สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 11, 2011 15:54 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2554 หดตัวร้อยละ 6.7 เป็นการหดตัวเป็นเดือนที่สองติดต่อกัน โดยการผลิตชะลอตัวจากอุตสาหกรรมสำคัญ คือ การผลิต Hard Disk Drive เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับเพชรพลอย ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และจากการที่ดัชนีฯ หดตัวทั้งในเดือนกุมภาพันธ์ต่อเนื่องเดือนมีนาคม ทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1/2554 หดตัวร้อยละ 2.1 โดยปัจจัยสำคัญมาจากจากฐานที่สูงมากในปี 2553 สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดี โดยเดือนมีนาคม 2554 ขยายตัวที่ร้อยละ 27.4 จากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 33.1 ทำให้ในไตรมาสที่ 1/2554 ขยายตัวร้อยละ 26.9 ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจโลกในภาพรวมเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม2554 ซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(1) หดตัวร้อยละ 6.7 เป็นการหดตัวเป็นเดือนที่สองติดต่อกันโดยการผลิตชะลอตัวจากอุตสาหกรรมสำคัญ คือการผลิต Hard Disk Drive เครื่องแต่งกายเครื่องประดับเพชรพลอย ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม และทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในไตรมาสที่ 1/2554หดตัวร้อยละ 2.1 สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต(2) ในไตรมาสที่ 1 /2554 อยู่ที่ร้อยละ 62.58จากร้อยละ 62.83 ในไตรมาสที่ 1/2553

ปัจจัยสำคัญของการหดตัวของการผลิตส่วนหนึ่งเป็นผลจากฐานที่สูงมากในปี 2553 หลังช่วงวิกฤตเศรษฐกิจโลก หลายอุตสาหกรรมมีการเร่งการผลิตอย่างมากเพื่อชดเชยสินค้าคงคลังที่ลดลงทำให้ในปี 2554 บางอุตสาหกรรมมีการชะลอการผลิตลงจากระดับสินค้าคงคลังที่มีสูงมาก อย่างไรก็ตามสศอ. จะได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดี โดยเดือนมีนาคม 2554 ขยายตัวที่ร้อยละ 27.4 จากเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 33.1 ทำ ให้ในไตรมาสที่1/2554 ขยายตัวร้อยละ 26.9 ซึ่งปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจโลกในภาพรวมเริ่มมีเสถียรภาพมากขึ้น

หมายเหตุ (1) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นดัชนีที่แสดงทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาพรวม รายสาขาอุตสาหกรรม และรายผลิตภัณฑ์

(2) อัตราการใช้กำลังการผลิต หมายถึง ค่าร้อยละของการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเทียบกับความสามารถในการผลิตสูงสุดเต็มศักยภาพ หรือเต็มกำลังการผลิต (capacity)

อุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ(มีนาคม 2554)

อุตสาหกรรมอาหาร ในภาพรวมมีการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.8โดยสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่นแป้งมันสำปะหลัง ไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ18.1 7.1 11.5 และ 10.9 ตามลำดับ เนื่องจากวัตถุดิบมีปริมาณลดลง กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น อาหารสัตว์ มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 8.7

ด้านการส่งออกโดยรวมในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.6 โดยเฉพาะในสินค้าสับปะรดกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ข้าว ไก่แปรรูป และทูน่ากระป๋อง มูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.4 35.1 14.8 และ 8.5 ตามลำดับ เป็นผลจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชัดเจนขึ้น

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตส่วนใหญ่ลดลง ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน เครื่องนอนและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ ลดลงร้อยละ3.0, 4.4, 12.5 และ 8.3 ซึ่งส่วนใหญ่จะผลิตเฉพาะที่มีคำ สั่งซื้อ แต่ในด้านการส่งออกโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.4 ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เส้นใยประดิษฐ์ และสิ่งทออื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0,38.7, 118.8, 30.6, 56.9 และ 13.0 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตในภาพรวมลดลง ร้อยละ 11.02 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 16.39ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลง ร้อยละ 24.25 และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 22.22 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 2.07 โดยลวดเหล็ก ลดลงร้อยละ 23.14 ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ พบว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนเมษายน 2554เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาเหล็กที่สำคัญลดลงทุกตัว

อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตจำนวน 172,004 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งมีการผลิต 151,143 คัน ร้อยละ 13.80 (เนื่องจากมีการเพิ่มการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ แต่การผลิตรถกระบะ 1 ตัน ปรับตัวลดลงเล็กน้อย) และมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ร้อยละ 14.10สำหรับการส่งออกขยายตัวที่ร้อยละ 1.82 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.4 เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.99เพราะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการขยายตัวค่อนข้างมากโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศที่มีดัชนีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงตู้เย็นคอมเพรสเซอร์และสายไฟฟ้า มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นจากตลาดในประเทศและนอกประเทศสำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 15.66 ทั้งนี้การที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลง เนื่องจากยังคงมีสต๊อกสินค้าในตลาดผู้ค้าส่งจำนวนมาก

ในส่วนมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.13 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 5,248.16 ล้านเหรียญสหรัฐ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ