สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1(มกราคม—มีนาคม)2554(อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 20, 2011 15:17 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. สถานการณ์ปัจจุบัน

การผลิต

ปริมาณการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีประมาณ 1,984,435 เมตริกตัน(ไม่รวมผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูป เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กแผ่นเคลือบและท่อเหล็กเพื่อไม่ให้เกิดการนับซ้ำ )ลดลง ร้อยละ 9.09 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัยแรกคือช่วงนี้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์เหล็กจากประเทศจีนในปริมาณที่มาก ซึ่งเป็นผลมาจากรัฐบาลจีนมีนโยบายที่จะไม่ส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปแต่มีนโยบายสนับสนุนให้ผู้ผลิตส่งออกผลิตภัณฑ์เหล็กสำเร็จรูปแทนเพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอุตสาหกรรมเหล็กในประเทศ ปัจจัยที่สองมาจากการใช้สินค้าคงคลังที่มีอยู่เดิม สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกและเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 18.76 รองลงมาคือ เหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 16.35 เนื่องจากภาคการก่อสร้างที่การลงทุนของภาครัฐไม่เป็นไปตามเป้าที่กำหนดไว้

การใช้ในประเทศ(1)

ปริมาณการใช้เหล็กและเหล็กกล้าในประเทศที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ประมาณ 3,220,629 เมตริกตัน ลดลง ร้อยละ 4.15 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นผลมาจากความต้องการใช้ในประเทศของเหล็กทรงยาว ลดลง ร้อยละ 21.52 จากการที่ตลาดก่อสร้างซึ่งเป็นผู้ใช้ที่สำคัญยังคงทรงตัวอยู่เนื่องจากโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคของภาครัฐซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนที่สำคัญยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร สำหรับเหล็กทรงแบน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.44 เนื่องจากอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผู้ใช้เหล็กที่สำคัญ เช่น ยานยนต์เครื่องใช้ไฟฟ้ามีการขยายตัว อย่างไรก็ตามเหล็กที่ใช้ในประเทศสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะเป็นเหล็กที่นำเข้ามาไม่ใช่เหล็กที่ผลิตได้ในประเทศ ซึ่งเหล็กที่ผลิตในประเทศส่วนใหญ่จะใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง

การนำเข้า-การส่งออก

การนำเข้า

มูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีจำนวนประมาณ 66,810 ล้านบาท และ 2,461,508 เมตริกตัน โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.49 แต่ปริมาณกลับลดลง ร้อยละ 10.43 โดยประเทศที่มีการนำเข้ามากที่สุด ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่นและจีน ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 47.14 เหล็กแผ่นเคลือบชนิดอื่นๆ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 34.50 และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีด้วยไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 17.59 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการนำเข้าลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ผลิตภัณฑ์เหล็กกึ่งสำเร็จรูปชนิดอื่นๆ ลดลง ร้อยละ 39.98 ท่อเหล็กมีตะเข็บ ลดลง ร้อยละ 30.83 และเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียม ลดลง ร้อยละ 25.33

สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มูลค่าการนำเข้ามากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีแบบจุ่มร้อนมีมูลค่า 9,387 ล้านบาท รองลงมาคือ เหล็กแท่งแบน มีมูลค่า 8,787 ล้านบาท และเหล็กแผ่นบางรีดร้อน มีมูลค่า 6,532 ล้านบาท

(1) ข้อมูลการใช้ในประเทศจะเป็นปริมาณการใช้ปรากฎ (Apparent Steel Use) ซึ่งรวมสต๊อกไว้ด้วย

การส่งออก

มูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีจำนวนประมาณ10,066 ล้านบาท และ 361,888 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออกลดลง ร้อยละ 21.30 และ10.02 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกลดลงมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่เหล็กแผ่นบางรีดร้อน ลดลง ร้อยละ 86.04 ท่อเหล็กไร้ตะเข็บ ลดลง ร้อยละ 71.53 และท่อเหล็กมีตะเข็บลดลง ร้อยละ 52.68 ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนได้แก่ เหล็กแท่งเหล็ก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 667.90 เหล็กแผ่นเคลือบดีบุก เพิ่มขึ้น ร้อยละ 314.29 และเหล็กแท่งแบนเพิ่มขึ้น ร้อยละ 100 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดในช่วงนี้ คือ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อนมีมูลค่า 2,689 ล้านบาท ท่อเหล็กมีตะเข็บ มีมูลค่า 1,707 ล้านบาท และเหล็กแผ่นรีดเย็นไร้สนิม มีมูลค่า1,427 ล้านบาท

2. สรุป

สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมลดลง ร้อยละ 9.09 เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าจำนวนมากจากประเทศจีน ประกอบกับมีการระบายสินค้าคงคลัง จึงทำให้ผู้ผลิตผลิตน้อยลง สำหรับความต้องการใช้ในประเทศ ลดลง ร้อยละ 4.15 โดยสำหรับมูลค่าและปริมาณการนำเข้าเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญ ในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีมูลค่า 66,810 ล้านบาท ปริมาณ 2,461,508 เมตริกตัน โดยมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.49 แต่ปริมาณกลับลดลง ร้อยละ10.43 โดยประเทศที่มีการนำเข้ามากที่สุดยังคงเป็นประเทศญี่ปุ่นและจีน สำหรับมูลค่าและปริมาณการส่งออกเหล็กและเหล็กกล้าที่สำคัญในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีจำนวนประมาณ 10,066 ล้านบาท และ 361,888 เมตริกตัน โดยมูลค่าและปริมาณการส่งออกลดลง ร้อยละ 21.30 และ 10.02 ตามลำดับ

3.แนวโน้ม

อุตสาหกรรมเหล็กในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 โดยในส่วนของเหล็กทรงยาวซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างจะได้ผลบวกจากความต้องการใช้เหล็กเพื่อซ่อมแซม บ้านเรือนสะพานและถนนจากปัญหาอุทกภัย สำหรับเหล็กทรงแบนซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง พบว่าจากปัญหาเหตุการณ์แผ่นดินไหวในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้การผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มปรับลดการผลิตลงในช่วงปลายไตรมาส 2 เนื่องจากชิ้นส่วนและอุปกรณ์บางส่วนไม่สามารถส่งมาได้ทัน จึงมีผลให้ความต้องการใช้เหล็กลดลงตามไปด้วย คาดว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ในไทยอาจชะลอการนำเข้าวัตถุดิบเหล็กโดยเฉพาะการนำเข้าเหล็กจากญี่ปุ่น ทำให้ปริมาณการนำเข้าในช่วงไตรมาสที่ 2 นี้ลดลงด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ