สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1(มกราคม—มีนาคม)2554

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 20, 2011 13:52 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 1 ปี 2554 เศรษฐกิจแต่ละประเทศขยายตัว แต่มีแรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อ เนื่องจากราคาพลังงานที่สูงขึ้น ปัญหาการว่างงานที่ยังคงอยูในระดับสูงในบางประเทศ เช่นสหรัฐฯ และกลุ่มสหภาพยุโรป รวมถึงปัญหาหนี้สาธารณะที่อาจส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในยุโรป ทางด้านราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 1 ปี 2554 อยู่ที่ 99.69 USD/Barrel เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ปี 2553 อยู่ที่ 75.84 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงแกว่งตัวขึ้นลง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนมิถุนายน (ณ วันที่ 9 พฤษภาคม 2554) ลดลง 2.62 USD/Barrel โดยมีราคาอยู่ที่ 97.18 USD/Barrel เนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวของสหรัฐฯและยุโรปประกอบกับกลุ่มโอเปคมีแผนที่จะเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบให้มากขึ้นเพื่อลดผลกระทบจากราคาน้ำมันต่อภาวะเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อ

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 ขยายตัวร้อยละ 3.8 ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่3 ของปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 และชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ที่ขยายตัวร้อยละ 5.9 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 คือ อุปสงค์ในประเทศชะลอลงในขณะที่อุปสงค์ต่างประเทศปรับตัวดีขึ้น โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของครัวเรือนและรัฐบาลชะลอตัวการลงทุนรวมชะลอตัวต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิขยายตัวปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากการนำเข้าที่ชะลอตัวมากในไตรมาสนี้ ขณะที่การส่งออกยังคงขยายตัวในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 3ของปี 2553 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี2554 จะขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5 ชะลอตัวลงจากปี 25553 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.8

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 ตัวชี้วัดบางตัวมีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา และไตรมาสเดียวกันของปี 2553 เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่มีผลการผลิตและการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553ได้แก่ Hard Disk Drive ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เครื่องแต่งกาย อย่างไรก็ตาม การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนการลงทุนภาคเอกชน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2553

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 1 นี้การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 111,051.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ56,874.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 54,177.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 นั้นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.94 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.05ส่งผลให้ไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 ดุลการค้าเกินดุล 2,697.20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.26 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ27.96

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์มีมูลค่ารวม -9,840.86 ล้านบาท ซึ่งมาจากเงินกู้ของภาคเศรษฐกิจที่มีมากกว่าการลงทุนในเรือนหุ้นทำให้การลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนมกราคม-22,534.04 ล้านบาท สำหรับเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 12,693.18 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือน ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนมกราคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 10,400.93 ล้านบาท และในเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 12,416.63ล้านบาท โดยการลงทุนในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ43.81 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 407 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 354 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 1 นี้มูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 110,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.72 โดยโครงการลงทุนนั้นประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ100% จำนวน 135 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 31,600 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 94 โครงการ เป็นเงินลงทุน 37,200 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนไทย 100% จำนวน 178โครงการ เป็นเงินลงทุน 41,200 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการ และสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 28,600 ล้านบาทรองลงมาคือ หมวดเกษตรกรรม และผลิตผลการเกษตรมีเงินลงทุน 24,400 ล้านบาท และหมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 21,600 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 104 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 36,673 ล้านบาทรองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์ที่มีจำนวน 15 โครงการ มีเงินลงทุน 4,746 ล้านบาท ประเทศสหรัฐอเมริกาจำนวน 12 โครงการ เป็นเงินลงทุน 4,298 ล้านบาท และประเทศอินเดีย 10 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน1,094 ล้านบาท

ในปี 2554 คาดการณ์การขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมยังคงกรอบการประมาณการเท่าเดิมเท่ากันกับช่วงการประมาณการเมื่อต้นปี ทั้งนี้แม้ว่าจะเกิดปัจจัยที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม อาทิ ภัยธรรมชาติในญี่ปุ่น ปัญหาอุทกภัย แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมอย่างมีนัยสำคัญ และเมื่อรวมกับเศรษฐกิจโลกในภาพรวม ที่เริ่มฟื้นตัวชัดเจน การขยายการลงทุนทั้งจากความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ปรับตัว ดีขึ้นและการย้ายฐานการผลิตบางส่วนมาไทย รวมถึงตลาดเกิดใหม่และอาเซียนที่ยังมีทิศทางการขยายตัวดี จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้นจึงยังคงกรอบประมาณการอัตราการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมไทยในปี 2554 ทั้งปีโดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI อยู่ในช่วงร้อยละ6.0-8.0 และ อัตราการใช้กำลังการผลิต จะอยู่ที่ร้อยละ 64-66

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ภาวะการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 137.56 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 15.42 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.31 โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น สายไฟฟ้า ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ ทั้งที่เป็นคอนเดนซิ่งยูนิตและแฟนคอยส์ยูนิต โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.29 34.2130.49 และ 26.23 ตามลำดับ โดยมีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและส่งออก สำหรับภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.89 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและปรับตัวลดลงร้อย 9.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้เร่งผลิตในช่วงก่อนหน้าค่อนข้างมากยังคงมีสต๊อกสินค้าในตลาดผู้ค้าส่งจำนวนหนึ่งประกอบกับช่วงครึ่งปีแรกไม่ใช่เป็นช่วง High season และฐานตัวเลขที่สูงในปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ Printer และ HDD โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 96.29 และ 13.57 ตามลำดับ

แนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 2/2554 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.60 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ อุตสาหกรรมตู้เย็น และอุตสาหกรรมเครื่องคอมเพรสเซอร์ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.53 21.47 และ 14.38ตามลำดับจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 2/2554ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.25 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ IC เป็นหลัก

เคมีภัณฑ์ ไตรมาส 1 ปี 2554 การส่งออกเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่า 4,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.02เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าส่งออก 12,059 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.05 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่าการส่งออก 608ล้านบาท ลดลงร้อยละ 22.15 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วแต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมสีมีมูลค่าส่งออก 3,483 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วและเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออก 13,250 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ13.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในไตรมาสหน้ามีแนวโน้มน่าจะดีขึ้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้น มีมาตราการทางด้านการเงินออกมากระตุ้นภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ปลอดดอกเบี้ย 2 ปีแรก อีกทั้ง มาตรการเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้กฎระเบียบของสหภาพยุโรประยะที่ 2 ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งภายใต้มาตการดังกล่าวจะมีโครงการที่สร้างองค์ความรู้ในเรื่องกฎระเบียบของEU ให้กับผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น มีห้องปฎิบัติการทดสอบที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในสากล และมีกฎระเบียบข้อบังคับมาตรฐานสากลที่ออกมาเพื่อกีดกันสินค้าด้อยคุณภาพไม่ให้ไหลทะลักเข้ามายังประเทศไทย ผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์สามารถนำไปพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในตลาดโลกต่อไป

ปิโตรเคมี ไตรมาส 1 ปี 2554 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียมีการปรับตัวในทิศทางขาขึ้นตลอดไตรมาส ตามราคาน้ำมันดิบตลาดล่วงหน้าที่ปรับสูงขึ้น ประกอบกับอุปทานในภูมิภาคมีจำกัด เนื่องจากแนฟธาจากตะวันออกกลางและยุโรปมีจำกัด ซึ่งเป็นผลมาจากความไม่สงบทางการเมืองที่ทวีความรุนแรงขึ้นในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ (MENA) สำหรับราคาเอทิลีนในช่วงต้นไตรมาสต่อเนื่องถึงช่วงกลางไตรมาสปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาวัตถุดิบตั้งต้น และคาดการณ์ว่าสินค้าจะมีจำกัดหลังเทศกาลตรุษจีนเนื่องจากใกล้เข้าสู่ช่วงการปิดซ่อมบำรุงแครกเกอร์ ประจำปี ส่วนราคาเอทิลีนช่วงปลายไตรมาสปรับตัวลดลง เนื่องจากความต้องการมีน้อยผู้ใช้ได้มีการเก็บสต็อกผลิตภัณฑ์จำนวนมากไว้ล่วงหน้า

อุตสาหกรรมปิโตรเคมีภายในประเทศ มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จากการฟื้นฟูหลังเกิดอุทกภัยในภาคใต้รวมถึงการเตรียมการเลือกตั้งที่กำหนดให้มีขึ้นในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม 2554 ซึ่งคาดว่าจะทำความ Demand ขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมปิโตรเคมียังคงมีปัจจัยเสี่ยง ทางด้านความผันผวนของราคาน้ำมัน เสถียรภาพของค่าเงินบาท และความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนวัตถุดิบ และอุตสาหกรรมตลอด Supply Chain และไม่ควรมองข้ามการผลิตซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่อยู่ในกระแสความสนใจของสังคมในปัจจุบัน

เหล็กและเหล็กกล้า สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนพบว่าการผลิตโดยรวมลดลง ร้อยละ 9.09 เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าจำนวนมากจากประเทศจีน ประกอบกับมีการระบายสินค้าคงคลัง จึงทำให้ผู้ผลิตผลิตน้อยลง สำหรับความต้องการใช้ในประเทศ ลดลง ร้อยละ4.15 โดยสำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีมูลค่า66,810 ล้านบาท ปริมาณ 2,461,508 เมตริกตัน โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.49 แต่ปริมาณกลับลดลง ร้อยละ 10.43 โดยประเทศที่มีการนำเข้ามากที่สุดยังคงเป็นประเทศญี่ปุ่นและจีน สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีจำนวนประมาณ 10,066 ล้านบาทและ 361,888 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออกลดลง ร้อยละ 21.30 และ 10.02 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมเหล็กในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 โดยในส่วนของเหล็กทรงยาวซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างจะได้ผลบวกจากความต้องการใช้เหล็กเพื่อซ่อมแซมบ้านเรือน สะพานและถนนจากปัญหาอุทกภัย สำหรับเหล็กทรงแบนซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง พบว่าจากปัญหาเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้การผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มปรับลดการผลิตลงในช่วงปลายไตรมาส 2 เนื่องจากชิ้นส่วนและอุปกรณ์บางส่วนไม่สามารถส่งมาได้ทัน จึงมีผลให้ความต้องการใช้เหล็กลดลงตามไปด้วย คาดว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยอาจชะลอการนำเข้าวัตถุดิบเหล็กโดยเฉพาะการนำเข้าเหล็กจากญี่ปุ่น ทำให้ปริมาณการนำเข้าในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ลดลงด้วย

ยานยนต์ อุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสแรกของปี 2554 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วตามสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของโลก และเศรษฐกิจภายในประเทศ สำหรับตลาดรถยนต์ภายในประเทศมีการขยายตัว ซึ่งได้รับผลดีจากการที่ผู้บริโภคและนักลงทุนมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ อีกทั้งมีผู้ประกอบการหลายรายแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด เช่น รถยนต์ที่ประหยัดพลังงานเชื้อเพลิง และรถยนต์ประหยัดพลังงานมาตรฐานสากล เป็นต้น ในขณะที่การจำหน่ายรถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน, และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ มีการขยายตัว ซึ่งสอดคล้องกับราคาผลผลิตและรายได้ของเกษตรกรที่เป็นตลาดหลักของรถยนต์ประเภทนี้

แนวโน้มอุตสาหกรรมรถยนต์ไตรมาสที่ 2/2554 คาดว่า ในภาพรวมจะมีการปรับลดการผลิตรถยนต์เหลือเพียงร้อยละ 50 เนื่องจากโดยปกติในเดือนเมษายน 2554 จะมีการลดการผลิตรถยนต์ เพราะมีเทศกาลวันหยุดยาวหลายวัน อีกทั้งในปีนี้ยังได้เกิดภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลกระทบต่อโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย โดยผู้ประกอบการแจ้งว่าการผลิตรถยนต์ตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2554 จนถึงเดือนมิถุนายน2554 จะปรับลดเหลือร้อยละ 50 ซึ่งคาดว่า การผลิตรถยนต์ในช่วงเดือน พฤษภาคม-มิถุนายน 2554 จะหายไปประมาณ 150,000 คัน สาเหตุหลักเนื่องจาก ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วน ได้แก่ ชิ้นส่วนสมองกล(Micro Computer Chip) ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในเมืองเซนได และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น

พลาสติก ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา มูลค่าส่งออกเท่ากับ 24,303 ล้านบาท โดยสินค้าของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดอยู่ที่หมวด 3923 ของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้ามีมูลค่า 6,623 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดโดยส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกามากที่สุด รองลงมาได้แก่หมวด 3926 คือผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ มีมูลค่าส่งออก 6,166 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด ทั้งนี้ได้ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและจีนมากที่สุด

การขยายตัวของการส่งออกในไตรมาสนี้ยังคงดี ถึงแม้จะดูทรงตัวหากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แม้จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นกับการส่งออกและการนำเข้าสินค้า แต่เป็นช่วงหลังของไตรมาสเนื่องจากเหตุการณ์เกิดกลางเดือนมีนาคมแล้ว ด้านดุลการค้าจะเห็นได้ว่าไทยก็ยังคงขาดดุลการค้าในผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างต่อเนื่อง และสินค้าที่ทำการค้ายังคงเป็นหมวดสินค้าเดิมที่มีมูลค่าและปริมาณสูงสุด

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ดัชนีผลผลิต ดัชนีการส่งสินค้า ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลัง ของการฟอกและการตกแต่งหนังฟอก การผลิตรองเท้า ในไตรมาส 1 ปี 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ในปี 2553 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด รองเท้าและชิ้นส่วน มีการชะลอตัว รวมทั้งการนำเข้าหนังดิบ ในไตรมาสที่ 1 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วมีการชะลอตัวลงบ้าง ขณะที่ดัชนีผลผลิต ดัชนีการส่งสินค้า ดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังการผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ในไตรมาส 1 ปี 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 4 ในปี 2553 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลงแต่มูลค่าการส่งออกสินค้าเครื่องใช้สำหรับเดินทางมีค่าเพิ่มขึ้น

แนวโน้มมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังใน ปี 2554 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2553 คาดว่าทุกผลิตภัณฑ์จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่สำหรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์หนังจะทรงตัว ทั้งนี้ปัจจัยบวกในปีนี้จะมาจากการขยายตัวด้านการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้น ตลอดจนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ คำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มของเศรษฐกิจภายในประเทศ และเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย จะมาจากอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ราคาน้ำมัน สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ต้นทุนและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาลทราย) ลดลงร้อยละ3.2 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 2.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตในกลุ่มสำคัญ เช่นสินค้าปศุสัตว์ ประมง ธัญพืชและแป้ง น้ำมันพืช และอาหารสัตว์ ปรับตัวลดลง เป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบลดลง และราคาวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์และวัตถุดิบนำเข้าเพิ่มขึ้น แม้ว่าค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นและหากพิจารณารวมการผลิตน้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 127.6 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหีบอ้อย และปริมาณอ้อยเข้าโรงงานเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเป็นจำนวนมาก

แนวโน้มการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 คาดว่า ทิศทางการผลิต และการส่งออกจะปรับตัวลดลงตามฤดูกาล จากการลดลงของวัตถุดิบในพื้นที่เพาะปลูกประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทั้งอุทกภัยในภาคใต้และภัยแล้งในภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีผลกระทบต่อสินค้าประมง สับปะรด มันสำปะหลัง และผักต่างๆ รวมทั้งค่าเงินบาทที่เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นแม้ว่าระดับราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่จากปัจจัยลบ เช่น ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ การก่อจราจลในหลายประเทศ รวมถึงการเคลื่อนไหวของระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต เช่น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เริ่มมีการบังคับใช้ โดยเฉพาะการทำฉลากระบุร่องรอยคาร์บอนที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป จะทำให้การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมชะลอตัวลงได้

ไม้และเครื่องเรือน ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีปริมาณการผลิต 2.25 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.45 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 12.11 ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว บวกกับมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลในปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อเนื่องให้ภาคอสังหาริมทรัพย์กระเตื้องขึ้นและส่งผลให้อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องขยายตัวตามไปด้วย

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 คาดว่าจะทรงตัว จากปัจจัยเสี่ยงของความผันผวนของค่าเงินบาท และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทยเช่น สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ยังไม่ชัดเจน รวมถึงผลกระทบของการส่งออกไปญี่ปุ่นหลังภัยพิบัติอย่างไรก็ตาม ตลาดรองของไทย เช่น ออสเตรเลียและประเทศสมาชิกอาเซียนยังขยายตัวได้ดี รวมทั้งประเทศแถบตะวันออกกลางและแถบเอเซียใต้ที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.03 และ 1.75 ตามลำดับ สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะยางรอง และยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวถึงร้อยละ 81.60 และ 37.75 ตามลำดับ สำหรับถุงมือยาง ถุงมือตรวจโรค เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตลดลงเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ1.54

สำหรับแนวโน้มไตรมาสที่ 2 ปี 2554 การส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 1 ปี 2554ขยายตัวได้ดี และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส ที่ 2 ปี 2554 ตามภาวะเศรษฐกิจโลก เนื่องจากประเทศผู้ใช้ยางที่สำคัญ เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย และมาเลเซีย มีความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น ตามภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ทั้งในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป นอกจากนี้ อินเดียมีการนำเข้ายางธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ปริมาณการผลิตยางภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ประกอบกับกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีผลกระทบจากการเกิดแผ่นดินไหว และสึนามิ รวมทั้งวิกฤตนิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น ทำให้โรงงานผลิตยางรถยนต์ในญี่ปุ่นบางแห่งหยุดดำเนินการผลิต ส่งผลให้คำสั่งซื้อยางพาราลดลง เห็นได้ชัดจากระดับราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในช่วงต้นของเหตุภัยพิบัติดังกล่าว แต่ก็คาดว่าจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวการณ์ผลิตอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษในไตรมาส 1 ปี 2554 ลดลงเนื่องจากยังคงมีสต๊อกสินค้าเหลือจากไตรมาสก่อน ที่จะมีการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อตอบสนองความต้องการใช้ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ ส่วนภาวะการผลิตอุตสาหกรรมกระดาษโดยรวมกลับเพิ่มขึ้นสวนทางกับการผลิตเยื่อกระดาษ ซึ่งมีสาเหตุ มาจากการขยายตัวของอุตสาหกรรมเชื่อมโยงที่ต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ และฉลากสินค้า จากการเติบโตของภาคอุตสาหกรรมและภาคการเกษตร นอกจากนี้การจัดทำรายงานประจำปีของภาครัฐและภาคเอกชน มีส่วนในการช่วยกระตุ้นให้เกิดความต้องการใช้กระดาษเพิ่มขึ้น

แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งพิมพ์ในไตรมาส 2 ปี2554 คาดว่า จะทรงตัว โดยมีปัจจัยบวกภายในประเทศ ได้แก่ การเปิดเทอมของนักเรียน นักศึกษา และการคาดการณ์ว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่ อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากเสถียรภาพทางเศรษฐกิจและการเมืองทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ราคาวัตถุดิบ ตลอดจนราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น อาจส่ง ผลกระทบต่อการลงทุนและต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการที่สูงขึ้นได้

ยา การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสแรกของปี 2554 มีปริมาณ 6,960.8 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.6 เนื่องจากผู้ผลิตได้รับคำสั่งซื้อลดลง ประกอบกับมาตรการภาครัฐ ทำให้ความต้องการยาบางชนิดลดลง และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการผลิตลดลง ร้อยละ 9 ซึ่งเป็นภาวะปรกติของอุตสาหกรรมนี้ ที่คำสั่งซื้อจะลดลงในช่วงไตรมาสแรกของปี เนื่องจากยังมีปริมาณสินค้าคงคลังเหลืออยู่จำนวนมากจากปลายปีที่แล้ว ผู้ผลิตจึงชะลอการผลิตลง เพื่อระบายสินค้าคงคลังออกไปก่อน

แนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 คาดว่า การผลิต และการจำหน่ายยาในประเทศจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก ตามวัฏจักรของธุรกิจที่จะมีคำสั่งซื้อจำนวนมากในช่วงไตรมาสที่ 2 และที่ 3ของปี ซึ่งอยู่ในช่วงปลายปีงบประมาณ โดยสถานพยาบาลภาครัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลักจะมีการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมากในช่วงดังกล่าว

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะราคาฝ้ายดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเส้นด้ายและผ้าผืนได้ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงราคาฝ้ายดิบในตลาดโลก ซึ่งส่งผลให้โรงงานปั่นด้าย โรงงานทอผ้า และโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มมีต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ตลอดจนอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศ ส่งผลให้การผลิตปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกยังขยายตัวได้ดีในตลาดส่งออกหลักซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้า

แนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน จะยังขยายตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการรวมกลุ่มภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนและเขตการค้าเสรีอื่นๆ ที่มีความต้องการนำเข้าเส้นใย เส้นด้าย และผ้าผืน ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตเครื่องนุ่งห่ม และคาดว่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในอาเซียนจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าราคาฝ้ายดิบยังสูงอยู่ก็ตาม นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศจีนมาลงทุนในประเทศเวียดนามเพื่อเป็นฐานการผลิตและส่งออก เพื่อให้ได้สิทธิแหล่งกำเนิดสินค้า หรือผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำกว่า เช่น ที่ประเทศลาวพม่า และกัมพูชา เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงาน โดยเฉพาะผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งคาดว่ามูลค่าการส่งออกเครื่องนุ่งห่มจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีก่อน

ปูนซีเมนต์ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจ และการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหลังน้ำท่วม ประกอบกับในช่วงไตรมาส ที่ 1 อยู่ในช่วงฤดูกาลก่อสร้าง

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำ หน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2554มีแนวโน้มขยายตัว แต่ในไตรมาส ที่ 2 มีช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์และเริ่มจะเข้าสู่ฤดูฝนอาจทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ขยายตัวไม่มากเท่าที่ควร ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะมีส่วนช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้น คือ การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐบาลอย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงของสภาวะเศรษฐกิจ ในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน และอัตราดอกเบี้ยที่จะส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 40.92 ล้านตารางเมตรเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.76 และ 5.76 ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.78 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 5.26 แต่ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.69 ซึ่งการผลิตเซรามิกจะเติบโตตามตลาดในช่วงฤดูกาลขาย โดยกระเบื้องปูพื้น บุผนัง จะอิงกับตลาดซ่อมแซมบ้านเก่าและตลาดบ้านใหม่ที่มีสัดส่วนของตลาดร้อยละ 70 และ30 ตามลำดับ ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์จะอิงกับตลาดบ้านใหม่เป็นหลัก ดังนั้น อัตราการเติบโตของกระเบื้องปูพื้น บุผนัง จึงสูงกว่าเครื่องสุขภัณฑ์

สำหรับการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว และเป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน นอกจากนี้ ปัญหาราคาพลังงาน อัตราเงินเฟ้อ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จะส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าครองชีพสูงขึ้น ตลอดจนกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ในส่วนของการส่งออกเซรามิก ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีการเติบโตเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์ เซรามิกมีมากขึ้น

อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน (ดูตารางที่ 1 ประกอบ) ดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 21.23 ดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลงร้อยละ 19.69 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.02 หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนดัชนีผลผลิตลดลงร้อยละ 27.24 ดัชนีส่งสินค้าหรือดัชนีการจำหน่ายลดลงร้อยละ 21.01 และดัชนีสินค้าสำเร็จรูปคงคลังเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.64

แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 ปัจจัยด้านลบ คือ แนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัจจัยด้านบวก คือ ราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับมากกว่า 1,440 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ จะเป็นสาเหตุให้เกิดการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นอย่างมากและนำเข้าทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปลดลง และความสำเร็จจากการจัดงานบางกอกเจมส์แอนด์จิวเวลรี่แฟร์ ครั้งที่ 47 ที่เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 ถึง วันที่ 1มีนาคม 2554 ที่ผ่านมา โดยจะมีคำสั่งซื้อเข้ามาซึ่งมีส่วนช่วยให้มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นได้ จากปัจจัยบวกและปัจจัยลบดังที่กล่าวมานั้น ปัจจัยบวกจะส่งผลดีมากกว่าปัจจัยลบ ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าแนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ