สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2554(อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 8, 2011 15:55 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีค่าดัชนีผลผลิต 97.7 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 11.2 สอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษที่ลดลงเช่นกัน(ตารางที่ 1 และตารางที่ 2) เนื่องจากในไตรมาสนี้เป็นช่วงที่การผลิตชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ในส่วนของภาวะการผลิตกระดาษโดยรวม ในไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับอัตราการใช้กำลังการผลิตกระดาษโดยรวม (ตารางที่ 1 และตารางที่ 2) เป็นผลมาจากการส่งออกกระดาษขยายตัว และตลาดในประเทศมีปัจจัยสนับสนุนจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้มีความต้องการใช้กระดาษในการจัดทำสื่อประเภทต่างๆ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์

หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 กับครึ่งแรกของปีก่อน ค่าดัชนีผลผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษ ได้แก่ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษคราฟท์ ลดลงสอดคล้องกับอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษดังกล่าวที่ลดลงด้วยเช่นกัน สำหรับสาเหตุที่ดัชนีผลผลิตและอัตราการใช้กำลังการผลิตเยื่อกระดาษ กระดาษพิมพ์เขียน และกระดาษคราฟท์ ลดลงนั้นเนื่องจากในไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วงครึ่งแรกของปีก่อน มีปัจจัยบวกที่สำคัญ อาทิ การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ตลาดในประเทศและตลาดโลก การขยายตัวในสินค้าส่งออกเกือบทุกหมวด และการแข่งขันฟุตบอลโลก2010 ทำให้อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษได้รับผลพลอยได้ขยายตัวตามไปด้วย

2. การนำเข้าและการส่งออก

2.1 การนำเข้า

ภาวะการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่า 216.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6 และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 กับครึ่งปีแรกของปีก่อน เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน (ตารางที่ 3)ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 กับครึ่งปีแรกของปีก่อน พบว่า ลดลงสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า (ตารางที่ 4) โดยสาเหตุที่ปริมาณการนำเข้าเยื่อกระดาษและเศษกระดาษลดลงสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาเยื่อใยยาวได้ปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ยจากตันละ 960 เหรียญสหรัฐฯเป็นตันละ 1,010 เหรียญสหรัฐฯ โดยมีการนำเข้าเยื่อใยยาวจากประเทศแคนาดา สหรัฐอเมริกา และสวีเดน

ภาวะการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่า 416.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.6 และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 กับครึ่งปีแรกของปีก่อน เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับไตรมาสก่อน(ตารางที่ 3) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 กับครึ่งปีแรกของปีก่อน พบว่าเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการนำเข้า (ตารางที่ 4) โดยสาเหตุที่มีการนำเข้าเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าและปริมาณเป็นเพราะการขยายตัวในการนำเข้ากระดาษทุกประเภททั้งชนิดที่ในประเทศสามารถผลิตได้และไม่สามารถผลิตได้เพื่อรองรับความต้องการใช้ภายในของผู้ประกอบการ อาทิ ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการผลิตสื่อในประเทศสำหรับใช้เผยแพร่ประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตลอดจนผู้ผลิตสมุด ตำราแบบเรียนเพื่อรองรับการเปิดภาคเรียนของนักเรียน นักศึกษา นอกจากนี้ผู้นำเข้าบางรายมีความเห็นว่า กระดาษบางประเภทที่นำเข้ามีราคาถูกกว่ากระดาษที่ผลิตในประเทศ โดยแหล่งนำเข้ากระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์

ภาวะการนำเข้าสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่า 48.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 กับครึ่งปีแรกของปีก่อน กลับลดลงสวนทางกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 3) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการนำเข้าสิ่งพิมพ์ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนมีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกับมูลค่าการนำเข้า แต่เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการนำเข้าในไตรมาสนี้กับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 กับครึ่งปีแรกของปีก่อน มีทิศทางเพิ่มขึ้นสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า (ตารางที่ 4) ซึ่งสาเหตุที่การนำเข้าสิ่งพิมพ์เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่าเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลมาจากการขยายตัวของการนำเข้าหนังสือ ตำราเรียน หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ ที่มีลักษณะเป็นรูปเล่มจากสหรัฐอเมริกา ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับการเปิดเทอมของนักเรียน นักศึกษา อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบปริมาณการนำเข้าในไตรมาสนี้กับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วงครึ่งปีแรกของปีก่อน เพิ่มขึ้นสวนทางกับมูลค่าการนำเข้า เป็นเพราะน้ำหนักของสิ่งพิมพ์แต่ละประเภทไม่เท่ากัน ประกอบกับในช่วงไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วงครึ่งปีแรกของปีก่อน มีการนำเข้าสิ่งพิมพ์ประเภทภาพพิมพ์ ภาพถ่าย และภาพลายเส้นต่างๆ จากประเทศเกาหลีใต้เป็นจำนวนมาก ซึ่งมีน้ำหนักเบาแต่มีมูลค่าสูง ปัจจุบันกำลังซื้อสิ่งพิมพ์เหล่านี้ของผู้บริโภคเริ่มที่จะลดลงตามกระแสความนิยมที่ชะลอตัวลงจากการที่สิ่งพิมพ์ดังกล่าวจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย

2.2 การส่งออก

ภาวะการส่งออกเยื่อกระดาษ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่า 29.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 3.6 แต่หากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 กับครึ่งปีแรกของปีก่อน เพิ่มขึ้นสวนทางกับไตรมาสก่อน (ตารางที่ 5) ซึ่งหากพิจารณาในส่วนปริมาณการส่งออกเยื่อกระดาษ ในไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงในทิศทางเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก เป็นเพราะประเทศจีนซึ่งเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทยชะลอการนำเข้า เนื่องจากปัจจัยด้านราคาของเยื่อใยสั้นเริ่มขยับตัวสูงขึ้นจากตันละ 740-840 เหรียญสหรัฐฯ เป็นตันละ 760-860 เหรียญสหรัฐฯประกอบกับการผลิตเยื่อกระดาษในประเทศจีนเริ่มที่จะสามารถรองรับความต้องการใช้ในประเทศได้เพียงพอแต่เมื่อเปรียบเทียบปริมาณกับมูลค่าการส่งออก ในไตรมาสนี้กับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วงครึ่งปีแรกของปีก่อน เพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า (ตารางที่ 6) เนื่องจากมีการขยายตัวของการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้า ได้แก่ ประเทศไต้หวัน แอฟริกาใต้ และอินเดีย มากขึ้น

ภาวะการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่า 380.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5 และเมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 กับครึ่งปีแรกของปีก่อน เพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับไตรมาสก่อน(ตารางที่ 5) ในส่วนปริมาณการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ มีทิศทางเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก (ตารางที่ 6) เนื่องจากการส่งออกกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษไปยังตลาดหลักและมิใช่ตลาดหลักขยายตัว โดยตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ ประเทศเวียดนาม และมาเลเซีย ส่วนตลาดส่งออกที่มิใช่ตลาดหลักได้แก่ ประเทศอินเดีย จีน และกัมพูชา สำหรับประเภทผลิตภัณฑ์กระดาษที่มีการขยายตัว เช่น บรรจุภัณฑ์กระดาษ กระดาษคราฟท์ กระดาษชำระ และกระดาษพิมพ์เขียน

ภาวะการส่งออกสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่า 1,177.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 21.7 แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 กับครึ่งปีแรกของปีก่อน มูลค่าการส่งออกกลับเพิ่มขึ้น ซึ่งสวนทางกับไตรมาสก่อน(ตารางที่ 5) หากพิจารณาในส่วนปริมาณการส่งออกสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงเช่นเดียวกันกับมูลค่าการส่งออก แต่เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วงครึ่งปีแรกของปี2554 กับครึ่งปีแรกของปีก่อน ปริมาณกับมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นในทิศทางเดียวกัน (ตารางที่ 6) สำหรับการลดลงทั้งปริมาณและมูลค่าการส่งออกสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสนี้เปรียบเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากการส่งออกไปยังประเทศฮ่องกงซึ่งเป็นตลาดหลักชะลอตัว ส่วนสาเหตุที่การส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งมูลค่าและปริมาณในไตรมาสนี้กับไตรมาสเดียวกันของปี 2553 และช่วงครึ่งปีแรกของปีก่อน เป็นเพราะการขยายตัวของการส่งออกสิ่งพิมพ์ปลอดการปลอมแปลงไปประเทศฮ่องกงอย่างต่อเนื่อง โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกสิ่งพิมพ์ดังกล่าวสูงสุดในบรรดามูลค่าการส่งออกสิ่งพิมพ์ทั้งหมด คิดเป็นร้อยละ 95.3

3. นโยบาย/เรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

  • องค์การศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้ประกาศเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2554 ให้กรุงเทพมหานคร เป็นเมืองหนังสือโลกประจำปี 2556 (World Book Capital 2013)ซึ่งจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมด้านการส่งเสริมการอ่าน และการเรียนรู้ด้วยหนังสือ รวมทั้งการพัฒนาหนังสือ

4. สรุปและแนวโน้ม

ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษในไตรมาสนี้ลดลง เนื่องจากเป็นช่วงที่การผลิตชะลอตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน ส่วนภาวะการผลิตอุตสาหกรรมกระดาษโดยรวมกลับเพิ่มขึ้นสวนทางกับการผลิตเยื่อกระดาษ ซึ่งมีสาเหตุมาจากการส่งออกกระดาษขยายตัวทั้งในตลาดหลักและที่มิใช่ตลาดหลักประกอบกับตลาดในประเทศมีแรงกระตุ้นจากการเลือกตั้งสมาชิกผู้แทนราษฎร ส่งผลให้มีความต้องการใช้กระดาษในการจัดทำสื่อประเภทต่างๆ เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ สำหรับการนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเพื่อรองรับความต้องการใช้ในประเทศที่เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และการเปิดภาคเรียนของนักเรียน นักศึกษา ในส่วนการส่งออกเยื่อกระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสนี้ลดลง เป็นเพราะประเทศคู่ค้าอันดับต้นๆ ชะลอการนำเข้า แต่การส่งออกกระดาษในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของการส่งออกกระดาษแต่ละประเภท โดยเฉพาะบรรจุภัณฑ์กระดาษ กระดาษคราฟท์ กระดาษชำระ และกระดาษพิมพ์เขียน

หากเปรียบเทียบช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 กับครึ่งปีแรกของปีก่อน ภาวะการผลิตอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษโดยรวมปรับตัวลดลง เนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปีก่อน มีปัจจัยบวกที่สำคัญหลายปัจจัย อาทิ การเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ตลาดในประเทศและตลาดโลก การขยายตัวในสินค้าส่งออกเกือบทุกหมวด และการแข่งขันฟุตบอลโลก 2010 ส่งผลให้อุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ และกระดาษได้รับผลพลอยได้ขยายตัวตามไปด้วย ในส่วนภาวะการนำเข้าและการส่งออกอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์โดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการขยายตัวของความต้องการใช้ทั้งตลาดภายในและต่างประเทศ

สำหรับแนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสหน้าคาดว่า ทั้งภาวะการผลิต การส่งออกและการนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ จะมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยมีปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ เทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ซึ่งผู้ผลิตและผู้จำหน่าย จะเริ่มมีการทยอยผลิตสินค้าเพื่อเตรียมรองรับเทศกาลดังกล่าวในช่วงปลายไตรมาส ประกอบกับแนวโน้มตลาดคู่ค้าที่สำคัญของไทย ได้แก่ มาเลเซีย เวียดนาม และเกาหลีใต้ รวมถึงการส่งออกไปยังตลาดใหม่ๆ คาดว่า จะมีทิศทางที่ดีขึ้นนอกจากนี้ความชัดเจนทางการเมือง นโยบายของรัฐบาลใหม่อาจส่งผลให้เกิดการกระตุ้นกำลังซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากราคาวัตถุดิบ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ตลอดจนราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนและต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการที่สูงขึ้นได้

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ