สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 28, 2011 15:51 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

1.1 ปริมาณการผลิต

การผลิตปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 9.48 ล้านตัน การผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 9.17 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ดไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพิ่มขึ้นเพียง ร้อยละ 0.21 และ 0.42 ตามลำดับ และการผลิตปูนซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.77 และ 9.82 ตามลำดับ

สำหรับในปี 2553 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 38.94 ล้านตัน ส่วนการผลิตซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) มีจำนวน 36.62 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.12 และ 9.12 ตามลำดับ

1.2 การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 7.08 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.31 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 6.77 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนมีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ลดลงเพียงร้อยละ 0.28 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.96 สำหรับ ในปี 2553มีปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศรวม 29.66 ล้านตัน เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.29

การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากในไตรมาสที่ 4 เป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้าง รวมทั้งมีการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายหลังจากปัญหาน้ำท่วม และเมื่อพิจารณาในภาพรวมทั้งปี 2553 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวได้ดีตามภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้น ทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นขยายการลงทุนเพิ่ม ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เริ่มฟื้นตัว โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยประเภทอาคารสูงตามแนวรถไฟฟ้า รวมทั้งรัฐบาลใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นกำลังซื้อโดยการอัดฉีดงบภายใต้โครงการไทยเข้มแข็งลงระบบกระจายไปยังภูมิภาคมากขึ้น จึงส่งผลทำให้การใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย

2. การส่งออกและการนำเข้า

2.1 การส่งออก

การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีปริมาณรวม 3.52 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 4,603.14 ล้านบาท โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 1.86 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 1,922.04 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ด ลดลงร้อยละ 16.96 และ 21.30 ตามลำดับและเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ด ลดลงร้อยละ 21.85 และ27.55 ตามลำดับ ในส่วนของปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีปริมาณการส่งออกจำนวน 1.66 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 2,681.10 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)เพิ่มขึ้น ร้อยละ 9.21 และ 4.92 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 24.81 และ 11.94 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในปี 2553 มีปริมาณการส่งออกรวม 14.70 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 20,482.47 ล้านบาท โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด 8.49 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 9,252.83 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกปูนเม็ด ลดลงร้อยละ 15.61 และ 21.55 ตามลำดับ สำหรับปูนซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) มีการส่งออก 6.21 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 11,229.64 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.46 และ 24.23 ตามลำดับ

การส่งออกของไทยที่ลดลงนี้ ลดลงเฉพาะในส่วนของปูนเม็ด เนื่องจากไม่มีคำสั่งซื้อจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ซึ่งเป็นผลจากการประกาศเลื่อนชำระหนี้ของบริษัทดูไบเวิลด์ บริษัทลงทุนที่ถือหุ้นใหญ่โดยรัฐบาลดูไบ และมีขนาดใหญ่ 1 ใน 3 แห่งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ สำหรับในส่วนของปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด)ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากตลาดส่งออกหลัก ซึ่งเป็นประเทศในแถบอาเซียนเป็นประเทศกำลังพัฒนา มีกิจกรรมการก่อสร้างสูง เพื่อรองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเมียนมาร์ที่มีปริมาณความต้องการใช้ปูนซีเมนต์เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 80 เนื่องจากรัฐบาลเมียนมาร์มีนโยบายลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น

2.2 การนำเข้า

การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีปริมาณรวม 3,264.76 ตัน คิดเป็นมูลค่า 36.41 ล้านบาท โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ด จำนวน 222.85 ตัน คิดเป็นมูลค่า 4.94 ล้านบาท ปูนซีเมนต์(ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 3,041.91 ตัน คิดเป็นมูลค่า 31.47 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการนำเข้ารวมไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 0.02 แต่มูลค่าการนำเข้ารวม ลดลงร้อยละ 9.34 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการนำเข้ารวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.97 แต่มูลค่าการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 7.07

สำหรับการนำเข้าปูนซีเมนต์ในปี 2553 มีปริมาณการนำเข้ารวม 12,143.30 ตัน คิดเป็นมูลค่า 121.59 ล้านบาท เมื่อเทียบกับปีก่อนปริมาณการนำเข้ารวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.97 แต่มูลค่าการนำเข้ารวมลดลงร้อยละ 1.66 ทั้งนี้การนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นอะลูมินัสซีเมนต์ ซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ และบางส่วนเป็นการนำเข้าซีเมนต์ปอร์ตแลนด์คุณภาพสูงเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ระบุคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาก่อสร้าง ตลาดนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ จีน รองลงมา คือ เนเธอร์แลนด์ อินเดีย และญี่ปุ่น ตามลำดับ

3. สรุป

ถึงแม้ว่าภาวะการขยายตัวของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ จะได้รับผลกระทบจากปัญหาเสถียรภาพทางการเมืองในช่วงต้นปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการลงทุนของภาคเอกชน ทำให้ชะลอการลงทุนออกไป ทั้งทางด้านผู้บริโภคเองก็ระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น และส่วนการเบิกจ่ายงบลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคและการผลักดันโครงการลงทุนใหม่ๆ ของภาครัฐ ก็มีความล่าช้าออกไปอีก ประกอบกับในไตรมาสที่ 3 เริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน เกิดปัญหาน้ำท่วมหนัก เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลงตามไปด้วย แต่ในไตรมาสที่ 4 และในภาพรวมทั้งปี 2553 ปริมาณการผลิตและปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ยังขยายตัวได้ดีตามการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในที่อยู่อาศัยประเภทอาคารสูง และปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยในการเติบโตของอุตสาหกรรม คือ การเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น

ในไตรมาสที่ 1 2554 การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศคาดว่าจะยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะในปีนี้ที่อยู่อาศัยตามแนวราบจะขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนที่ขยายตัวออกสู่จังหวัดใกล้เคียงกรุงเทพฯ เช่น โครงการรถไฟฟ้าที่เชื่อมออกสู่ชานเมือง ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ ยังคงเป็นการลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคของรัฐบาล และส่วนหนึ่งมาจากการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายหลังจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2553 ซึ่งจะส่งผลทำให้การใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น

การส่งออกปูนซีเมนต์ในไตรมาสที่ 4 และในภาพรวมปี 2553 ลดลง โดยลดลงเฉพาะในส่วนของปูนเม็ด เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยงดการนำเข้า อันเป็นผลจากภาวะธุกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศชะลอตัว ในส่วนของปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากตลาดส่งออกปูนซีเมนต์หลักของไทย คือ ประเทศในแถบอาเซียน ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนายังมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในกิจกรรมการก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะเมียนมาร์ สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในปี 2554 คาดว่ายังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากตลาดส่งออกหลักที่ยังมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์อย่างต่อเนื่อง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ