สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1(มกราคม—มีนาคม)2554(อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 9, 2011 14:35 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. ภาวะทั่วไปของอุตสาหกรรม

ภาวะการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 137.56 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 15.42 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.31 โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น สายไฟฟ้า ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ ทั้งที่เป็นคอนเดนซิ่งยูนิตและแฟนคอยส์ยูนิต โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.29 34.21 30.49 และ 26.23 ตามลำดับ มีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและส่งออก ทั้งนี้ความต้องการในตลาดส่งออกยังคงเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การผลิตสูงขึ้น ส่วนการผลิตเครื่องปรับอากาศขยายตัวได้ดี ตามการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นหลายโครงการ ประกอบกับราคาที่ถูกลงจากเดิมจากการที่รัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตทำให้ความสามารถในการทำตลาดดีขึ้น ผู้ประกอบการจึงได้ส่งสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อยอดการผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศที่สูงขึ้น ทั้งนี้ยังคงมีสินค้าบางตัวที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น โทรทัศน์สี (CRT) หม้อหุงข้าว สำหรับหม้อหุงข้าวได้ปรับเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอลมากขึ้นและมีความอเนกประสงค์มากขึ้นโดยสามารถใช้งานได้หลากหลายเช่นนึ่งทอดเป็นต้นแต่ราคาก็ปรับสูงขึ้นด้วยทำให้การตัดสินใจซื้อสินค้าชะลอลง

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ารวม ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีมูลค่า 5,552.16 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.91 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปี2552 ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกในตลาดใหม่เพิ่มเติมในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการลดลงของภาษีศุลกากรตามข้อตกลงการเปิดการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) สำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรกในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ กล้องถ่าย TV, VDO และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.89เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวลดลงร้อย 9.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้เร่งผลิตในช่วงก่อนหน้าค่อนข้างมากยังคงมีสต๊อกสินค้าในตลาดผู้ค้าส่งจำนวนหนึ่งประกอบกับช่วงครึ่งปีแรกไม่ใช่เป็นช่วง High season และฐานตัวเลขที่สูงในปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ Printer และ HDD โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 96.29 และ 13.57ตามลำดับ

มูลค่าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ปรับตัวลดลงร้อยละ 3.57 เมื่อเทียบไตรมาสก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.11 ทั้งนี้ตลาดส่งออกสำคัญลดลงเกือบทุกตลาดโดยเฉพาะการปรับตัวลดลงของส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.66เนื่องจากการปรับลดลงของตลาด เช่น จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียน และญี่ปุ่น เป็นต้น เป็นต้นซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดในบรรดาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นผลทำให้อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไม่เติบโตมากนักประกอบกับการเร่งส่งออกในช่วงก่อนหน้าที่มีการส่งออกมากและยังคงมีสินค้าคงคลังค้างอยู่กับผู้จัดจำหน่ายจำนวนหนึ่ง

แนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 2/2554 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.60 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ อุตสาหกรรมตู้เย็น และอุตสาหกรรมเครื่องคอมเพรสเซอร์ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.53 21.47 และ 14.38ตามลำดับจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 2/2554 ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.25 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ IC เป็นหลัก หากพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่า ส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.52 Semiconductor devices Transisters ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.67 และ HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.57 ทั้งนี้เนื่องจากส่วนประกอบและชิ้นส่วนเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับความต้องการในตลาดโลก ทำให้มูลค่าการส่งออกเหล่านี้มีการขยายตัวได้ดี และความต้องการของสินค้าสำเร็จรูปด้านไอทีมีผลเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคยังคงเป็นปัจจัยที่กระทบกับภาคอุตสาหกรรม เช่น มีแนวโน้มเงินบาทแข็งค่าขึ้นอาจส่งผลต่อการส่งออก ต้นทุนจากวัตถุดิบและน้ำมันที่ปรับราคาสูงขึ้นอาจส่งผลต่อการผลิต ขณะที่เศรษฐกิจระหว่างประเทศกับคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา อียูบางประเทศเริ่มผ่อนคลายลงบ้าง ทำให้การส่งออกในประเทศดังกล่าวเริ่มมีมากขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังคงมีภาวะความเสี่ยงในส่วนประกอบและชิ้นส่วนที่สำคัญที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นอันเนื่องมาจากภัยพิบัติในญี่ปุ่นจะไม่สามารถส่งมอบได้ทันเวลา ซึ่งจะส่งผลถึงการส่งมอบสินค้าสำเร็จรูปต้องชะลอออกไปด้วย ซึ่งหลายบริษัทมีแผนการสำรองจากแหล่งอื่นๆ ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมและดินโคลนถล่มในภาคใต้ของไทย อาจไม่กระทบต่อภาคการผลิตมากนัก เนื่องจากไม่ใช่พื้นที่ของสถานประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในแง่ของการจำหน่ายอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงถัดไปในส่วนของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สามารถนำมาซ่อมแซมบ้านและอาคารประเภทสายไฟฟ้า หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่ซื้อทดแทนผลิตภัณฑ์ที่สูญหายไปกับน้ำท่วม

2. อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า

2.1 การผลิต

ภาวะการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 137.56 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 15.42 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.31 โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น สายไฟฟ้า ตู้เย็น และเครื่องปรับอากาศ ทั้งที่เป็นคอนเดนซิ่งยูนิตและแฟนคอยส์ยูนิต โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.29 34.21 30.49 และ 26.23 ตามลำดับ มีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและส่งออก ทั้งนี้ความต้องการในตลาดส่งออกยังคงเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การผลิตสูงขึ้น ส่วนการผลิตเครื่องปรับอากาศขยายตัวได้ดี ตามการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นหลายโครงการ ประกอบกับราคาที่ถูกลงจากเดิมจากการที่รัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตทำให้ความสามารถในการทำตลาดดีขึ้น ผู้ประกอบการจึงได้ส่งสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อยอดการผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศที่สูงขึ้น

ทั้งนี้ยังคงมีสินค้าบางตัวที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เช่น โทรทัศน์สี(CRT) ขนาดจอเล็กกว่าหรือเท่ากับ 20 นิ้ว และขนาดจอเท่ากับ 21 นิ้วหรือมากกว่า 21 นิ้วขึ้นไปหม้อหุงข้าว สำหรับหม้อหุงข้าวได้ปรับเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอลมากขึ้นและมีความอเนกประสงค์มากขึ้นโดยสามารถใช้งานได้หลากหลายเช่นนึ่งทอดเป็นต้นแต่ราคาก็ปรับสูงขึ้นด้วยทำให้การตัดสินใจซื้อสินค้าชะลอลง

เมื่อเปรียบเทียบกับดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า (Household electrical machinary) ของประเทศญี่ปุ่นไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ซึ่งรายงานโดย Ministry of Economic, Trade and Industry ประเทศญี่ปุ่น พบว่าดัชนีผลผลิตมีการปรับตัวลดลงร้อยละ 11.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.67 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีผลผลิตในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าของญี่ปุ่นในเดือนมีนาคมมีการปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม 2553 โดยมีการปรับตัวลดลงอย่างเห็นได้ชัดเจน ได้แก่ LCD TV ที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาโดยตลอดแต่ในเดือนมีนาคม 2554 ปรับตัวลดลงซึ่งคาดว่าอาจเกิดจากบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่น

2.2 การตลาด

จากรายงานดัชนีการส่งสินค้าของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่าในไตรมาสที่ 1 ปี 2554ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.93 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.26

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกประเภทยกเว้น โทรทัศน์สี (CRT) ขนาดจอเล็กกว่าหรือเท่ากับ 20 นิ้ว โทรทัศน์สี (CRT) ขนาดจอเท่ากับ 21 นิ้วหรือมากกว่า 21 นิ้วขึ้นไป โดยมีอัตราการหดตัว 42.63% และ 1.98% ทั้งนี้เครื่องรับโทรทัศน์ (CRT-TV) ที่มีการปรับตัวลดลงเนื่องจากผู้บริโภคหันมาซื้อโทรทัศน์ในกลุ่มจอแบน ทั้งแอลซีดีทีวี แอลอีดีทีวี และพลาสมา ส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3 อันดับแรก ได้แก่ สายไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศแบบคอนเดนซิ่งยูนิต และแฟนคอยส์ซิ่งยูนิต โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 39.15 33.73 และ 30.39 ตามลำดับ

ทั้งนี้ภาวะการตลาดของสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

การส่งออก

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ารวม ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีมูลค่า 5,552.16 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.91 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.56 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ามีการส่งออกเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังวิกฤตเศรษฐกิจ ปี2552 ส่วนหนึ่งมาจากการส่งออกในตลาดใหม่เพิ่มเติมในสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการลดลงของภาษีศุลกากรตามข้อตกลงการเปิดการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA)

สำหรับสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีมูลค่าส่งออกสูงสุด 3 อันดับแรกในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ได้แก่เครื่องปรับอากาศ กล้องถ่าย TV, VDO และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร โดยมีมูลค่าส่งออก 925.50 ล้านเหรียญสหรัฐ 527.52 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 500.45 ล้านเหรียญสหรัฐ

เครื่องปรับอากาศมีมูลค่ารวม 925.50 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวสูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 22.57 โดยสินค้าเครื่องปรับอากาศที่มีตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหภาพยุโรป มีสัดส่วนการส่งออก 26.67%มีการขยายตัวเพิ่มขึ้น 9.42% โดยเริ่มปรับตัวขึ้นสูงมากในเดือนมีนาคม 2554 จากที่ในเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2554 อัตราการขยายตัวไม่สูงมากนักสำหรับตลาดนี้ซึ่งก่อนหน้านี้มีความกังวลในภาวะเศรษฐกิจในประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวลง เช่น อิตาลี เป็นต้น ประกอบกับมีการขยายตัวจากตลาด อาเซียนในอัตราที่ค่อนข้างสูงในไตรมาสแรกของปีนี้ 45.14% อีกทั้งปัจจัยการเติบโตของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นหลายโครงการสภาวะอากาศที่ร้อนขึ้นในหลายประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวผู้ประกอบการได้ส่งสินค้ารุ่นใหม่ออกสู่ตลาดให้เป็นทางเลือกแก่ผู้บริโภค รวมถึงรัฐบาลลดภาษีสรรพสามิตทำให้ความสามารถในการทำตลาดดีขึ้นส่งผลต่อยอดการผลิตและจำหน่ายเครื่องปรับอากาศให้สูงขึ้นตามไปด้วย

การส่งออกเครื่องรับโทรทัศน์สีปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 65.92 โดยมีมูลค่าส่งออก 169.50 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการปรับตัวพิ่มขึ้นของตลาดส่งออกเช่น ตลาดส่งออกหลักอย่างตลาดสหรัฐอเมริกา ตลาดอาเซียน เป็นต้น โดยมีการส่งออกปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 210.40 และ 174.12 ตามลำดับ

สำหรับตลาดส่งออกหลักและมีสัดส่วนมากที่สุดในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ได้แก่ ตลาดอาเซียน มีมูลค่าส่งออก 1,050.76 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.09 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน สินค้าหลักที่ส่งออกไปตลาดอาเซียน ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร และมอเตอร์ขนาดเล็ก เป็นต้น

ตลาดที่มีมูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ามากเป็นอันดับรองลงมา ได้แก่ ตลาดอียู มีมูลค่าส่งออก 812.37ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.37 สินค้าหลักที่ส่งออกไปตลาดอียู ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ กล้องถ่าย TV, VDO เป็นต้น

ตลาดส่งออกญี่ปุ่น มีสัดส่วนการตลาดเป็นอันดับ 3 ของการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้า 13.97% มีมูลค่าส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2554 มูลค่า 775.91 ล้านเหรียญสหรัฐ สินค้าหลักที่ส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการส่งออกตู้เย็น สายไฟฟ้า และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร เป็นต้น

3. อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์

3.1 การผลิต

ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมพบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.89 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และปรับตัวลดลงร้อย 9.79 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้เร่งผลิตในช่วงก่อนหน้าค่อนข้างมากยังคงมีสต๊อกสินค้าในตลาดผู้ค้าส่งจำนวนหนึ่งประกอบกับช่วงครึ่งปีแรกไม่ใช่เป็นช่วง High season และฐานตัวเลขที่สูงในปีก่อน โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ Printer และ HDD โดยปรับตัวลดลงร้อยละ 96.29 และ 13.57 ตามลำดับ

3.2 การตลาด

จากรายงานดัชนีการส่งสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสะท้อนภาวะตลาดของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนภาวะตลาดของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.33 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีการปรับตัวลดลงเช่นกันร้อยละ 9.93

จากรายงานของสมาคมอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ (Semiconductor Industry Association)ของสหรัฐอเมริกาปรับตัวลดลงร้อยละ 1.75 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.92 ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา และเอเชียแปซิฟิก ได้แก่ จีน เป็นตลาดสำคัญ และความต้องการของสินค้าสำเร็จรูปประเภทเครื่องคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค และโทรศัพท์มือถือ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเติบโตของเทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นตัวเร่งปริมาณชิ้นส่วนและส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ให้มากตามไปด้วย

การส่งออก

มูลค่าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีมูลค่ารวม 8,084.34 ล้านเหรียญสหรัฐปรับตัวลดลงร้อยละ 3.57 เมื่อเทียบไตรมาสก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.11 ทั้งนี้ตลาดส่งออกสำคัญลดลงเกือบทุกตลาดโดยเฉพาะการปรับตัวลดลงของส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.66 เนื่องจากการปรับลดลงของตลาด เช่น จีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อาเซียน และญี่ปุ่น เป็นต้น เป็นต้นซึ่งสินค้าดังกล่าวเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุดในบรรดาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นผลทำให้อัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ไม่เติบโตมากนักประกอบกับการเร่งส่งออกในช่วงก่อนหน้าที่มีการส่งออกมากและยังคงมีสินค้าคงคลังค้างอยู่กับผู้จัดจำหน่ายจำนวนหนึ่ง ขณะที่บางตลาดส่งออกได้ดีได้แก่ตลาดฮ่องกงและไต้หวันอันเป็นศูนย์กระจายสินค้า ไอทีที่สำคัญของภูมิภาคเอเชียโดยรวม

ตลาดหลักของการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ ตลาดจีน มีสัดส่วนการส่งออกประมาณ 17.01% มีมูลค่าส่งออกในไตรมาสแรกของปี 2554 มูลค่า 1,375.51 ล้านเหรียญสหรัฐสินค้าหลักที่ส่งออกในตลาดดังกล่าว ได้แก่ ส่วนประกอบของอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ปรับตัวลดลงในตลาดจีน 22.37% เป็นผลให้ตลาดส่งออกจีนโดยรวม ปรับตัวลดลง 16.26%

ตลาดส่งออกอาเซียน มีสัดส่วนการตลาด 15.25% เป็นอันดับ 2 ของการส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่า 1,233.16 สินค้าหลักที่ส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวมีการปรับตัวลดลงเนื่องจากการส่งออกส่วนประกอบของอุปกรณ์เครื่องคอมพิวเตอร์ ลดลงร้อยละ 7.04 และวงจรรวมและไมโครแอสแซมบลี (Integrated Circuit)ปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ร้อยละ 1.04 ตามลำดับ

แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 2/2554

จากการประมาณการดัชนีการส่งสินค้าประจำเดือนพฤษภาคม 2554 ของแบบจำลองดัชนีชี้นำภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พบว่า แนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 2/2554 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.60 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวของอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ อุตสาหกรรมตู้เย็น และอุตสาหกรรมเครื่องคอมเพรสเซอร์ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 30.53 21.47 และ 14.38 ตามลำดับจากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 2/2554 ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.25จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ IC เป็นหลัก หากพิจารณาเป็นรายผลิตภัณฑ์ พบว่าส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ได้แก่ IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.52 Semiconductor devices Transisters ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.67 และ HDD ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.57 ทั้งนี้เนื่องจากส่วนประกอบและชิ้นส่วนเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับความต้องการในตลาดโลก ทำให้มูลค่าการส่งออกเหล่านี้มีการขยายตัวได้ดี และความต้องการของสินค้าสำเร็จรูปด้านไอทีมีผลเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ความผันผวนของปัจจัยทางเศรษฐกิจมหภาคยังคงเป็นปัจจัยที่กระทบกับภาคอุตสาหกรรม เช่น มีแนวโน้มเงินบาทแข็งค่าขึ้นอาจส่งผลต่อการส่งออก ต้นทุนจากวัตถุดิบและน้ำมันที่ปรับราคาสูงขึ้นอาจส่งผลต่อการผลิต ขณะที่เศรษฐกิจระหว่างประเทศกับคู่ค้าหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา อียูบางประเทศเริ่มผ่อนคลายลงบ้าง ทำให้การส่งออกในประเทศดังกล่าวเริ่มมีมากขึ้นอย่างชัดเจน นอกจากนี้ ยังคงมีภาวะความเสี่ยงในส่วนประกอบและชิ้นส่วนที่สำคัญที่นำเข้ามาจากญี่ปุ่นอันเนื่องมาจากภัยพิบัติในญี่ปุ่นจะไม่สามารถส่งมอบได้ทันเวลา ซึ่งจะส่งผลถึงการส่งมอบสินค้าสำเร็จรูปต้องชะลอออกไปด้วย ซึ่งหลายบริษัทมีแผนการสำรองจากแหล่งอื่นๆ ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมและดินโคลนถล่มในภาคใต้ของไทย อาจไม่กระทบต่อภาคการผลิตมากนัก เนื่องจากไม่ใช่พื้นที่ของสถานประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ แต่ในแง่ของการจำหน่ายอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงถัดไปในส่วนของอุปกรณ์ไฟฟ้าที่สามารถนำมาซ่อมแซมบ้านและอาคารประเภทสายไฟฟ้า หรือ เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านที่ซื้อทดแทนผลิตภัณฑ์ที่สูญหายไปกับน้ำท่วม

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ