สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2554(อุตสาหกรรมไม้และเครื่อเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 12, 2011 13:26 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีปริมาณการผลิต 1.99 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 11.56 และ 20.08 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่ลดลง เนื่องจากขาดแคลนวัตถุดิบไม้ยางพาราและราคาไม้ยางพาราแพงขึ้น จากปัญหาอุทกภัยในช่วงที่ผ่านมา และจากการที่ชาวสวนไม่โค่นต้นยางเพราะราคายางดี รวมทั้งปัจจัยต้นทุนการผลิตอื่นๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ค่าแรง และน้ำมันเป็นต้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการลดกำลังการผลิตลง

2. การตลาด

2.1 การจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีปริมาณการจำหน่าย 0.95 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงร้อยละ 0.11 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.15 ทั้งนี้ปริมาณการจำหน่ายในประเทศที่ลดลง เนื่องจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังการใช้จ่าย และชะลอการจับจ่ายใช้สอยออกไป

2.2 การส่งออก

การส่งออกของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 750.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.53 และ 13.07 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักของไทย ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และจีน ขยายตัวได้ดี อีกทั้งการส่งออกไปยังตลาดรองของไทย เช่น ออสเตรเลีย ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนและประเทศแถบเอเซียใต้ ก็ขยายตัวได้ดีเช่นกัน

สำหรับรายละเอียดการส่งออกในแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ของสินค้าในกลุ่ม อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆ และชิ้นส่วนเครื่องเรือน ในไตรมาสนี้ มีมูลค่าการส่งออก 242.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 33 ของมูลค่าการส่งออกในสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 4.36 และ 3.58 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ สินค้าประเภทเครื่องเรือนไม้ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน คือ ประเทศญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย

2)กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วยเครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ ในไตรมาสนี้มีมูลค่าการส่งออก 59.47 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกร้อยละ 8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.43 และ 9.18 ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการ

ส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ เครื่องใช้ทำด้วยไม้ สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์

3)กลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ โดยไตรมาสนี้มีมูลค่าการส่งออก 449.34 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีสัดส่วนมูลค่าการส่งออกคิดเป็นร้อยละ 59 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด มูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.99 และ 25.32 ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือไม้แปรรูป รองลงมาคือ ไฟเบอร์บอร์ด สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ได้แก่ ประเทศจีน มาเลเซีย และเวียดนาม

2.3 การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 มีจำนวน 154.45 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.86 และ 3.06 ตามลำดับ การนำเข้าสินค้าประเภทไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ท่อนประเภทไม้เนื้อแข็ง ได้แก่ ไม้แปรรูปและไม้ซุง ซึ่งนำเข้ามาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น เครื่องเรือนประเภทต่าง ๆ โดยไม้แปรรูป ไม้ซุง และผลิตภัณฑ์ไม้อัดและไม้วีเนียร์ส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศจีน มาเลเซีย นิวซีแลนด์ และสหรัฐอเมริกา

3.สรุปและแนวโน้ม

ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนลดลง เนื่องจากต้นทุนการผลิต เช่น วัตถุดิบ ค่าแรง น้ำมัน รวมทั้งอัตราดอกเบี้ย ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนผลกระทบของอุทกภัยก่อนหน้า ทำให้ผู้ประกอบการลดกำลังการ ผลิตลง

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 2 ปี 25 54 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลง เนื่องจากค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคชะลอการจับจ่ายใช้สอยออกไป

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนใน ไตรมาสที่ 3 ปี 2554 คาดว่าจะทรงตัว จากต้นทุนการผลิต เช่น วัตถุดิบ ค่าแรง และราคาน้ำมัน ที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมทั้งค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวก คือ โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรกของรัฐบาล ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

การส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น และจีน รวมทั้งตลาดส่งออกรอง เช่น ออสเตรเลีย ประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนและประเทศแถบเอเซียใต้ ขยายตัวได้ดี

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและของตลาดส่งออกหลักของไทยยังไม่ชัดเจน อีกทั้งปัจจัยเสี่ยง คือ ความผันผวนของค่าเงินบาท และอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ญี่ปุ่นเริ่มฟื้นฟูประเทศ ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้อุปสงค์อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยเพิ่มขึ้น อีกทั้งตลาดรองของไทย เช่น ประเทศแถบตะวันออกกลางและแถบเอเซียใต้ มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง

ในสภาวะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกยังมีความเปราะบาง บวกกับปัจจัยการผลิต อัตราดอกเบี้ย และอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น การบริหารจัดการและการบริหารความเสี่ยงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อลดต้นทุนการผลิต อีกทั้งควรให้ความสำคัญต่อพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น การรวมกลุ่มในลักษณะคลัสเตอร์ การศึกษาตลาดใหม่ๆ และพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หลากหลายและซับซ้อนยิ่งขึ้น รวมทั้งการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมตามกระแสโลก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ