สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 1(มกราคม—มีนาคม)2554(อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday June 13, 2011 14:42 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาลทราย)ลดลงร้อยละ 3.2 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 2.3 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตในกลุ่มสำคัญ เช่น สินค้าปศุสัตว์ ประมง ธัญพืชและแป้ง น้ำมันพืช และอาหารสัตว์ ปรับตัวลดลง (ตารางที่ 1) เป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบลดลง และราคาวัตถุดิบที่ใช้ผลิตอาหารสัตว์และวัตถุดิบนำเข้าเพิ่มขึ้น แม้ว่าค่าเงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น และหากพิจารณารวมการผลิตน้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 127.6 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหีบอ้อยและปริมาณอ้อยเข้าโรงงานเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเป็นจำนวนมาก

ภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญในช่วงไตรมาสที่ 1 สรุปได้ ดังนี้

  • กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่ปริมาณวัตถุดิบออกตามฤดูกาล แต่ลดลงร้อยละ 9.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณผลผลิตลดลงจากการเกิดโรคระบาดและอุทกภัย เช่น มันสำปะหลังทำให้ผลผลิตลดลง ส่งผลให้ความต้องการเพิ่มสูงขึ้นและราคาในตลาดโลกเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น
  • กลุ่มแปรรูปประมง ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 8.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและลดลงร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในแหล่งเพาะเลี้ยง ทำให้ปริมาณออกสู่ตลาดลดลง
  • กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และลดลงร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากเกิดโรคระบาดในสุกร ทำให้ปริมาณวัตถุดิบลดลง ประกอบกับราคาต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นตามราคาวัตถุดิบนำเข้าที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก
  • กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 8.5และร้อยละ 4.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบ เช่น สับปะรด ข้าวโพดฝักอ่อน และข้าวโพดหวาน ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น
  • กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืช เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนร้อยละ 9.5 เนื่องจากมีการอนุมัติให้นำเข้าน้ำมันปาล์มแยกไขมากลั่นเป็นน้ำมันบริโภคเพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตปาล์มน้ำมันขาดแคลน แต่ลดลงร้อยละ 9.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปาล์มน้ำมันมีการพักตัวหลังจากผลผลิตออกมากในช่วงปีก่อน สำหรับผลิตภัณฑ์นมลดลงร้อยละ 4.0 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งมาจากการชะลอการผลิตลง เพื่อรอการอนุมัติปรับขึ้นราคารับซื้อน้ำนมดิบตามต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากภาวะอากาศที่มีความหนาวเย็นนานกว่าปีก่อน ทำให้ปริมาณน้ำนมดิบเพิ่มขึ้นและคุณภาพดีขึ้น ในส่วนของอาหารสัตว์ มีการผลิตลดลงร้อยละ 8.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย ร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากราคาวัตถุดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

สรุปภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาลทราย) ในไตรมาสที่ 1 ปี2554 มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ระดับราคาสินค้าอาหารโดยรวมได้รับผลกระทบจากราคาวัตถุดิบนำเข้าจากตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ประกอบกับการแข็งค่าของค่าเงินบาท ส่งผลต่อภาคการส่งออกที่ได้รับเป็นเงินบาทลดลงทำให้ภาคการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารโดยเฉพาะที่ส่งออกขยายตัวได้ไม่มากนัก

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศ (ไม่รวมน้ำตาลทราย) ลดลงร้อยละ 6.4 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 2)ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระดับราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อระดับราคาสินค้าหลายรายการได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอยลง และส่งผลให้ภาพรวมการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมอาหารในไตรมาสที่ 1 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าน้ำมันพืช ปศุสัตว์ และประมง ในขณะที่การจำหน่ายน้ำตาลทรายในประเทศปรับตัวสูงขึ้นหลังจากเข้าสู่ฤดูหีบอ้อยมีการจำหน่ายน้ำตาลในปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 170.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน หลังจากเกิดปัญหาปริมาณน้ำตาลตรึงตัว ทำให้ต้องมีการซื้อกลับน้ำตาลที่อยู่ระหว่างการส่งออกในช่วงปีก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.4เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

2.2 ตลาดต่างประเทศ

1) การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 6,785.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 207,336.6 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 8.1 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 10.1 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้าฟื้นตัว แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 3-4) เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.3 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 8.9 ในรูปของเงินบาท ซึ่งพบว่า มูลค่าการส่งออกทั้งในรูปของเงินบาทและดอลลาร์ฯ มีการขยายตัวในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะปศุสัตว์ ข้าวและธัญพืช ผักผลไม้ และประมง เนื่องจากระดับราคาสินค้าอาหารได้ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว แม้ว่าค่าเงินบาทได้ปรับแข็งค่าขึ้น แต่การส่งออกอาหารในภาพรวมยังสามารถปรับเพิ่มขึ้นตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้น สำหรับการส่งออกในแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเล มีมูลค่าการส่งออก 1,701.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือ 52,000.7 ล้านบาท หดตัวลดลงร้อยละ 15.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 13.8 ในรูปของเงินบาทจากไตรมาสก่อน โดยเป็นการหดตัวในกลุ่มอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 4.5 ในรูปของเงินบาท ซึ่งหากพิจารณาการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปริมาณและมูลค่าส่งออกในไตรมาส 1เพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากได้รับผลดีจากการที่สหรัฐอเมริกาประกาศห้ามทำการประมงในบริเวณอ่าวเม็กซิโกจากปัญหาแท่นขุดเจาะน้ำมันระเบิดตั้งแต่ช่วงกลางปี 2553 ประกอบกับการระบาดของโรคไวรัสกุ้งในประเทศผู้ผลิตอย่างอินโดนีเซีย เอกวาดอร์ และเกิดภัยธรรมชาติในจีนและเวียดนาม ทำให้ประเทศผู้นำเข้าหันมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยทดแทนอย่างต่อเนื่อง
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ มีมูลค่าการส่งออก 679.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 20,756.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.7 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 8.7 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.1 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 12.4ในรูปของเงินบาท เป็นผลจากการที่ประเทศคู่แข่ง ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ประสบภัยธรรมชาติทำให้ปริมาณการผลิตและการส่งออกลดลง สำหรับสินค้าสำคัญในกลุ่ม ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นร้อยละ54.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้การส่งออกในรูปผักและผลไม้ แช่เย็นสามารถส่งออกเพิ่มขึ้นในหลายสินค้า เช่น พริก กระเจี๊ยบขาว เงาะ ทุเรียน และลำไย
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ มีมูลค่าการส่งออก 505.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 15,431.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 3.3 ในรูปของดอลลาร์ฯ และในรูปของเงินบาทร้อยละ 1.5 จากไตรมาสก่อน แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.7 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 19.6 ในรูปของเงินบาท เนื่องจากความต้องการบริโภคโดยเฉพาะไก่แปรรูปเพิ่มขึ้น แต่จากการที่ประเทศญี่ปุ่นประสบปัญหาภัยสึนามิจากแผ่นดินไหวรุนแรง เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554 ทำให้การส่งออกหยุดชะงักไป 1-2 สัปดาห์ ซึ่งคาดว่าญี่ปุ่นจะมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ตื่นตระหนกกับปัญหาการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีในอาหาร ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่า
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 2,681.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 81,932.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 6.0 ในรูปของเงินบาทจากไตรมาสก่อน เป็นผลจากความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังสูงขึ้น ส่งผลให้ราคาผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในตลาดโลกเพิ่มขึ้น และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.5 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 14.7 ในรูปของเงินบาท โดยเป็นการส่งออกสินค้าข้าวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 20 เนื่องจากปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 845.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 25,821.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 512.0 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 523.5 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นมาก จากการที่ประเทศผู้ผลิตอย่างอินเดีย ประสบปัญหา ภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตและส่งออกลดลง และมีผลต่อสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกลดลง และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0 ในรูปของดอลลาร์ฯ แต่ลดลงร้อยละ 5.2 ในรูปของเงินบาท โดยเป็นผลจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 372.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ11,393.3 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 2.6 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 7.6 ในรูปของเงินบาท โดยเป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าประเภทสิ่งปรุงรสอาหาร หมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสม และนมและผลิตภัณฑ์นม

2) การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทย ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 มีมูลค่ารวม 2,449.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 74,840.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 8.4 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการนำเข้าปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็งเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.0 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 28.4 ในรูปของเงินบาท (ตารางที่ 5) และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.0 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 33.8 ในรูปของเงินบาท จากการนำเข้าปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง เมล็ดและกากพืชน้ำมัน รวมถึงนมและผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นทั้งในรูปของดอลลาร์ฯ และเงินบาท ตามราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีก่อน

3. นโยบายของภาครัฐ

ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 รัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหาร โดยเน้นการให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบ เนื่องจากประสบปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นและระดับราคาลดลง รวมทั้งช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ประสบปัญหาด้านปัจจัยการผลิตได้แก่

3.1 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 เห็นชอบการขอเปลี่ยนแปลงการย้ายสถานที่ตั้ง หรือการขอนำกำลังการผลิตไปตั้งที่ใหม่และขยายกำลังการผลิตของโรงงานน้ำตาล จำนวน 7 แห่งตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมระหว่างปริมาณวัตถุดิบและกำลังการผลิตของโรงงาน โดยขอให้พิจารณาความเหมาะสมของข้อมูลกำลังการผลิต การผลิตจริง และข้อมูลปริมาณผลผลิตอ้อยในแต่ละพื้นที่ เพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะราคาน้ำตาลในตลาดโลกผันผวน และการคำนวณราคาอ้อยและผลตอบแทนจากการผลิตน้ำตาลให้ครอบคลุมเอทานอลและผลผลิตอื่นๆ ที่ได้จากอ้อยด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย และควรกำหนดนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมัน E20 และ E85 ให้ชัดเจน

3.2 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2554 รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ ในการแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มขาดแคลน โดยนำเข้าน้ำมันปาล์มดิบแยกไขจำนวน 120,000 ตัน ผ่านกลไกของ อคส. และมีเงื่อนไขตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด นอกจากนี้ยังกำหนดราคาขายน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์บรรจุขวด ถุง หรือปี๊บ ในราคา 47 บาทต่อลิตร ซึ่งรัฐจะชดเชยส่วนต่างระหว่างต้นทุนและราคาจำหน่ายให้โรงงานกลั่นน้ำมันปาล์ม

3.3 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2554 เห็นชอบให้ปรับเพิ่มราคาน้ำนมดิบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ โดยอนุมัติให้ปรับเพิ่มราคา 1 บาทต่อกิโลกรัม (จาก 17 บาท เป็น 18บาท) ให้มีผลนับตั้งแต่วันที่กระทรวงพาณิชย์โดยคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการอนุญาตให้ผู้ประกอบการนมพาณิชย์ปรับราคาขายผลิตภัณฑ์นมในตลาด และให้มีผลตั้งแต่ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา2554 ในการปรับราคากลางสำหรับนมโรงเรียน เพื่อเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมและผู้ประกอบการเนื่องจากต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

4. สรุปและแนวโน้ม

ภาวะอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2554 อยู่ในช่วงทรงตัวจากไตรมาสที่ 4 และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แม้ว่าปริมาณคำสั่งซื้อจะปรับตัวดีขึ้น แต่จากระดับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่าในระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐอเมริกา ที่เป็นตลาดหลักของสินค้าอาหารของไทย มีสัญญาณฟื้นตัวชัดเจนขึ้น ต้องการผลักดันให้ค่าเงินดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลง โดยการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้สต็อกสินค้าในตลาดโลกที่สำคัญ คือ น้ำตาลทราย ได้ปรับตัวลดลงจากการที่ประเทศอินเดีย ประสบปัญหาภัยแล้งทำให้ส่งออกน้ำตาลได้ลดลง ส่งผลต่อระดับราคาน้ำตาลที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในส่วนสินค้ากลุ่มปศุสัตว์โดยเฉพาะไก่แปรรูป ปริมาณความต้องการจากต่างประเทศ โดยเฉพาะตลาดญี่ปุ่น อาจเพิ่มขึ้นจากสภาพปัญหาการไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคจากการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีในอาหารที่เกิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด ส่งผลต่อการส่งออกไก่แปรรูปของไทยเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามยังมีสินค้าที่ปริมาณการผลิตปรับตัวลดลง คือ กลุ่มพืชน้ำมัน และมันสำปะหลัง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ และโรคเพลี้ยแป้งระบาดทำให้ผลผลิตลดลง ส่งผลโดยตรงกับระดับราคาที่ปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดโลก

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554คาดว่า ทิศทางการผลิต และการส่งออกจะปรับตัวลดลงตามฤดูกาล จากการลดลงของวัตถุดิบในพื้นที่เพาะปลูกประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ทั้งอุทกภัยในภาคใต้และภัยแล้งในภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่มีผลกระทบต่อสินค้าประมง สับปะรด มันสำปะหลัง และผักต่างๆ รวมทั้งค่าเงินบาทที่เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น แม้ว่าระดับราคาสินค้าอาหารในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้น แต่จากปัจจัยลบเช่น ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ การก่อจราจลในหลายประเทศ รวมถึงการเคลื่อนไหวของระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต เช่น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เริ่มมีการบังคับใช้ โดยเฉพาะการทำฉลากระบุร่องรอยคาร์บอนที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป จะทำให้การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมชะลอตัวลงได้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ