สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1(มกราคม—มีนาคม)2554(อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2011 14:21 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

1.1 การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.03 และ 1.75 ตามลำดับ

สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเกือบทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะยางรอง และยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวถึงร้อยละ 81.60 และ 37.75 ตามลำดับ สำหรับ ถุงมือยาง ถุงมือตรวจโรค เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตลดลงเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 1.54

1.2 การจำหน่ายในประเทศ

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ปริมาณการจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.29 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 14.65 สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ยางนอกรถยนต์ มีปริมาณการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.05 ในส่วนของยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางในมีปริมาณการจำหน่ายในประเทศลดลงร้อยละ 2.23 และ 7.49 ตามลำดับ ในขณะที่ถุงมือยาง/ถุงมือตรวจมีปริมาณการจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.23

ในภาพรวมการผลิตและจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการใช้ยางเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์ยางต่างๆ เพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของยางยานพาหนะ สำหรับในส่วนของถุงมือยางขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

2.การส่งออกและการนำเข้า

2.1 การส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทยประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ โดยมีมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 จำนวน 3,574.89 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 85.58 สำหรับในส่วนของผลิตภัณฑ์ยางที่ไทยส่งออก ประกอบด้วยยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและสายพานส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ทางเภสัชกรรม ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ มีมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 จำนวน 1,984.82 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 30.30

มูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยางที่เพิ่มขึ้นนี้เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ความต้องการใช้ยางธรรมชาติในตลาดโลกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย และมาเลเซีย

2.2 การนำเข้า

ในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 การนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง ยางรวมเศษยาง และวัสดุทำจากยางมีมูลค่า 515.09 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 33.97 เนื่องมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้ยางของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น

สำหรับประเภทสินค้านำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ยางสังเคราะห์ ยางวัลแคไนซ์ ยางรถยนต์ ท่อหรือข้อต่อและสายพานลำเลียง โดยส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเยอรมนี

3. สรุปและแนวโน้ม

ในไตรมาส ที่ 1 ปี 2554 อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังขยายตัวได้ดี ความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นของตลาดในประเทศเพิ่มขึ้น ตามภาวะอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งคาดว่าอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ไปจนถึงในไตรมาสที่ 2 ปี 2554

การส่งออกยางและผลิตภัณฑ์ยางในไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ขยายตัวได้ดี และคาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาส ที่ 2 ปี 2554 ตามภาวะเศรษฐกิจโลก เนื่องจากประเทศผู้ใช้ยางที่สำคัญ เช่น จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา อินเดีย และมาเลเซีย มีความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้น ตามภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ทั้งในสหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป นอกจากนี้ อินเดียมีการนำเข้ายางธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ปริมาณการผลิตยางภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ประกอบกับกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีผลกระทบจากการเกิดแผ่นดินไหว และสึนามิ รวมทั้งวิกฤตนิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น ทำให้โรงงานผลิตยางรถยนต์ในญี่ปุ่นบางแห่งหยุดดำเนินการผลิต ส่งผลให้คำสั่งซื้อยางพาราลดลง เห็นได้ชัดจากระดับราคายางพาราที่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในช่วงต้นของเหตุภัยพิบัติดังกล่าว แต่ก็คาดว่าจะเป็นเพียงระยะสั้นเท่านั้น อย่างไรก็ตาม ผลิตภัณฑ์ยาง โดยเฉพาะยางรถยนต์ของไทยอาจได้รับผลดีจากการเข้าไปทำตลาดได้มากขึ้นในช่วงที่ญี่ปุ่นฟื้นฟูประเทศสำหรับถุงมือยาง/ถุงมือตรวจ มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ตามกระแสความวิตกกังวลเรื่องการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญคือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสหราชอาณาจักร สำหรับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ มาเลเซีย จีน และอินโดนีเซีย อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การแข็งค่าของเงินบาทส่งกระทบต่อศักยภาพในการแข่งขันในตลาดโลก และรายได้ของผู้ส่งออก นอกจากนี้พื้นที่ปลูกยางใหม่ของประเทศคู่แข่ง เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย และเวียดนาม เริ่มให้ผลผลิตน้ำยางแล้ว ทำให้ผลผลิตยางพาราของโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย

สำหรับด้านราคายางในปี 2554 ถึงแม้ว่าในช่วงต้นปีราคายางจะลดลงมาก เนื่องจากก่อนหน้านี้ราคายางสูงมาก จีนซึ่งมียางพาราสำรองอยู่มากจึงได้ชะลอการสั่งซื้อยางพาราจากไทยออกไปรวมทั้งภัยธรรมชาติแผ่นดินไหวและสึนามิ รวมทั้งวิกฤตนิวเคลียร์ที่ญี่ปุ่น ก็ทำให้ญี่ปุ่นชะลอการสั่งซื้อยางออกไป อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่างๆ เกิดขึ้นในช่วงระยะสั้น เนื่องจากภาคการผลิตยานยนต์มีแนวโน้มฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว และยางพาราที่สำรองไว้ของจีนเริ่มหมดลง ทำให้จีนกลับมาสั่งซื้อยางพารา ซึ่งจะทำให้ราคายางพารากระเตื้องขึ้นอีกครั้ง และคาดว่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ