1. การผลิต
การผลิตเซรามิก ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 40.92 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.76 และ 5.76 ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.78 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 5.26 แต่ เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.69 (ดังตารางที่ 1 และ 2) ซึ่งการผลิตเซรามิกจะเติบโตตามตลาดในช่วงฤดูกาลขาย โดยกระเบื้องปูพื้น บุผนัง จะอิงกับตลาดซ่อมแซมบ้านเก่าและตลาดบ้านใหม่ที่มีสัดส่วนของตลาดร้อยละ 70 และ 30 ตามลำดับ ในขณะที่เครื่องสุขภัณฑ์จะอิงกับตลาดบ้านใหม่เป็นหลักดังนั้น อัตราการเติบโตของกระเบื้องปูพื้น บุผนัง จึงสูงกว่าเครื่องสุขภัณฑ์
2. การตลาด
2.1 ตลาดในประเทศ
การจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 46.40 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.25 และ 8.87 ตาม ลำดับสำหรับการจำหน่ายเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.05 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยร้อยละ 0.47 แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 9.67 (ดังตารางที่ 1 และ 2) ซึ่งการจำหน่ายเซรามิกแม้ว่าจะมีการเติบโตตามตลาดในช่วงฤดูกาลขาย แต่ยังมีการแข่งขันที่รุนแรงจากผู้ผลิตในประเทศด้วยกันเอง และแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2.2 การส่งออก
การส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกจะส่งไปยังประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา จีน ออสเตรเลีย สหราชอาณาจักร และประเทศในกลุ่มอาเซียน โดยการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีมูลค่ารวม 174.56 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ดังตารางที่ 3) เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงเพียงเล็กน้อยร้อยละ 0.78 ซึ่งเป็นผลจากผลิตภัณฑ์หลัก ได้แก่ กระเบื้องปูพื้น บุผนัง เครื่องสุขภัณฑ์ และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหาร มีการส่งออกลดลง แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.16 ซึ่งเป็นไปตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยทุกผลิตภัณฑ์มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ยกเว้น กระเบื้องปูพื้น บุผนัง ที่การส่งออกลดลงในตลาดสหรัฐอเมริกาเป็นสำคัญ
2.3 การนำเข้า
การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกส่วนใหญ่จะนำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย และญี่ปุ่น โดยการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีมูลค่ารวม 79.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.41 แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 6.31 (ดังตารางที่ 4) ซึ่งการนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกที่ใช้ในห้องปฏิบัติการจะนำเข้าจากประเทศมาเลเซีย และญี่ปุ่น ในขณะที่การนำเข้าผลิตภัณฑ์เซรามิกอื่น จะนำเข้ากระเบื้องปูพื้น บุผนัง และอิฐทนไฟ ในสัดส่วนร้อยละ 80 และ 15 ตามลำดับโดยนำเข้ากระเบื้องปูพื้น บุผนัง จากประเทศจีน และนำเข้าอิฐทนไฟจากประเทศจีน เยอรมนี และมาเลเซีย
3. สรุปและแนวโน้ม
การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ผลิตภัณฑ์กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ มีการเติบโตเพิ่มขึ้นตามความต้องการของตลาดในช่วงฤดูกาลขาย แต่การเติบโตของกระเบื้องปูพื้น บุผนัง จะมีอัตราสูงกว่าเครื่องสุขภัณฑ์ สำหรับการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554คาดว่าจะมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดยาว และเป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูฝน นอกจากนี้ปัญหาราคาพลังงาน อัตราเงินเฟ้อ ที่มีแนวโน้มสูงขึ้น จะส่งผลให้ราคาสินค้าและค่าครองชีพสูงขึ้น ตลอดจนกำลังซื้อของผู้บริโภคลดลง ในส่วนของการส่งออกเซรามิก ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีการเติบโตเพิ่มขึ้นตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก และมีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้โอกาสในการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิกมีมากขึ้น
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--