รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนเมษายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday May 12, 2011 14:59 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ

ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนมีนาคม 2554
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2554 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ร้อยละ 11.5 แต่ลดลงร้อยละ 6.7 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน การผลิตชะลอตัวจากอุตสาหกรรมสำคัญ คือ การผลิต Hard Disk Drive เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับเพชรพลอย ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ที่มีการผลิตลดลงเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนมีนาคม 2554 อยู่ที่ระดับร้อยละ 66.0 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 59.5 ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญ

อุตสาหกรรมรถยนต์

  • ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนเมษายน 2554 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2554 เนื่องจากโดยปกติในเดือนเมษายนของทุกปี จะมีการลดการผลิตรถยนต์ เพราะมีเทศกาลวันหยุดยาวหลายวัน อีกทั้งในปีนี้ยังได้เกิดภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย โดยการผลิตรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2554 จนถึงเดือนมิถุนายน 2554 จะปรับลดเหลือร้อยละ 50
  • สำหรับการเกิดภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น อาจส่งผลกระทบกับผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่เนื่องจากมีการใช้ชิ้นส่วนหลักจากญี่ปุ่น

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

  • ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าเดือนเมษายน 2554 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ และเครื่องคอมเพรสเซอร์
  • ประมาณการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลง ร้อยละ 7.44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวลดลงของ Hard Disk Drive

สรุปประเด็นสำคัญ ดัชนีอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1 ปี 2554

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (มูลค่าเพิ่ม) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับ 187.7 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา (190.0) ร้อยละ 1.2 และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 (191.8) ร้อยละ 2.1

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เครื่องประดับเพชรพลอย เบียร์ เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ได้แก่ Hard Disk Drive เครื่องประดับเพชรพลอย ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เบียร์ เครื่องแต่งกาย เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต เป็นตัวบ่งชี้สภาพการผลิตของภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบระดับการผลิตที่เกิดขึ้นจริงกับระดับการผลิตที่ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ ในไตรมาสที่ 1ของปี 2554 อัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ระดับร้อยละ 62.6 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา(ร้อยละ 63.3) และลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 (ร้อยละ 62.8)

อุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม Hard Disk Drive เม็ดพลาสติก เส้นใยสิ่งทอ เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี2553 ได้แก่ Hard Disk Drive โทรทัศน์ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เหล็ก เครื่องแต่งกาย เป็นต้น

แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมปี 2554

ในปี 2554 คาดการณ์การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมยังคงกรอบการประมาณการเท่าเดิมเท่ากันกับช่วงการประมาณการเมื่อต้นปี ทั้งนี้แม้ว่าจะเกิดปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม อาทิ ภัยธรรมชาติในญี่ปุ่น ปัญหาอุทกภัย แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อรวมกับเศรษฐกิจโลกในภาพรวมที่เริ่มฟื้นตัวชัดเจน การขยายการลงทุนทั้งจากความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นและการย้ายฐานการผลิตบางส่วนมาไทย รวมถึงตลาดเกิดใหม่และอาเซียนที่ยังมีทิศทางการขยายตัวดี จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2554 ทั้งปีโดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI อยู่ในช่วงร้อยละ 6.0-8.0 และ อัตราการใช้กำลังการผลิต จะอยู่ที่ร้อยละ 64-66

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

ก.พ. 54 = 177.8

มี.ค. 54 = 198.3

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • Hard Disk Drive
  • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
  • เบียร์
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

ก.พ. 54 = 59.5

มี.ค. 54 = 66.0

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่

  • ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม
  • ยานยนต์
  • อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนมีนาคม 2554 มีค่า 198.3 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์2554 (177.8) ร้อยละ 11.5 แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนมีนาคม 2553 (212.5)ร้อยละ 6.7

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ได้แก่ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เบียร์ ยานยนต์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ Hard Disk Drive เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับเพชรพลอย ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โทรทัศน์ เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนมีนาคม 2554 อยู่ที่ระดับร้อยละ 66.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2554 (ร้อยละ 59.5) แต่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนมีนาคม 2553(ร้อยละ 68.6)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนกุมภาพันธ์2554 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ยานยนต์ อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็งน้ำโซดาและน้ำดื่ม Hard Disk Drive เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม โทรทัศน์ Hard Disk Drive อาหารทะเลกระป๋องและแช่แข็ง เหล็ก เป็นต้น
สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนมีนาคม 2554

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2554 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 334 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 261 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 27.97 มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 22,138.15 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งมีการลงทุน 9,489.25 ล้านบาท ร้อยละ 133.30 และการจ้างงานรวมมีจำนวน ,935 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 6,918 คน ร้อยละ 29.16

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่น้อยกว่าเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 356 ราย หรือคิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 6.18 มีการจ้างงานรวมลดลงจากเดือนมีนาคม 2553 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 10,621 คนร้อยละ 15.87 แต่มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งมีการลงทุน 18,994.59 ล้านบาท ร้อยละ 16.55

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2554 คืออุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์และเคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 25 โรงงาน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมขุดดิน ล้างทราย จำนวน 20 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนมีนาคม 2554 คือ อุตสาหกรรม ผลิต และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า เงินลงทุน จำนวน 8,252.06 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมการทำยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง เงินลงทุนจำนวน 2,676.20 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนมีนาคม 2554 คือ อุตสาหกรรมทอเสื้อไหมพรม จำนวนคนงาน 1,292 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำผลิตภัณฑ์พลาสติก กล่องอาหาร ของใช้ในครัวเรือนและภาชนะต่าง ๆ จากพลาสติกจำนวนคนงาน 863 คน
ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2554 เมื่อ

เปรียบเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2554 มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 111 ราย มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 69 ราย คิดเป็นร้อยละ 60.87 มีเงินทุนของการเลิกกิจการรวม 1,673.56 ล้านบาท มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 587.40 ล้านบาท และการเลิกจ้างงานมีจำนวน 3,385 คน มากกว่าเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งมีการเลิกจ้างงานจำนวน 3,211 คน

ภาวะการเลิกกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนมีนาคม 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการน้อยกว่าเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งมีโรงงานที่ปิดดำเนินกิจการจำนวน 162 ราย คิดเป็นจำนวนน้อยกว่าร้อยละ 31.48 มีเงินทุนของการเลิกกิจการน้อยกว่าเดือนมีนาคม 2553 ที่การเลิกกิจการคิดเป็นเงินทุน 2,766.03 ล้านบาท และมีการเลิกจ้างงานน้อยกว่าเดือนมีนาคม 2553 ที่การเลิกจ้างงานมีจำนวน 5,009 คน

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเลิกกิจการมากที่สุดในเดือนมีนาคม 2554 คืออุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์และเคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 16 โรงงาน รองลงมาคืออุตสาหกรรมทำเครื่องเรือนจากไม้ ยาง อโลหะอื่น ซึ่งมิได้ทำจากพลาสติกอัดเข้ารูปจำนวน 10 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการโดยที่มีเงินลงทุนสูงสุดในเดือนมีนาคม 2554 คืออุตสาหกรรมถลุง ผสม ทำให้บริสุทธิ์ หลอม รีด ผลิตโลหะในขั้นต้น ที่มิใช่เหล็กและเหล็กกล้า เงินทุน 742 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตรองเท้าหรือชิ้นส่วนรองเท้า เงินทุน 194.70 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เลิกประกอบกิจการและจำนวนคนงานสูงสุดในเดือนมีนาคม 2554คือ อุตสาหกรรมตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม ผ้าเช็ดหน้า เนกไท ถุงมือ ถุงเท้า จากผ้า หนังสัตว์ คนงาน 957 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทอเสื้อไหมพรม คนงาน 448 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม —มีนาคม 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 407 โครงการ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 355โครงการ ร้อยละ 14.65 มีเงินลงทุน 110,000 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน88,400 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.43

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม — มีนาคม 2554
               การร่วมทุน                    จำนวน(โครงการ)       มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%                   178                     41,200
          2.โครงการต่างชาติ 100%                  135                     31,600
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ             94                     37,200
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม —มีนาคม 2554 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 28,600 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดเกษตรกรรม และผลิตผลจากการเกษตร มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 24,400 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหารคาดว่า จะปรับลดลงตามคำสั่งซื้อ และระดับราคาน้ำมันที่ขยับตัวสูงขึ้น ประกอบกับการส่งออกไปญี่ปุ่นชะลอตัวลงจากเหตุอุบัติภัยแผ่นดินไหว-สึนามิ สำหรับการจำหน่ายภายในประเทศอาจปรับตัวลดลง จากระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้น ส่งผลให้ประชาชนอาจชะลอการจับจ่ายใช้สอยลง

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนมีนาคม 2554 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 5.4 แต่ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 7.8 แบ่งเป็น กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลัก เช่นแป้งมันสำปะหลัง ไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง และกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง มีปริมาณการผลิตลดลงจากปีก่อนร้อยละ 18.1 7.1 11.5 และ 10.9ตามลำดับ เนื่องจากวัตถุดิบมีปริมาณลดลง กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น อาหารสัตว์ มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับในส่วนของการผลิตน้ำตาล มีปริมาณอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้น ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นร้อยละ 60.2 เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อนร้อยละ 12.3 เนื่องจากเข้าสู่ช่วงปลายฤดูกาลหีบอ้อย

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนมีนาคม 2554 สินค้าอาหารและเกษตรมีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 2.7 แต่ลดลงจากปีก่อนร้อยละ 9.2 เนื่องจากผู้บริโภคได้รับผลกระทบจากอุทกภัยทางภาคใต้ ประกอบกับราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน

2) ตลาดต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกโดยรวมของอุตสาหกรรมอาหาร(ไม่รวมน้ำตาล) ในรูปเงินบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนและเดือนก่อนร้อยละ 13.6 และ 18.9 โดยเฉพาะในสินค้าสับปะรดกระป๋องผลิตภัณฑ์ข้าว ไก่แปรรูป และทูน่ากระป๋อง มูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อนร้อยละ 43.4 35.1 14.8 และ 8.5 ตามลำดับ เป็นผลจากการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชัดเจนขึ้น สำหรับสินค้าน้ำตาลส่งออกได้ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน เนื่องจากความต้องการในตลาดโลกยังขยายตัว

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับตัวลดลงจากเดือนก่อน ตามปริมาณคำสั่งซื้อที่ลดลงตามฤดูกาล และระดับราคาน้ำมันที่ขยับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการส่งออกไปญี่ปุ่นชะลอตัวลง จากผลกระทบของเหตุอุบัติภัยแผ่นดินไหว-สึนามิ สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะมีแนวโน้มปรับตัวลดลง จากระดับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยที่อาจชะลอตัวลง

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“...แนวโน้มการผลิตในภาพรวมและการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอาจชะลอตัวลงจากเดือนก่อน ตามปริมาณคำสั่งซื้อที่ปรับลดลงตามฤดูกาล...”

1. การผลิต

ภาวะการผลิตในเดือนมีนาคม 2554 ส่วนใหญ่มีการผลิตเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน เครื่องนอนและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3, 8.8, 14.1 และ1.1 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการผลิตส่วนใหญ่ลดลง ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน เครื่องนอน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ ลดลงร้อยละ 3.0, 4.4, 12.5 และ 8.3 ซึ่งส่วนใหญ่จะผลิตเฉพาะที่มีคำสั่งซื้อ

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศ การจำหน่ายในประเทศเดือนมีนาคม2554 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนสอดคล้องกับการผลิตที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน เครื่องนอนและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0, 10.4, 10.7และ 11.0 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการจำหน่ายเพิ่มขึ้นทั้ง ผ้าผืน เครื่องนอน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากผ้าทอ ร้อยละ 5.8, 23.7 และ 4.0 ตามลำดับ ยกเว้นเพียงเส้นใยสิ่งทอฯ ที่ลดลงร้อยละ 9.2 สำหรับการส่งออก โดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.0 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนในผลิตภัณฑ์สิ่งทอหลักๆ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เส้นใยประดิษฐ์ และสิ่งทออื่นๆเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6, 26.1, 55.2, 19.5, 10.9 และ 25.5 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.4ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เส้นใยประดิษฐ์ และสิ่งทออื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.0, 38.7, 118.8, 30.6, 56.9และ 13.0 ตามลำดับ ตลาดส่งออกเมื่อเทียบกับเดือนก่อน การส่งออกขยายตัวได้ดีทั้งในตลาดอาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรปร้อยละ 35.4, 36.4, 4.9 และ 15.3 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกขยายตัวร้อยละ 43.5, 71.9, 1.0 และ31.4 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตในภาพรวมและการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มอาจชะลอตัวลงจากเดือนก่อน ตามปริมาณคำสั่งซื้อที่ปรับลดลงตามฤดูกาล ประกอบกับราคาวัตถุดิบ เช่น ฝ้าย ยังมีราคาสูง รวมถึงผลกระทบต่อเนื่องในผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มและเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่มีคำสั่งซื้อลดลง แต่คาดว่าจะมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นในไตรมาสที่ 3เพื่อสำรองไว้ช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งจะมีการนำเข้าสินค้าก่อนเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่

สำหรับการจำหน่ายในประเทศ คาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง แต่เสื้อผ้าสำเร็จรูปสำหรับนักเรียน นักศึกษา คาดว่าจะมีการจำหน่ายเพิ่มขึ้น เพื่อเตรียมไว้สำหรับฤดูกาลเปิดเทอมใหม่ที่จะถึงนี้

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

The National Development & Reform Commission (NDRC) คาดการณ์ว่าผลผลิตเหล็กดิบของจีนในปีนี้จะสูงถึง 700 ล้านตัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 74 ล้านตัน หรือร้อยละ 12 เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยนโยบายการเพิ่มสิ่งก่อสร้างประเภทที่อยู่อาศัยและการกระจายความเจริญสู่ชนบทของรัฐบาลจีนจะช่วยให้ความต้องการเหล็กเพิ่มขึ้นรัฐบาลจึงมีนโยบายควบคุมเงินเฟ้อเพื่อป้องกันการขึ้นราคาเหล็ก ซึ่งผู้ค้าก็กังวลว่าราคาเหล็กจะตกลงในเดือนพฤษภาคมนี้เมื่อผลผลิตเหล็กจำนวนมากได้ทะลักออกสู่ตลาด

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนมีนาคม 2554มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 8.33 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนโดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนนี้มีค่า 148.06 เมื่อพิจารณาในกลุ่มเหล็กทรงยาวพบว่ามีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.04 โดยลวดเหล็กเพิ่มขึ้น ร้อยละ 28.49 เหล็กลวด เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.46 เป็นผลมาจากความต้องการใช้เพื่อซ่อมแซมบ้านเรือนและโครงสร้างพื้นฐานหลังจากเกิดอุทกภัย สำหรับกลุ่มเหล็กทรงแบน มีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.29 โดยเหล็กแผ่นเคลือบโครเมี่ยม เพิ่มขึ้น ร้อยละ 25.60 เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี เพิ่มขึ้น ร้อยละ 18.46 เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน เพิ่มขึ้น ร้อยละ10.87 ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลง ร้อยละ 11.02 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 16.39ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก ลดลงร้อยละ 24.25 และเหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลง ร้อยละ 22.22 สำหรับเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 2.07 โดยลวดเหล็ก ลดลง ร้อยละ 23.14

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนเมษายน2554 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาเหล็กที่สำคัญลดลงทุกตัวโดยเหล็กแผ่นรีดร้อน ลดลงจาก 153.84 เป็น 143.58 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 6.67 เหล็กแผ่นรีดเย็น ลดลงจาก 157.94 เป็น 149.53เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 5.32 เหล็กแท่งแบนลดลงจาก 167.44 เป็น 160.46 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 4.17 เหล็กเส้นลดลงจาก 141.48 เป็น 137.23 เหรียญสหรัฐต่อตัน ลดลง ร้อยละ 3.00เหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต ลดลงจาก 145.58 เป็น 141.32 เหรียญสหรัฐต่อตันลดลง ร้อยละ 2.93 เนื่องจากความต้องการใช้เหล็กของประเทศในแถบเอเชียตะวันออกที่ลดลง

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนเมษายน 2554 คาดว่าจะมีทิศทางที่ขยายตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเหล็กทรงยาวมีแนวโน้มการผลิตที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากคำสั่งซื้อที่เริ่มมีมากขึ้น สำหรับเหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าจะขยายตัวตามอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่นอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่มีความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมีนาคม 2554 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 ตามสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนมีนาคม ดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 172,004 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งมีการผลิต 151,143 คัน ร้อยละ 13.80(เนื่องจากมีการเพิ่มการผลิตรถยนต์นั่ง และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ แต่การผลิตรถกระบะ 1 ตัน ปรับตัวลดลงเล็กน้อย)และมีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2554ร้อยละ 14.10
  • การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 93,008 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งมีการจำหน่าย 63,067 คัน ร้อยละ 47.47เนื่องจากมีการจำหน่ายรถยนต์ทุกประเภทเพิ่มขึ้น (รถยนต์นั่ง,รถกระบะ 1 ตัน, รถยนต์เพื่อการพาณิชย์ และรถยนต์ PPV และSUV) จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า การจำหน่ายรถยนต์นั่งมีอัตราการขยายตัวสูงสุด โดยส่วนใหญ่เป็นการจำหน่ายรถยนต์นั่งขนาดเล็ก และมีปริมาณการจำ หน่ายรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ร้อยละ 20.46
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 85,626 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งมีการส่งออก 84,097 คัน ร้อยละ 1.82 ซึ่งเป็นการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นในตลาดเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป และมีปริมาณการส่งออกรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ร้อยละ 6.11
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนเมษายน 2554คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2554เนื่องจากโดยปกติในเดือนเมษายนของทุกปี จะมีการลดการผลิตรถยนต์ เพราะมีเทศกาลวันหยุดยาวหลายวัน อีกทั้งในปีนี้ยังได้เกิดภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย โดยการผลิตรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2554จนถึงเดือนมิถุนายน 2554 จะปรับลดเหลือร้อยละ 50

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม 2554 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนมีนาคม ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 221,037 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งมีการผลิต 176,097 คัน ร้อยละ 25.52เนื่องจากมีการเพิ่มการผลิตรถจักรยานยนต์ทุกประเภท(รถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต) และมีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์2554 ร้อยละ 26.25
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 192,120 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งมีการจำหน่าย 169,420 คันร้อยละ 13.40 และมีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ร้อยละ 14.84
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) จำนวน 19,178คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมีนาคม 2553 ซึ่งมีการส่งออก 12,642คัน ร้อยละ 51.70 ซึ่งมีการส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และแคนนาดา เป็นต้น และมีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนกุมภาพันธ์ 2554ร้อยละ 16.23
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนเมษายน2554 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม2554 เนื่องจากโดยปกติในเดือนเมษายนของทุกปี จะมีการลดการผลิตรถจักรยานยนต์ เพราะมีเทศกาลวันหยุดยาวหลายวันสำหรับการเกิดภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น อาจส่งผลกระทบกับผู้ผลิตรถจักรยานยนต์ขนาดใหญ่เนื่องจากมีการใช้ชิ้นส่วนหลักจากญี่ปุ่น
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลก่อสร้าง การส่งออกยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนายังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนมีนาคม 2554 ปริมาณการผลิต และปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เมื่อเทียบกับเดือนก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.31 และ 8.95 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตลดลงเล็กน้อยคิดเป็นร้อยละ 1.17 แต่ปริมาณการจำหน่าย เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.19 เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากธุรกิจการก่อสร้างขยายตัวได้ดี ตามภาวะเศรษฐกิจ อีกทั้งในช่วงไตรมาสที่ 1 เป็นฤดูกาลก่อสร้าง และมีการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายจากน้ำท่วมทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยในการเติบโตของอุตสาหกรรม คือ การลงทุนในโครงการพื้นฐานของรัฐบาล ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนมีนาคม 2554 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.94 แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 14.34 สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ กัมพูชา บังคลาเทศเมียนมาร์ ลาว และเวียดนาม ตามลำดับ

3.แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ คาดว่าจะยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจ ประกอบกับมีการลงทุนโครงการพื้นฐานของภาครัฐ นอกจากนี้ ยังมีการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย และปรับปรุงสาธารณูปโภคที่เสียหายจากน้ำท่วม

สำหรับการส่งออกคาดว่าจะยังขยายตัวได้เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโต ตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในกิจกรรมการก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ สำหรับแผนการขยายกำลังการผลิตที่กัมพูชาได้เลื่อนออกไป ทั้งนี้เนื่องจากตลาดปูนซีเมนต์ได้ชะลอตัวลง

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • คาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เดือนเมษายน 2554 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้น จากแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศและเครื่องคอมเพรสเซอร์
  • ส่วนการประมาณการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เดือนเมษายน 2554 มีการปรับตัวลดลง ร้อยละ 7.44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวลดลงของ Hard Disk Drive

ตารางที่1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มี

มูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน มี.ค. 2554 +++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

    เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์                               มูลค่า(ล้านเหรียญฯ)    %MoM       %YoY
 อุปกรณ์คอมพิวเตอร์                                          1,664.45           22.22      -5.50
 IC                                                        857.71           38.04      11.34
 เครื่องปรับอากาศ                                             400.80           36.97      35.82
 เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้ารวมถึงแป้นและแผงควบคุม   200.42           17.03     146.97
 รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์                             5,248.16           23.66      14.13
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ที่มา กรมศุลกากร

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนมีนาคม 2554 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.84 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ12.42 เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.46 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.99 เพราะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการขยายตัวค่อนข้างมากโดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศที่มีดัชนีการผลิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงตู้เย็นคอมเพรสเซอร์และสายไฟฟ้า มีความต้องการเพิ่มมากขึ้นจากตลาดในประเทศและนอกประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ9.25 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 15.66 การที่อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลงเนื่องจากยังคงมีสต๊อกสินค้าในตลาดผู้ค้าส่งจำนวนมาก

2. การตลาด

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนมีนาคม 2554ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 23.66 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.13 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 5,248.16 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออกรวมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 20.82 และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.97 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมของเครื่องใช้ไฟฟ้าคือ 2,120.02ล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูงที่สุดได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และกล้องถ่าย TV, VDO โดยมีมูลค่าส่งออกคือ 400.80 และ 200.42 ล้านเหรียญสหรัฐตามลำดับ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวอย่างต่อเนื่องในหลายตลาดสำคัญ อย่าง อาเซียนสหภาพยุโรป ญี่ปุ่นและสหรัฐฯ สำหรับมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.66 และร้อยละ 4.12 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำ ดับ โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์คือ 3,128.13 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ในการส่งอออกสินค้าอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ยังคงปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนเมษายน 2554 จากแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ และเครื่องคอมเพรสเซอร์

ส่วนการประมาณการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 7.44 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวลดลงของ Hard Disk Drive

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ