1. การผลิต
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีฯ ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งการผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ (ISIC 1711) การผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งหรือโครเชท์ (ISIC 1730) และการผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (ISIC 1810) ลดลงร้อยละ 5.6, 10.2 และ 3.7 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯ และการผลิตเครื่องแต่งกายฯ ลดลงร้อยละ 1.5 และ 5.1 ตามลำดับ แต่การผลิตผ้าฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 เป็นผลจากคำสั่งซื้อของคู่ค้าโดยเฉพาะในตลาดอาเซียนขยายตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้มีปัจจัยบวกจากข้อตกลงการค้าเสรีของอาเซียน การผลิตและส่งออกสิ่งทอเพื่อจะส่งต่อไปในหลายประเทศในภูมิภาคที่ไม่มีสิ่งทอต้นน้ำ เช่น เวียดนาม ลาว และกัมพูชา รวมทั้งประเทศนอกกลุ่มอาเซียน เช่น บังคลาเทศ ซึ่งนำเข้าสิ่งทอต้นน้ำและกลางน้ำจากประเทศไทยไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปเพื่อการส่งออกมากขึ้น ประกอบกับตลาดโลกที่เริ่มฟื้นตัวและมีปริมาณความต้องการเส้นใยและเส้นด้ายเพิ่มขึ้น ซึ่งมีผลต่อราคาซื้อขายในตลาดปัจจุบันและการซื้อขายล่วงหน้าที่มีราคาสูงขึ้นเช่นกัน
2. การส่งออก
การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 2,149.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออก 2,098.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯและเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการจำหน่าย 1,762.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจำแนกผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ๆ ดังนี้
2.1 เสื้อผ้าสำเร็จรูป ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 700.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯลดลงร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 713.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 639.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากฝ้ายมีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดถึงร้อยละ 40.7 ของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด
2.2 ผ้าผืน ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 416.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าการส่งออก 416.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 321.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
2.3 ด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 336.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 237.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
2.4 เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 260.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมีมูลค่าการส่งออก 170.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
3. ตลาดส่งออก
ตลาดส่งออกที่สำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอไทย มีดังนี้
อาเซียน ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 398.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 18.5 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และสิ่งทออื่นๆ เป็นต้น
สหภาพยุโรป ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 380.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.7 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นเครื่องนุ่งห่ม (เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบ) ผ้าผืน ด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น
สหรัฐอเมริกา ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 363.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและเป็นตลาดหลักที่ไทยส่งออกไปจำหน่ายที่ปรับลดลง แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.9 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นเครื่องนุ่งห่ม เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ ตามลำดับ
ญี่ปุ่น ไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 178.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 48.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 8.3 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของเครื่องนุ่งห่ม สิ่งทออื่นๆด้ายและเส้นใยประดิษฐ์ และ ผ้าผืน เป็นต้น
4. การนำเข้า
การนำเข้าสิ่งทอในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 (วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น เส้นใยฯ เส้นด้ายฯ ผ้าผืนและผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ) ส่วนใหญ่ปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนยกเว้นผ้าผืน และวัตถุทออื่นๆ ที่มีการนำเข้าลดลง ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้า ได้แก่
4.1 กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอ (เส้นใยฯ เส้นด้ายฯ ผ้าผืน และ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ) รวมทั้งสิ้น 1,752.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และร้อยละ 43.3เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 94.7 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวม ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้ามี ดังนี้
4.1.1 เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่านำเข้า 395.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 55.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 255.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 92.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และออสเตรเลีย สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 50.4, 9.9 และ 5.9 ตามลำดับ
4.1.2 ด้ายทอผ้าฯ มีมูลค่านำเข้า 187.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 173.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน เวียดนาม และญี่ปุ่น สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 23.1, 15.8 และ14.9 ตามลำดับ
4.1.3 ผ้าผืน มีมูลค่านำเข้า 415.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 445.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 49.7, 14.3 และ 7.2ตามลำดับ
4.1.4 ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่านำเข้า 88.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนร้อยละ 3.6 ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 85.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 36.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และ ไต้หวัน สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 36.6, 22.5และ 5.3 ตามลำดับ
4.2 กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่านำเข้าทั้งสิ้น 97.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 96.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.3 ของการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ตลาดนำเข้าหลักคือ จีน ฮ่องกง และกัมพูชา สัดส่วนร้อยละ 51.8, 6.2 และ 4.3 ตามลำดับ
5. สรุปและแนวโน้ม
ในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะราคาฝ้ายดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเส้นด้ายและผ้าผืนได้ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงราคาฝ้ายดิบในตลาดโลก ซึ่งส่งผลให้โรงงานปั่นด้าย โรงงานทอผ้า และโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มมีต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสูงขึ้นด้วยเช่นกัน ตลอดจนอุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศ ส่งผลให้การผลิตปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกยังขยายตัวได้ดีในตลาดส่งออกหลักซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้า
แนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน จะยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการรวมกลุ่มภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนและเขตการค้าเสรีอื่นๆ ที่มีความต้องการนำเข้าเส้นใยเส้นด้าย และผ้าผืน ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่สำคัญในการผลิตเครื่องนุ่งห่ม และคาดว่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในอาเซียนจะขยายตัวเพิ่มมากขึ้น แม้ว่าราคาฝ้ายดิบยังสูงอยู่ก็ตาม นอกจากนี้ยังมีนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศจีนมาลงทุนในประเทศเวียดนามเพื่อเป็นฐานการผลิตและส่งออก เพื่อให้ได้สิทธิแหล่งกำเนิดสินค้า หรือผู้ประกอบการเข้าไปลงทุนในประเทศที่มีค่าแรงงานต่ำกว่า เช่นที่ประเทศลาว พม่า และกัมพูชา เพื่อสร้างความได้เปรียบด้านต้นทุนแรงงาน โดยเฉพาะผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งคาดว่ามูลค่าการส่งออกเครื่องนุ่งห่มจะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 5 เมื่อเทียบกับปีก่อน
--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--