รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 16, 2011 14:14 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนมกราคม 2554

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2554 ลดลงจากเดือนธันวาคม 2553 ร้อยละ 1.1 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 เมื่อเทียบกับเดือเดียวกันปีก่อน การผลิตมีการขยายตัวในหลายอุตสาหกรรมเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เช่น ยานยนต์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศ เครื่องแต่งกาย
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนมกราคม 2554 อยู่ที่ระดับร้อยละ 62.1 ลดลงเล็กน้อยจากร้อยละ 62.6 ในเดือนธันวาคม 2553
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญ
  • อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม
  • การผลิตคาดว่าจะชะลอตัวลง เนื่องจากวัตถุดิบปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ภาคการผลิตต้องลดการผลิตลง เพื่อมิให้ต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น
  • ส่วนการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้อีกในตลาดส่งออกหลักทุกตลาดโดยเฉพาะในอาเซียนภายใต้ข้อตกลงการเปิดเสรีการค้าและการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
  • อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า
  • สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ในส่วนเหล็กทรงแบนคาดว่าจะมีทิศทางที่ขยายตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า มีความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น
  • ในขณะที่เหล็กทรงยาวกลับมีแนวโน้มการผลิตที่ลดลงเนื่องจากผู้ประกอบการยังคงมีสต๊อกอยู่

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ธ.ค. 53 = 188.4

ม.ค. 54 = 186.3

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • เบียร์
  • อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

ธ.ค. 53 = 62.6

ม.ค. 54 = 62.1

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง
  • เบียร์

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนมกราคม 2554 มีค่า 186.3 ลดลงจากเดือนธันวาคม2553 (188.4) ร้อยละ 1.1 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนมกราคม 2553 (179.7)ร้อยละ 3.7

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2553 ได้แก่ Hard Disk Drive เบียร์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็งผลิตภัณฑ์ยาสูบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ น้ำตาล เครื่องปรับอากาศ เครื่องแต่งกาย เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนมกราคม 2554 อยู่ที่ระดับร้อยละ 62.1 ลดลงจากเดือนธันวาคม 2553 (ร้อยละ 62.4) แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนมกราคม 2553(ร้อยละ 60.3)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนธันวาคม 2553 ได้แก่ Hard Disk Drive อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เบียร์ เครื่องประดับเทียมผลิตภัณฑ์ยาสูบ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรลียม เส้นใยสิ่งทอ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์โลหะประดิษฐ์ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรม เป็นต้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2554

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2553 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 296 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 308 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 3.90 การจ้างงานรวมมีจำนวน 5,778 คน ลดลงจากเดือนธันวาคม 2553 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 6,944 คน ร้อยละ 16.79 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 43,488.90 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งมีการลงทุน 18,342.64 ล้านบาท ร้อยละ 137.09

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนมกราคม 2553 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 243 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 21.81 มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2553 ซึ่งมีการลงทุน 9,560.65 ล้านบาท ร้อยละ 354.87 และมีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2553 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 4,749 คน ร้อยละ 21.67

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนมกราคม 2554 คือ อุตสาหกรรมผลิตและจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า จำนวน 42 โรงงาน รองลงมาคืออุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์และเคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 23 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนมกราคม 2554 คืออุตสาหกรรม ผลิต และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า เงินลงทุน จำนวน 35,718.51 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมประกอบเครื่องปรับอากาศ เงินลงทุน จำนวน 1,839.72 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนมกราคม 2554 คือ อุตสาหกรรม ผลิต และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า และอุตสาหกรรมตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป ทั้งสองอุตสาหกรรม จำนวนคนงาน 685 คนเท่ากัน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมประกอบเครื่องปรับอากาศ จำนวนคนงาน 548 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนธันวาคม 2553 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 109 ราย มากกว่าเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 71 ราย คิดเป็นร้อยละ 53.52 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 661.99 ล้านบาท มากกว่าเดือนธันวาคม 2553 ที่ การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 400.36 ล้านบาท แต่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 1,274 คน น้อยกว่าเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 1,519 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมกราคม 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการน้อยกว่าเดือนมกราคม 2553 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 128 ราย คิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 14.84 มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนมกราคม 2553 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 1,738.42 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานน้อยกว่าเดือนมกราคม 2553 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 3,235 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนมกราคม 2554 คือ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์และเคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 18 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมขุดหรือลอก กรวด ทรายหรือดิน จำนวน 13 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนมกราคม 2554 คือ อุตสาหกรรมผลิต ประกอบ ซ่อมเครื่องจักรสำหรับใช้ในการกสิกรรมหรือการเลี้ยงสัตว์เงินทุน 251.34 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆที่มิใช่ยางรถยนต์ เงินทุน 47 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนมกราคม 2554 คือ อุตสาหกรรมการทำผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆที่มิใช่ยางรถยนต์ คนงาน 130 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 139 โครงการ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีจำนวน 112 โครงการร้อยละ 24.11 แต่มีเงินลงทุน 22,300 ล้านบาท น้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 36,300 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 38.57

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม 2554
             การร่วมทุน                 จำนวน(โครงการ)       มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%              60                     8,900
          2.โครงการต่างชาติ 100%             48                     8,200
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ       31                     5,200
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม 2554 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 8,000 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 5,000 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารคาดว่า จะปรับลดลงภายหลังเทศกาลปีใหม่ และระดับราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปัญหาทางการเมืองในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ทำให้กำลังซื้อของต่างประเทศเริ่มชะลอตัวลง นอกจากนี้การจำหน่ายภายในประเทศอาจปรับตัวดีขึ้น ภายหลังการปรับเพิ่มขึ้นของรายได้ และราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น กระตุ้นประชาชนให้จับจ่ายใช้สอยมากขึ้น

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมกราคม 2554 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.1 แต่ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 1.3 ตามลำดับ แบ่งเป็น กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่น สับปะรดกระป๋อง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 26.3 และ 14.7 เนื่องจากคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้น กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์มมีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 27.3 เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากปาล์มน้ำมันมีการพักตัว และอยู่ในช่วงนอกฤดู ทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย นอกจากนี้ในส่วนของการผลิตน้ำตาล โรงงานน้ำตาลเริ่มเปิดหีบช้ากว่าปกติเล็กน้อย ปริมาณอ้อยเข้าโรงงานน้อยกว่าปีก่อน ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำตาลลดลงร้อยละ 2.7 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนมกราคม 2554 สินค้าอาหารและเกษตร มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 0.3 และ 3.2 จากการเพิ่มขึ้นของการจับจ่ายใช้สอย เนื่องจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและรายได้ของครัวเรือนภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น

2) ตลาดต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกโดยรวมของอุตสาหกรรมอาหาร(ไม่รวมน้ำตาล) ในรูปเงินบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.3แต่ปรับลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 9.2 โดยเฉพาะในสินค้าสับปะรดกระป๋อง ไก่แปรรูปและทูน่ากระป๋อง มูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 33.9 7.4 และ 6.9 ตามลำดับ ส่วนหนึ่งมาจากค่าเงินที่อ่อนค่าลงจากเดือนก่อน นอกจากนี้ในส่วนน้ำตาล ส่งออกได้มูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ตามราคาน้ำตาลในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น จากสต็อกน้ำตาลที่ลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากอินเดียและออสเตรเลียส่งออกลดลง

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะชะลอตัวเล็กน้อย จากเดือนก่อน ตามปริมาณคำสั่งซื้อที่ลดลงหลังช่วงเทศกาลปีใหม่ และระดับราคาน้ำมันที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามปัญหาทางการเมืองในกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน ส่งผลทำให้กำลังซื้อของต่างประเทศอาจชะลอตัวลง สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย หลังจากการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ ประกอบกับระดับราคาสินค้าเกษตรปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้การจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อย่างไรก็ตามข่าวการปรับขึ้นของราคาสินค้า อาจทำให้ปริมาณการจำหน่ายในประเทศไม่ขยายตัวเท่าที่ควร

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“...ผู้ประกอบการควรระมัดระวังอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวนและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น...”

1. การผลิต

ภาวะการผลิตในเดือนมกราคม 2554 ส่วนใหญ่มีการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ได้แก่ ผ้าผืน เครื่องนอน เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักและผ้าทอและสิ่งทออื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.9, 7.1, 6.9,3.5 และ 9.3 ตามลำดับ ยกเว้นเพียงเส้นใยสิ่งทอฯ ลดลงร้อยละ 2.5สาเหตุเนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้นทั้งเส้นไหมและฝ้าย แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถักและผ้าทอ และสิ่งทออื่นๆเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5, 4.4, 49.2, 14.5 และ 10.9 ตามลำดับ

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ เดือนมกราคม 2554 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอผ้าผืน ผ้าลูกไม้ และเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งที่ผลิตจากผ้าถัก เพิ่มขึ้นร้อยละ3.0, 5.8, 1.2, 15.4 และ 33.2 ตามลำดับ สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอการจำหน่ายลดลงเล็กน้อย และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการจำหน่ายลดลงเช่นเดียวกัน ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอ เสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ และสิ่งทออื่นๆ ร้อยละ 6.0, 5.0 และ 10.8ตามลำดับ สำหรับการส่งออก โดยรวมลดลงร้อยละ 9.3 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ลดลง ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ ลดลงร้อยละ 10.4,8.9, 23.6, 1.8, 18.7 และ 1.1 ตามลำดับ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9, 28.1, 38.2, 28.6, 21.5 และ 51.2 ตามลำดับ ตลาดส่งออกเมื่อเทียบกับเดือนก่อน หดตัวลงในทุกตลาดได้แก่ อาเซียน, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ร้อยละ 15.4,3.6, 4.1 และ 13.3 ตามลำดับ แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนในตลาดอาเซียน, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ร้อยละ18.9, 40.0, 9.6 และ 7.1 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

การผลิตคาดว่าจะชะลอตัวลง เนื่องจากวัตถุดิบปรับราคาสูงขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้ภาคการผลิตต้องลดการผลิตลง เพื่อมิต้องแบกรับภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ส่วนการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้อีกในตลาดส่งออกหลักทุกตลาด โดยเฉพาะในอาเซียนภายใต้ข้อตกลงการเปิดเสรีการค้าและการรวมตัวกันเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อย่างไรก็ตามปัจจัยเสี่ยงที่ต้องติดตาม คือ ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนวัตถุดิบ(โดยเฉพาะฝ้าย) ที่ปรับตัวสูงขึ้น อัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวน และต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้นค่อนข้างมาก รวมถึงโนบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ฉะนั้นถ้ามีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำจริง ควรเน้นแรงงานที่ใช้ทักษะ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้มาก

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

รัฐบาลกลางของปักกิ่ง ประเทศจีน ได้ประกาศห้ามบริษัทเอกชนขอใบอนุญาตสำรวจถ่านหินจนถึง 31 ธันวาคม 2013 โดยยกเว้นให้แก่เหมืองเอกชนที่เพิ่งฟื้นฟูจากการหยุดกิจการชั่วคราว ทั้งนี้รัฐบาลกลางจะเข้ามามีส่วนร่วมในการคัดเลือกแหล่งถ่านหินที่อนุญาตให้พัฒนาได้ ซึ่งก็เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมกราคม2554 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 15.51 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 134.99 เมื่อพิจารณาในกลุ่มเหล็กแผ่น พบว่า เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.41 โดยเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 31.69 เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 20.94 เนื่องจากที่ผ่านมาถูก dump ราคาจากเหล็กที่นำเข้ามาจากประเทศจีน จึงทำให้เหล็กแผ่นเคลือบของไทยไม่สามารถขายได้ ดังนั้นผู้ประกอบการไทยจึงต้องลดราคาลงเพื่อแข่งขันกับสินค้าจากประเทศดังกล่าว สำหรับเหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้น ร้อยละ 6.92 โดยเหล็กลวดเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.48 ลวดเหล็ก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.41 เพื่อรองรับคำสั่งซื้อที่จะมีมากขึ้น ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลง ร้อยละ2.51 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลงร้อยละ 0.83 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 50.92 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ32.70 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 2.04 โดยลวดเหล็ก ลดลงร้อยละ 25.22

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์2554 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาเหล็กที่สำคัญในกลุ่มทรงแบนเพิ่มขึ้นทุกตัว ได้แก่ เหล็กแท่งแบน เพิ่มขึ้นจาก 144.77 เป็น 159.65 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.28 เหล็กแผ่นรีดร้อน เพิ่มขึ้นจาก 148.72เป็น 150.76 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.37 เหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 156.07เป็น 157.94 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.20 แต่เหล็กในกลุ่มทรงยาวกลับมีราคาที่ลดลง ได้แก่ เหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต ลดลงจาก 154.59 เป็น 144.47 ลดลงร้อยละ 8.49 เหล็กเส้น ลดลงจาก 146.81 เป็น 146.80 ลดลง ร้อยละ 0.01

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ในส่วนเหล็กทรงแบน คาดว่าจะมีทิศทางที่ขยายตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้า มีความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่เหล็กทรงยาวกลับมีแนวโน้มการผลิตที่ลดลงเนื่องจากผู้ประกอบการยังคงมีสต๊อกอยู่

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคม 2554 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 ตามสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมกราคม ดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 146,234 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2553 ซึ่งมีการผลิต 103,849 คัน ร้อยละ 40.81เนื่องจากมีการผลิตรถยนต์ทุกประเภทเพิ่มขึ้น (รถยนต์นั่ง, รถกระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์) และมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2553 ร้อยละ 6.43
  • การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 68,398 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2553 ซึ่งมีการจำหน่าย 49,560 คัน ร้อยละ 38.01เนื่องจากมีการจำหน่ายรถยนต์ทุกประเภทเพิ่มขึ้น (รถยนต์นั่ง,รถกระบะ 1 ตัน, รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV และSUV) แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงจากเดือนธันวาคม2553 ร้อยละ 26.55 เพราะในเดือนธันวาคมของทุกปี เป็นช่วงฤดูกาลจำหน่ายผู้ประกอบแต่ละรายมีการเร่งการจำหน่ายเพื่อปิดยอดขายของปี 2553
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 68,082 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2553 ซึ่งมีการส่งออก 58,525 คัน ร้อยละ 16.33 แต่มีปริมาณการส่งออกรถยนต์ลดลงจากเดือนธันวาคม 2553 ร้อยละ4.14
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2554 สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 46 และส่งออกร้อยละ 54

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม 2554 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมกราคม ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 178,353 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2553 ซึ่งมีการผลิต 155,102 คัน ร้อยละ 14.99 เนื่องจากมีการผลิตรถจักรยานยนต์ทุกประเภทเพิ่มขึ้น(รถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต) และมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม2553 ร้อยละ 10.79
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 161,573 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2553 ซึ่งมีการจำหน่าย 153,312 คัน ร้อยละ 5.39 และมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนธันวาคม 2553 ร้อยละ 2.26
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) จำนวน 15,648 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2553 ซึ่งมีการส่งออก 6,434คัน ร้อยละ 143.21 แต่มีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนธันวาคม 2553 ร้อยละ 8.62
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมกราคม 2554 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 89 และส่งออกร้อยละ 11
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลก่อสร้าง การส่งออกเพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ดี เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนามีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนมกราคม 2554 ปริมาณการผลิต เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเดือนเดียวกันของปีก่อน มีการเปลี่ยนแปลงไม่มากนัก ลดลงร้อยละ 0.64 และ 0.32 ตามลำดับ เนื่องจากยังมีสินค้าคงคลังอยู่ในปริมาณที่สูง สำหรับปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.06และ 3.77 ตามลำดับ เนื่องจากอยู่ในช่วงไตรมาสที่ 1 ซึ่งเป็นฤดูกาลก่อสร้าง และปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยในการเติบโตของอุตสาหกรรม คือ การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนมกราคม 2554 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 17.04 และ 13.44 ตามลำดับ การส่งออกของไทยที่ลดลงนี้ เนื่องจากไม่มีคำสั่งซื้อจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย ทั้งนี้ เป็นผลจากการประกาศเลื่อนชำระหนี้ของบริษัทดูไบเวิลด์ ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนที่ถือหุ้นใหญ่โดยรัฐบาล และมีขนาดใหญ่ 1 ใน 3 แห่งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทำให้เศรษฐกิจในประเทศชะลอตัว โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ กัมพูชา เมียนมาร์ บังคลาเทศ และเวียดนาม

3.แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลก่อสร้างอีกทั้งมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของภาครัฐสำ หรับการส่งออกคาดว่าจะยังขยายตัวได้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโต ตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในกิจกรรมการก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนกุมภาพันธ์ 2554 ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าเดือนกุมภาพันธ์ 2554 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และคอมเพรสเซอร์ โดยมีผลการคาดการณ์อัตราการขยายตัวปรับตัวเพิ่มขึ้น 25.83% 27.18% และ 11.94% ตามลำดับ
  • ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดือนกุมภาพันธ์ 2554 ยังทรงตัวอยู่ที่ ร้อยละ 0.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ตารางที่ 1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน ม.ค. 2554

          เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์                                มูลค่า(ล้านเหรียญฯ)   %MoM     %YoY
          อุปกรณ์คอมพิวเตอร์                                           1,367.13      -12.31  -13.75
          IC                                                         617.50      -17.68    6.31
          เครื่องปรับอากาศ                                              232.09       -3.52    6.96
          เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้ารวมถึงแป้นและแผงควบคุม    152.95      -10.58    9.37
          รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์                              4,144.22       -8.69    4.38

ที่มา กรมศุลกากร

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมกราคม 2554 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 5.55 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 1.55 เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.11 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.98 โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น เครื่องปรับอากาศ ทั้งคอนเดนซิงยูนิตและแฟนคอยส์ยูนิต และคอมเพรสเซอร์ โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ13.44, 5.74 และ 23.83 ตามลำดับ เนื่องจากส่วนหนึ่งมาจากการเติมเต็มในส่วนสินค้าคงคลังที่ปรับลดลง และการผลิตเพื่อการส่งออก สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.14 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 4.25 อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีการผลิตลดลงได้แก่ Hard Disk Drive และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ มีการชะลอการผลิตเนื่องจากสินค้าคงคลังยังอยู่ระดับสูง

2. การตลาด

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมกราคม 2554 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 8.69 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.38 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 4,144.22 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออกรวมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 1.84 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.59 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูงที่สุดได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้าฯโดยมีมูลค่าส่งออกคือ 232.09 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 152.95 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ จากอุปสงค์จากต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นตามการเติบโตของอาคารสำนักงานในต่างประเทศ สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.82 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.48 เนื่องจากการปรับสินค้าคงคลังในประเทศคู่ค้าจึงมีผลชะลอคำสั่งซื้อจากไทย ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีมูลค่าส่งออกสูงที่สุดได้แก่ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ วงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี โดยมีมูลค่าส่งออกคือ 1,367.13ล้านเหรียญสหรัฐ และ 617.50 ล้านเหรียญสหรัฐ ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนกุมภาพันธ์ 2554 ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และคอมเพรสเซอร์ โดยมีผลการคาดการณ์อัตราการขยายตัว ปรับตัวเพิ่มขึ้น 25.83% 27.18% และ 11.94%ตามลำดับ ส่วนการประมาณการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยังทรงตัวอยู่ที่ร้อยละ 0.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ