สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 1, 2011 13:39 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 7.73 และ 15.71 ตามลำดับ.แต่เมื่อรวมทั้งปี 2553 การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.34

ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ แบ่งออกเป็น การผลิตยางนอกรถยนต์ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ยางใน และถุงมือยาง ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตยางนอกรถยนต์ และยางใน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.09 และ 2.56 ตามลำดับ ในขณะที่ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และ การผลิตถุงมือยาง ถุงมือตรวจ ลดลงร้อยละ 3.11 และ 26.33 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.77และ 5.87 ตามลำดับ สำหรับการผลิตยางใน และ การผลิตถุงมือยาง ถุงมือตรวจ ลดลงร้อยละ 6.57และ 19.32 ตามลำดับ และเมื่อรวมทั้งปี 2553 การผลิตยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยานยางใน และถุงมือยาง ถุงมือตรวจ เพิ่มขึ้นทั้งหมด โดยคิดเป็นร้อยละ 25.88 11.59 6.84 และ2.92 ตามลำดับ

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นที่ลดลงในไตรมาสที่ 4 นี้ เนื่องจากเกิดปัญหาน้ำท่วม ทำให้ไม่สามารถกรีดยางได้ จึงส่งผลให้การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นลดลง นอกจากนี้ปัญหาน้ำท่วมยังทำให้ผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ เช่น ถุงมือยาง ต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ทำให้ปริมาณการผลิตถุงมือยางในไตรมาสนี้ลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในภาพรวมทั้งปี 2553 ทั้งยางแปรรูปขั้นต้น และผลิตภัณฑ์ยางถือว่ายังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะยางนอกรถยนต์ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์ ขยายตัวตามไปด้วย

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 0.13 และ 39.45 ตามลำดับ และเมื่อรวมทั้งปี 2553 การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ ลดลงร้อยละ 21.32 เมื่อเทียบกับปีก่อน

สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ กลุ่มยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางใน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีปริมาณการจำหน่ายในประเทศ ลดลงร้อยละ 0.93 1.26 และ 1.80 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน กลุ่มยางนอกรถยนต์มีปริมาณการจำหน่าย เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.98 ส่วนยางนอกรถจักรยานยนต์/จักรยาน และยางใน มีปริมาณการจำหน่าย ลดลงร้อยละ 1.85 และ 0.45 ตามลำดับ ในส่วนของการจำหน่ายถุงมือยาง เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.79 และ 32.20 ตามลำดับ และเมื่อรวมทั้งปี 2553การจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ กลุ่มยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ยางในและ ถุงมือยาง ถุงมือตรวจ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.62 5.99 5.98 และ 10.96 ตามลำดับ

การจำหน่ายในประเทศของยางแปรรูปขั้นต้นที่ลดลงนี้ เนื่องจากความต้องการใช้ยางในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ทำให้ผู้ประกอบการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นเพิ่มขึ้นสำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางใน ยังขยายตัวได้ดี ตามภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัว ในส่วนของถุงมือยางยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

2.2 การส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้นและยางพาราอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 2,363.18 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.29และ 49.26 ตามลำดับ และเมื่อรวมทั้งปี 2553 การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 83.38 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ประเทศจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของหลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลคาไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 1,748.26 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.53 และ 32.22 ตามลำดับ และเมื่อรวมทั้งปี 2553 การส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.37 โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาจีน ญี่ปุ่น เยอรมนี และมาเลเซีย

มูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกปรับตัวดีขึ้น จีนและอินเดียมีการนำเข้ายางธรรมชาติเพิ่มขึ้น เพื่อใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์ ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ปริมาณการผลิตยางภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ประกอบกับกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่ามูลค่าการส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางจะเพิ่มมากขึ้น แต่การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา ก็ส่งผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการเช่นกัน

สำหรับความต้องการถุงมือยางในตลาดโลก ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ญี่ปุ่น เนเธอร์แลนด์ และสหราชอาณาจักร สำหรับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ มาเลเซีย จีนและอินโดนีเซีย

2.3 การนำเข้า

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 การนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง ยางและเศษยาง และวัสดุทำจากยางมีมูลค่า 441.17 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 2.23 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.51 และเมื่อรวมทั้งปี 2553 มูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง ยางและเศษยาง วัสดุทำจากยาง มีมูลค่า 1,734.13 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 55.06การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้ยางของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น อีกทั้งกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนให้การนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นด้วย ตลาดนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเยอรมนี

3. สรุปและแนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยางถุงมือยางลดลงเนื่องจากเกิดภาวะน้ำท่วมทำให้เป็นอุปสรรคในการกรีดยาง และยังทำให้ผู้ประกอบการถุงมือยาง ต้องหยุดการผลิตชั่วคราว ทำให้ปริมาณการผลิตถุงมือยางในไตรมาสนี้ลดลง อย่างไรก็ตาม เมื่อมองในภาพรวมทั้งปี2553 ทั้งยางแปรรูปขั้นต้น และผลิตภัณฑ์ยาง ถือว่ายังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะยางนอกรถยนต์ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกฟื้นตัว อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยางนอกรถยนต์ ขยายตัวตามไปด้วย สำหรับแนวโน้มไตรมาสที่ 1 ปี 2554 คาดว่าผลผลิตยางแปรรูปขั้นต้นอาจจะลดลงเล็กน้อยเนื่องจากเป็นช่วงต้นยางพาราผลัดใบ เริ่มต้นเข้าสู่ช่วงหน้าแล้ง อย่างไรก็ตาม ความต้องการใช้ยางพาราในการผลิตยางล้อ ถุงมือยาง ถุงยางอนามัย และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ยังคงเพิ่มขึ้นตามภาวะการขยายตัวทางเศรษฐกิจ

การส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั้งในส่วนของยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยาง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ความต้องการใช้ยางธรรมชาติของจีน ซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักขยายตัวอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ อินเดียมีการนำเข้ายางธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ปริมาณการผลิตยางภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ประกอบกับกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวขึ้นด้วย สำหรับแนวโน้มการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 1ปี 2554 คาดว่าจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ การแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกของสินค้าไทยและรายได้ของผู้ส่งออก นอกจากนี้ พื้นที่ปลูกยางใหม่ของประเทศคู่แข่ง เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และ เวียดนาม เริ่มให้ผลผลิตน้ำยางแล้ว ทำให้ผลผลิตยางพาราของโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย

สำหรับด้านราคายาง ในปี 2553 ราคายางเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี และคาดว่าแนวโน้มราคายางในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 จะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง เนื่องจากในช่วงต้นปีเป็นช่วงฤดูยางผลัดใบ ทำให้ผลผลิตยางออกสู่ตลาดโลกลดลง ประกอบกับความต้องการใช้ยางในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ