ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2553 ลดลงร้อยละ 2.5 โดยการผลิตเริ่มมีการหดตัวในหลายอุตสาหกรรม เช่น Hard Disk Drive น้ำตาล เครื่องแต่งกาย เบียร์ อัญมณีและเครื่องประดับ สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 20.3 และทั้งปี 2553 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 14.5 ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวที่ร้อยละ 28.9
การผลิตในภาคอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(1) หดตัวร้อยละ 2.5 เป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปลายปี 2552 โดยปัจจัยของการหดตัวมาจากสาเหตุหลายประการอาทิ ฐานที่ใช้เปรียบเทียบในเดือนธันวาคม 2552 มีค่าสูงมาก รวมถึงต้นทุนการผลิตในบางอุตสาหกรรมที่เพิ่มสูงขึ้นมาก เช่นอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม แต่ทั้งนี้จะได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป และเมื่อพิจารณาทั้งปี 2553 การผลิตขยายตัวในอัตราร้อยละ14.5 จากปี 2552 ที่หดตัวร้อยละ 7.2
อัตราการใช้กำลังการผลิต(2) ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 63.60 ในเดือนพฤศจิกายน 2553 เป็นร้อยละ 63.39 ในเดือนธันวาคม 2553 และทั้งปี 2553 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ร้อยละ 63.42
เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ดี โดยเดือนธันวาคม 2553 ขยายตัวที่ร้อยละ 20.3 ทำให้ทั้งปี 2553 การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 28.9
หมายเหตุ
(1) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นดัชนีที่แสดงทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาพรวม รายสาขาอุตสาหกรรม และรายผลิตภัณฑ์
(2) อัตราการใช้กำลังการผลิต หมายถึง ค่าร้อยละของการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเทียบกับความสามารถในการผลิตสูงสุดเต็มศักยภาพ หรือเต็มกำลังการผลิต (capacity)
อุตสาหกรรมรายสาขา(ธันวาคม 2553)
อุตสาหกรรมอาหาร ในภาพรวมมีการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.9 โดยสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่น สับปะรดกระป๋อง และแป้งมันสำปะหลัง มีปริมาณการผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 23.8 และ 11.1 เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบออกสู่ตลาดลดลง กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 38.4 เมื่อเทียบกับปีก่อนเนื่องจากปาล์มน้ำมันมีการพักตัว และอยู่ในช่วงนอกฤดู ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย
ด้านการส่งออกโดยรวมในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.8 โดยสินค้าสำคัญ อาทิสับปะรดกระป๋อง กุ้งแช่เย็นแช่แข็ง และไก่แปรรูปมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 24.4 19.6และ 9.7 ตามลำดับ
อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มผลิตภัณฑ์ที่มีการขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก และสิ่งทออื่นๆ โดยขยายตัวร้อยละ 8.2,19.9 และ 3.7 ตามลำ ดับ ด้านการส่งออกโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.0, 29.2, 31.2, 7.7และ 39.6 ตามลำดับ
อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตลดลง ร้อยละ14.83 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 24.51 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ59.21 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ30.57 ซึ่งสาเหตุสำคัญที่ผู้ผลิตเหล็กสองผลิตภัณฑ์นี้ต้องลดการผลิตลงเนื่องจากมีการนำเข้าเหล็กแผ่นเคลือบซึ่งมีราคาถูกจากประเทศจีนเป็นจำนวนมากจึงทำให้ผู้ผลิตไทยมีคำสั่งซื้อน้อยลงและต้องลดการผลิตลง สำหรับเหล็กทรงยาว เพิ่มขึ้น 11.32 โดยเหล็กเส้นข้ออ้อย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 23.38 ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ พบว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนมกราคม2554 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาเหล็กที่สำคัญเพิ่มขึ้นทุกตัว จากราคาวัตถุดิบ เช่น สินแร่เหล็ก และถ่านโค้ก ที่เพิ่มขึ้น
อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตจำนวน 137,403 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2552 ซึ่งมีการผลิต 111,722 คัน ร้อยละ 22.99 โดยเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของรถยนต์ทุกประเภท (รถยนต์นั่ง,รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์)แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนพฤศจิกายน 2553 ร้อยละ 13.03 สำหรับการส่งออกยังขยายตัวดีที่ร้อยละ 32.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตปรับตัวลดลงร้อยละ 1.07 เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.78 ตามการผลิตเครื่องปรับอากาศ ที่เพิ่มสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีการขยายตัวของการส่งออกไปยังอาเซียนอย่างต่อเนื่อง นอกจากนั้นยังมีปัจจัยการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ที่เกิดขึ้นหลายโครงการส่งผลต่อยอดการผลิตที่สูงขึ้น สำ หรับ
อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ14.98 ตามการผลิต Hard Disk Drive ที่ลดลงเนื่องจากปีก่อนมี Product รุ่นใหม่ๆที่ออกมาจำนวนมาก ปีนี้จึงไม่มีการเร่งการผลิต
ในส่วนมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.43 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 4,538.38 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--