สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 23, 2011 15:23 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2554 ซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(1) หดตัวร้อยละ 7.8 เป็นการหดตัวเป็นเดือนที่สามติดต่อกัน โดยการผลิตลดลงจากอุตสาหกรรมสำคัญ คือ การผลิต Hard Disk Drive ยานยนต์ เครื่องแต่งกายเครื่องประดับเพชรพลอย โทรทัศน์ ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญเนื่องจากฐานที่สูงและผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่นเริ่มส่งผลกระทบที่เป็นรูปธรรมต่อภาคอุตสาหกรรมของไทยโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องพึ่งพิงชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากประเทศญี่ปุ่น ที่สำคัญ คือ อุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต(2) เดือนเมษายน 2554 อยู่ที่ร้อยละ 54.57 จากร้อยละ 57.95 ในเดือนเมษายน 2553

เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมขยายตัวได้ดี โดยเดือนเมษายน 2554 ขยายตัวที่ร้อยละ 22.7 จากเดือนมีนาคมที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 27.4 โดยสาเหตุที่การส่งออกขยายตัวได้ดีในขณะที่การผลิตหดตัวนั้น เกิดจากที่ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเป็นการวัดทางด้านปริมาณ ส่วนการส่งออกเป็นการวัดทางด้านมูลค่า ซึ่งในช่วงปี 2554ราคาส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในสินค้าหลายตัวมีการขยายตัวเร่งขึ้นจากปี 2553 หรือหมายถึงว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมไทยผลิตและส่งออกสินค้าที่มีราคาสูงขึ้นเพื่อลดการแข่งขันในตลาดสินค้าราคาถูก

หมายเหตุ

(1) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นดัชนีที่แสดงทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาพรวม รายสาขาอุตสาหกรรม และรายผลิตภัณฑ์

(2) อัตราการใช้กำลังการผลิต หมายถึง ค่าร้อยละของการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเทียบกับความสามารถในการผลิตสูงสุดเต็มศักยภาพ หรือเต็มกำลังการผลิต (capacity)

อุตสาหกรรมรายสาขาสำ คัญ(เมษายน2554)อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ผ้าทอ เครื่องนอนฯ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป (ผ้าทอ) ลดลงร้อยละ 4.4, 17.6และ 5.6 ตามลำดับ ในขณะที่เส้นใยสิ่งทอฯ ยังขยายตัวร้อยละ 0.2 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อจากตลาดในอาเซียน รวมถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูป (จากผ้าถัก) ที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป แต่ในด้านการส่งออกโดยภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.9 ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอหลักๆ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ เส้นใยประดิษฐ์ และสิ่งทออื่นๆเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3, 37.7, 68.7, 36.2, 11.2, 34.4 และ 42.3 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตลดลง ร้อยละ 8.05 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 16.40 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลงร้อยละ 23.33 เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลงร้อยละ 23.21 ในขณะที่เหล็กทรงยาวกลับมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.68 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ เหล็กเส้นกลมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 26.55 ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ พบว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนพฤษภาคม2554 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาเหล็กที่สำคัญส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นทุกตัว

อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิต จำนวน 89,179 คัน ลดลงจากเดือนเมษายน 2553 ซึ่งมีการผลิต 105,110 คัน ร้อยละ 15.16 โดยเป็นการปรับลดการผลิตของรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ อีกทั้งมีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนมีนาคม 2554 ร้อยละ 48.15 ซึ่งเป็นการลดลงในการผลิตรถยนต์ทุกประเภท (รถยนต์นั่ง, รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ) โดยเป็นไปตามปกติที่ในเดือนเมษายนของทุกปี จะมีการลดการผลิตรถยนต์ เพราะมีเทศกาลวันหยุดยาวหลายวันประกอบกับในปีนี้ได้รับผลกระทบจากการเกิดภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลผู้ประกอบรถยนต์มีการปรับลดการผลิตลง สำหรับการส่งออกลดลงจากเดือนมีนาคม 2554 ร้อยละ 39.05

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.95 เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.07 จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศเป็นหลักและความต้องการของตลาดส่งออกยังคงเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การผลิตสูงขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 11.95 จากการผลิต Hard Disk Drive ปรับตัวลดลงติดต่อกันเนื่องจากมีการผลิตเทคโนโลยีใหม่ๆขึ้นมาและมีการกระจายโยกย้ายการผลิตบางส่วนไปประเทศอื่น

ในส่วนมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.63 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 4,241.86 ล้านเหรียญสหรัฐ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ