อุตฯ ผนึก 11 หน่วยงานสร้างอุตฯเครื่องมือแพทย์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 20, 2011 11:34 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ชี้มาตรการเร่งด่วน ผลิตทดแทนนำเข้า ที่เสียดุลกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี มั่นใจภายในปี 2563 ประเทศไทยก้าวสู่ทำเนียบผู้ผลิต อุตฯเครื่องมือแพทย์และสุขภาพแห่งอาเซียน

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรม ได้เร่งผลักดันยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยได้ตั้งเป้าหมายภายในปี 2563 ประเทศไทยจะต้องก้าวไปสู่การมีอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพแห่งอาเซียน (Medical and Health Industry) เพื่อลดการขาดดุลด้านการนำเข้าเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ ที่ปัจจุบันไทยเสียดุลอยู่ประมาณ 4,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ 19,000 ล้านบาท และส่งออกกว่าปีละ 15,000 ล้านบาท ขณะที่การติดตามตัวเลขมูลค่าการตลาดของสินค้าในกลุ่มนี้มีข้อมูลตัวเลขที่น่าสนใจมาก โดยปี 2553 มูลค่าการตลาดสูงถึง 25,928 ล้านบาท คาดว่าในปี 2558 จะมีมูลค่าการตลาด 38,000 ล้านบาทมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 9.1% ดังนั้น เราจึงตั้งเป้าให้ใหญ่ และไปให้ถึง เชื่อมั่นว่าประเทศไทยมีศักยภาพเพียงพอที่สามารถดำเนินการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ ระยะสั้น ภายในปี 2558 สามารถผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้ในประเทศเพิ่มมากขึ้น และพัฒนามาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับ รวมทั้งประยุคต์ใช้เทคโนโลยีในการผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ขณะที่ในระยะยาวภายในปี 2563 เน้นผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้นและมีมูลค่าเพิ่มขึ้น

“ปัจจุบันวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไทยผลิตส่วนใหญ่เป็นการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีในระดับไม่สูงมากนัก โดยเน้นการผลิตที่ใช้วัตถุดิบ (ยาง พลาสติก) ที่มีในประเทศเป็นหลัก ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องมีการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศให้มีขีดความสามารถในการผลิตที่ใช้เทคโนโลยีที่สูงขึ้น เพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ และเพิ่มการส่งออกให้มากขึ้น ซึ่งการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน และหน่วยงานทางการแพทย์ ในการร่วมกันจัดทำและผลักดันยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์”

          นายวิฑูรย์ สิมะโชคดี ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อผลักดันและขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ ตามที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำให้อุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ไทยให้มีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มขึ้น โดยหน่วยงานเข้าร่วมประกอบด้วย1.กระทรวงอุตสาหกรรม 2.กระทรวงสาธารณสุข                     3.กระทรวงศึกษาธิการ 4.กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 5.สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ 6. แพทยสภา  7.คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  8.คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี  9.คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 10.สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ11.หอการค้าไทย เชื่อแน่ว่าข้อตกลงครั้งนี้จะมีส่วนผลักดันให้ไทยมีอุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพที่แข็งแกร่งแห่งอาเซียนต่อไป

นายวิฑูรย์ กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้เป็นการบูรณาการครั้งสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ของประเทศไทยให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ และถือว่าเป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ของประเทศอีกระดับหนึ่ง การพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้การบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากจะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำเข้าวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์จากต่างประเทศที่มีราคาค่อนข้างสูง ถ้าประเทศไทยยกระดับการพัฒนาไปสู่การมีอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้มีศักยภาพ จะช่วยลดการขาดดุลจากการนำเข้า และในอนาคตจะสามารถขยายสู่การส่งออกได้ในที่สุด อย่างไรก็ตามในขณะนี้ผู้ผลิตไทยสามารถผลิตวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์บางอย่างได้ เช่น รากฟันเทียม ชุดตรวจวินิจฉัยไข้หวัดนก รถพยาบาล

นางสุทธินีย์ พู่ผกา ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม กล่าวว่า บุคลากรทางการแพทย์ไทยมีฝีมือเทียบเท่าระดับโลก มีการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ได้คุณภาพและได้รับการยอมรับจากชาวต่างประเทศอย่างมาก รวมถึงรัฐบาลมีนโยบายที่ต้องการส่งเสริมพัฒนาให้ประเทศไทยเป็น “ศูนย์กลางทางการแพทย์ของเอเชีย” ประกอบกับไทยมีพื้นฐานทางด้านอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องจักรกลอยู่แล้ว ซึ่งสามารถต่อยอดกับวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้ จึงเป็นโอกาสอันดีที่ไทยจะพัฒนาอุตสาหกรรมวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ในประเทศให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับ และมีการเพิ่มมูลค่าวัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์ให้สูงขึ้น โดยการยกระดับการผลิตจากวัสดุอุปกรณ์ขั้นพื้นฐานไปสู่การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีระดับกลางและระดับสูงมากขึ้น เพื่อสร้างให้ไทยมีคลัสเตอร์ทางการแพทย์อย่างครบวงจรตลอดทั้งโซ่อุปทานตั้งแต่การผลิตวัสดุอุปกรณ์ จนถึงการให้บริการทางการแพทย์ที่ได้มาตรฐานระดับโลกต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ