ภาวะอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 16, 2011 14:47 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อะลูมิเนียมเป็นโลหะที่มีคุณสมบัติพิเศษหลายประการคือ แข็งแรง ทนทาน ความหนาแน่นน้อย น้ำหนักเบา ยืดตัวได้ง่าย มีความเหนียวมาก ทนทานต่อการเกิดสนิมและการกัดกร่อนในบรรยากาศการใช้งานทั่วไปได้ดีมาก (แต่ไม่ทนทานต่อการกัดกร่อนของกรดด่าง) มีความสามารถในการสะท้อนแสงสูงมาก เป็นโลหะที่ไม่เป็นพิษต่อร่างกายมนุษย์ มีค่าการนำความร้อนสูง และนำไฟฟ้าได้ดี อย่างไรก็ตาม อะลูมิเนียมเป็นโลหะที่เพิ่งถูกนำมาใช้ผลิตในเชิงพาณิชย์เพียง 153 ปีเท่านั้น ในขณะที่เหล็ก ทองแดง ตะกั่ว และดีบุก ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์เป็นระยะเวลาหลายพันปีมาแล้ว ปัจจุบันความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมมีมากขึ้นทุกปี และเป็นโลหะที่ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากเป็นที่สองรองจากโลหะเหล็ก ทั้งนี้เนื่องจากคุณสมบัติที่มีหลากหลายประการดังกล่าวข้างต้น ทำให้เป็นทางเลือกสำหรับนักออกแบบทางด้านวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม นอกจากนั้น ข้อเด่นที่ทำให้อะลูมิเนียมเป็นที่นิยมใช้กว้างขวาง คือสามารถนำผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมที่ใช้แล้วกลับมารีไซเคิลได้โดยไม่มีที่สิ้นสุด และไม่ทำให้สูญเสียคุณสมบัติในตัวของมัน ซึ่งขณะนี้อุตสาหกรรมอะลูมิเนียมทั่วโลกพยายามที่จะใช้วัตถุดิบที่เป็นผลิตภัณฑ์อะลูมิเนียมที่ใช้แล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่า และเป็นการช่วยลดพลังงานได้อย่างมากเพราะการหลอมอะลูมิเนียมที่ใช้แล้วจะช่วยประหยัดพลังงานได้ถึงร้อยละ 95 ของพลังงานที่ต้องใช้ในการผลิตโลหะอะลูมิเนียมจากวัตถุดิบที่เป็นสินแร่

ภาวะตลาดโลก

การผลิต

การผลิตอะลูมิเนียมทำได้ 2 วิธีการ คือผลิตจากสินแร่ และผลิตจากเศษอะลูมิเนียมหรือผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้ว

จากรายงานสถิติข้อมูลของ International Aluminium Institute แจ้งว่ากำลังการผลิตโลหะอะลูมิเนียมที่ใช้วัตถุดิบจากสินแร่ในปี 2553 จำแนกตามภูมิภาคเป็นดังนี้

ตารางที่ 1 กำลังการผลิตโลหะอะลูมิเนียม ปี 2553

หน่วย : 1,000 เมตริกตัน

               ภูมิภาค                             กำลังการผลิต
          แอฟริกา                                     1,895
          อเมริกาเหนือ                                 5,912
          อเมริกาใต้                                   2,525
          เอเชีย (ไม่รวมจีนและเกาหลีเหนือ)*               5,789
          ยุโรปตะวันตก                                 4,320
          ยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง                     4,129
          ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์                        2,344
              รวมทั้งสิ้น                               26,914

ที่มา : International Aluminium Institute

หมายเหตุ : * จีนและเกาหลีเหนือมิได้รายงานตัวเลขต่อ International Aluminium Institute และประมาณการในอีก 2 ปีข้างหน้าว่าจะมีกำลังการผลิตดังนี้

ตารางที่ 2 ประมาณการกำลังการผลิตโลหะอะลูมิเนียม ปี 2554-2555

หน่วย : 1,000 เมตริกตัน

                          ภูมิภาค                  ปี 2554     ปี 2555
          แอฟริกา                                  1,924      1,926
          อเมริกาเหนือ                              5,912      5,915
          อเมริกาใต้                                2,572      2,648
          เอเชีย (ไม่รวมจีนและเกาหลีเหนือ)*            6,377      6,722
          ยุโรปตะวันตก                              4,340      4,436
          ยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง                  4,114      4,083
          ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์                     2,370      2,374
                         รวมทั้งสิ้น                 27,609     28,104

ที่มา : International Aluminium Institute

หมายเหตุ : * จีนและเกาหลีเหนือมิได้รายงานตัวเลขต่อ International Aluminium Institute

จะเห็นว่ากำลังการผลิตส่วนใหญ่จะอยู่ที่อเมริกาเหนือ ซึ่งได้แก่ แคนาดา และสหรัฐอเมริกา และในเอเชีย ได้แก่ ญี่ปุ่น และตะวันออกกลาง แต่การผลิตในปี 2553 ส่วนใหญ่จะผลิตมากในในอเมริกาเหนือ และยุโรปตะวันออก ดังปรากฏในตารางที่ 3

ตารางที่ 3 ปริมาณการผลิตโลหะอะลูมิเนียม ปี 2553

หน่วย : 1,000 เมตริกตัน

                                    ภูมิภาค                            ปี 2553
          แอฟริกา                                                      1,744
          อเมริกาเหนือ                                                  4,689
          อเมริกาใต้                                                    2,305
          เอเชีย (ไม่รวมจีนและเกาหลีเหนือ)*                                2,504
          ยุโรปตะวันตก                                                  3,801
          ยุโรปตะวันออกและยุโรปกลาง                                      4,253
          ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์                                         2,277
          กลุ่มประเทศที่มีชายฝั่งติดอ่าวเปอร์เซีย (Gulf region)                  2,722
                                   รวมทั้งสิ้น                           24,295

ที่มา : International Aluminium Institute

หมายเหตุ : * จีนและเกาหลีเหนือมิได้รายงานตัวเลขต่อ International Aluminium Institute

หากพิจารณาเป็นรายประเทศ จะเห็นว่าจีนเป็นประเทศที่ควรจับตามองเพราะมีการพัฒนาอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมอย่างรวดเร็วมาก และขณะนี้จีนได้เป็นผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในโลกด้วยกำลังการผลิตเกือบ 13 ล้านเมตริกตัน และคาดว่าในปี 2555 กำลังการผลิตจะเพิ่มขึ้นถึง 14.4 ล้านเมตริกตัน ในขณะที่ในปี 2553 มีการบริโภคสูงถึง 600 ล้านเมตริกตัน ส่วนใหญ่จะเป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง จากการที่จีนมีความต้องการใช้โลหะอะลูมิเนียมเป็นจำนวนมากในแต่ละปีทำให้ต้องมีการสำรวจและพัฒนาแหล่งแร่ Bauxite ภายในประเทศ โดยเมื่อเดือนธันวาคม 2553 นี้ บริษัท Chinalco ของจีนได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MOU) กับบริษัท Rio Tinto ซึ่งเป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเหมืองแร่รายใหญ่ของโลกเพื่อทำการสำรวจปริมาณสำรองแร่ Bauxite ในประเทศจีน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 โดยบริษัท Chinalco ถือหุ้นร้อยละ 51 และบริษัท Rio Tinto จะถือหุ้นร้อยละ 49

ราคาตลาดโลก

ราคาโลหะอะลูมิเนียม (Primary Aluminium) ในตลาดโลกค่อนข้างจะผันผวนและเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2551 จนถึงปัจจุบันเนื่องจากอุปสงค์ (Demand) ที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ในขณะที่ด้านอุปทาน (Supply) จะขยายตัวได้ช้ากว่า ในปี 2553 ความต้องการใช้ของประเทศจีนเป็นปัจจัยสำคัญที่ผลักดันให้ราคาโลหะอะลูมิเนียมในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้น เพราะการผลิตในประเทศไม่เพียงพอกับความต้องการ และต้นทุนการผลิตก็เพิ่มขึ้น ทำให้จีนต้องนำเข้าจากต่างประเทศ นอกจากผลของความต้องการใช้ของจีนแล้ว การอ่อนค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯก็ส่งผลให้ราคาในตลาดโลกเพิ่มมากขึ้นด้วย ที่ผ่านมาราคาสูงสุดของปีอยู่ที่ 2,532 เหรียญสหรัฐต่อเมตริกตัน เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ( ราคาที่ตลาด London Metal Exchange) เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเศษอะลูมิเนียมและความต้องการที่จะผลิตผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปเพื่อเพิ่มปริมาณสินค้าคง

แนวโน้มราคาปี 2554

ความต้องการใช้อะลูมิเนียมในอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะผลักดันให้ความต้องการใช้ในโลกเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในจีนและสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้เพราะอุตสาหกรรมยานยนต์ของจีนจะยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่สหรัฐอเมริกาได้มีการกำหนดมาตรฐานที่จะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานในรถยนต์โดยการใช้โลหะที่มีน้ำหนักเบา(ซึ่งรวมถึงอะลูมิเนียม)เข้ามาใช้แทนเหล็กซึ่งจะส่งผลให้มีการเก็งกำไรในโลหะอะลูมิเนียมและผลักดันให้ราคาเพิ่มขึ้น

นอกจากปัจจัยด้านอุปสงค์แล้ว ด้านอุปทานก็จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้ราคาโลหะอะลูมิเนียมเพิ่มขึ้น เพราะราคาสินแร่และพลังงานเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในจีนที่ค่าจ้างแรงงานเพิ่มขึ้นและราคาพลังงานสูง นอกจากนั้นยังมีความเข้มงวดในเรื่องของการรักษา

สภาพสิ่งแวดล้อมรอบๆโรงงานให้ได้ตามมาตรฐานสากล เพราะจีนถูกเพ่งเล็งในเรื่องนี้มาก ซึ่งก็จะมีค่าใช้จ่ายเกิดขึ้นและส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าปริมาณสินค้าคงคลังที่มีสะสมอยู่มากในปี 2553 น่าจะมีส่วนช่วยดึงราคาปี 2554 ไว้ไม่ให้สูงขึ้นมากนัก

ภาวะอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมภายในประเทศ

โครงสร้างอุตสาหกรรมอะลูมิเนียม แบ่งออกได้ 3 ส่วน คือ อุตสาหกรรมต้นน้ำ ได้แก่ การถลุงอะลูมิเนียมจากแร่ Bauxite ซึ่งยังไม่มีในประเทศไทย อุตสาหกรรมกลางน้ำ ได้แก่ การผลิตผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปเพื่อใช้ในการผลิตในอุตสาหกรรมปลายน้ำ สำหรับอุตสาหกรรมปลายน้ำจะเป็นการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปที่มีรูปทรงต่างๆเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า บรรจุภัณฑ์ ภาชนะเครื่องครัว เป็นต้น

การที่ประเทศไทยยังไม่มีการถลุงอะลูมิเนียม เนื่องจากขาดแหล่งแร่ Bauxite และราคาพลังงาน เช่น ไฟฟ้า ก๊าซธรรมชาติ มีราคาสูง ดังนั้นวัตถุดิบต้นทางของการผลิตในไทยจึงเริ่มจากการนำเศษอะลูมิเนียมมาหลอมเป็นผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปในรูปของแท่งแบน (Slab) และแท่งยาว (Billet) รวมทั้งการหล่ออะลูมิเนียมเป็นรูปทรงต่างๆตามความต้องการ สำหรับผู้ผลิตที่ไม่มีเตาหลอมก็จะสั่งนำเข้าวัตถุดิบในรูปของผลิตภัณฑ์กึ่งสำเร็จรูปเข้ามารีดร้อนและรีดเย็นเพื่อลดความหนาได้ตามความต้องการ จนกระทั่งบางเป็นแผ่น Foil จากนั้นก็จะนำไปขึ้นรูปต่อด้วยวิธีการต่างๆ

สำหรับภาวะอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมภายในประเทศในปี 2553 จัดว่าดีขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อัตราการใช้กำลังการผลิตไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 แต่ผู้ผลิตในประเทศก็ยังต้องเผชิญกับปัญหาวัตถุดิบที่มีความผันผวนมากทำให้บางครั้งต้องขาดทุนจากการเก็บ stock วัตถุดิบ และต้องแข่งขันกับสินค้าจากจีนที่เข้ามาจำหน่ายในราคาที่ต่ำมาก ทั้งนี้เพราะจีนมีแหล่งแร่ Bauxite ที่ใช้ผลิตโลหะอะลูมิเนียม การผลิตส่วนใหญ่ครบวงจรอีกทั้งยังได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลในด้านราคาพลังงาน ทำให้ต้นทุนการผลิตสินค้าของจีนต่ำกว่าไทยมาก ดังนั้นหากผู้ผลิตไทยจะเพิ่มส่วนแบ่งตลาดภายในประเทศก็จำเป็นจะต้องปรับระดับคุณภาพของสินค้าให้เป็นการผลิตสินค้าคุณภาพสูงเพื่อหลีกเลี่ยงการแข่งขันด้านราคาในสินค้าระดับคุณภาพทั่วไปของจีน และอาจจะต้องเพิ่มการบริการหลังการขายเพื่อเป็นการจูงใจลูกค้าด้วย

การนำเข้า : ปริมาณนำเข้าอะลูมิเนียมในปี 2553 ส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบ เช่น อะลูมิเนียมที่ยังไม่ขึ้นรูป (Unwrought) คิดเป็นปริมาณ 488,766 เมตริกตัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 32.57) แหล่งนำเข้าที่สำคัญคือประเทศออสเตรเลีย สาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโอมาน รองลงมาคือเศษอะลูมิเนียม (Scrap) คิดเป็นปริมาณ 94,553 เมตริกตัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 31.43 ) ส่วนใหญ่นำเข้ามาจากประเทศอังกฤษ กัมพูชา และ สิงคโปร์ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าปริมาณมากคือแผ่นอะลูมิเนียม (Plates Sheets & Strip) คิดเป็นปริมาณ 130,068 เมตริกตัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 95.33 ) โดยส่วนมากนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ รองลงมาคือ แผ่น Foil คิดเป็นปริมาณ 60,437 เมตริกตัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 52.86) จากประเทศจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รายละเอียดการนำเข้าปี 2553 ปรากฏตามตารางที่ 4

ตารางที่ 4 ปริมาณและมูลค่าการนำเข้าอะลูมิเนียม และของที่ทำด้วยอะลูมิเนียม ปี 2553

          ผลิตภัณฑ์                                       ปริมาณ    อัตราการขยายตัว         มูลค่า      อัตราการขยายตัว
                                                     (เมตริกตัน)  เทียบกับปีก่อน(%)       (ล้านบาท)    เทียบกับปีก่อน(%)
- อะลูมิเนียมที่ยังไม่ขึ้นรูป (อันรอต)                           488,766        32.57           36,065         54.08-
- 3เศษและของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นอะลูมิเนียม                        94,553        31.43            5,026         55.99
- ผงอะลูมิเนียมและเกล็ดอะลูมิเนียม                               576        15.43              110           2.8
- ท่อน เส้น และโพรไฟล์ ทำด้วยอะลูมิเนียม                      10,884        60.01            1,441         60.65
- ลวดอะลูมิเนียม                                           4,195         18.4              514         21.23
- แผ่น แผ่นบาง และแถบ ทำด้วยอะลูมิเนียม                     130,068        95.33           15,654         18.37
- ฟอยล์อะลูมิเนียม ความหนาไม่เกิน 0.2 มม.                    60,437        52.86            8,838         48.64
- หลอด หรือ ท่อ ทำด้วยอะลูมิเนียม                            10,492        64.68            2,284         62.33
- อุปกรณ์ติดตั้งที่ทำด้วยอะลูมิเนียม ของหลอดหรือท่อ                    521        46.76              263         52.91
- สิ่งก่อสร้าง                                              3,180        66.14              471             0
- เรเซอร์วัวร์ แท้งก์ แว้ต และภาชนะที่คล้ายกัน                      213       -66.72               32        -85.45
สำหรับใช้บรรจุวัตถุใดก็ตาม ทำด้วยอะลูมิเนียมที่มีความจุเกิน 300 ลิตร
- คาสก์ ดรัม กระป๋อง หีบ และภาชนะคล้ายกัน                     4,517         48.2            1,119         37.13
สำหรับใช้บรรจุวัตถุใดก็ตาม ทำด้วยอะลูมิเนียมที่มีความจุเกิน 300 ลิตร
- ภาชนะอะลูมิเนียมสำหรับบรรจุก๊าซอัดหรือก๊าซเหลว                   355        53.02              113        -25.66
- ลวดเกลียว เคเบิล แถบถัก ทำด้วยอะลูมิเนียมไม่หุ้มฉนวนไฟฟ้า        7,117     4,061.99              642      2,040.00
- ของใช้บนโต๊ะอาหาร ของใช้ในครัว หรือของใช้                     958        35.89              223          28.9
ตามบ้านเรือนอื่นๆ ทำด้วยอะลูมิเนียม
- ของอื่นๆทำด้วยอะลูมิเนียม                                  20,990        16.32           13,456         24.71
          รวม                                      837,822.00        42.23           86,851         41.32

ที่มา : กรมศุลกากร

การส่งออก : ในปี 2553 การส่งออกในส่วนของวัตถุดิบที่มีปริมาณมากสูงสุดคือ อะลูมิเนียมที่ยังไม่ขึ้นรูป (Unwrought) คิดเป็นปริมาณ 59,975 เมตริกตัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 56.45) ตลาดหลักคือ ประเทศอินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม รองลงมาคือเศษอะลูมิเนียม (Scrap) คิดเป็นปริมาณ 33,462 เมตริกตัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 42.32) โดยส่วนใหญ่ส่งไปที่ประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และอินเดีย สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการส่งออกที่น่าสนใจคือ สิ่งก่อสร้าง มีปริมาณส่งออกที่ระดับ 81,951 เมตริกตัน (แต่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนเพียงเล็กน้อยคือ ร้อยละ 9.40) ตลาดหลักได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ และเนเธอร์แลนด์ รองลงมาคือของใช้บนโต๊ะอาหาร ของใช้ในครัว

ปริมาณส่งออกอยู่ที่ 29,235 เมตริกตัน อีกผลิตภัณฑ์คือแผ่นอะลูมิเนียม (Plates Sheets & Strip) ส่งออกในปริมาณ 24,149 เมตริกตัน (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 42.89) โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และเกาหลีใต้ รายละเอียดปรากฏตามตารางที่ 5

ปริมาณและมูลค่าการส่งออกอะลูมิเนียม และของที่ทำด้วยอะลูมิเนียม ปี 2553

          ผลิตภัณฑ์                                              ปริมาณ   อัตราการขยายตัว    มูลค่า   อัตราการขยายตัว

(เมตริกตัน) เทียบกับปีก่อน(%) (ล้านบาท) เทียบกับปีก่อน(%)

- อะลูมิเนียมที่ยังไม่ขึ้นรูป (อันรอต)                                    59,975     56.45        4,342     53.43
- เศษและของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นอะลูมิเนียม                                 33,462     42.32        1,308     32.52
- ผงอะลูมิเนียมและเกล็ดอะลูมิเนียม                                         1       -95            1    -91.44
- ท่อน เส้น และโพรไฟล์ ทำด้วยอะลูมิเนียม                              18,123    -30.54        1,619    -14.07
- ลวดอะลูมิเนียม                                                     140    268.42           28     86.67
- แผ่น แผ่นบาง และแถบ ทำด้วยอะลูมิเนียม                              24,149     42.89        2,313     38.75
- ฟอยล์อะลูมิเนียม ความหนาไม่เกิน 0.2 มม.                             8,607     22.82        1,274     -1.92
- หลอด หรือ ท่อ ทำด้วยอะลูมิเนียม                                     2,632     16.61          638      19.7
- อุปกรณ์ติดตั้งที่ทำด้วยอะลูมิเนียม ของหลอดหรือท่อ                            485     18.87          234     22.51
- สิ่งก่อสร้าง                                                     81,951       9.4       13,996     -2.28
- เรเซอร์วัวร์ แท้งก์ แว้ต และภาชนะที่คล้ายกัน                              123        50           44     33.33
สำหรับใช้บรรจุวัตถุใดก็ตาม ทำด้วยอะลูมิเนียมที่มีความจุเกิน 300 ลิตร
- คาสก์ ดรัม กระป๋อง หีบ และภาชนะคล้ายกัน                            13,765     20.77        3,111     13.58
สำหรับใช้บรรจุวัตถุใดก็ตาม ทำด้วยอะลูมิเนียมที่มีความจุเกิน 300 ลิตร
- ภาชนะอะลูมิเนียมสำหรับบรรจุก๊าซอัดหรือก๊าซเหลว                           131    -14.94           38      8.57
- ลวดเกลียว เคเบิล แถบถัก ทำด้วยอะลูมิเนียมไม่หุ้มฉนวนไฟฟ้า                  234    -23.03           38     -37.7
- ของใช้บนโต๊ะอาหาร ของใช้ในครัว หรือของใช้ตาม                       29,235     37.02        6,213     34.05
- บ้านเรือนอื่นๆ ทำด้วยอะลูมิเนียมของอื่นๆทำด้วยอะลูมิเนียม                   4,070     26.01
                         รวม                               287,646.00     23.66       39,267     13.91

แนวโน้มปี 2554 : คาดว่าอุตสาหกรรมอะลูมิเนียมภายในประเทศจะขยายตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 เพราะอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้อะลูมิเนียมมีแนวโน้มที่จะขยายตัว เช่น ชิ้นส่วนยานยนต์ ก่อสร้าง เครื่องใช้ไฟฟ้า และบรรจุภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม หากปัญหาความไม่สงบทางการเมืองของกลุ่มประเทศตะวันออกกลางซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันแหล่งใหญ่ของโลกยังไม่ยุติลง จะส่งผลให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นซึ่งจะกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกรวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศไทย และส่งผลให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมต่างๆชะลอตัวลงได้เช่นกัน

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ