สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนมิถุนายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday July 11, 2011 14:24 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2554 หดตัวร้อยละ 3.9 เป็นการหดตัวเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกัน โดยการผลิตลดลงจากอุตสาหกรรมสำคัญ คือ การผลิตยานยนต์ เครื่องแต่งกาย โทรทัศน์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ทั้งนี้ผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่นยังทำให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนยานยนต์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์มีระดับการผลิตลดลง สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2554 ชะลอตัวลง โดยขยายตัวร้อยละ6.6 จากเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 22.7 แต่ทั้งนี้หากหักการส่งออกทองคำ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่รวมทองคำขยายตัวร้อยละ 16.5

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคม 2554 ซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(1) หดตัวร้อยละ 3.9 เป็นการหดตัวเป็นเดือนที่สี่ติดต่อกัน โดยการผลิตลดลงจากอุตสาหกรรมสำคัญคือ การผลิตยานยนต์ เครื่องแต่งกาย โทรทัศน์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ทั้งนี้ผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยพิบัติในญี่ปุ่นยังทำให้เกิดการขาดแคลนชิ้นส่วนยานยนต์ ส่งผลให้อุตสาหกรรมรถยนต์มีระดับการผลิตลดลง

อย่างไรก็ตามผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของญี่ปุ่นมีการฟื้นฟูกำลังการผลิตได้อย่างรวดเร็ว ทำให้จัดส่งชิ้นส่วนมายังผู้ผลิตในไทยได้เร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมเป็นต้นมา ผู้ผลิตรายใหญ่ได้เริ่มปรับการผลิตขึ้นจากช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม และคาดว่าจะกลับสู่ภาวะปกติภายในไตรมาสที่ 3 นี้สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต(2) เดือนพฤษภาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 58.66 จากร้อยละ63.94 ในเดือนพฤษภาคม 2553

หมายเหตุ

(1) หมายถึง ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นดัชนีที่แสดงทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาพรวม รายสาขาอุตสาหกรรม และรายผลิตภัณฑ์

(2) หมายถึง อัตราการใช้กำลังการผลิต หมายถึง ค่าร้อยละของการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเทียบกับความสามารถในการผลิตสูงสุดเต็มศักยภาพ หรือเต็มกำลังการผลิต (capacity)

เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2554 ชะลอตัวลงโดยขยายตัวร้อยละ 6.6 จากเดือนเมษายนที่ผ่านมาที่ขยายตัวร้อยละ 22.7 แต่ทั้งนี้หากหักการส่งออกทองคำ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่รวมทองคำขยายตัวร้อยละ 16.5

อุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ(พฤษภาคม2554)

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ผลิตภัณฑ์สิ่งทอปรับตัวลดลง ทั้งเส้นใยสิ่งทอฯ ผ้าผืน เครื่องนอนฯ และ เสื้อผ้าสำเร็จรูป (รวมเสื้อผ้าถักและเสื้อผ้าทอ) โดยลดลงร้อยละ 4.1, 4.3, 20.9 และ7.3 ตามลำดับ เนื่องจากราคาวัตถุดิบในการผลิตปีนี้เพิ่มสูงกว่าปีที่ผ่านมาค่อนข้างมาก ส่งผลให้มีคำสั่งซื้อและการผลิตลดลง แต่ในด้านการส่งออก โดยภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 ในผลิตภัณฑ์สิ่งทอหลักๆ ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ และเส้นใยประดิษฐ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.1, 20.2, 22.8 และ 9.6 ตามลำดับ

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า

การผลิตลดลงร้อยละ 12.91 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 24.70 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด คือ เหล็กแผ่นเคลือบสังกะสี ลดลงร้อยละ 37.91 เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน ลดลงร้อยละ 31.95 ในขณะที่เหล็กทรงยาวกลับมีการผลิตที่เพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.29 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ เหล็กเส้นข้ออ้อยเพิ่มขึ้น ร้อยละ 29.43 ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศ พบว่า การเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea) ในช่วงเดือนมิถุนายน 2554เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ดัชนีราคาเหล็กที่เพิ่มขึ้น ได้แก่เหล็กแท่งเล็กบิลเล็ต เหล็กเส้น และเหล็กแท่งแบน ในส่วนดัชนีราคาเหล็กที่ลดลงจะเป็นกลุ่มเหล็กทรงแบนได้แก่ เหล็กแผ่นรีดเย็นและเหล็กแผ่นรีดร้อน

อุตสาหกรรมรถยนต์

มีการผลิต จำนวน 98,804 คัน ลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2553 ซึ่งมีการผลิต 132,165 คัน ร้อยละ 25.24 โดยเป็นการปรับลดลงของรถยนต์ทุกประเภท (รถยนต์นั่ง,รถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ) แต่มีปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2554 ร้อยละ 10.79 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นของรถยนต์นั่ง และรถยนต์กระบะ 1ตัน ซึ่งเป็นไปตามปกติ เนื่องจากเดือนเมษายนของทุกปี มีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลง เพราะมีเทศกาลวันหยุดยาวหลายวัน สำหรับการส่งออกลดลงจากเดือนพฤษภาคม 2553 ร้อยละ 48.51

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.03 เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.60เนื่องจากมีความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น ตู้เย็นและหม้อหุงข้าว เป็นต้น เพิ่มมากขึ้น หลังจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิที่ญี่ปุ่น สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ0.95 โดยขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 6เดือน ตามการผลิต Hard Disk Drive ที่ขยายตัวเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบ 6 เดือนเช่นกัน โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.42

ในส่วนมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.27 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 4,665.52 ล้านเหรียญสหรัฐ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ