลี่คลายและการประกาศตรึงราคาสินค้า กระตุ้นให้ประชาชนเร่งจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปลายปี

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนพฤศจิกายน 2553 ลดลงจากปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 0.4 และ2.3 ตามลำดับ แบ่งเป็น กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลักเช่น สับปะรดกระป๋อง และแป้งมันสำปะหลัง มีปริมาณการผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 12.2 และ 11.3 เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 18.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากเกิดภาวะน้ำท่วม เกษตรกรไม่สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้นอกจากนี้ในส่วนของการผลิตน้ำตาล ขณะนี้มีโรงงานน้ำตาลเริ่มเปิดหีบเพียง 1 โรงงาน ซึ่งช้ากว่าปีก่อน และมีปริมาณอ้อยเข้าหีบลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน จากปัญหาภัยแล้ง

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2553 สินค้าอาหารและเกษตร มีปริมาณการจำหน่ายลดลงจากปีก่อนร้อยละ 0.3 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 0.3 จากการเพิ่มขึ้นของการจับจ่ายใช้สอยเนื่องจากข่าวการขอปรับเพิ่มราคาสินค้า และการประกาศตรึงราคาไว้จนถึงสิ้นปี

2) ตลาดต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกโดยรวมของอุตสาหกรรมอาหาร(ไม่รวมน้ำตาล) ในรูปเงินบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 9.4 และ 8.2 ตามลำดับ โดยเฉพาะในสินค้าสับปะรดกระป๋องกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ไก่แปรรูปและปลาทูน่ากระป๋อง มูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 31.6 20.9 10.5 และ 3.1 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามในส่วนน้ำตาล ส่งออกได้ลดลง เนื่องจากราคาปรับเพิ่มขึ้นประกอบกับสต็อกน้ำตาลในประเทศมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ จึงทำให้มีการซื้อคืนน้ำตาลโควตา ค กลับจากผู้ส่งออก

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะชะลอตัวลงเล็กน้อย หลังจากได้ปรับเพิ่มขึ้นในเดือนก่อน แม้ว่าค่าเงินบาทที่เริ่มมีเสถียรภาพ จะทำให้ผู้ผลิตสามารถรับคำสั่งซื้อได้ดีขึ้นก็ตามแต่จากความวิตกกังวลในระดับราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อาจส่งผลให้คำสั่งซื้อของต่างประเทศชะลอตัวลง สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศเริ่มคลี่คลาย ประกอบกับการประกาศตรึงราคาสินค้า ซึ่งอาจกระตุ้นให้ประชาชนเร่งการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้นในช่วงเทศกาลปลายปี

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“...การผลิตและการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคาดว่าจะขยายตัวได้อีก รวมทั้งการจำหน่ายในประเทศและการส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอาเซียนภายใต้ข้อตกลงการเปิดเสรีการค้าและการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558...”

1. การผลิต

ภาวะการผลิตในเดือนพฤศจิกายน 2553 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอ มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอ เครื่องนอนและสิ่งทออื่นๆ ลดลงร้อยละ 4.3, 1.6 และ 10.4 ตามลำดับ แต่เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักและผ้าทอ ยังมีการผลิตที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9และ 3.4 เพื่อรองรับเทศกาลในช่วงปลายปี แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0 และการผลิตผ้าผืนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 ตามปริมาณความต้องการใช้ที่เพิ่มสูงขึ้นแต่การผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักและและผ้าทอ ลดลงร้อยละ3.4 และ 3.2

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ เดือนพฤศจิกายน 2553 ซึ่งส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน เครื่องนอน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4, 3.2, 13.1 และ 36.5 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0, 3.7,5.1 และ 44.0 ตามลำดับ สำหรับการส่งออก ลดลงร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ได้แก่ ผ้าผืน ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ ลดลงร้อยละ 1.4, 10.4, 7.1 และ 4.8 ตามลำดับ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.5 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์เคหะสิ่งทอและเส้นใยประดิษฐ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9, 30.5, 92.1, 51.4,13.6 และ 49.1 ตามลำดับ ในด้านตลาดส่งออกเมื่อเทียบกับเดือนก่อนขยายตัวเพิ่มขึ้นในตลาดอาเซียน ร้อยละ 1.8 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในตลาดสหภาพยุโรป ร้อยละ 0.7 แต่หดตัวลงในตลาดสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ร้อยละ 5.9 และ 17.4 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกขยายตัวได้ดีในทุกตลาดทั้งอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.7, 30.4, 9.7 และ 18.8 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม คาดว่าจะขยายตัวได้อีก รวมทั้งการจำหน่ายในประเทศและการส่งออกยังขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในอาเซียนภายใต้ข้อตกลงการเปิดเสรีการค้าและการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการควรจะผลิตสินค้าที่มีรูปแบบสอดคล้องกับความต้องการของตลาดเป็นหลัก เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและหลีกเลี่ยงกับการแข่งขันกับประเทศที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ผู้ผลิตแร่เหล็กรายใหญ่ของจีนในเมือง Hebei เปิดเผยว่าในเดือนพฤศจิกายนนี้ ผลผลิตแร่เหล็กไม่เพิ่มขึ้นมากนักเนื่องจากนโยบายประหยัดพลังงานของรัฐที่ยังคงบังคับใช้อยู่ โดยในเดือนพฤศจิกายนจีนมีผลผลิตแร่เหล็ก 95.58 ล้านตัน อย่างไรก็ตามคาดว่าในเดือนธันวาคมผลผลิตจะตกลงมาอีกจากสภาพอากาศที่หนาวเย็นและอุณหภูมิติดลบ

1.การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนพฤศจิกายน 2553 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ร้อยละ 11.85 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 116.17 เมื่อพิจารณาในกลุ่มเหล็กแผ่นพบว่า ลดลง ร้อยละ 22.28 โดยเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลง ร้อยละ 41.23เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลง ร้อยละ 38.47 เนื่องจากผู้ผลิตรายใหญ่รายหนึ่งได้ปิดซ่อมบำรุงประจำปีเป็นเวลา 2 สัปดาห์ สำหรับเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.07 เนื่องจากความต้องการใช้ในการก่อสร้างซึ่งเริ่มเพิ่มขึ้น ประกอบกับการใช้ในการซ่อมแซมบ้านเรือนจากผลกระทบน้ำท่วมโดยลวดเหล็กแรงดึงสูง เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.77 เหล็กเส้นข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.73ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลง ร้อยละ17.60 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 30.82 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 43.40 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 37.52 สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.27 โดยเหล็กเส้นกลม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 46.63

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนธันวาคม 2553 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาเหล็กที่สำคัญที่เพิ่มขึ้นทุกตัว ได้แก่ เหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต เพิ่มขึ้นจาก 132.42 เป็น 138.97 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ4.95 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้นจาก 119.49 เป็น 125.13 เพิ่มขึ้น ร้อยละ4.72 เหล็กเส้น เพิ่มขึ้นจาก 120.74 เป็น 125.53 เหรียญสหรัฐต่อตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.97 เหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้นจาก 119.27 เป็น 123.26 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.91 และเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 132.71 เป็น 134.58 เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.41 สำหรับสาเหตุที่ราคาเหล็กทุกผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นเนื่องจากราคาของแร่เหล็กและเศษเหล็กที่เพิ่มขึ้น และจากข้อมูลของ The Steel Index(TSI) พบว่าราคาแร่เหล็กที่มีธาตุเหล็กอยู่ 62% และ 58% เพิ่มสูงขึ้น โดยราคาอ้างอิงของแร่เหล็ก 62% เพิ่มขึ้นมา 1.9 USD/ton หรือ 1.1% จากสัปดาห์ก่อนมาอยู่ที่ 170.70 USD/ton ส่วนราคาอ้างอิงของของแร่เหล็ก 58% เพิ่มขึ้นมา1.4 USD/ton หรือ 1 % จากสัปดาห์ก่อน

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนธันวาคม 2553 คาดว่าจะมีทิศทางที่ขยายตัวขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเหล็กทรงยาวมีแนวโน้มการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนหลังจากน้ำท่วม สำหรับเหล็กทรงแบนพบว่ามีแนวโน้มการผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า มีการผลิตที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

“ ในเดือนธันวาคม 2553 บริษัท มิตซูบิชิ มอเตอร์ส(ประเทศไทย) จำกัด จัดพิธีวางศิลาฤกษ์โรงงานประกอบรถยนต์แห่งที่ 3 ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมแหลงฉบัง จ.ชลบุรี ซึ่งจะทำการผลิตรถยนต์ขนาดเล็กที่มีความกะทัดรัดและประหยัดพลังงาน เพื่อตอบสนองความต้องการรถยนต์ประเภทนี้ของตลาดภายในประเทศ และต่างประเทศ โดยคาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตในช่วงต้นปี 2555 สำหรับโรงงานแห่งนี้มีกำลังการผลิตเบื้องต้นอยู่ที่ 150,000 คันต่อปีและมีจ้างงานประมาณ 3,000 คน “

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ขยายตัวอย่างต่อเนื่องเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ทั้งการจำหน่ายในประเทศ และการส่งออก ส่วนหนึ่งเนื่องจากผู้บริโภคมีความต้องการอย่างต่อเนื่องในรถยนต์นั่ง และรถยนต์รุ่นใหม่ที่เริ่มออกสู่ตลาด โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤศจิกายน ดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 157,094 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งมีการผลิต 120,985 คัน ร้อยละ 29.85โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของรถยนต์ทุกประเภท (รถยนต์นั่ง,รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์) และมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2553 ร้อยละ2.88
  • การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 78,874 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งมีการจำหน่าย 58,323 คัน ร้อยละ35.24 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของรถยนต์ทุกประเภท(รถยนต์นั่ง, รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์ PPV และ SUV)และมีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม2553 ร้อยละ 9.53
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 79,618 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งมีการส่งออก 58,665 คัน ร้อยละ 35.72 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย โอเชียเนีย ตะวันออกกลาง แอฟริกา ยุโรป อเมริกากลาง และอเมริกาใต้ แต่มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ลดลงจากเดือนตุลาคม 2553 ร้อยละ 0.92
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนธันวาคม 2553คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2553เนื่องจากมีการจัดงาน Motor Expo 2010 ระหว่างวันที่ 2-12ธันวาคม 2553 ซึ่งผู้ประกอบการรถยนต์เกือบทุกค่ายมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายเพื่อกระตุ้นยอดขายในช่วงสิ้นปี 2553สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนธันวาคม 2553 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ ร้อยละ 45 และส่งออกร้อยละ 55

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน 2553ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2552 ทั้งการจำหน่ายในประเทศ และการส่งออก โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤศจิกายน ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 175,866 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งมีการผลิต 165,557 คัน ร้อยละ6.23 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นทั้งรถจักรยานยนต์ แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต แต่มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนตุลาคม 2553 ร้อยละ 4.03
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 144,220 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งมีการจำหน่าย 130,264 คันร้อยละ 10.71 และมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2553 ร้อยละ 3.64
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) จำนวน 15,407คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2552 ซึ่งมีการส่งออก 8,081คัน ร้อยละ 90.66 ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีผู้ประกอบการรถจักรยานยนต์มีการส่งออกรถจักรยานยนต์รุ่นใหม่ได้มากขึ้นแต่มีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูปลดลงจากเดือนตุลาคม 2553 ร้อยละ 0.93
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม 2553 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2553 เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายสำ หรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนธันวาคม 2553ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ93 และส่งออกร้อยละ 7
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้น เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้าง การส่งออกเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มฟื้นตัว อีกทั้งตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งเป็นประเทศกำ ลังพัฒนา มีการก่อสร้างที่เพิ่มสูงขึ้นเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนพฤศจิกายน 2553 ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.69 และ 10.68 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.88 และ 5.56ตามลำดับ เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้าง และมีการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายจากน้ำท่วม ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยในการเติบโตของอุตสาหกรรม คือ การเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนพฤศจิกายน 2553 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.75 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงเล็กน้อย เพียงร้อยละ 0.13 ตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ กัมพูชาเมียนมาร์ บังคลาเทศ และเวียดนาม

3.แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้างรวมทั้งมีการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และปรับปรุงสาธารณูปโภคที่เสียหายจากน้ำท่วม

สำหรับการส่งออกคาดว่าจะยังขยายตัวได้ดีเนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในกิจกรรมการก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

-ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนธันวาคม 2553 ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องคอมเพรสเซอร์

-ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดือนธันวาคม 2553 มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.00 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการผลิตเพื่อส่งออก IC /Semiconductor เป็นหลัก

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มี

มูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน พ.ย. 2553

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์                         มูลค่า        %MoM       %YoY
          อุปกรณ์คอมพิวเตอร์                               1,544.77      -0.41      3.51
          IC                                             689.06      -1.45      7.07
          เครื่องปรับอากาศ                                  242.79       6.90     62.10
          กล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่งวีดีโออื่นๆ      204.51      11.59     59.05
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์                  4,552.56      -1.80     15.04

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนพฤศจิกายน 2553 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 366.03 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 1.31 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.28 เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.26 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.69 ตามการผลิตเครื่องปรับอากาศ ซึ่งอุปสงค์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในออสเตรเลียและตะวันออกกลาง และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงสภาพอากาศที่ร้อน สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.43 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.71 โดยการผลิต Hard Disk Drive และ Integrated Circuit (IC) ชะลอลงจากที่เร่งผลิตในช่วงก่อนหน้า ขณะที่อัตราการใช้กำลังการผลิตของทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์ ยังอยู่ในระดับสูงมากกว่า 90%

2. การตลาด

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนพฤศจิกายน2553 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 1.80 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.04 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ4,552.56 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออกรวมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 3.23 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.24 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมของเครื่องใช้ไฟฟ้าคือ 1,787.27 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูงที่สุดได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และกล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวีดีโอภาพนิ่ง วีดีโออื่นๆ โดยมีมูลค่าส่งออกคือ 242.79 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 204.51 ล้านเหรียญสหรัฐ สำ หรับมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.85 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนส่วนมากเป็นการชะลอตัวของการส่งออกอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ เนื่องจากตลาดส่งออกหลักลดการสั่งซื้อเพื่อระบายสต๊อกสินค้าที่ได้สั่งไปมากก่อนหน้านี้ และ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ7.87โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์คือ 2,765.29 ล้านเหรียญสหรัฐ

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนธันวาคม 2553 ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.54 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องคอมเพรสเซอร์ส่วนการประมาณการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 7.00 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจากการผลิตเพื่อส่งออกของ IC/Semiconductor เป็นหลัก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ