สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมีนาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 18, 2011 14:31 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 หดตัวร้อยละ 3.4 เป็นการหดตัวเป็นเดือนที่สองในรอบสามเดือนโดยการผลิตชะลอตัวจากอุตสาหกรรมสำคัญ คือ การผลิต Hard Disk Drive และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ในส่วนของเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น หากสถานการณ์ในญี่ปุ่นยังไม่กลับมาเป็นปกติ จะส่งผลกระทบอุตสาหกรรมไทยในช่วงไตรมาส 2-3 เนื่องจากสต็อกวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่ผู้ประกอบการไทยมีอยู่ จะสำรองใช้ได้ถึงสิ้นเดือนเมษายน สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 33.1 จากเดือนมกราคมที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 19.8

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(1) หดตัวร้อยละ 3.4 จากเดือนมกราคมที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 เป็นการหดตัวเป็นเดือนที่สองในรอบสามเดือน โดยการผลิตชะลอตัวจากอุตสาหกรรมสำคัญ คือ การผลิต Hard Disk Driveเนื่องจากมีการเร่งการผลิตมากในช่วงเดียวกันของปีก่อน และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมที่มีหลายโรงงานหยุดซ่อมบำรุงประจำปี ทั้งนี้จะได้มีการติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป สำหรับเหตุการณ์ภัยพิบัติแผ่นดินไหวและสึนามิในญี่ปุ่น หากสถานการณ์ในญี่ปุ่นยังไม่กลับมาเป็นปกติ จะส่งผลกระทบอุตสาหกรรมไทยในช่วงไตรมาส 2-3 เนื่องจากสต็อกวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่ผู้ประกอบการไทยมีอยู่ จะสำรองใช้ได้ถึงสิ้นเดือนเมษายน

อัตราการใช้กำลังการผลิต(2) ลดลงจากร้อยละ 62.32 ในเดือนมกราคม 2553 เป็นร้อยละ 59.10 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554

หมายเหตุ

(1) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นดัชนีที่แสดงทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาพรวม รายสาขาอุตสาหกรรม และรายผลิตภัณฑ์

(2) อัตราการใช้กำลังการผลิต หมายถึง ค่าร้อยละของการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเทียบกับความสามารถในการผลิตสูงสุดเต็มศักยภาพ หรือเต็มกำลังการผลิต (capacity)

เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดีต่อเนื่องที่ร้อยละ 33.1 จากเดือนมกราคมที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 19.8

อุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ(กุมภาพันธ์ 2554)

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ผลิตลดลง ได้แก่ ผ้าผืน เครื่องนอน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ ลดลงร้อยละ 0.6, 22.9 และ 0.2 แต่ในบางผลิตภัณฑ์มีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าลูกไม้ และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าถัก เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7, 23.1 และ 6.2 ตามลำดับ ด้านการส่งออกโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 ผลิตภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ เส้นใยประดิษฐ์ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6, 70.2, 38.8, 10.2, 49.6 และ 7.5 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตลดลง ร้อยละ 7.83 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 10.88 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 19.38 และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 10.81 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 2.85โดยลวดเหล็ก ลดลง ร้อยละ 26.41 ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ พบว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea)ในช่วงเดือนมีนาคม 2554 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาเหล็กที่สำคัญในกลุ่มทรงแบนเพิ่มขึ้นทุกตัว แต่เหล็กในกลุ่มทรงยาวกลับมีราคาที่ลดลง ซึ่งสถานการณ์ราคาเหล็กโดยรวมคาดการณ์ว่าจะมีการปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากราคาวัตถุดิบ เช่น ถ่านโค้ก ปรับตัวสูงขึ้น นอกจากนี้จะเป็นผลจากความต้องการใช้เหล็กของประเทศญี่ปุ่นเพื่อซ่อมแซมประเทศหลังจากการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ

อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตจำนวน 150,743 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งมีการผลิต 127,849 คัน ร้อยละ 17.91เนื่องจากมีการผลิตรถยนต์ทุกประเภทเพิ่มขึ้น(รถยนต์นั่ง, รถกระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์) และมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม 2554 ร้อยละ 3.08 สำหรับการส่งออกยังขยายตัวดีที่ร้อยละ 8.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.0 เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.45 ตามการผลิตเครื่องปรับอากาศที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้เครื่องปรับอากาศที่มีผลมาจากสภาวะอากาศที่ร้อนขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวผู้ประกอบการได้ส่งสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดให้เป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภคสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.23 เนื่องจากปีก่อนตลาด Hard Disk Drive ขยายตัวได้ดีกว่าปีนี้ จากการฟื้นตัวของความต้องการสินค้าคอนซูเมอร์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก รวมถึงผลของการปรับปรุงระบบและการอัพเกรดคอมพิวเตอร์

ในส่วนมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.27 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 4,244.13 ล้านเหรียญสหรัฐ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ