สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1(มกราคม—มีนาคม)2554(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2011 14:19 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสแรกของปี 2554 มีปริมาณ 6,960.8 ตันลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 6.6 เนื่องจากผู้ผลิตได้รับคำสั่งซื้อลดลง ประกอบกับมาตรการภาครัฐ ทำให้ความต้องการยาบางชนิดลดลง และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการผลิตลดลง ร้อยละ 9ซึ่งเป็นภาวะปรกติของอุตสาหกรรมนี้ ที่คำสั่งซื้อจะลดลงในช่วงไตรมาสแรกของปี เนื่องจากยังมีปริมาณสินค้าคงคลังเหลืออยู่จำนวนมากจากปลายปีที่แล้ว ผู้ผลิตจึงชะลอการผลิตลง เพื่อระบายสินค้าคงคลังออกไปก่อน

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสแรกของปี 2554 มีปริมาณ 7,280.2 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.2 เนื่องจากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับยาที่ผู้ผลิตเคยจำหน่ายได้ปริมาณมาก ถูกเปลี่ยนประเภทจากยาอันตรายเป็นยาควบคุมพิเศษ เพื่อเป็นการป้องกันการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม ทำให้ไม่สามารถซื้อหายาชนิดนั้นได้ในวงกว้างเช่นที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามผู้ผลิตได้ปรับกลยุทธ์ในการทำตลาดใหม่ โดยการส่งเสริมการขายยาชนิดอื่นทดแทนและจากการที่ยาเป็น 1 ในปัจจัย 4 ของการดำรงชีวิต ทำให้ยังคงมีความต้องการใช้ ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายยาลดลงไม่มากนัก และหากเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการจำหน่ายขยายตัว ร้อยละ 1.5 ซึ่งอาจเป็นผลจากนโยบายภาครัฐ ที่เข้มงวดกับการเบิกจ่ายยาของข้าราชการมากขึ้น ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันที่สินค้าโดยทั่วไปมีราคาแพง ทำให้ตลาดมีความต้องการยาสามัญที่ผลิตในประเทศ เพื่อใช้ทดแทนยานำเข้ามากขึ้น ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวอาจส่งผลให้ผู้ผลิตยาต้นแบบ หันมาผลิตยาสามัญมากขึ้น รวมถึงการนำเข้ายาสามัญราคาถูกจากจีน และอินเดีย ดังนั้น ผู้ผลิตในประเทศจึงจำเป็นต้องพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน เพื่อให้เกิดการยอมรับและอยู่ได้อย่างยั่งยืนต่อไป

3. การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสแรกของปี 2554 มีมูลค่า 8,954.9 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและไตรมาสก่อน ร้อยละ 1.2 และ 6.3 ตามลำดับ เนื่องจากภาครัฐตั้งเป้าหมายลดรายจ่ายการรักษาพยาบาลในปีงบประมาณ 2554 ลง โดยให้ความสำคัญกับการสั่งจ่ายยาเกินความจำเป็น ที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ ด้วยการดูแลการเบิกจ่ายให้มีความเหมาะสม และใช้ยาในประเทศทดแทน นอกจากนี้บริษัทยาชั้นนำของโลกได้เริ่มให้ความสำคัญกับตลาดทางเอเชียมากขึ้น เพื่อเตรียมรับมือกับยาที่กำลังหมดสิทธิบัตรในสหรัฐอเมริกาและยุโรป ซึ่งการปรับลดราคายา เป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจหนึ่งที่บริษัทยานำเข้าใช้ดำเนินการ โดยเริ่มปรับราคายาบางรายการลงมาให้สอดคล้องกับรายได้ของประชากรเพื่อให้ผู้ป่วยในประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงยาได้มากขึ้น ซึ่งแม้จะจำหน่ายยาในราคาที่ลดลงแต่ทำให้ยอดจำหน่ายมากขึ้น สำหรับตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เยอรมนี สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศสอินเดีย และอิตาลี ซึ่งมีมูลค่าการนำเข้ารวม 3,963.1 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 44.3 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

4. การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสแรกของปี 2554 มีมูลค่า 1,492.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 2.2 โดยผู้ประกอบการไทยยังสามารถขยายตลาดไปยังคู่ค้าหลักในแถบอาเซียนได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความพยายามในการหาตลาดใหม่ ด้วยการออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ตลอดจนรับจ้างผลิตให้กับบริษัทชั้นนำในต่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 1.9 ซึ่งส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ลูกค้าได้ซื้อสินค้าเป็นจำนวนมากในช่วงปลายปี ทำให้เกิดการชะลอการสั่งซื้อในช่วงต้นปี สำหรับตลาดส่งออกสำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เมียนมาร์เวียดนาม กัมพูชา มาเลเซีย และญี่ปุ่น โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 1,009.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 67.6 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

5. นโยบายภาครัฐ

5.1 คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 18 มกราคม 2554 เห็นชอบในหลักการต่อวาระแห่งชาติด้านวัคซีน ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ และ 10 โครงการหลัก เพื่อให้ประเทศสามารถวิจัยพัฒนาและผลิตวัคซีนเพื่อการพึ่งตนเองได้

5.2 คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2554 เห็นชอบในหลักการแผนพัฒนาศักยภาพที่ยั่งยืนในประเทศไทย เรื่อง WHO Pre-qualification Scheme และแผนองค์รวมของการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายการวิจัยพัฒนาและการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ ซึ่งแผนดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการทั้งสิ้น 10 ปี (พ.ศ. 2553 - 2563) ประกอบด้วยโครงการ/แผนงาน ทั้งหมด 16โครงการ/แผนงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อการพัฒนายาและวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ยั่งยืนในประเทศไทย ด้วยการพัฒนาศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาและการผลิตของหน่วยงานต่างๆ ในประเทศไทย

5.3 คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 เห็นชอบร่างนโยบายแห่งชาติด้านยาพ.ศ. .... และยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบยาแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติเสนอ ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนได้รับการป้องกันและแก้ไขปัญหาสุขภาพที่ได้มาตรฐาน ตลอดจนสร้างระบบการใช้ยาอย่างสมเหตุผล รวมถึงส่งเสริมการเข้าถึงยาจำเป็น และพัฒนาอุตสาหกรรมยาภายในประเทศให้สามารถพึ่งพาตนเองได้

5.4 คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2554 อนุมัติข้อเสนองบประมาณสำหรับงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าประจำปีงบประมาณ 2555 ในวงเงินทั้งสิ้น 145.9 แสนล้านบาท ตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินำเสนอ แบ่งเป็น 1) งบอัตราเหมาจ่าย 138.5 แสนล้านบาท สำหรับ ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 2) งบบริการสุขภาพ สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์ 2.9 พันล้านบาท 3) งบบริการทดแทนไต สำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย 3.9 พันล้านบาท 4) งบบริการควบคุมป้องกันและรักษาโรคเรื้อรัง (โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง) 0.4 พันล้านบาท และ 5) งบบริการสุขภาพผู้ป่วยจิตเวช 0.2 พันล้านบาท

5.5 กระทรวงพาณิชย์ ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการเรื่อง กำหนดสินค้าและบริการควบคุม ปี 2554 เมื่อวันที่ 27 มกราคม 2554 โดยให้ยารักษาโรคเป็น 1 ในรายการสินค้าและบริการควบคุม ต่อมาในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2554 ได้ออกประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การแสดงราคาสินค้าและค่าบริการ ปี 2554 ซึ่ง ยาแผนโบราณ ยาแผนปัจจุบันเวชภัณฑ์ จัดอยู่ในหมวดของใช้ประจำบ้านที่ต้องปิดป้ายแสดงราคา

6. สรุปและแนวโน้ม

ปริมาณการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสแรกของปี 2554 ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากผู้ผลิตได้รับคำสั่งซื้อลดลง ส่วนการจำหน่าย มีปริมาณลดลงเช่นกัน เนื่องจากราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ตามราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการที่ยาเป็น 1 ในปัจจัย 4 ทำให้ยังคงมีความต้องการใช้ ปริมาณการจำหน่ายจึงลดลงไม่มากนัก สำหรับมูลค่าการนำเข้าลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาครัฐตั้งเป้าหมายลดรายจ่ายการรักษาพยาบาลลง โดยให้ความสำคัญกับการสั่งจ่ายยาเกินความจำเป็น ที่มีราคาแพงจากต่างประเทศ ด้วยการดูแลการเบิกจ่ายให้มีความเหมาะสม และใช้ยาในประเทศทดแทน นอกจากนี้บริษัทยาชั้นนำของโลก ได้เริ่มปรับราคายาบางรายการลง เพื่อให้ผู้ป่วยในประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนาเข้าถึงยามากขึ้น ซึ่งแม้จะจำหน่ายยาในราคาที่ลดลง แต่ทำให้ยอดจำหน่ายมากขึ้น ในส่วนของมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยผู้ประกอบการไทยยังสามารถขยายตลาดไปยังคู่ค้าหลักในแถบอาเซียนได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งความพยายามในการหาตลาดใหม่ ด้วยการออกงานแสดงสินค้าในต่างประเทศ ตลอดจนรับจ้างผลิตให้กับบริษัทชั้นนำในต่างประเทศมากขึ้น

แนวโน้มในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 คาดว่า การผลิต และการจำหน่ายยาในประเทศจะยังคงขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสแรก ตามวัฏจักรของธุรกิจที่จะมีคำสั่งซื้อจำนวนมากในช่วงไตรมาสที่ 2และที่ 3 ของปี ซึ่งอยู่ในช่วงปลายปีงบประมาณ โดยสถานพยาบาลภาครัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลักจะมีการสั่งซื้อสินค้าจำนวนมากในช่วงดังกล่าว ส่วนมูลค่าการนำเข้าคาดว่า จะขยายตัวเล็กน้อย เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการควบคุมค่ารักษาพยาบาลในระบบสวัสดิการข้าราชการ โดยไม่เบิกจ่ายยานอกบัญชียาหลักแห่งชาติหากไม่จำเป็น สำหรับมูลค่าการส่งออก คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้น หากสามารถสร้างความมั่นใจด้านมาตรฐานผลิตภัณฑ์ให้กับประเทศคู่ค้าได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการขยายตลาดแล้ว ยังทำให้ลูกค้าที่ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำเกิดความมั่นใจที่จะว่าจ้างให้ทำการผลิตสินค้าในระยะต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ