สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1(มกราคม—มีนาคม)2554(อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2011 14:14 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีปริมาณการผลิต 2.25 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.45 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 12.11 ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว บวกกับมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลในปีที่ผ่านมา ส่งผลต่อเนื่องให้ภาคอสังหาริมทรัพย์กระเตื้องขึ้น และส่งผลให้อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องขยายตัวตามไปด้วย

2. การตลาด

2.1 การจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีปริมาณการจำหน่าย 0.95 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 12.04 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.56 ทั้งนี้ปริมาณการจำหน่ายในประเทศที่ลดลง เนื่องจากราคาน้ำมันและสินค้าอุปโภคบริโภคที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังและชะลอการจับจ่ายใช้สอยออกไป

2.2 การส่งออก

การส่งออกของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 667.27 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 5.72 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.15 มูลค่าการส่งออกที่ลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักของไทย เช่น สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ยังอยู่ในระยะฟื้นตัว อีกทั้งภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐอเมริกายังอยู่ในภาวะซบเซา

สำหรับรายละเอียดการส่งออกในแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน ประกอบด้วยเครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆและชิ้นส่วนเครื่องเรือน ในไตรมาสนี้ มีมูลค่าการส่งออก 253.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 38 ของมูลค่าการส่งออกในสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออก ลดลงร้อยละ 8.68 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.23 สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ สินค้าประเภทเครื่องเรือนไม้โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน คือ ประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วยเครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ ในไตรมาสนี้มีมูลค่าการส่งออก 57.49 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 9 ของมูลค่าการส่งออกในสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออก ลดลงร้อยละ 8.77 และ 4.68 ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์

3) กลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ โดยไตรมาสนี้มีมูลค่าการส่งออก 356.64ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 53 ของมูลค่าการส่งออกในสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด มูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 2.97 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.50 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือไม้แปรรูป รองลงมาคือ ไฟเบอร์บอร์ด สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ได้แก่ ประเทศจีน มาเลเซีย และเวียดนาม

2.3 การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีจำนวน 138.08 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 6.41 และ 1.46 ตามลำดับ การนำเข้าสินค้าประเภทไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ท่อนประเภทไม้เนื้อแข็ง ได้แก่ ไม้แปรรูปและไม้ซุง ซึ่งนำเข้ามาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น เครื่องเรือนประเภทต่าง ๆ โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว และสหรัฐอเมริกา สำหรับไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์ และในส่วนของผลิตภัณฑ์ไม้อัดและไม้วีเนียร์นำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย และอินโดนีเซีย

3. สรุปและแนวโน้ม

การผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ภายในประเทศขยายตัว และทำให้ความต้องการไม้และเครื่องเรือนซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต่อเนื่องเพิ่มขึ้นด้วย

การจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง เนื่องจากผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ชะลอการใช้จ่ายออกไป

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากถึงแม้ว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์เริ่มขยายตัว จากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มมีสัญญาณฟื้นตัว โดยเฉพาะที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า และโครงการที่อยู่อาศัยอื่นๆ ซึ่งจะทำให้อุปสงค์อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยลบ ได้แก่ ความผันผวนของราคาน้ำมัน สถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่มีความแน่นอน รวมทั้งอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

การส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทย เช่น สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ยังอยู่ในระยะฟื้นตัว

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 คาดว่าจะทรงตัว จากปัจจัยเสี่ยงของความผันผวนของค่าเงินบาท และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของตลาดหลักของไทย เช่น สหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักร ยังไม่ชัดเจน รวมถึงผลกระทบของการส่งออกไปญี่ปุ่นหลังภัยพิบัติ อย่างไรก็ตาม ตลาดรองของไทย เช่น ออสเตรเลียและประเทศสมาชิกอาเซียนยังขยายตัวได้ดี รวมทั้งประเทศแถบตะวันออกกลางและแถบเอเซียใต้ที่มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง

ดังนั้น ในช่วงที่เศรษฐกิจของประเทศและของโลกเริ่มฟื้นตัว การศึกษาตลาดและการวิเคราะห์ความต้องการของตลาดเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคในป้จจุบัน ที่เน้นทั้งผลิตภัณฑ์ที่ปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายและเป็นเอกลักษณ์ ตลอดจนการศึกษาปัจจัยทางด้านสังคม เช่น สังคมของผู้สูงอายุ สังคมของครอบครัวเดี่ยว ตลอดจนแนวโน้มความต้องการที่อยู่อาศัยใจกลางเมืองที่สะดวกแต่มีพื้นที่จำกัด ทั้งนี้เพื่อสามารถผลิตสินค้าที่ตอบสนองต่อสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปได้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ