สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 16, 2011 13:42 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนแรก ปี 2554 กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.7 หลังจากที่ติดลบในเดือน ธันวาคม 2553 โดยความต้องการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวดีอยู่ แต่ทั้งนี้ภาคการผลิตก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้น จากต้นทุนวัตถุดิบ ค่าจ้างแรงงานและอัตราดอกเบี้ยที่ปรับขึ้น สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 19.8 ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 20.3

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2554 ซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(1) กลับมาขยายตัวเป็นบวกที่ร้อยละ 3.7 หลังจากที่ติดลบในเดือนธันวาคม 2553 โดยการผลิตมีการขยายตัวในหลายอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เช่น ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศเครื่องแต่งกาย ทั้งนี้ความต้องการบริโภคภายในประเทศยังคงขยายตัวดีอยู่ แต่ภาคการผลิตก็มีต้นทุนเพิ่มขึ้น จากต้นทุนวัตถุดิบค่าจ้างแรงงาน และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นอัตราการใช้กำลังการผลิต(2) ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 62.35 ในเดือนธันวาคม 2553 เป็นร้อยละ 62.13 ในเดือนมกราคม2554

เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงขยายตัวได้ดีที่ร้อยละ 19.8 ใกล้เคียงกับเดือนที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 20.3

          หมายเหตุ (1)  ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นดัชนีที่แสดงทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาพรวม รายสาขาอุตสาหกรรม และรายผลิตภัณฑ์
                  (2)  อัตราการใช้กำลังการผลิต หมายถึง ค่าร้อยละของการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเทียบกับความสามารถในการผลิตสูงสุดเต็มศักยภาพ หรือเต็มกำลังการผลิต (capacity)

อุตสาหกรรมรายสาขา(มกราคม 2554) อุตสาหกรรมอาหาร ในภาพรวมมีการผลิตเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.1โดยสินค้าสำ คัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่นสับปะรดกระป๋อง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 26.3 และ 14.7เนื่องจากคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 27.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากปาล์มน้ำมันมีการพักตัว และอยู่ในช่วงนอกฤดู ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย

ด้านการส่งออกโดยรวมในรูปเงินบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.3 โดยสินค้าสำคัญ อาทิสินค้าสับปะรดกระป๋อง ไก่แปรรูปและทูน่ากระป๋องมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 33.9 7.4และ 6.9 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินที่อ่อนค่าลงจากเดือนก่อน

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มผลิตภัณฑ์ที่มีการขยายตัวเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักและผ้าทอ และสิ่งทออื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5 4.4 49.2 14.5 และ 10.9 ตามลำดับด้านการส่งออกโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 28.1 38.2 28.6 21.5 และ 51.2 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตลดลง ร้อยละ 2.51 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 0.83 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 50.92และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 32.70สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 2.04 โดยลวดเหล็ก ลดลง ร้อยละ 25.22 ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ พบว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2554เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาเหล็กที่สำคัญในกลุ่มทรงแบนเพิ่มขึ้นทุกตัว แต่เหล็กในกลุ่มทรงยาวกลับมีราคาที่ลดลง

อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตจำนวน 146,234 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2553 ซึ่งมีการผลิต 103,849 คัน ร้อยละ 40.81 เนื่องจากมีการผลิตรถยนต์ทุกประเภทเพิ่มขึ้น (รถยนต์นั่ง, รถกระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์) และมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม2553 ร้อยละ 6.43 สำหรับการส่งออกยังขยายตัวดีที่ร้อยละ 16.33 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 1.55 เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.98 โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องปรับอากาศ ทั้งคอนเดนซิงยูนิตและแฟนคอยส์ยูนิต และคอมเพรสเซอร์ เนื่องจากส่วนหนึ่งมาจากการเติมเต็มในส่วนสินค้าคงคลังที่ปรับลดลง และการผลิตเพื่อการส่งออก สำ หรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ4.25 อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการผลิตลดลงได้แก่ Hard Disk Drive และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีการชะลอการผลิตเนื่องจากสินค้าคงคลังยังอยู่ระดับสูงในส่วนมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.38 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 4,144.22 ล้านเหรียญสหรัฐ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ