1. การผลิต
ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 จากไตรมาสก่อน เนื่องจากการผลิตในกลุ่มธัญพืชและแป้ง ผักผลไม้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และประมงเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.1 58.0 9.8 และ 5.4 ตามลำดับ (ตารางที่ 1) เป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบ เช่น มันสำปะหลังสับปะรด ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น ประกอบกับการห้ามทำการประมงจากการปิดอ่าวเม็กซิโกที่เป็นผลจากแท่นขุดเจาะน้ำมันระเบิด และประเทศผู้ผลิตกุ้งประสบปัญหาภัยธรรมชาติและโรคระบาด ทำให้ประเทศคู่ค้าหันมาสั่งซื้อกุ้งจากไทยทดแทน และหากพิจารณารวมการผลิตน้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 23.8 เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหีบอ้อย
ภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญในช่วงไตรมาสที่ 4 สรุปได้ ดังนี้
- กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 64.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่ปริมาณวัตถุดิบออกตามฤดูกาล แต่ลดลงร้อยละ 4.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลงจากภาวะภัยแล้ง โรคระบาดและอุทกภัย เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลังประกอบกับประเทศผู้ผลิตธัญพืชสำคัญ เช่น จีน เวียดนาม อินเดีย ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตในตลาดโลกลดลง ส่งผลให้ความต้องการเพิ่มสูงขึ้นและราคาในตลาดโลกเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นตาม ส่งผลดีต่อโครงการประกันรายได้เกษตรกรของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งกำลังทะยอยส่งออกผลิตภัณฑ์ได้มูลค่าเพิ่มขึ้น
- กลุ่มแปรรูปประมง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตามความต้องการกุ้งแปรรูป และกุ้งแช่เย็นแช่แข็ง ในตลาดโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการเริ่มฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้าหลัก เช่น สหรัฐฯประกอบกับประเทศผู้ผลิตกุ้งประสบปัญหาภัยธรรมชาติและโรคระบาดทำให้ผู้นำเข้าหันมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยทดแทน
- กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 0.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนแต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการส่งออกไก่ต้มสุกแปรรูปไปยังตลาด EU เต็มโควตาแล้ว ส่วนตลาดญี่ปุ่น มีการสั่งซื้อจากไทยและจีนเพิ่มขึ้น เนื่องจากพบการระบาดของไข้หวัดนกในฟาร์มไก่ของบางจังหวัดในประเทศญี่ปุ่น
- กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 58.0เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบ เช่น สับปะรด ข้าวโพดฝักอ่อน และข้าวโพดหวาน เริ่มออกสู่ตลาด แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 26.8 เป็นผลจากการส่งออกที่ชะลอตัวจากปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้การสั่งซื้อชะลอตัว
- กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ มีการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ น้ำมันพืช ลดลงร้อยละ 19.2 และ 8.5 ตามลำดับ เป็นผลจากราคาน้ำมันพืชในประเทศได้ปรับสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคชะลอการบริโภคลง สำหรับผลิตภัณฑ์นมลดลงร้อยละ 0.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายในประเทศเพิ่มขึ้นช่วงเทศกาลปลายปี ในส่วนของอาหารสัตว์ มีการผลิตลดลงร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการในภาคปศุสัตว์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น
สรุปภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารในปี 2553 มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก ทำให้ภาคการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมรวมถึงอาหารขยายตัวดีขึ้น แม้ว่าระดับราคาสินค้าอาหารโดยรวมจะได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของค่าเงินบาทอย่างไรก็ตามภาครัฐของประเทศต่างๆ ได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายระดับ เช่น การช่วยเหลือประชาชนโดยเพิ่มสวัสดิการค่าครองชีพด้านสาธารณูปโภค ทำให้สินค้าอาหารที่เป็นสินค้าจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวันได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์เศรษฐกิจในระดับต่ำเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ สำหรับภาวะการผลิตน้ำตาลทรายของปี 2553 เมื่อเทียบกับปี 2552 พบว่า ปริมาณการผลิตน้ำตาลลดลงร้อยละ 9.3 ตามการลดลงของคุณภาพของอ้อยที่เข้าโรงงานได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในบางพื้นที่ที่มีการตัดอ้อยอ่อน
2. การตลาด
2.1 ตลาดในประเทศ
ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2553 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศ (ไม่รวมน้ำตาลทราย)ลดลงร้อยละ 4.1 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 0.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 2) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระดับราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อระดับราคาสินค้าบางรายการได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอยลง และส่งผลให้ภาพรวมการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมอาหารในไตรมาสที่ 4 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าน้ำมันพืช และน้ำตาลทราย
หากเปรียบเทียบภาพรวมปริมาณการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารในประเทศปี 2553 พบว่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.1 เมื่อเทียบกับปี 2552 เป็นผลจากการขยายตัวของการจำหน่ายผักผลไม้ ผลิตภัณฑ์นม บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปธัญพืชและแป้ง อาหารสัตว์ ประมง และปศุสัตว์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 53.4 26.1 17.9 13.7 8.0 6.1 และ 5.7 ตามลำดับแต่หากพิจารณากลุ่มอื่นๆ พบว่า มีปริมาณการจำหน่ายลดลง คือ ผลิตภัณฑ์น้ำตาล และน้ำมันพืช ร้อยละ 13.1 และ
4.2 ตามลำดับ
2.2 ตลาดต่างประเทศ
1) การส่งออก
ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2553 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 6,277.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 188,266.0 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 6.2 ในรูปของดอลลาร์ฯ แต่ขยายตัวร้อยละ 14.7 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้าฟื้นตัว แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 3-4) เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 0.2 ในรูปของเงินบาท โดยพบว่า มูลค่าการส่งออกทั้งในรูปของเงินบาทและดอลลาร์ฯ มีการขยายตัวในกลุ่มผลิตภัณฑ์ข้าวและธัญพืช ผักผลไม้ปศุสัตว์ และประมง เนื่องจากระดับราคาสินค้าอาหารได้ปรับตัวดีขึ้นภายหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มคลี่คลายแม้ว่าค่าเงินบาทได้ปรับแข็งค่าขึ้น แต่การส่งออกอาหารในภาพรวมยังสามารถปรับเพิ่มขึ้นตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้น นอกจากนี้หากเปรียบเทียบตลอดปี 2552 และ 2553 จะเห็นว่า อุตสาหกรรมอาหารโดยรวมมีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 6.1 ในรูปของเงินบาท สำหรับการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้
- กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเล มีมูลค่าการส่งออก 2,012.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 60,353.3 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 27.6 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นในกลุ่มอาหารทะเลแปรรูป และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.5 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 3.1 ในรูปของเงินบาท สำหรับมูลค่าการส่งออกโดยเปรียบเทียบตลอดปี 2552 และปี 2553 มีมูลค่าการส่งออก 6,984.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 221,582.5 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปี 2552 ร้อยละ 13.3 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 4.7 ในรูปของเงินบาท ซึ่งหากพิจารณาการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปริมาณและมูลค่าส่งออกในไตรมาส 4 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและปีก่อนเนื่องจากได้รับผลดีจากการที่สหรัฐอเมริกาประกาศห้ามทำการประมงในบริเวณอ่าวเม็กซิโกจากปัญหาแท่นขุดเจาะน้ำมันระเบิดตั้งแต่ช่วงกลางปี ประกอบกับการระบาดของโรคไวรัสกุ้งในประเทศผู้ผลิตอย่างอินโดนีเซีย เอกวาดอร์ และเกิดภัยธรรมชาติในจีนและเวียดนาม ทำให้ประเทศผู้นำเข้าหันมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยทดแทน
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ มีมูลค่าการส่งออก 636.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 19,094.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.5 ในของรูปดอลลาร์ฯ และลดลงร้อยละ 1.7 ในรูปของเงินบาท จาก ไตรมาสก่อน เนื่องจากการแข็งค่าของเงินบาท และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 8.4 ในรูปของเงินบาท เป็นผลจากการที่ประเทศคู่แข่งประสบภัยธรรมชาติทำให้ปริมาณการผลิตและการส่งออกลดลง อย่างไรก็ตามในส่วนของผักกระป๋องและแปรรูปที่สำคัญ ได้แก่ ข้าวโพดหวานบรรจุกระป๋องสามารถขยายตลาดส่งออกได้เพิ่มขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้หากเปรียบเทียบตลอดปี 2552 และ2553 พบว่า มูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.5 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ3.0 ในรูปของเงินบาท
- กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ มีมูลค่าการส่งออก 522.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 15,662.2 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.9 ในรูปของดอลลาร์ฯและในรู ข อ ง เ งิน บ ท ร้อ ย ล 1 . 6 จ กไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 ในรูปของดอลลาร์ฯหรือร้อยละ 7.7 ในรูปของเงินบาท แม้ว่าความต้องการบริโภคจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะไก่แปรรูป จากการที่ประเทศญี่ปุ่นนำเข้าไก่แปรรูปจากไทยทดแทนจีน แต่เริ่มมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากประเทศจีนได้ปรับปรุงคุณภาพและเน้นความปลอดภัยในอาหารมากขึ้น นอกจากนี้สหภาพยุโรปได้กำหนดโควตาในการนำเข้า ซึ่งประเทศไทยใช้โควตาครบแล้ว ประกอบกับระดับราคาที่ปรับตัวลดลง อาจทำให้มูลค่าการส่งออกชะลอตัวลง และหากพิจารณาเปรียบเทียบตลอดปี 2552 และ 2553 มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.5 และ 4.9 ในรูปของดอลลาร์ฯ และเงินบาท ตามลำดับ
- กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 2,578.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือ 77,318.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.3 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 32.9 ในรูปของเงินบาทจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสูงขึ้น ส่งผลทำให้ราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในตลาดโลกเพิ่มขึ้น ประกอบกับประเทศไทยเกิดปัญหาเพลี้ยแป้งระบาด ผลผลิตเสียหายเป็นจำนวนมาก และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.9 ในรูปของดอลลาร์ฯหรือร้อยละ 10.6 ในรูปของเงินบาท โดยเป็นการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 เนื่องจากระดับราคาข้าวได้ปรับชะลอตัวลงจากการที่เวียดนามประกาศลดค่าเงิน และส่งออกผลผลิตออกสู่ตลาดในราคาต่ำช่วงไตรมาส 3-4 เพิ่มขึ้นนอกจากนี้หากเปรียบเทียบตลอดปี 2552 และ 2553 มูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.7 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 7.0 ในรูปของเงินบาท เป็นผลจากราคามันสำปะหลังปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก
- กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 138.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 4,141.5 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 83.9 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 62.5 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นมาก จากการที่ประเทศผู้ผลิตอย่างอินเดีย ประสบปัญหา ภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตและส่งออกลดลง และมีผลต่อสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกลดลง และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 70.8 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 73.7 ในรูปของเงินบาทเช่นกัน นอกจากนี้ หากเปรียบเทียบตลอดปี 2552 และ 2553 พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.7 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 11.5 ในรูปของเงินบาท เนื่องจากราคาน้ำตาลในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้นตามสต็อกน้ำตาลที่ลดลง
- กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 390.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ11,695.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ในรูปของดอลลาร์ฯ แต่ลดลงร้อยละ 8.7 ในรูปของเงินบาทจากไตรมาสก่อน และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.1 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 0.9 ในรูปของเงินบาท นอกจากนี้หากเปรียบเทียบตลอดปี 2552 และ 2553 มูลค่าการส่งออกในภาพรวมของกลุ่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 ในรูปของดอลลาร์ และร้อยละ 6.7 ในรูปของเงินบาท โดยเป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าประเภทไขมันพืชและสัตว์ สิ่งปรุงรสอาหาร หมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสม และนมและผลิตภัณฑ์นม
2) การนำเข้า
การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทย ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2553 มีมูลค่ารวม 2,302.66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 69,059.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 3.2 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 34.1 ในรูปของเงินบาท (ตารางที่ 5) และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหาร โดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.9 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 15.2 ในรูปของเงินบาท จากการนำเข้าปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง เมล็ดและกากพืชน้ำมัน รวมถึงนมและผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นทั้งในรูปของดอลลาร์ฯ และเงินบาท ตามราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 4
นอกจากนี้หากเปรียบเทียบตลอดปี 2552 และ 2553 พบว่า มูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 11.9 ในรูปของเงินบาท ส่วนหนึ่งเป็นผลจากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ทำให้การนำเข้าเสมือนมีราคาที่ลดลง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการนำเข้านมและผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นมากที่สุดร้อยละ 72.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 59.3 ในรูปของเงินบาท รองลงมา คือ เมล็ดพืชน้ำมัน ร้อยละ 21.1 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 11.9 ในรูปของเงินบาท กากพืชน้ำมัน ร้อยละ 18.6 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ9.6 ในรูปของเงินบาท และปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง ร้อยละ 9.7 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 1.4 ในรูปของเงินบาท
3. นโยบายของภาครัฐ
ในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2553 รัฐบาลได้ดำ เนินนโยบายและมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ เนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและระดับราคาลดลง รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาด้านปัจจัย การผลิต ได้แก่
3.1 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2553 เห็นชอบมาตรการรองรับผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาด ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการดำเนินการ ดังนี้ 1.กรมราชทัณฑ์รับซื้อไข่ไก่ช่วงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2. กระทรวงกลาโหม โรงพยาบาล รับซื้อไข่ไก่เพิ่มมากขึ้น 3.กระทรวงศึกษาธิการ ทำโครงการไข่ไก่โรงเรียน 4. กระทรวงสาธารณสุข ทำโครงการรณรงค์ เรื่องคุณประโยชน์โภชนาการของไข่ไก่
3.2 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 เห็นชอบการกำหนดนโยบายนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ปี 2554 ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปลาป่น และกากถั่วเหลือง ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2553 อนุมัติการเปิดตลาดนำเข้าเมล็ดถั่วเหลือง ปี 2554-2556 ตามที่คณะกรรมการพืชน้ำมันและน้ำมันพืชเสนอ เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการนำเข้าสามารถดำเนินธุรกิจได้ต่อเนื่อง และเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรในบางช่วงเวลาที่ผลผลิตออกสู่ตลาด โดยการกำหนดช่วงเวลานำเข้าประกอบกับเพื่อให้เป็นไปตามพันธกรณีที่ได้ตกลงไว้กับนานาประเทศ
3.3 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2553 เห็นชอบและอนุมัติการแก้ไขความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อย ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อเป็นการชดเชยราคาอ้อยให้กับชาวไร่อ้อยที่ประสบภัยแล้งในอัตราตันละ 105.00 บาท โดยอนุมัติให้กองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายกู้เงินจาก ธกส. จำนวน 6,930 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) และเพื่อเป็นแนวทางการจัดการภาระหนี้ของกองทุนฯ ในส่วนของชาวไร่อ้อย โดยการปรับโครงสร้างหนี้ที่กองทุนฯ ทำกับ ธกส. รวม 10,992 ล้านบาท (ไม่รวมดอกเบี้ย) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางการเงินของกองทุนฯ
4. สรุปและแนวโน้ม
ภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมในช่วงไตรมาสที่ 4 ปี 2553 จัดอยู่ในช่วงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 และช่วงเดียวกันของปีก่อน จากปริมาณคำสั่งซื้อที่ปรับตัวดีขึ้น แม้ว่าระดับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ จาก ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงต้นปี 2553 เป็น 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เป็นตลาดหลักของสินค้าอาหารของไทย มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้นต้องการผลักดันให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง โดยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เนื่องจากการระเบิดของแท่นขุดเจาะน้ำมัน จึงประกาศห้ามทำประมงในอ่าวเม็กซิโก ทำให้การผลิตและการส่งออกสินค้าของไทยในกลุ่มประมงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้ากุ้ง ประกอบกับได้รับผลดีจากประเทศผู้ผลิตกุ้งได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและโรคระบาด นอกจากนี้สต็อกสินค้าในตลาดโลกที่สำคัญ คือน้ำตาลทราย ได้ปรับตัวลดลงจากการที่ประเทศอินเดีย ประสบปัญหาภัยแล้งทำให้ส่งออกน้ำตาลได้ลดลง ส่งผลต่อระดับราคาน้ำตาลที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนสินค้ากลุ่มปศุสัตว์โดยเฉพาะไก่แปรรูป ปริมาณความต้องการจากต่างประเทศยังขยายตัวจากสหภาพยุโรปนำเข้าในปริมาณที่เต็มโควตาโดยตลอด และมีข่าวที่จะพิจารณาการนำเข้าไก่สดแช่เย็นแช่แข็งจากไทยอีกครั้ง ภายหลังที่ไทยสามารถควบคุมการระบาดของไข้หวัดนกจากการเปลี่ยนระบบการเลี้ยงเป็นระบบปิดที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศ อย่างไรก็ตามยังมีสินค้าที่ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง คือ กลุ่มผักผลไม้ และมันสำปะหลัง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ ทำให้ผลผลิตลดลง ส่งผลโดยตรงกับระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก แม้ว่าจะมีคำสั่งซื้อเข้ามามาก แต่ไม่สามารถทำการผลิตได้ และหากพิจารณาตลอดปี 2553 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารยังอยู่ในระดับเดียวกันกับปี 2552 แม้ว่าปริมาณการผลิตจะได้รับผลกระทบจากเรื่องการชะลอตัวของวัตถุดิบก็ตาม
สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 คาดว่าทิศทางการผลิต และการส่งออกจะปรับตัวดีขึ้นตามสถานการณ์การฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลก ค่าเงินบาทที่เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มอ่อนค่าลง ระดับราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น และหากความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคดีขึ้น จะส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยที่เพิ่มขึ้น เหล่านี้จะเป็นตัวกระตุ้นการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหาร อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบ คือ ความรุนแรงของการระบาดของโรคใหม่ๆ ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ การก่อจราจลในหลายประเทศ รวมถึงการเคลื่อนไหวของระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต เช่น การประกาศมาตรการห้ามนำเข้าสินค้าประมงกับประเทศที่ทำประมงผิดกฎหมายของสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกา มาตรการบังคับปิดฉลากเพิ่มเติมของหลายประเทศ และการประกาศเกณฑ์ขั้นต่ำของสารตกค้างในอาหารที่เข้มงวดมากขึ้นในหลายสินค้า นอกจากนี้มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เริ่มมีการบังคับใช้ โดยเฉพาะการทำฉลากระบุร่องรอยคาร์บอนที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป ทำให้ไทยต้องเร่งดำเนินการเพื่อรองรับกับมาตรการต่างๆ ที่จะประกาศใช้ในอนาคต
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--