สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2554(อุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 8, 2011 15:47 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ไตรมาส 2 ปี 2554 ราคาแนฟธาของตลาดเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นไตรมาส ตามความกังวลด้านอุปทานจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองในลิเบีย เยเมน และซีเรีย และความรุนแรงหลังการเลือกตั้งในไนจีเรีย รวมถึงค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลง ส่วนช่วงกลางไตรมาสต่อเนื่องถึงปลายไตรมาสราคาปรับตัวลดลง ตามทิศทางราคาน้ำมันดิบตลาดล่วงหน้าที่ปรับลดลง จากความกังวลถึงความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจของยุโรป และเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง ค่าเงินดอลลาร์ปรับแข็งค่าขึ้น ส่วนราคาเอทิลีนโดยเฉลี่ยของตลาดเอเชียปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นไตรมาส เนื่องจากวัตถุดิบตั้งต้นแนฟธามีราคาสูงและอุปทานมีจำกัด จากแครกเกอร์ในเอเชียและตะวันออกกลางปิดซ่อมบำรุง รวมถึงอุปสงค์ในตลาดผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องในเอเชียซบเซา โดยเฉพาะจีน ในช่วงกลางต่อเนื่องถึงปลายไตรมาสราคาเอทิลีนปรับตัวลดลง โดยมีสาเหตุจากการปรับลดลงของราคาวัตถุดิบตั้งต้นและอุปทานมีเพิ่มขึ้น ตลาดผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องเอเชียยังคงทรงตัว ความต้องการมีน้อยเนื่องจากประเทศจีน ฮ่องกง เกาหลีใต้ และไต้หวัน พึ่งผ่านพ้นวันหยุดเทศกาลเดือนห้า

สำหรับการซื้อขายเม็ดพลาสติกทั้ง PE และ PP ราคามีการปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงต้นไตรมาสตามราคาแนฟธาและน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตลดการสั่งซื้อลงเพื่อลดปริมาณสำรองและควบคุมกำไรจากต้นทุนวัตถุดิบที่อยู่ในระดับสูง ส่วนในช่วงกลางไตรมาสต่อเนื่องปลายไตรมาส ราคาปรับตัวลดลง ตามราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้าที่ปรับลดลง อุปสงค์มีน้อย โดยเฉพาะจากจีน เนื่องจากรัฐบาลจีนพยายามลดอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงรัฐบาลจีนดำเนินมาตรการทางการเงินที่จำกัดการให้สินเชื่อและเพิ่มดอกเบี้ยเงินกู้ นอกจากนี้ปัญหาการขาดแคลนไฟฟ้าในจีน เป็นปัจจัยส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องลดกำลังการผลิตลง

การผลิต

ไตรมาส 2 ปี 2554 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีภายในประเทศ มีแผนขยายกำลังการผลิตโรงผลิต PE และแครกเกอร์ขนาดกำลังการผลิต 1 ล้านตัน/ปี อีกร้อยละ 20 ภายในปี 2558 โดยแครกเกอร์ดังกล่าวประกอบด้วย โรงผลิต HDPE LLDPE และ LDPE ขนาดกำลังการผลิต 800,000 400,000 และ 300,000ตัน/ปี ตามลำดับ

สำหรับการผลิตในภูมิภาคเอเชีย หลายประเทศมีการขยายกำลังการผลิต ดังนี้

  • ประเทศจีน มีแผนปรับโครงสร้างอุตสาหกรรมและยกระดับความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ด้วยโครงการปิโตรเคมีใหม่ที่มีกำลังการผลิตสูง และนโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างชาติในโครงการเอทิลีนที่มีกำลังการผลิตขั้นต่ำ 1 ล้านตัน/ปี นอกจากนี้มีโครงการร่วมทุนกับประเทศคูเวต ก่อสร้างโรงกลั่นและโรงงานปิโตรเคมีครบวงจรในจีน ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาขั้นต้น โครงการดังกล่าวประกอบด้วยโรงกลั่นขนาดกำลังการผลิต 15 ล้านตัน/ปี แครกเกอร์ขนาดกำลังการผลิต 1 ล้านตัน/ปี และโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีขั้นปลาย คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปี 2557 และเริ่มดำเนินการในช่วงครึ่งแรกของปี 2558
  • ประเทศสิงคโปร์ เปิดโครงการปิโตรเคมีแห่งที่สอง ประกอบด้วยโรงงานผลิตโพลีเอทิลีน 2 โรงกำลังการผลิตรวม 650,000 ตัน/ปี โรงงานผลิตโพลีโพรพิลีน กำลังการผลิต 450,000 ตัน/ปี โรงงานผลิตยางสังเคราะห์ชนิดพิเศษ (Specialty elastomer) กำลังการผลิต 300,000 ตัน/ปี แครกเกอร์ขนาดกำลังการผลิต 1ล้านตัน/ปี หน่วยสกัดสารอะโรมาติกส์ ซึ่งมีกำลังการผลิตเบนซีน 340,000 ตัน/ปี ส่วนขยายกำลังการผลิตออกโซอัลกอฮอล์ 125,000 ตัน/ปี และพาราไซลีน 80,000 ตัน/ปี โดยคาดว่าจะเปิดดำเนินการภายในครึ่งหลังของปี2555
  • ประเทศมาเลเซีย มีแผนก่อสร้างโรงกลั่นและโรงงานปิโตรเคมีแบบครบวงจร ขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการศึกษารายละเอียดความเป็นไปได้ของโครงการ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2559 โดยโครงการนี้ประกอบด้วย โรงกลั่นน้ำมันขนาดกำลังการผลิต 300,000 บาร์เรล/วัน แนฟธาแครกเกอร์สำหรับผลิตโพรพิลีน C4และ C5 กำลังการผลิตรวม 3 ล้านตัน/ปี และโรงงานผลิตผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและพอลิเมอร์แบบครบวงจร ซึ่งโครงการนี้จะทำให้ประเทศมาเลเซียมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบภายในประเทศเพิ่มขึ้นรวมเป็น 950,000 บาร์เรล/วันผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพิ่มขึ้นรวมเป็น 10.1 ล้านตัน/ปี
  • ประเทศญี่ปุ่น โครงการร่วมทุนกับประเทศซาอุดิอาระเบียอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขยายกำลังการผลิตระยะที่ 2 ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในปี 2558 โดยจะขยายกำลังการผลิตอีเทนแครกเกอร์เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ 30 และก่อสร้างโรงงานผลิตอะโรมาติกส์แบบครบวงจร รวมทั้งหน่วยผลิตผลิตภัณฑ์ต่อเนื่องที่เพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบของโครงการ ผลิตภัณฑ์ที่พิจารณา ได้แก่ ยางเอทิลีนโพรพิลีน (EPR)เทอร์โมพลาสติกโอเลฟินส์ (TPO) มอนอเมอร์และโพลิเมอร์ของเมทิลเมทาคริเลท (MMA) คาโปรแลกแทมพอลิออล คิวมีน ฟีนอล / อะซิโทน กรดอะคริลิค สารดูดซับพอลิเมอร์ยิ่งยวด (SAP) และไนลอน รวมทั้งโพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (LDPE) / เอทิลีนไวนีลอะซิเตท (EVA) ซึ่งจะกำหนดให้เสร็จภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554
  • ประเทศกาตาร์ เพิ่มกำลังการผลิตโรงงานผลิต LDPE ขนาดกำลังการผลิต 300,000 ตัน/ปี ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นรวมเป็น 720,000 ตัน/ปี โดยจะเริ่มการผลิตในเชิงพาณิชย์ในไตรมาสแรกของปี 2555 และอยู่ระหว่างศึกษาแผนขยายกำลังการผลิตของแครกเกอร์กำลังการผลิต 1.3 ล้านตัน/ปี เป็น 1.45- 1.60 ล้านตัน/ปี รวมถึงการศึกษาแผนขยายกำลังการผลิตโรงงานผลิต LLDPE แห่งใหม่ ที่มีกำลังการผลิต450,000 ตัน/ปี เป็น 600,000 ตัน/ปี โดยคาดว่าจะมีข้อสรุปการขยายกำลังการผลิตในปลายปี 2554
  • ประเทศโอมาน มีแผนลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปิโตรเคมีทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ในช่วงเวลา 10 ปีข้างหน้า
  • ประเทศอียิปต์ ผู้ผลิต PE ชั้นนำของประเทศได้มีการร่วมทุนก่อสร้างโรงงานผลิตเอทิลีนกำลังการผลิต 460,000 ตัน/ปี คาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายใน 3 ปี

การตลาด

ราคาเม็ดพลาติก PE และ PP ในช่วงไตรมาส 2 ปี 2554 ราคาจำหน่ายเม็ดพลาสติก (ราคาเฉลี่ย SE Asia CIF) ในเดือนมิถุนายน 2554 ของ LDPE HDPE และ PP อยู่ที่ระดับ 51.27 42.69 และ 42.02บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ ทั้งนี้ LDPE HDPE และ PP มีระดับราคาลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา ที่ระดับราคา53.81 43.46 และ 52.21 บาท/กิโลกรัม ตามลำดับ

การนำเข้า

ไตรมาส 2 ปี 2554 การนำเข้าปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่า 4,412.84 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.96 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.38 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่านำเข้า 9,840.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.41 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ21.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่านำเข้า 28,407.60 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.17 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.00 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อพิจารณาการนำเข้าในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 พบว่า ปิโตรเคมีขั้นต้น มีมูลค่าการนำเข้าลดลงเล็กน้อย ส่วนปิโตรเคมีขั้นกลางและขั้นปลาย มีมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การส่งออก

ไตรมาส 2 ปี 2554 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 16,646.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.75 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 92.66 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 17,607.42 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.76 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.08 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 64,628.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.75 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อพิจารณาการส่งออกในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2554 พบว่า ปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลางและขั้นปลายมีอัตราการขยายตัวของมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นค่อนข่งสูง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

แนวโน้ม

คาดว่าในปี 2554-2555 อุตสาหกรรมปิโตรเคมีจะมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง จากความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ และประเทศอินเดียซึ่งเป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูง จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเอเชีย

ผู้ประกอบการในประเทศต้องให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม และการยอมรับจากชุมชน เพื่อให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเป็นไปอย่างยั่งยืน และในภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในปัจจุบันผู้ประกอบการจึงควรวางแผนการผลิต และพัฒนาไปสู่ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มสูง (Specialty) เพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด การสร้างตลาดในประเทศยังเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพื่อรองรับผลผลิตส่วนเกินที่เกิดขึ้น

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ