สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1(มกราคม—มีนาคม)2554(อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 9, 2011 15:42 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในช่วงไตรมาสที่ 1 อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์มีแนวโน้มดีขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องที่ใช้เคมีภัณฑ์เป็นวัตถุดิบในการผลิตอยู่ในภาวะที่ดีขึ้น ประกอบกับการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลให้การนำเข้าเคมีภัณฑ์นั้นถูกลง ดังนั้นจึงส่งผลให้อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในไตรมาสนี้ดีขึ้น

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ได้สำรวจข้อมูลการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์โซดาไฟซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานที่สำคัญ โดยในไตรมาสที่ 1 ปริมาณการผลิต และการจำหน่ายมีปริมาณลดลง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

การผลิต

โซดาไฟ

การผลิตโซดาไฟในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีปริมาณ 264,343.1 ตัน ลดลงจากไตรมาสก่อนเล็กน้อยเพียงร้อยละ 0.7 และการจำหน่ายโซดาไฟในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีปริมาณ 201,712.1 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 3.1

หมายเหตุ : โซดาไฟเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของเรา และยังใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย เช่น ในการผลิตเยื่อและกระดาษ สบู่และผลิตภัณฑ์ซักฟอก เคมีภัณฑ์การทำความสะอาด โรงกลั่นน้ำมัน การใช้งานทางอุตสาหกรรมโลหะ อุตสาหกรรมอาหาร เส้นใยเรยอน สิ่งทอ และอื่น ๆ

การตลาด

การนำเข้า

ไตรมาส 1 ปี 2554 การนำเข้าเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่า 11,055 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.02 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าการนำเข้า 28,257 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.61 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่านำเข้า 18,795 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 31.36 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนอุตสาหกรรมสีมีการนำเข้า 10,686 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.56 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 8.95 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเครื่องสำอางมีมูลค่านำเข้า 7,251 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.95เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออก

ไตรมาส 1 ปี 2554 การส่งออกเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่า 4,897 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.02 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าส่งออก 12,059 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.05 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.26 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่าการส่งออก 608 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 22.15 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้วแต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.71 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมสีมีมูลค่าส่งออก 3,483 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.14 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.47 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออก 13,250 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ13.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้ม

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในไตรมาสหน้ามีแนวโน้มน่าจะดีขึ้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นตัวเลขทางเศรษฐกิจดีขึ้น มีมาตราการทางด้านการเงินออกมากระตุ้นภาคอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่ปลอดดอกเบี้ย 2 ปีแรก อีกทั้ง มาตรการเพิ่มขีดความสามารถอุตสาหกรรมไทยในการแข่งขันภายใต้กฎระเบียบของสหภาพยุโรประยะที่ 2 ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้วเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งภายใต้มาตการดังกล่าวจะมีโครงการที่สร้างองค์ความรู้ในเรื่องกฎระเบียบของEU ให้กับผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจเพิ่มมากขึ้น มีห้องปฎิบัติการทดสอบที่ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในสากล และมีกฎระเบียบข้อบังคับมาตรฐานสากลที่ออกมาเพื่อกีดกันสินค้าด้อยคุณภาพไม่ให้ไหลทะลักเข้ามายังประเทศไทย ผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์สามารถนำไปพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพในตลาดโลกต่อไป

แต่ทั้งนี้ต้องระวังการแข็งค่าของเงินบาท ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรป ปัญหาสึนามิที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น ปัญหาการเมืองภายในประเทศ และปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศไทยกับกัมพูชา ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ