สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 5, 2011 15:38 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 2 ปี 2554 เศรษฐกิจแต่ละประเทศยังคงขยายตัว แต่มีแรงกดดันจากแนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ปัญหาหนี้สาธารณะที่อาจขยายตัวไปยังอิตาลีและสเปน และความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศในยุโรป นอกจากนี้ปัญหาเงินเฟ้อก็ยังเป็นปัจจัยกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศฝั่งเอเชีย สำหรับราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 2 ปี 2554 อยู่ที่ 111.14 USD/Barrel เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2553 อยู่ที่ 78.23 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงแกว่งตัวขึ้นลง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนกันยายน (ณ วันที่ 5 สิงหาคม 2554) ลดลง 5.30 USD/Barrel โดยมีราคาอยู่ที่ 86.63 USD/Barrel เนื่องจากนักลงทุนกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย และปัญหาหนี้ในกลุ่มประเทศยุโรป

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2554ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 และชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 12.0 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 คือ อุปสงค์ในประเทศชะลอลง โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนขยายตัวชะลอลงจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 การบริโภคหมวดอาหาร และการใช้จ่ายซื้อสินค้าคงทนเพิ่มขึ้น ในขณะที่การใช้จ่ายซื้อสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าไม่คงทนชะลอตัวลง ส่วนการใช้จ่ายหมวดบริการลดลง ปัจจัยสนับสนุนการใช้จ่ายของครัวเรือน เช่น รายได้เกษตรกรที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามราคาพืชผล อัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง รวมทั้งภาวะอุทกภัยในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยโดยรวม สำหรับอุปสงค์ต่างประเทศปรับตัวดีขึ้นมาก โดยการส่งออกสินค้าและบริการสุทธิขยายตัวเป็นผลมาจากทั้งการส่งออกและการนำเข้าที่ขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 4 ของปี 2553 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2554 จะขยายตัวร้อยละ 3.5-4.5 ชะลอตัวลงจากปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.8

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 สำหรับตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 พบว่าบางตัวมีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2553 เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต โดยอุตสาหกรรมที่มีการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องแต่งกาย Hard Disk Drive เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ได้แก่ ยานยนต์ โทรทัศน์ น้ำตาล เป็นต้น ส่วนมูลค่าการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.60 (ม.ค.-มิ.ย. 54) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น

ในส่วนของการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและภาวการณ์ลงทุนภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2553 สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคและธุรกิจ และดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม มีการปรับตัวลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาแต่เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 ขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 2 นี้ การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 115,456.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 58,103.16 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 57,353.79 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 นั้นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.16 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.86 ส่งผลให้ไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 ดุลการค้าเกินดุล 749.37 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.44 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.16

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนเมษายนและพฤษภาคมมีมูลค่ารวม 23,891.25 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนเมษายนมีมูลค่า 13,815.00 ล้านบาท สำหรับเดือนกุมภาพันธ์มีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ 10,076.25 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือน ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนเมษายนมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 10,897.54 ล้านบาท และในเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 2,764.42 ล้านบาท โดยการลงทุนในเดือนเมษายนและพฤษภาคมของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนลดลงร้อยละ 41.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับการลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น 446 โครงการ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำนวนโครงการ 346 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 2 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 143,400 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.87 โดยโครงการลงทุนนั้นประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ 100% จำนวน 172 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 56,100 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 96 โครงการ เป็นเงินลงทุน 37,000 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 178 โครงการ เป็นเงินลงทุน 50,300 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดเคมี กระดาษและพลาสติกมีเงินลงทุน 36,000 ล้านบาท รองลงมาคือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 32,000 ล้านบาท และหมวดบริการ และสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 26,000 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 137 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 50,801 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์ที่มีจำนวน 24 โครงการ มีเงินลงทุน 15,823 ล้านบาท ประเทศไต้หวันได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 8 โครงการ เป็นเงินลงทุน 3,642 ล้านบาท และประเทศเกาหลีใต้ 10 โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 3,587 ล้านบาท

ในปี 2554 กระทรวงอุตสาหกรรมโดยสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวในปี 2554 ของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งจากปัจจัยผลกระทบภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหรือ MPI ในครึ่งปีแรกหดตัวร้อยละ 2.4 แต่คาดว่าในครึ่งหลังของปีจะมีการขยายตัวที่ดี หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงที่นอกเหนือการคาดหมายมากระทบ โดยคาดการณ์ปี 2554 MPI จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 2.0 - 3.0 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวช่วงร้อยละ 6.0 - 8.0

ปัจจัยบวกในครึ่งหลังของปี ได้แก่ ผู้ผลิตรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบได้ปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อเร่งส่งมอบรถยนต์ให้ผู้บริโภคในประเทศและตลาดส่งออกให้เร็วขึ้น รวมทั้งสถานการณ์การเมืองในประเทศที่มีความชัดเจน บวกกับการประกาศนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่ จะเสริมความเชื่อมั่นของภาคเอกชนและมีผลต่อการใช้จ่ายภายในประเทศตามมา ทั้งนี้การบริโภคภาคเอกชนยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากรายได้เกษตรกรที่ยังมีแนวโน้มที่ดี และการจ้างงานที่ยังอยู่ในระดับสูง

สำหรับปัจจัยเสี่ยง ได้แก่ ปัญหาอัตราเงินเฟ้อยังทรงตัวในระดับสูง แม้การต่ออายุมาตรการดูแลค่าครองชีพออกไปจะชะลอการเร่งขึ้นของตัวเลขเงินเฟ้อออกไป แต่แนวทางปฏิบัติของการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำและแผนการใช้จ่ายของภาครัฐในระยะข้างหน้าอาจเพิ่มแรงกดดันด้านราคาและส่งผลให้เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น นอกจากนี้ปัจจัยการขึ้นค่าแรง ยังเป็นหนึ่งในปัญหาต้นทุนของผู้ประกอบการที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งรวมถึง ทิศทางอัตราดอกเบี้ยซึ่งเป็นต้นทุนทางการเงินที่ยังเป็นขาขึ้น และการประกาศขึ้นราคาขายก๊าซหุงต้มภาคอุตสาหกรรม 3 บาทต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ค.ที่ผ่านมา

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์

ภาวะการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีดัชนีผลผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 127.66 ปรับตัวลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 7.47 และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.66 โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่น หม้อหุงข้าว สายไฟฟ้า ตู้เย็น เป็นต้น โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.48 16.99 และ 15.29 ตามลำดับ ยกเว้นสินค้าบางตัวที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ โทรทัศน์สี(CRT) ขนาดจอเล็กกว่าหรือเท่ากับ 20 นิ้ว และขนาดจอเท่ากับ 21 นิ้วหรือมากกว่า 21 นิ้วขึ้นไป อย่างไรก็ตามการผลิตในหมวดเครื่องใช้ยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี มีความต้องการเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและส่งออก และความต้องการในตลาดส่งออกยังคงเป็นปัจจัยสำคัญทำให้การผลิตสูงขึ้น สำหรับภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 พบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.58 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และหดตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.23 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี เนื่องจากการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้เร่งผลิตในช่วงก่อนหน้าค่อนข้างมาก โดยสินค้าที่ปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ได้แก่ Printer และ HDD สำหรับสินค้าที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คือ Other IC ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.07 รองลงมาคือ Semiconductor ปรับเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5.09

แนวโน้มภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 3/2554 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.15 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวของอุตสาหกรรมเครื่องคอมเพรสเซอร์ อุตสาหกรรมตู้เย็น และอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศ คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.48 8.89 และ 5.07 ตามลำดับจากช่วงเดียวกันของปีก่อน สำหรับแนวโน้มภาวะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 3/2554 ประมาณการว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.11 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ IC เป็นหลัก โดยความต้องการสินค้า consumer electronics มีอัตราการขยายตัวได้ไม่มากนัก เนื่องจากฐานที่สูง ทั้งนี้ส่วนประกอบและชิ้นส่วนเป็นอุตสาหกรรมที่เชื่อมโยงกับความต้องการในตลาดโลกรวมถึงความต้องการของสินค้าสำเร็จรูปด้านไอทีมีผลเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น

เคมีภัณฑ์

ไตรมาส 2 ปี 2554 การส่งออกเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่า 5,236 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.92 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าส่งออก 17,452 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.72 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.96 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่าการส่งออก 1,287 ล้านบาท เพิ่มขึ้น ร้อยละ 111.68 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่ลดลงร้อยละ 14.24 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในไตรมาสหน้าคาดว่าจะมีแนวโน้มดีขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการต้องผลิตสินค้าเพื่อสต๊อกไว้ขายในช่วงเทศกาลหยุดยาว แต่ทั้งนี้ต้องระวัง ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรป และภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น

ปิโตรเคมี

ไตรมาส 2 ปี 2554 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 16,646.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.75 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 92.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 17,607.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.76 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 64,628.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.75 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

คาดว่าในปี 2554-2555 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ และประเทศอินเดียซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูง จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเอเชีย

เหล็กและเหล็กกล้า

สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมลดลง ร้อยละ 12.57 เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้าจำนวนมากจากประเทศจีน ประกอบกับมีการระบายสินค้าคงคลัง จึงทำให้ผู้ผลิตผลิตน้อยลง สำหรับความต้องการใช้ในประเทศ ลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 0.55

อุตสาหกรรมเหล็กในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 คาดว่าจะขยายตัวขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 โดยในส่วนของเหล็กทรงยาวซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้างจะได้ผลบวกจากความต้องการใช้เหล็กในโครงการลงทุนต่างๆ ของภาครัฐและ อสังหาริมทรัพย์ สำหรับเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าจะขยายตัวตามอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ที่มีการปรับตัวที่ดีขึ้นและชิ้นส่วน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น

ยานยนต์

อุตสาหกรรมรถยนต์ครึ่งปีแรกปี 2554 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดภายในประเทศยังสามารถขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศ แต่การส่งออกรถยนต์ชะลอตัวลงเล็กน้อย หากพิจารณาอุตสาหกรรมรถยนต์ไตรมาสที่สองปี 2554 เปรียบเทียบกับไตรมาแรกของปี 2554 ชะลอตัว เนื่องจากได้เกิดภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ส่งผลให้โรงงานประกอบรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่น และฐานการผลิตทั่วโลก ต้องปรับลดการผลิตลง ผู้ผลิตชิ้นส่วนในประเทศญี่ปุ่นจะต้องบริหาร Supply Chain ชิ้นส่วนไปยังทั่วโลก (Global Sourcing) รวมทั้งโรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย

จากข้อมูลที่ได้จากการสอบถามผู้ประกอบการ คาดว่าจะมีการผลิตรถยนต์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 ประมาณ 487,000 คัน โดยเป็นการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศประมาณร้อยละ 49 และผลิตเพื่อการส่งออกประมาณร้อยละ 51

พลาสติก

ไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 มูลค่าส่งออกเท่ากับ 24,579 ล้านบาท โดยสินค้าของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดอยู่ที่หมวด 3923 ของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้ามีมูลค่า 6,810 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด โดยส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกามากที่สุด รองลงมาได้แก่หมวด 3926 คือผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ มีมูลค่าส่งออก 5,539 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด ทั้งนี้ได้ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและจีนมากที่สุด

สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ยังคงต้องติดตาม เนื่องจากเป็นลูกค้าที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย หากทั้งสองกลุ่มมีปัญหาด้านการชำระหนี้ ก็จะส่งผลถึงประเทศที่ทำการค้าในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทยด้วย สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 3 ของทุกปี จะเป็นช่วงของการผลิตเพื่อเตรียมสินค้าที่จะขายในช่วงปลายปี ในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น เทศกาลปีใหม่ คาดว่าจะส่งผลดีการผลิต และส่งออกของไทย

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ดัชนีผลผลิตของการฟอกและการตกแต่งหนังฟอก การผลิตรองเท้า ในไตรมาส 2 ปี 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 1 ในปี 2554 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง เป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับมูลค่าการส่งออกสินค้าหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด รองเท้าและชิ้นส่วนที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น แต่ดัชนีผลผลิตของการผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกันอานม้าและเครื่องเทียมลาก ที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงลดลงซึ่งสอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกของเครื่องใช้สำหรับเดินทาง

แนวโน้มมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังใน ปี 2554 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2553 คาดว่าทุกผลิตภัณฑ์จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น แต่สำหรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์หนังจะทรงตัว ทั้งนี้ปัจจัยบวกในปีนี้จะมาจากการขยายตัวด้านการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้น ตลอดจนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ คำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น และแนวโน้มของเศรษฐกิจภายในประเทศ และเศรษฐกิจโลกที่คาดว่าจะดีขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย จะมาจากอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ราคาน้ำมัน สถานการณ์การเมืองภายในประเทศ ต้นทุนและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2554 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.0 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 18.2 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตในกลุ่มสำคัญ เช่น สินค้าประมง ผักและผลไม้ น้ำมันพืช และอาหารสัตว์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น (ตารางที่ 1) เป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และหากพิจารณารวมการผลิตน้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 27.5 เนื่องจากเป็นปลายฤดูหีบอ้อย และปริมาณอ้อยเข้าโรงงานลดลง แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 63.3 เป็นผลจากปริมาณอ้อยที่เข้าโรงงานเพิ่มขึ้นจากปีก่อนเป็นจำนวนมาก สำหรับภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารช่วงครึ่งปี 2554 เพิ่มขึ้นจากช่วงครึ่งปีก่อนร้อยละ 23.7

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 คาดว่า ทิศทางการผลิต และการส่งออกจะปรับตัวลดลงตามฤดูกาล จากปริมาณวัตถุดิบลดลงในพื้นที่เพาะปลูกที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ได้แก่ อุทกภัยในภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าประมง สับปะรด มันสำปะหลัง ข้าว และผักต่างๆ รวมทั้งค่าเงินบาทที่เริ่มจะทรงตัวและมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะหนี้สาธารณะของประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในสหภาพยุโรป ที่เริ่มประสบปัญหาการชำระเงิน ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ รวมถึงการเคลื่อนไหวของระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต

ไม้และเครื่องเรือน

ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีปริมาณการผลิต 1.99 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 11.56 และ 20.08 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่ลดลง เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบไม้ยางพาราและราคาไม้ยางพาราแพงขึ้น จากปัญหาอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา และจากการที่ชาวสวนไม่โค่นต้นยางเพราะราคายางดี รวมทั้งปัจจัยต้นทุนการผลิตอื่นๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ค่าแรง และน้ำมันเป็นต้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการลดกำลังการผลิตลง

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 คาดว่าจะทรงตัว จากต้นทุนการผลิต เช่น วัตถุดิบ ค่าแรง และราคาน้ำมัน ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวก คือ โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรกของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 มีการผลิตยางแผ่นและยางแท่ง ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 27.96 และ 18.71 ตามลำดับ ตามปริมาณวัตถุดิบน้ำยางสดที่ลดลง เนื่องจากในช่วงต้นของไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงยางผลัดใบ มีการหยุดพักกรีดยาง ประกอบกับเกิดภาวะน้ำท่วมและดินถล่มทำให้พื้นที่ปลูกยางในหลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทยได้รับความเสียหาย แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตยางแผ่นและยางแท่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.38 และ 10.05 ตามลำดับ

แนวโน้มในไตรมาสที่ 3 คาดว่าอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศจะขยายตัวได้ดี เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยางรถยนต์

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีค่าดัชนีผลผลิต 97.7 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 11.2 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษที่ลดลงเช่นกัน เนื่องจากในไตรมาสนี้เป็นช่วงที่การผลิตชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ในส่วนของภาวะ การผลิตกระดาษโดยรวม ในไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับอัตราการใช้กำลังการผลิตกระดาษโดยรวม เป็นผลมาจากการส่งออกกระดาษขยายตัว และตลาดในประเทศมีปัจจัยสนับสนุนจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้มีความต้องการใช้กระดาษ ในการจัดทำสื่อประเภทต่างๆ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

แนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 คาดว่า ทั้งภาวะการผลิต การส่งออกและการนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ซึ่งผู้ผลิตและผู้จำหน่าย จะเริ่มมีการทยอยผลิตสินค้าเพื่อเตรียมรองรับเทศกาลดังกล่าวในช่วงปลายไตรมาส ประกอบกับแนวโน้มตลาดคู่ค้าที่สำคัญของ ไทย ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม และเกาหลีใต้ รวมถึงการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ คาดว่า จะมีทิศทางที่ดีขึ้น นอกจากนี้ความชัดเจนทางการเมือง นโยบายของรัฐบาลใหม่อาจส่งผลให้เกิดการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ตลอดจนราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนและต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการที่สูงขึ้นได้

ยา

การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 มีปริมาณ 7,920.1 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.0 จากคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยใช้ยาในประเทศทดแทนมากขึ้น เป็นการสร้างโอกาสให้มีความต้องการยาสามัญในประเทศเพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตขยายตัว ร้อยละ 13.8 เนื่องจากคำสั่งซื้อส่วนใหญ่จะเริ่มเข้ามาในไตรมาสที่ 2 ประกอบกับไตรมาสแรก ผู้ผลิตได้ชะลอการผลิต เพื่อระบายสินค้าคงคลัง ดังนั้น เพื่อรักษาระดับสินค้าคงคลังไม่ให้ต่ำกว่าปริมาณที่ได้วางแผนไว้ ผู้ผลิตจึงเพิ่มปริมาณการผลิตในไตรมาสนี้ เพื่อบริหารสินค้าคงคลัง

แนวโน้มไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยา รวมถึงมูลค่าการนำเข้ายา ที่ส่วนใหญ่เป็นยาสิทธิบัตร จะมีแนวโน้มขยายตัวจากไตรมาสนี้ เนื่องจากเป็นไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ โดยสถานพยาบาลภาครัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลักสำหรับผู้ผลิตและผู้นำเข้ายา จะมีการจัดซื้อยาจำนวนมากในช่วงดังกล่าว นอกจากนี้จากนโยบายภาครัฐที่เข้มงวดการเบิกค่าใช้จ่ายด้านยา อาจทำให้ความต้องการยาสามัญเพิ่มขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสของผู้ผลิตยาในประเทศ สำหรับตลาดต่างประเทศ จะมี การสั่งซื้อมากในช่วงไตรมาส 2-3 เช่นกัน ทำให้คาดการณ์ได้ว่ามูลค่าการส่งออกจะมีทิศทางขยายตัว ก่อนจะชะลอตัวลงในไตรมาสสุดท้ายของปีตามวัฎจักรธุรกิจ ซึ่งผู้ซื้อจะชะลอการสั่งซื้อลง เพื่อบริหารสินค้าคงคลังไม่ให้เหลือในปริมาณที่สูงมากในช่วงปลายปี

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงหลายด้าน โดยเฉพาะราคาฝ้ายดิบ ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตเส้นด้ายและผ้าผืน มีความผันผวนมากในตลาดโลก ซึ่งส่งผลกระทบต่อโรงงานปั่นด้าย โรงงานทอผ้าและโรงงานผลิตเครื่องนุ่งห่มมีต้นทุนการผลิตที่ผันผวน และจะผลิตตามคำสั่งซื้อเท่านั้น ประกอบกับปลายไตรมาส 1 ที่ผ่านมาเกิดอุทกภัยในประเทศ ส่งผลให้การผลิตปรับตัวลดลง แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกยังขยายตัวได้ดีในตลาดส่งออกหลักซึ่งส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อล่วงหน้า ยกเว้นอาเซียนที่มีแนวโน้มชะลอตัว

แนวโน้มในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 คาดว่าการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน จะมีคำสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มขึ้น เพื่อส่งมอบในอีก 1 เดือนหรือ 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งคาดว่าราคาวัตถุดิบ(ฝ้าย) ที่ปรับลดลงเริ่มมีเสถียรภาพและจะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มที่จะสามารถซื้อผ้าผืนได้ในราคาที่ถูกลง แต่ถ้าหากผู้ผลิต ผ้าผืนในประเทศไม่สามารถที่จะปรับราคาจำหน่ายลงได้ อาจจะส่งผลให้โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าและเครื่องนุ่งห่มหันไปนำเข้าผ้าผืนจากต่างประเทศที่มีราคาถูกกว่าเพิ่มขึ้น

ปูนซีเมนต์

ภาวะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนชะลอตัวลง เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนทำให้เป็นอุปสรรคในการก่อสร้าง ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลงตามไปด้วย แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และในภาพรวมช่วงครึ่งแรกของปี อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น ปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยในการเติบโตของอุตสาหกรรม คือ การเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบคือต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 คาดว่าจะชะลอตัวลงเล็กน้อย ซึ่งในไตรมาส 3 นั้น ถือเป็นช่วงที่มีการใช้ปูนซีเมนต์ต่ำสุดของปี เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ช่วงฤดูฝน อาจทำให้การก่อสร้างชะลอตัว และจะกลับมาฟื้นตัวอีกครั้งในช่วงไตรมาส 4

เซรามิก

การผลิตเซรามิก ไตรมาสที่ 2 ปี 2554 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ ยังคงเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งการผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก ในขณะที่การจำหน่ายเซรามิกในช่วง ไตรมาสนี้ ทั้งกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ ลดลง เนื่องจากเป็นช่วงเทศกาลที่มีวันหยุดต่อเนื่องหลายวัน และเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน สำหรับแนวโน้มการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาส ที่ 3 ปี 2554 คาดว่าจะไม่สามารถเติบโตได้มากนัก เนื่องจาก เป็นช่วงฤดูฝน ประกอบกับนโยบายการปรับราคาก๊าซ LPG ที่ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น อาจทำให้ต้องแข่งขันกับสินค้านำเข้าที่มีราคาถูกกว่า

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์เซรามิก ไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการปรับตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีทิศทางดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ผลิตไทยอาจต้องเผชิญกับปัญหาต้นทุนพลังงานที่สูงขึ้นและการแข็งค่าของเงินบาทที่จะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลง ดังนั้น จึงจำเป็นต้องเร่งปรับตัวเพื่อให้สามารถแข่งขันได้

อัญมณีและเครื่องประดับ

ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 ด้านการผลิตลดลงร้อยละ 15.37 และการจำหน่ายลดลงร้อยละ 6.47 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ด้านการส่งออกโดยภาพรวมมีการหดตัวร้อยละ 16.09 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการได้รับคำสั่งซื้อลดลงซึ่งทำให้มูลค่าการส่งออกพลอยลดลงร้อยละ 30.27 เครื่องประดับแท้ทำด้วยทองลดลงร้อยละ 19.73 และทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูป ลดลงร้อยละ 19.75 สำหรับสาเหตุที่การส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปมีการลดลงอย่างมาก เนื่องจากมีการปรับสต๊อกสินค้าจากสองไตรมาสก่อนหน้านี้ที่มีการส่งออกทองคำยังไม่ขึ้นรูปไปมาก สำหรับการนำเข้าสินค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 27.61 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 192.19 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูป

แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 ปัจจัยด้านบวก คือ ราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับมากกว่า 1,600 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ จะเป็นสาเหตุให้เกิดการส่งออกทองคำ ยังไม่ได้ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นอย่างมากและนำเข้าทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปลดลง และการขยับเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกาทำให้หลายฝ่ายคลายความกังวล ปัจจัยด้านลบ คือ แนวโน้มค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินเหรียญสหรัฐฯ และราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากปัจจัยบวกและปัจจัยลบดังที่กล่าวมานั้น ปัจจัยบวกจะส่งผลดีมากกว่าปัจจัยลบ ดังนั้นจึงคาดการณ์ว่าแนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ