รายงานสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤษภาคม 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday July 5, 2011 15:54 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

สรุปประเด็นสำคัญ ดัชนีอุตสาหกรรมของเดือนเมษายน 2554

  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2554 ลดลงจากเดือนมีนาคม 2554 ร้อยละ 16.3 และลดลงร้อยละ 7.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลงจากอุตสาหกรรมสำคัญ คือ การผลิต Hard Disk Drive ยานยนต์ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับเพชรพลอย โทรทัศน์ เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน
  • อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยในเดือนเมษายน 2554 อยู่ที่ระดับร้อยละ 54.6 ลดลงจากร้อยละ 66.1 ในเดือนมีนาคม 2554
ประเด็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรมสำคัญ

อุตสาหกรรมรถยนต์

? ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2554 คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2554 เนื่องจากผู้ประกอบการรถยนต์ในประเทศยังได้รับผลกระทบจากการเกิดภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ขาดชิ้นส่วนยานยนต์ อาทิชิ้นส่วนสมองกล (Micro Computer Chip) ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในเมืองเซนได หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ประกอบเป็นรถยนต์ สำหรับการผลิตรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2554 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 47 และส่งออกร้อยละ 53

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

? ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เดือนพฤษภาคม 2554 จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

? ประมาณการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 6.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของ Hard Disk Drive รวมถึงปัจจัยความผันผวนทางเศรษฐกิจมหภาคยังคงส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรม เช่น ราคาต้นทุนสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ น้ำมันราคาแพงและอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น

สถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรม
  • ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม

มี.ค. 54 = 198.2

เม.ย. 54 = 165.9

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ได้แก่

  • ยานยนต์
  • Hard Disk Drive
  • เบียร์
  • อัตราการใช้กำลังการผลิต

มี.ค. 54 = 66.1

เม.ย. 54 = 54.6

โดยอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลง ได้แก่

  • ยานยนต์
  • เส้นใยสิ่งทอ
  • ผลิตภัณฑ์ยาง

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ในเดือนเมษายน 2554 มีค่า 165.9 ลดลงจากเดือนมีนาคม2554 (198.2) ร้อยละ 16.3 และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนเมษายน 2553 (180.0)ร้อยละ 7.8

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมีนาคม2554 ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive เบียร์ น้ำตาล เครื่องแต่งกาย เป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ Hard Disk Drive ยานยนต์ เครื่องแต่งกาย เครื่องประดับเพชรพลอยโทรทัศน์ เป็นต้น

อัตราการใช้กำลังการผลิต ในเดือนเมษายน 2554 อยู่ที่ระดับร้อยละ 54.6 ลดลงจากเดือนมีนาคม 2554 (ร้อยละ 66.1) และลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน คือเดือนเมษายน 2553(ร้อยละ 58.0)

  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนมีนาคม 2554 ได้แก่ ยานยนต์ เส้นใยสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง Hard Disk Drive น้ำโซดาและน้ำดื่มเป็นต้น
  • อุตสาหกรรมที่ส่งผลสำคัญให้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากเดือนเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive โทรทัศน์ เม็ดพลาสติก เครื่องแต่งกายเป็นต้น

สถานภาพการประกอบกิจการอุตสาหกรรมเดือนเมษายน 2554

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนมีนาคม 2554 มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการจำนวน 354 ราย เพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนมีนาคม 2554 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 334 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 5.99 แต่มียอดเงินลงทุนรวมทั้งสิ้น 17,805.35 ล้านบาท ลดลงจากเดือนมีนาคม 2554 ซึ่งมีการลงทุน 22,138.15 ล้านบาท ร้อยละ 19.57 และการจ้างงานรวมมีจำนวน 7,613 คน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2554 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 8,935 คน ร้อยละ 14.80

ภาวะการประกอบกิจการของโรงงานจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมในเดือนเมษายน 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน มีโรงงานที่เริ่มประกอบกิจการเพิ่มขึ้นในจำนวนที่มากกว่าเดือนเมษายน 2553 ซึ่งมีโรงงานเริ่มประกอบกิจการจำนวน 279 ราย หรือคิดเป็นจำนวนมากกว่าร้อยละ 26.88 มียอดเงินลงทุนรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2553 ซึ่งมีการลงทุน 8,136.33ล้านบาท ร้อยละ 118.84 และมีการจ้างงานรวมเพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2553 ที่มีจำนวนการจ้างงาน 5,195 คน ร้อยละ 46.54

  • อุตสาหกรรมที่มีจำนวนโรงงานเริ่มประกอบกิจการมากที่สุดในเดือนเมษายน 2554คือ อุตสาหกรรมซ่อมรถยนต์และเคาะพ่นสีรถยนต์ จำนวน 28 โรงงาน รองลงมาคืออุตสาหกรรมผลิตแผ่นพื้นสำเร็จรูป และผลิตคอนกรีตผสมเสร็จ จำนวน 25 โรงงาน
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการโดยมีการลงทุนสูงสุดในเดือนเมษายน 2554 คืออุตสาหกรรม ผลิต และจำหน่ายพลังงานไฟฟ้า เงินลงทุน จำนวน 3,780.69 ล้านบาท รองลงมาคือ อุตสาหกรรมทำไม้ปาร์ติเกิล เงินลงทุน จำนวน 1,521 ล้านบาท
  • อุตสาหกรรมที่เริ่มประกอบกิจการและมีการจ้างงานสูงสุดในเดือนเมษายน 2554 คือ อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับแม่เหล็ก และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จำนวนคนงาน 425 คน รองลงมาคือ อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับใช้ในการก่อสร้างอาคาร จำนวนคนงาน 405 คน

ภาวะการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) ในเดือนมกราคม — เมษายน 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีจำนวนโครงการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก สกท. ทั้งสิ้น 496 โครงการ มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวน 445 โครงการ ร้อยละ 11.46 มีเงินลงทุน 145,800 ล้านบาท มากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีเงินลงทุน 118,300 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 24.43

  • การกระจายหุ้นของโครงการที่ได้รับการอนุมัติให้การส่งเสริมในเดือนมกราคม — เมษายน 2554
             การร่วมทุน                  จำนวน(โครงการ)          มูลค่าเงินลงทุน(ล้านบาท)
          1.โครงการคนไทย 100%               211                     53,900
          2.โครงการต่างชาติ 100%              171                     50,100
          3.โครงการร่วมทุนไทยและต่างชาติ        114                     41,700
  • ประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดในเดือนมกราคม —เมษายน 2554 คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 37,100 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีมูลค่าเงินลงทุนรวม 33,300 ล้านบาท
1.อุตสาหกรรมอาหาร

ภาวะการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนตามคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการส่งออกไปญี่ปุ่นเริ่มดีขึ้น จากความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคในสินค้าอาหารที่อาจปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสี สำหรับการจำหน่ายภายในประเทศอาจชะลอตัว จากระดับราคาสินค้าที่สูงขึ้น อาจส่งผลให้ประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอยลง

1. การผลิต

ภาวะการผลิตกลุ่มสินค้าอาหารสำคัญ (ไม่รวมน้ำตาล) เดือนเมษายน 2554 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.7 แต่ลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 14.3 แบ่งเป็น กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดส่งออกเป็นหลักเช่น แป้งมันสำปะหลัง ไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง และสับปะรดกระป๋อง มีปริมาณการผลิตลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 38.8 11.2 19.4 และ 16.4 ตามลำดับ เนื่องจากวัตถุดิบมีปริมาณลดลง ประกอบกับมีวันทำงานน้อยลงจากวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ กลุ่มสินค้าสำคัญที่อิงตลาดภายในประเทศ เช่น น้ำมันปาล์ม และน้ำมันถั่วเหลือง มีปริมาณการผลิตลดลงร้อยละ 15.7 และ 16.6 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน

สำหรับการผลิตน้ำตาล มีปริมาณอ้อยเข้าโรงงานน้ำตาลเพิ่มขึ้นมากเมื่อเทียบกับปีก่อน ทำให้ปริมาณการผลิตน้ำตาลเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากถึงร้อยละ 673.8 แต่หากพิจารณาโดยเปรียบเทียบกับเดือนก่อนชะลอตัวลงร้อยละ 48.7 เนื่องจากเข้าสู่ช่วงปลายฤดูกาลหีบอ้อย

2. การตลาด

1) ตลาดในประเทศ เดือนเมษายน 2554 สินค้าอาหารและเกษตร มีปริมาณการจำหน่ายลดลงจากเดือนก่อนและปีก่อนร้อยละ13.8 และ 6.8 เนื่องจากระดับราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคลดการจับจ่ายใช้สอยลง ประกอบกับราคาน้ำมันได้ปรับตัวสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

2) ตลาดต่างประเทศ มูลค่าการส่งออกโดยรวมของอุตสาหกรรมอาหาร(ไม่รวมน้ำตาล) ในรูปเงินบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 0.6 แต่ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนร้อยละ 23.6 โดยเฉพาะในสินค้าสับปะรดกระป๋อง ผลิตภัณฑ์ข้าว ไก่แปรรูป และทูน่ากระป๋อง มูลค่าลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 8.7 22.7 96.9 และ 9.6 ตามลำดับ เป็นผลจากการลดลงของการจัดส่งและส่งออก เนื่องจากอยู่ในช่วงเทศกาลวันหยุดยาว สำหรับสินค้าน้ำตาล ส่งออกในปริมาณและมูลค่าที่ลดลงลงเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนก่อน

3. แนวโน้ม

การผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร คาดว่า จะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน ตามปริมาณคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับการส่งออกไปญี่ปุ่นปรับตัวเพิ่มขึ้น จากผลกระทบของเหตุวิกฤตโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เกิดขึ้นตามอุบัติภัยแผ่นดินไหว-สึนามิ ทำให้ผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นกังวลกับการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีของอาหารในประเทศ สำหรับการจำหน่ายสินค้าในประเทศ คาดว่า จะมีแนวโน้มชะลอตัว จากระดับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อการจับจ่ายใช้สอยที่อาจชะลอตัวลง

2. อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

“...แนวโน้มการผลิตในภาพรวมและการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคาดว่าจะปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากราคาวัตถุดิบ เช่น ฝ้ายใยธรรมชาติ เริ่มปรับตัวลดลง...”

1. การผลิต

ภาวะการผลิตในเดือนเมษายน 2554 ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนตามความต้องการของตลาดที่ลดลงตามฤดูกาลได้แก่ เส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน เครื่องนอนฯ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป (รวมผ้าถักและผ้าทอ) ลดลงร้อยละ 12.2, 11.3, 11.3, และ 13.8 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่ปรับตัวลดลงได้แก่ ผ้าทอ เครื่องนอนฯ และ เสื้อผ้าสำเร็จรูป (ผ้าทอ) ลดลงร้อยละ 4.4, 17.6 และ 5.6 ตามลำดับ ในขณะที่เส้นใยสิ่งทอฯ ยังขยายตัวร้อยละ 0.2 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อจากตลาดในอาเซียน รวมถึงเสื้อผ้าสำเร็จรูป (จากผ้าถัก) ที่ขยายตัวร้อยละ 5.7 ส่วนใหญ่ส่งออกไปยังกลุ่มสหภาพยุโรป

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายในประเทศและการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในเดือนเมษายน 2554 ลดลงร้อยละ 18.4 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนในผลิตภัณฑ์สิ่งทอหลักๆ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ เส้นใยประดิษฐ์ และสิ่งทออื่นๆ ลดลงร้อยละ 11.2, 17.0, 44.5, 17.6, 26.1, 22.7 และ 19.9 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.9 ในผลิตภัณฑ์เดียวกัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.3, 37.7, 68.7, 36.2, 11.2, 34.4 และ 42.3ตามลำดับ

ตลาดส่งออกเมื่อเทียบกับเดือนก่อน การส่งออกลดลงในตลาดส่งออกหลักทุกตลาด ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ร้อยละ 20.6, 25.4, 6.4 และ 16.2 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนการส่งออกขยายตัวร้อยละ 51.5,49.3, 17.4และ 34.5 ตามลำดับ

3. แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตในภาพรวมและการส่งออกของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากราคาวัตถุดิบ เช่น ฝ้าย ใยธรรมชาติ เริ่มปรับตัวลดลง มีวัตถุดิบเข้าสู่ตลาดโลกมากขึ้น ส่วนผลิตภัณฑ์ใยสังเคราะห์ ราคาจะปรับขึ้นลงตามราคาน้ำมัน ซึ่งวัตถุดิบเหล่านี้เป็นวัตถุดิบต้นน้ำที่กำหนดทิศทางของอุตสาหกรรม สำหรับอุตสาหกรรมปลายน้ำ ไทยยังมีศักยภาพในการผลิตและเป็นฐานการผลิตที่สำคัญ โดยเฉพาะสินค้าประเภทชุดชั้นใน ชุดกีฬาและเสื้อผ้าเด็ก ซึ่งนับเป็น Product Champion ของกลุ่มเครื่องนุ่งห่มและยังขยายตัวได้ดี สำ หรับตลาดส่งออกสิ่งทอไทยยังคงเป็นสหรัฐอเมริกา และมีการขยายตลาดสู่อาเซียนมากขึ้นด้วย

3. อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

ประเทศมาเลเซียได้เริ่มพิจารณาที่จะใช้มาตรการกีดกันการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อน พิกัดศุลกากร 7208 และ7211 หลังจากผู้ผลิตในประเทศ คือ บริษัท Megasteel Sendirian Berhad ได้อ้างว่ามีการนำเข้าเหล็กแผ่นรีดร้อนเพิ่มขึ้นจากปี 2007 ถึงปี 2009 ร้อยละ 29 ซึ่งกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมระหว่างประเทศของมาเลเซีย(MITI) จะใช้เวลาในการพิจารณา 90 วัน ซึ่งถ้าพิจารณาแล้วพบว่าข้อมูลเป็นจริงจะมีการกำหนดภาษีนำเข้าเพิ่มขึ้น

1.การผลิต

สถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมเหล็กในเดือนเมษายน 2554 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง ร้อยละ 13.67 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน เมื่อพิจารณาในกลุ่มเหล็กทรงยาวพบว่ามีการผลิตลดลง ร้อยละ 13.86 โดยผลิตภัณฑ์ที่ลดลง ได้แก่ เหล็กเส้นข้ออ้อย เหล็กลวด ลวดเหล็ก โดยผลิตลดลงร้อยละ 18.86,16.96 และ 16.31 ตามลำดับ เนื่องจากเป็นเดือนที่เข้าใกล้ฤดูฝนจึงทำให้มีคำสั่งซื้อลดลง นอกจากนี้เป็นผลมาจากเป็นเดือนที่มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวันทำให้ลูกค้าปรับลดคำสั่งซื้อลงด้วย สำหรับกลุ่มเหล็กทรงแบน มีการผลิตลดลง ร้อยละ 12.26 โดยผลิตภัณฑ์ที่ลดลง ได้แก่ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีและเหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนลดลงร้อยละ 29.10 และ 24.37 ซึ่งมีสาเหตุจากการที่ในช่วงไตรมาสแรกผู้ซื้อเร่งซื้อเป็นปริมาณมากไปแล้ว จึงทำให้ในเดือนนี้มีคำสั่งซื้อลดลง ผู้ผลิตจึงต้องลดการผลิตลงตาม ขณะเดียวกันเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตลดลง ร้อยละ 8.05 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 16.40 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุดคือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลง ร้อยละ 23.33 เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนลดลง ร้อยละ 23.21 ในขณะที่เหล็กทรงยาวกลับมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ10.68 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ เหล็กเส้นกลม เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.55

2.ราคาเหล็ก

จากข้อมูลดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศของสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย พบว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2554 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาเหล็กที่สำคัญส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นทุกตัว โดยเหล็กแผ่นรีดเย็น เพิ่มขึ้นจาก 149.53 เป็น 157.94 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.62 เหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต เพิ่มขึ้นจาก 141.91 เป็น 149.52 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.36 เหล็กเส้นเพิ่มขึ้นจาก 137.23 เป็น 145.22 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 3.88 เหล็กแผ่นรีดร้อนเพิ่มขึ้นจาก 143.58 เป็น 145.64 เพิ่มขึ้น ร้อยละ 1.43 เนื่องจากราคา Spotของแร่เหล็กซึ่งเป็นวัตถุดิบขั้นต้นเพิ่มขึ้น โดยล่าสุดราคาเสนอขายแร่เหล็กคุณภาพสูงจากอินเดียเพิ่มขึ้นสูงเกิน 190 เหรียญสหรัฐต่อตัน เนื่องจากปริมาณแร่เหล็กที่มีจำกัดจากปัญหาการขนส่งทางรถไฟในเมือง Pilbara ของประเทศออสเตรเลียและมาตรการห้ามส่งออกแร่เหล็กในเมือง Karnataka ของประเทศอินเดีย จึงทำให้ราคาแร่เหล็กสูงขึ้น

3. แนวโน้ม

สถานการณ์การผลิตเหล็กในเดือนพฤษภาคม 2554 คาดว่าจะมีทิศทางที่ขยายตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยเหล็กทรงยาวมีแนวโน้มการผลิตที่เพิ่มขึ้นซึ่งจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าการลงทุนในหมวดก่อสร้างขยายตัวขึ้น โดยพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลปรับตัวสูงขึ้นซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการก่อสร้างที่อยู่อาศัยและการลงทุนเพื่อการพาณิชยกรรมในเขตกรุงเทพ ซึ่งมีผลทำให้แนวโน้มความต้องการใช้เหล็กทรงยาวเพิ่มขึ้น สำหรับเหล็กทรงแบน คาดการณ์ว่าจะขยายตัวตามอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น

4. อุตสาหกรรมยานยนต์

รถยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนเมษายน 2554 ชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 โดยมีสาเหตุสำคัญจากการเกิดภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลกระทบให้ขาดชิ้นส่วนที่ใช้ในการประกอบรถยนต์ ซึ่งตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2554ผู้ประกอบการรถยนต์มีการปรับลดการผลิตเหลือเพียงร้อยละ 50โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนเมษายน ดังนี้

  • การผลิตรถยนต์ จำนวน 89,179 คัน ลดลงจากเดือนเมษายน2553 ซึ่งมีการผลิต 105,110 คัน ร้อยละ 15.16 โดยเป็นการปรับลดการผลิตของรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ อีกทั้งมีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนมีนาคม 2554 ร้อยละ 48.15 ซึ่งเป็นการลดลงในการผลิตรถยนต์ทุกประเภท (รถยนต์นั่ง, รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ) โดยเป็นไปตามปกติที่ในเดือนเมษายนของทุกปีจะมีการลดการผลิตรถยนต์ เพราะมีเทศกาลวันหยุดยาวหลายวันประกอบกับในปีนี้ได้รับผลกระทบจากการเกิดภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้ผู้ประกอบรถยนต์มีการปรับลดการผลิตลง
  • การจำหน่ายรถยนต์ จำนวน 67,283 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2553 ซึ่งมีการจำหน่าย 57,128 คัน ร้อยละ 17.78 โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของการจำหน่ายรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1 ตัน แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ลดลงจากเดือนมีนาคม2554 ร้อยละ 27.66 เนื่องจากมีวันหยุดยาวหลายวัน
  • การส่งออกรถยนต์ จำนวน 52,191 คัน ลดลงจากเดือนเมษายน 2553 ซึ่งมีการส่งออก 57,139 คัน ร้อยละ 8.66 ซึ่งการส่งออกรถยนต์ลดลงในตลาดเอเชีย ตะวันออกกลาง ยุโรปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ และมีปริมาณการส่งออกรถยนต์ลดลงจากเดือนมีนาคม 2554 ร้อยละ 39.05
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2554คาดว่าจะทรงตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2554เนื่องจากผู้ประกอบการรถยนต์ในประเทศยังได้รับผลกระทบจากการเกิดภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ขาดชิ้นส่วนยานยนต์ อาทิชิ้นส่วนสมองกล (Micro Computer Chip) ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในเมืองเซนได หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ประกอบเป็นรถยนต์ สำ หรับการผลิตรถยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2554ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 47และส่งออกร้อยละ 53

รถจักรยานยนต์

อุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนเมษายน 2554 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 โดยมีข้อมูลสภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์เดือนเมษายน ดังนี้

  • การผลิตรถจักรยานยนต์ จำนวน 164,523 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2553 ซึ่งมีการผลิต 139,880 คัน ร้อยละ 17.62เนื่องจากมีการเพิ่มการผลิตรถจักรยานยนต์ทุกประเภท(รถจักรยานยนต์แบบครอบครัว และแบบสปอร์ต) แต่มีปริมาณการผลิตรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนมีนาคม 2554ร้อยละ 25.79 โดยเป็นการปรับลดลงในการผลิตรถจักรยานยนต์ทุกประเภท ซึ่งเป็นไปตามปกติที่ในเดือนเมษายนของทุกปี จะมีการลดการผลิตรถจักรยานยนต์ เพราะมีเทศกาลวันหยุดยาวหลายวัน
  • การจำหน่ายรถจักรยานยนต์ จำนวน 150,213 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2553 ซึ่งมีการจำหน่าย 134,516 คัน ร้อยละ 11.67 แต่มีปริมาณการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนมีนาคม 2554 ร้อยละ 21.81 ซึ่งเป็นการปรับลดลงในการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ทุกประเภท (รถจักรยานยนต์แบบครอบครัว แบบสกูตเตอร์ และแบบสปอร์ต)
  • การส่งออกรถจักรยานยนต์สำเร็จรูป (CBU) จำนวน 12,061 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2553 ซึ่งมีการส่งออก 8,810คัน ร้อยละ 36.90 แต่มีปริมาณการส่งออกรถจักรยานยนต์ลดลงจากเดือนมีนาคม 2554 ร้อยละ 37.11 ซึ่งเป็นไปตามปกติของเดือนเมษายนของทุกปีที่มีวันหยุดยาว
  • แนวโน้ม ภาวะอุตสาหกรรมรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2554 คาดว่าจะขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเมษายน 2554 สำหรับการผลิตรถจักรยานยนต์ในเดือนพฤษภาคม 2554 ประมาณการว่าจะมีการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศร้อยละ 91 และส่งออกร้อยละ 9 สำหรับกรณีการเกิดภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น คาดว่าจะส่งผลกระทบเพียงเล็กน้อยกับผู้ผลิตรถจักรยานยนต์
5.อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์

“อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ขยายตัวดีขึ้นเนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูกาลก่อสร้าง การส่งออกยังมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้ เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนายังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง”

1.การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

ในเดือนเมษายน 2554 ปริมาณการผลิต และปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เมื่อเทียบกับเดือนก่อน ลดลงร้อยละ 16.42 และ 17.14 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ปริมาณการผลิตลดลงเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 1.38 แต่ปริมาณการจำหน่ายในประเทศ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.65 เมื่อพิจารณาในภาพรวมแล้ว อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากธุรกิจการก่อสร้างขยายตัวได้ดี ตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับปัจจัยที่สนับสนุนการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศ คือ การลงทุนโครงการพื้นฐานต่างๆของภาครัฐ เช่น โครงการรถไฟฟ้า รวมถึงในส่วนของการลงทุนภาคเอกชน โดยเฉพาะการลงทุนในที่อยู่อาศัย ทั้งประเภทอาคารสูงและบ้านจัดสรรแถบชานเมือง อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบที่กระทบต่อต้นทุนการผลิต คือ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

2.การส่งออก

มูลค่าการส่งออกปูนซีเมนต์ เดือนเมษายน 2554 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนและเดือนเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.16 และ 2.49 ตามลำดับ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทยคือ เมียนมาร์ บังคลาเทศ กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ตามลำดับ

3.แนวโน้ม

แนวโน้มการผลิตและการจำ หน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ คาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝนทำให้เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง

สำหรับการส่งออกคาดว่าจะยังขยายตัวได้ เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังคงมีแนวโน้มที่จะเติบโต ตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนา ยังมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในกิจกรรมการก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

6. อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
  • คาดการณ์แนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า เดือนพฤษภาคม 2554 คาดว่า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
  • ส่วนประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์เดือนพฤษภาคม 2554 ส่วนการประมาณการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของ Hard Disk Drive รวมถึงปัจจัยความผันผวนทางเศรษฐกิจมหภาคยังคงส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรม เช่น ราคาต้นทุนสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ น้ำมันราคาแพงและอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น
ตารางที่ 1 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์หลักที่มีมูลค่าการส่งออกมากเป็นอันดับต้นๆ ในเดือน เม.ย. 2554
 เครื่องใช้ไฟฟ้า/อิเล็กทรอนิกส์                                มูลค่า(ล้านเหรียญฯ)         %MoM            %YoY
 อุปกรณ์คอมพิวเตอร์                                           1,391.42            -16.40           15.92
 IC                                                         662.96            -22.71           35.30
 เครื่องปรับอากาศ                                              315.72            -21.23           34.11
 เครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อป้องกันวงจรไฟฟ้า รวมถึงแป้นและแผงควบคุม   160.01            -14.43           26.14
 รวมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์                              4,241.86            -19.17           24.63

ที่มา กรมศุลกากร

1.การผลิต

ภาพรวมภาวะการผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของเดือนเมษายน 2554 มีดัชนีผลผลิตอยู่ที่ระดับ 324.26 ปรับตัวลดลงร้อยละ 12.36 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 11.95 เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ 23.08 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.07 ตามการปรับตัวของเครื่องปรับอากาศเป็นหลักและความต้องการของตลาดส่งออกยังคงเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การผลิตสูงขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 10.56 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 13.66จากการผลิต Hard Disk Drive ปรับตัวลดลงติดต่อกันเนื่องจากมีการผลิตเทคโนโลยีใหม่ๆขึ้นมาและมีการกระจายโยกย้ายการผลิตบางส่วนไปประเทศอื่น

2. การตลาด

มูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เดือนเมษายน2554 ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อน ร้อยละ 19.17 และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.63 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 4,241.86 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมูลค่าการส่งออกรวมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนร้อยละ 19.17และเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 26.02 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมของเครื่องใช้ไฟฟ้าคือ 1,713.54 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่สูงที่สุดได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องอุปกรณ์ไฟฟ้า

สำหรับตัดต่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจรโดยมีมูลค่าส่งออกคือ 315.72 ล้านเหรียญสหรัฐ และ 160.01 ล้านเหรียญสหรัฐ สำ หรับมูลค่าการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 19.17 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.71 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์คือ 2528.32 ล้านเหรียญสหรัฐ

3. แนวโน้ม

ภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เดือนพฤษภาคม 2554 จากแบบจำ ลองดัชนีชี้นำ ภาวะอุตสาหกรรมสาขาเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่จัดทำโดยสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ประมาณการแนวโน้มอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า จะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.04 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของเครื่องปรับอากาศ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ส่วนการประมาณการอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์มีการปรับตัวลดลงร้อยละ 6.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการลดลงของ Hard Disk Drive รวมถึงปัจจัยความผันผวนทางเศรษฐกิจมหภาคยังคงส่งผลกระทบกับภาคอุตสาหกรรม เช่น ราคาต้นทุนสูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ น้ำมันราคาแพงและอัตราดอกเบี้ยปรับสูงขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ