1. การผลิต
ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีฯ ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งการผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ (ISIC 1711) การผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งหรือโครเชท์ (ISIC1730) และการผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (ISIC 1810) ลดลงร้อยละ 2.0 ,4.0และ 12.5 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตผ้าฯ และการผลิตเครื่องแต่งกายฯลดลงร้อยละ 3.6 และ 1.6 ตามลำดับ แต่การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เป็นผลจากคำสั่งซื้อของคู่ค้าโดยเฉพาะในตลาดอาเซียนขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้มีปัจจัยบวกจากที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการผลิตและส่งออกสิ่งทอภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีของอาเซียน เพื่อจะส่งต่อไปในหลายประเทศในภูมิภาคที่ไม่มีสิ่งทอต้นน้ำ เช่น เวียดนาม ลาว กัมพูชา และบังคลาเทศ ซึ่งนำเข้าสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำจากประเทศไทยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อการส่งออกมากขึ้น ประกอบกับตลาดโลกที่เริ่มฟื้นตัวและมีปริมาณความต้องการเส้นใยและเส้นด้ายเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่อราคาซื้อขายในตลาดปัจจุบัน และซื้อขายล่วงหน้าที่มีราคาสูงขึ้นเช่นกัน
2. การส่งออก
การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 2,098.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออก 2,007.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการจำหน่าย 1,717.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจำแนกผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ๆ ดังนี้
2.1 เสื้อผ้าสำเร็จรูป ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 713.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 766.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ12.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 633.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากฝ้ายมีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดถึงร้อยละ 40.7 ของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด
2.2 ผ้าผืน ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 416.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ10.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าการส่งออก 378.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 326.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
2.3 ด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 309.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 49.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 206.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
2.4 เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 216.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่าการส่งออก 154.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
3. ตลาดส่งออก
ตลาดส่งออกที่สำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย มีดังนี้
สหรัฐอเมริกา ยังคงเป็นหนึ่งในตลาดหลักสำหรับการส่งออกสิ่งทอของไทย ซึ่งการส่งออกสิ่งทอไทยไปสหรัฐอเมริกาในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่า 376.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 12.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีสัดส่วนการส่งออกร้อยละ 18.0 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมดของไทย สินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นเครื่องนุ่งห่ม เคหะสิ่งทอ และผ้าผืน ตามลำดับ
สหภาพยุโรป ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 376.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงเล็กน้อยร้อยละ 0.5เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.0 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืนเครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น
อาเซียน ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 393.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.7 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และสิ่งทออื่นๆ เป็นต้น
ญี่ปุ่น ไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 160.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.6 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และสิ่งทออื่นๆ เป็นต้น
4. การนำเข้า
การนำเข้าสิ่งทอในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 (วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น เส้นใยฯ เส้นด้ายฯ ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ) ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ยกเว้นวัตถุทออื่นๆ ที่มีการนำเข้าลดลง ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้า ได้แก่
4.1 กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอ (เส้นใยฯ เส้นด้ายฯ ผ้าผืน และ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ) รวมทั้งสิ้น 1,465.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และร้อยละ 32.0เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 93.8 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวม ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้ามี ดังนี้
4.1.1 เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่านำเข้า 255.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.3เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 233.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และบราซิล สัดส่วนนำเข้าร้อยละ25.3, 21.1 และ 6.6 ตามลำดับ
4.1.2 ด้ายทอผ้าฯ มีมูลค่านำเข้า 173.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 169.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และไต้หวัน สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 24.9, 16.3 และ12.6 ตามลำดับ
4.1.3 ผ้าผืน มีมูลค่านำเข้า 445.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 419.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 48.6,15.3 และ 7.0ตามลำดับ
4.1.4 วัตถุทออื่นๆ มีมูลค่านำเข้า 38.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 38.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และ ไต้หวัน สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 26.2 16.3 และ 11.9 ตามลำดับ
4.2 กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่านำเข้าทั้งสิ้น 96.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 87.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 6.2 ของการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ตลาดนำเข้าหลักคือ จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 52.9, 10.7 และ 4.5 ตามลำดับ
5. สรุปและแนวโน้ม
ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้านโดยเฉพาะราคาฝ้ายดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเส้นด้ายและผ้าผืนได้ปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก รวมถึงราคาฝ้ายดิบในตลาดโลก และอาจจะส่งผลให้โรงงานปั่นด้าย โรงงานทอผ้า และโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มมีต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
แนวโน้มในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน จะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นแม้ว่าจะมีปัจจัยลบจากราคาฝ้ายที่ปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม เนื่องจากมีตลาดยังมีความต้องการสินค้า อีกทั้งผลกระทบจากค่าเงินบาทแข็งตัวและมีแนวโน้มจะแข็งค่าเพิ่มขึ้น ซึ่งผลจากการแข็งค่าของเงินบาทช่วยให้ผู้ประกอบการสิ่งทอต้นน้ำที่นำเข้าฝ้ายในราคาที่ถูกลงได้บ้าง แต่จะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกเครื่องนุ่งห่มที่มีรายได้จากการส่งออกและกำไรที่ลดลง จากสภาวะการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ผู้ประกอบการควรจะผลิตสินค้าที่มีรูปแบบสอดคล้องกับความต้องการในช่วงต่างๆ ของตลาดทั้งในและต่างประเทศเป็นหลัก เพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าและหลีกเลี่ยงกับการแข่งขันกับประเทศที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่า สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศหลังจากภัยน้ำท่วมคาดว่าจะมีความต้องการเสื้อผ้าสำเร็จรูปเพิ่มขึ้นและเพิ่มการทำการตลาดภายในประเทศและต่างประเทศเพิ่มการใช้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีต่างๆ อาทิ เขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ อาฟต้า เพื่อกระจายความเสี่ยงของการส่งออก และการทำตลาดเฉพาะ เช่น ตลาดของผู้สูงอายุ หรือตลาดแฟชั่น เป็นต้น เพื่อสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มากขึ้น
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--