สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1(มกราคม—มีนาคม)2554(อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 10, 2011 15:27 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

1.1 ปริมาณการผลิต

การผลิตปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 9.49 ล้านตันการผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 9.73 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตปูนเม็ดและการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.06 และ 7.63 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ด ลดลงร้อยละ 4.81 และการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.88

1.2 การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 8.14 ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.30 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 7.84 ล้านตัน โดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.12 และ 3.30 ตามลำดับ

การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในปีนี้ที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรจะขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนออกสู่ชานเมือง และส่วนหนึ่งมาจากการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายหลังจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปี 2553 อีกทั้งในช่วงไตรมาสที่ 1 เป็นช่วงฤดูกาลก่อสร้าง ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะมีส่วนช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้น คือ การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงของสภาวะเศรษฐกิจในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน และอัตราดอกเบี้ย ที่จะส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

2. การส่งออกและการนำเข้า

2.1 การส่งออก

การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีปริมาณรวม 2.99 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 138.87 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยแบ่งออกเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 1.46 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 53.87 ล้านบาท และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 1.53 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 85 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกรวมลดลงร้อยละ 15.06 และ 9.73 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกรวม ลดลงร้อยละ 18.31 และ 10.71 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกที่ลดลงนี้ เนื่องจากในไตรมาสนี้ ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศขยายตัวขึ้น อีกทั้งเงินบาทแข็งตัวทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง ผู้ประกอบการจึงหันมาให้ความสำคัญกับตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ กัมพูชา บังคลาเทศ เมียนมาร์ ลาวและเวียดนาม ตามลำดับ

2.2 การนำเข้า

การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีปริมาณรวม 3,704.99 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ด จำนวน 62.23 ตัน คิดเป็นมูลค่า 0.04 ล้านเหรียญสหรัฐฯปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 3,642.76 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 13.48 และ 21.01 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวม เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.05 และ 5.11 ตามลำดับ ทั้งนี้การนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นอะลูมินัสซีเมนต์ และบางส่วนเป็นการนำเข้าซีเมนต์ปอร์ตแลนด์คุณภาพสูงเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ระบุคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาก่อสร้าง ตลาดนำเข้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย คือ จีน รองลงมา คือ เนเธอร์แลนด์ อินเดีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ตามลำดับ

3. สรุป

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจ และการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหลังน้ำท่วม ประกอบกับในช่วงไตรมาส ที่ 1 อยู่ในช่วงฤดูกาลก่อสร้าง

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีแนวโน้มขยายตัว แต่ในไตรมาส ที่ 2 มีช่วงวันหยุดยาวในเทศกาลสงกรานต์และเริ่มจะเข้าสู่ฤดูฝนอาจทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ขยายตัวไม่มากเท่าที่ควร ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญที่จะมีส่วนช่วยผลักดันให้อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้น คือ การลงทุนในโครงการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงของสภาวะเศรษฐกิจ ในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อ ราคาพลังงาน และอัตราดอกเบี้ยที่จะส่งผลกระทบถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

การส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ลดลง เนื่องจากในไตรมาสนี้ ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ ในประเทศขยายตัวขึ้น อีกทั้งเงินบาทแข็งตัวทำให้รายได้จากการส่งออกลดลง ผู้ประกอบการจึงหันมาให้ความสำคัญกับตลาดภายในประเทศเพิ่มขึ้น สำหรับแนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากตลาดส่งออกหลักในแถบอาเซียน ยังมีความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งผู้ผลิตปูนซีเมนต์ในประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรี เนื่องจากมีขีดความสามารถในการแข่งขัน สามารถช่วยตัวเองได้ สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เพราะมีการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีของไทยเอง นอกจากนี้ ผู้ประกอบการไทยได้ขยายตลาดการส่งออกปูนซีเมนต์ไปยังตลาดใหม่ เช่นอัฟริกา นอกเหนือจากตลาดส่งออกหลักในแถบอาเซียนมากขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ