สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2554(อุตสาหกรรมพลาสติก)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 8, 2011 15:41 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ในไตรมาสนี้ผลิตภัณฑ์พลาสติกที่มีการนำเข้าจากญี่ปุ่นจะมีผลกระทบโดยตรง เนื่องจากญี่ปุ่นมีการชะลอตัวทางด้านเศรษฐกิจ เพราะได้รับผลกระทบจากสึนามิ ทำให้เมืองอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบนี้ ไม่สามารถดำเนินการผลิตชิ้นส่วนได้ จึงส่งผลต่อเนื่องมายังประเทศไทย ที่นำเข้าชิ้นส่วนจากญี่ปุ่น ขณะเดียวกันเศรษฐกิจของยุโรปที่ยังคงสั่นคลอน เนื่องจากปัญหาการชำระหนี้ที่ลุกลามไปหลายประเทศ เช่น สเปน และอิตาลี ส่งผลให้การค้าขายกับประเทศเหล่านี้ เริ่มต้องดูทิศทางความเป็นไปได้ของการผ่อนชำระหนี้สำหรับประเทศไทยในไตรมาสนี้อยู่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้ง จึงช่วยผลักให้เกิดความต้องการสินค้าเพิ่มมากขึ้น

การนำเข้าและส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติก ยังมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมามูลค่าการส่งออกยังคงปรับสูงขึ้นประมาณร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดอยู่หมวด 3926 พลาสติกอื่นๆ แต่หากดูในแง่ของปริมาณ หมวดที่มีการส่งออกมากที่สุดได้แก่ 3923 บรรจุภัณฑ์ต่างๆ โดยมีการส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นสูงที่สุด สำหรับการนำเข้ายังคงมีอย่างต่อเนื่อง ส่วนการนำเข้าสูงยังคงเป็นหมวด 3926 พลาสติกอื่นๆ และมีมูลค่าการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่นมากที่สุด

การผลิตของอุตสาหกรรมพลาสติกไทย

ปริมาณการใช้เม็ดพลาสติกปรับลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 เป็นผลมาจากมีความต้องการในการผลิตของอุตสาหกรรมพลาสติกที่ลดลง เนื่องด้วยผลกระทบจากราคาเม็ดพลาสติกที่ปรับตัวสูงขึ้น จากผลกระทบของแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นที่ส่งผลให้มีโรงงานปิโตรเคมีหลายแห่งต้องมีการปิดชั่วคราว จึงส่งผลต่ออุปทานในปิโตรเคมีน้อยลง ส่งผลให้ราคาเม็ดพลาสติกเพิ่มขึ้น

การค้า

ในไตรมาสนี้การนำเข้ามีมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 ที่มีมูลค่านำเข้า 26,293 ล้านบาท มาที่ 27,413 ล้านบาท โดยสินค้าของไทยที่มีมูลค่าการนำเข้าสูงสุดยังคงอยู่ที่หมวด 3926 คือ ผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ มีมูลค่าสูงถึง 11,309 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 43 ของมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด โดยประเทศที่มีการนำเข้ามากที่สุดได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ หมวดสินค้าที่รองลงมาเป็น 3923 ผลิตภัณฑ์ ของใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุภัณฑ์ มีมูลค่าการนำเข้า 3,915 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 15 ของมูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด โดยมีการนำเข้าจากประเทศญี่ปุ่น มาเลเซียและจีนมากที่สุด

ปริมาณการนำเข้าอยู่ที่ 116,553 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 1 ประมาณร้อยละ 7 โดยสินค้าของไทยที่มีปริมาณการนำเข้าสูงสุดอยู่ที่หมวด 3920 ผลิตภัณฑ์ แผ่น แผ่นบาง ฟิล์ม ฟอยล์ และแถบอื่นๆ ที่ไม่เป็นแบบเซลลูลาร์ มีปริมาณสูงถึง 29,483 ตัน คิดเป็นร้อยละ 25 ของปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด รองลงมาเป็นหมวด 3926 คือผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ มีปริมาณสูงถึง 24,651 ตัน คิดเป็นร้อยละ 21ของปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด และหมวด 3923 คือของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้ามีปริมาณ 20,765 ตัน คิดเป็นร้อยละ 18 ของปริมาณการนำเข้าผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด

ส่วนมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 2 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 มูลค่าส่งออกเท่ากับ 24,579 ล้านบาท โดยสินค้าของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดอยู่ที่หมวด 3923 ของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้ามีมูลค่า 6,810 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 28 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด โดยส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกามากที่สุด รองลงมาได้แก่หมวด 3926 คือผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ มีมูลค่าส่งออก 5,539 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด ทั้งนี้ได้ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและจีนมากที่สุด

ปริมาณส่งออก เท่ากับ 242,239 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 1 โดยสินค้าของไทยที่มีปริมาณการส่งออกสูงสุดอยู่ที่หมวด 3923 ของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้ามีมูลค่า 79,915ตัน คิดเป็นร้อยละ 33 ของปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด หมวดสินค้าที่รองลงมาได้แก่หมวด 3926 คือผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ มีมูลค่าส่งออก 24,336 ตัน คิดเป็นร้อยละ 10 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด

แนวโน้ม

  • สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ยังคงต้องติดตาม เนื่องจากเป็นลูกค้าที่สำคัญของภูมิภาคเอเชีย หากทั้งสองกลุ่มมีปัญหาด้านการชำระหนี้ ก็จะส่งผลถึงประเทศที่ทำการค้าในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งไทยด้วย
  • จากสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังคงชะลอตัว อาจจะส่งผลต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค ที่มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศไทย ซึ่งอาจจะมีการชะลอตัวในการนำเข้าสินค้า เพื่อดูทิศทางของเศรษฐกิจ
  • การจัดตั้งทีมบริหารของรัฐบาลชุดใหม่ ที่จะมาช่วยผลักดันนโยบายด้านต่างๆของการพัฒนาประเทศให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น รวมถึงความน่าเชื่อถือจากต่างประเทศในการลงทุนหลังจากมีความชัดเจนในการบริหาร
  • ในไตรมาสที่ 3 ของทุกปี จะเป็นช่วงของการผลิตเพื่อเตรียมสินค้าที่จะขายในช่วงปลายปีในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น เทศกาลปีใหม่ คาดว่าจะส่งผลดีการผลิต และส่งออกของไทย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ