สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ไตรมาสที่ 4 (ตุลาคม — ธันวาคม) พ.ศ. 2553(อุตสาหกรรมรองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday March 1, 2011 13:46 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง เป็นอุตสาหกรรมหนึ่งในอุตสาหกรรมแฟชั่นที่มีการเปลี่ยนแปลงความต้องการตามแนวโน้มการตลาด หรือตามกลุ่มนักออกแบบชั้นนำของโลก และเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับหนังสัตว์ โดยนำหนังดิบมาผลิตเป็นหนังฟอก และก่อให้เกิดอุตสาหกรรมต่อเนื่องอีกมากมายเช่น รองเท้า กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์หนัง ของเล่นสัตว์เลี้ยง สายนาฬิกา เข็มขัด ถุงมือ เป็นต้น อีกทั้งเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น และต้องพึ่งการส่งออกเป็นสำคัญ ดังนั้นการผันผวนของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าจะส่งผลต่อผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมดังกล่าว ปี 2553 สัดส่วนโครงสร้างสินค้าส่งออกของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนัง จำแนกได้ดังนี้ รองเท้าและชิ้นส่วน ร้อยละ 51.5, หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ร้อยละ 34.2 และ เครื่องใช้ในการเดินทาง ร้อยละ 14.3

1. การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังจำแนกได้ดังนี้

  • การฟอกและการตกแต่งหนังฟอก ดัชนีผลผลิตไตรมาสที่ 4 เทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 ดัชนีการส่งสินค้าเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.0สำหรับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 7.7
  • การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ดัชนีผลผลิตไตรมาสที่ 4 เทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 ดัชนีการส่งสินค้าเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.8 สำหรับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 4.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.1
  • การผลิตรองเท้า ดัชนีผลผลิตไตรมาสที่ 4 เทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.0 ดัชนีการส่งสินค้าเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 2.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.3 สำหรับดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง เทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 30.2

2. การตลาด

การส่งออก

  • รองเท้าและชิ้นส่วน ไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 217.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 239.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 8.9 ผลิตภัณฑ์ที่ลดลงคือ รองเท้าแตะ รองเท้าหนัง และส่วนประกอบรองเท้า ลดลงร้อยละ 9.6, 13.9 และ 28.6 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น คือ รองเท้ากีฬา และรองเท้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3 และ 2.6 ตามลำดับ

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่าส่งออก 179.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ21.5 ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น คือ รองเท้าแตะ รองเท้าหนัง รองเท้าอื่นๆ และส่วนประกอบรองเท้า เพิ่มขึ้นร้อยละ41.9, 63.8, 45.1 และ 10.4 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่ลดลง คือ รองเท้ากีฬา ลดลงร้อยละ 39.2 ตลาดคู่ค้าที่สำคัญ คือ เดนมาร์ก สหรัฐอเมริกา และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีสัดส่วนร้อยละ 15.3, 14.8 และ 7.0ตามลำดับ

  • เครื่องใช้สำหรับเดินทาง ไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 มีมูลค่าส่งออก 67.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มูลค่าการส่งออก 63.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9 ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น คือ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าใส่เศษสตางค์ และเครื่องเดินทางอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7, 26.6 และ3.4 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่ลดลง คือ กระเป๋าถือ ลดลงร้อยละ 11.3

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่าส่งออก 47.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 43.3ซึ่งทุกผลิตภัณฑ์มีมูลค่าเพิ่มขึ้น คือ กระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือ กระเป๋าใส่เศษสตางค์ และเครื่องเดินทางอื่นๆเพิ่มขึ้นร้อยละ 77.3, 23.7, 45.9 และ 34.0 ตามลำดับ ตลาดคู่ค้าที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสวิตเซอร์แลนด์ มีสัดส่วนร้อยละ 20.1, 12.4 และ 10.6 ตามลำดับ

  • หนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 มีมูลค่าส่งออก 142.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 140.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ1.3 ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น คือ ถุงมือหนัง เครื่องแต่งกายและเข็มขัด หนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ31.0, 20.5 และ 1.8 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ลดลง คือ หนังโคกระบือฟอก ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยง ลดลงร้อยละ 3.8 และ 1.9 ตามลำดับ

เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่าส่งออก 124.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น คือ หนังโคกระบือฟอก ถุงมือหนัง เครื่องแต่งกายและเข็มขัด หนังและผลิตภัณฑ์หนังอื่นๆเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.9, 6.2, 42.7 และ 15.0 ตามลำดับ ส่วนผลิตภัณฑ์ที่ลดลง คือ ของเล่นสำหรับสัตว์เลี้ยงลดลงร้อยละ 12.6 ตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ ฮ่องกง เวียดนาม และจีน มีสัดส่วนร้อยละ 21.8, 14.2 และ 14.0ตามลำดับ

การนำเข้า

  • หนังดิบและหนังฟอก ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 152.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯเทียบกับ ไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 148.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่าการนำเข้า 109.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.4 แหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอาร์เจนตินา มีสัดส่วนร้อยละ 17.5, 10.5 และ 8.9 ตามลำดับ
  • รองเท้า ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 64.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 72.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ที่มีมูลค่าการนำเข้า 51.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8 แหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ จีนอินโดนีเซีย และ เวียดนาม มีสัดส่วนนำเข้าร้อยละ 69.3, 5.7 และ 5.5 ตามลำดับ
  • กระเป๋า ช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 45.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับไตรมาสที่ 3 ปี 2553 มีมูลค่าการนำเข้า 45.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ที่มีมูลค่าการนำเข้า 34.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.8 แหล่งนำเข้าที่สำคัญ คือ จีน ฝรั่งเศสและอิตาลี โดยมีสัดส่วนนำเข้าร้อยละ 54.6, 17.4 และ 15.9 ตามลำดับ

3. สรุปและแนวโน้ม

ดัชนีผลผลิต ดัชนีการส่งสินค้าของการฟอกและการตกแต่งหนังฟอก การผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ในไตรมาส 4 ปี 2553 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 3 ในปีเดียวกัน มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกเครื่องใช้สำหรับเดินทางหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด เนื่องจากคำสั่งซื้อจากหนังแผ่นที่ใช้ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่นเฟอร์นิเจอร์ เบาะรถยนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น และคำสั่งซื้อโดยรวมที่เพิ่มขึ้น

ขณะที่ดัชนีผลผลิต และการส่งสินค้าการผลิตรองเท้าชะลอตัวในไตรมาสที่ 4 เป็นในทิศทางเดียวกับมูลค่าการส่งออกของรองเท้าและชิ้นส่วนที่มีมูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 การนำเข้าหนังดิบและหนังฟอกที่นำมาผลิตเป็นสินค้าปลายน้ำยังมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้า อีกทั้งอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องที่ต้องใช้หนังฟอกเริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น

แนวโน้มการผลิตและมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังใน ปี 2554 เมื่อเทียบกับปี 2553 คาดว่าอุตสาหกรรมรองเท้าจะเพิ่มขึ้น แต่สำหรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์หนังจะทรงตัว ทั้งนี้ปัจจัยบวกในปีหน้าจะมาจากการขยายตัวด้านการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้น นอกจากนี้จากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มของเศรษฐกิจภายในประเทศ และเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย จะมาจากอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยนโยบายราคาน้ำมัน สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ และปัญหาภาวะเศรษฐกิจของยุโรป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ