สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1(มกราคม—มีนาคม)2554(อุตสาหกรรมพลาสติก)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 9, 2011 15:46 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ทิศทางการขยายตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีการปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากตัวเลขประมาณการของอุตสาหกรรมต่างๆที่ประกาศออกมา ไม่ว่าจะเป็น ตัวเลขการส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วน รวมถึงอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์มีการขยายตัวในตลาดส่งออกเพิ่มขึ้น ส่วนการบริโภคภายในประเทศ ในช่วงเดือนมกราคมมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น ราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ราคายางพารา ทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นส่งผลต่อการใช้จ่ายมากขึ้นตามไปด้วย เช่น มียอดสั่งจองและจัดส่งรถกะบะเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีการฟื้นฟูภาวะหลังน้ำท่วมของผู้ประสบภัยที่ต้องการสินค้าเพื่ออุปโภคบริโภคเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา

การนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกยังคงปรับสูงขึ้นประมาณร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดอยู่หมวด 3926 พลาสติกอื่นๆ แต่หากดูในแง่ของปริมาณหมวดที่มีการส่งออกมากที่สุดได้แก่ 3923บรรจุภัณฑ์ต่างๆ โดยมีการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นสูงที่สุด การนำเข้ายังคงมีอย่างต่อเนื่อง ส่วนการนำเข้าสูงยังคงเป็นหมวด 3926 พลาสติกอื่นๆ และมีมูลค่าการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด

ด้านราคาน้ำมันดิบดูไบมีการปรับตัวเฉลี่ยไตรมาสที่ 1 อยู่ที่ 103 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเพิ่มขึ้นจาก 85 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นราคาเฉลี่ยไตรมาสที่ผ่านมา ทั้งนี้ได้รับแรงสนับสนุนจากความกังวลทางการเมืองของประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ

การผลิตของอุตสาหกรรมพลาสติกไทย

ด้านของการปริมาณการใช้เม็ดพลาสติกปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 เป็นผลมาจากมีความต้องการในการผลิตของอุตสาหกรรมพลาสติกเพิ่ม และการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีทิศทางดีขึ้น

ด้านการผลิต ด้านเม็ดพลาสติก PE มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น จากการที่ PTTCH มีการเดินเครื่องหน่วยผลิต LLDPE ขนาด 400,000 ตันต่อปีทิ่เริ่มการผลิตตั้งแต่ไตรมาส 4 ปีที่ผ่านมา และหน่วยผลิต LDPE ขนาด 300,000 ตันต่อปีในไตรมาส 1 ปี2554 และ SCG-Dow ที่มีการเริ่มผลิตหน่วยผลิต LLDPE ใหม่ ในไตรมาส 4ที่ผ่านมาด้วยเช่นกัน จึงทำให้มีเม็ดพลาสติกออกมาสู่ตลาดเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้ก็มีการส่งออกเม็ดพลาสติกเพิ่มมากขึ้นด้วยเช่นกัน

การค้า

ในไตรมาสนี้การนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ที่มีมูลค่านำเข้า 25,500ล้านบาท มาที่ 26,293 ล้านบาท โดยสินค้าของไทยที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดยังคงอยู่ที่หมวด 3926 คือผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ มีมูลค่าสูงถึง 11,025 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 42 ของมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด โดยประเทศที่มีการนำเข้ามากที่สุดได้แก่ ญี่ปุ่น จีน หมวดสินค้าที่รองลงมาเป็น 3920ผลิตภัณฑ์ แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่นๆ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ มีมูลค่าการนำเข้า 3,596 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 14 ของมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด โดยมีการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น มาเลเซียและจีนมากที่สุด

และปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 109,273 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 4 ประมาณร้อยละ 3 โดยสินค้าของไทยที่มีปริมาณการนำเข้าสูงสุดอยู่ที่หมวด 3920 3920 ผลิตภัณฑ์ แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่นๆ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ มีปริมาณสูงถึง 25,792 ตัน คิดเป็นร้อยละ 24 ของปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด รองลงมาเป็นหมวด 3926 คือผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ มีปริมาณสูงถึง 23,143 ตัน คิดเป็นร้อยละ 21ของปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด และหมวด 3923 คือของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้ามีปริมาณ 22,302 ตัน คิดเป็นร้อยละ 20 ของปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด

ส่วนมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 มูลค่าส่งออกเท่ากับ 24,303 ล้านบาท โดยสินค้าของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดอยู่ที่หมวด 3923 ของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้ามีมูลค่า 6,623 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 27 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด โดยส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกามากที่สุด รองลงมาได้แก่หมวด 3926 คือผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ มีมูลค่าส่งออก 6,166 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด ทั้งนี้ได้ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและจีนมากที่สุด

และปริมาณส่งออก เท่ากับ 233,418 ตัน ลดลงร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 โดยสินค้าของไทยที่มีปริมาณการส่งออกสูงสุดอยู่ที่หมวด 3923 ของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้ามีมูลค่า 79,828 ตัน คิดเป็นร้อยละ 34 ของปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด หมวดสินค้าที่รองลงมาได้แก่หมวด 3926คือผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ มีมูลค่าส่งออก 24,067 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด

การขยายตัวของการส่งออกในไตรมาสนี้ยังคงดี ถึงแม้จะดูทรงตัวหากเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แม้จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่นกับการส่งออกและการนำเข้าสินค้าบาง แต่เป็นช่วงหลังของไตรมาสเนื่องจากเหตุการณ์เกิดกลางเดือนมีนาคมแล้ว ด้านดุลการค้าจะเห็นได้ว่าไทยก็ยังคงขาดดุลการค้าในผลิตภัณฑ์พลาสติกอย่างต่อเนื่อง และสินค้าที่ทำการค้ายังคงเป็นหมวดสินค้าเดิมที่มีมูลค่าและปริมาณสูงสุด

แนวโน้ม

  • จากการคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโลกน่าจะมีการขยายตัวดีขึ้นมาก แต่ยังต้องมีปัจจัยทางการเมืองของประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ที่จะส่งผลต่อราคาน้ำมันและความมั่นคงทางการเมืองของประเทศเหล่านั้น
  • การปรับตัวของผู้ประกอบการกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ซึ่งตอนนี้ไม่มีมาตรการใดมาช่วย อาจมีผลกระทบกับผู้ส่งออกของไทย
  • ด้านการผลิตรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดแผ่นดินไหวที่ประเทศญี่ปุ่น ทำให้ไม่สามารถผลิตรถยนต์ในไทยส่งออกขายได้ตามคำสั่งซื้อเดิม เนื่องจากขาดชิ้นส่วนสำคัญที่ต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น ส่วนด้านผลิตภัณฑ์อาหารไทยน่าจะมีโอกาสในการส่งออกมาขึ้นจากที่หลายประเทศมีความกังวลสารกัมมันตรังสีที่อาจปนเปื้อนมากับอาหารนำเข้าจากญี่ปุ่น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ