สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2554(อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 12, 2011 13:34 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1.การผลิต

การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 มีปริมาณ 7,920.1 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 2.0 จากคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล โดยใช้ยาในประเทศทดแทนมากขึ้น เป็นการสร้างโอกาสให้มีความต้องการยาสามัญในประเทศเพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตขยายตัว ร้อยละ 13.8 เนื่องจากคำสั่งซื้อส่วนใหญ่จะเริ่มเข้ามาในไตรมาสที่ 2 ประกอบกับไตรมาสแรก ผู้ผลิตได้ชะลอการผลิต เพื่อระบายสินค้าคงคลัง ดังนั้น เพื่อรักษาระดับสินค้าคงคลังไม่ให้ต่ำกว่าปริมาณที่ได้วางแผนไว้ ผู้ผลิตจึงเพิ่มปริมาณการผลิตในไตรมาสนี้ เพื่อบริหารสินค้าคงคลัง อย่างไรก็ตามในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 การผลิตยามีปริมาณ 14,880.9 ตัน ลดลง ร้อยละ

2.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากยาบางชนิดที่เคยมีความต้องการค่อนข้างสูง ถูกควบคุมการจำหน่าย ทำให้ผู้ผลิตลดปริมาณการผลิตลง

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 มีปริมาณ 7,227.6 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.6 สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 มีปริมาณการจำหน่าย 14,507.7 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 3 ปริมาณการจำหน่ายที่ลดลง เนื่องจากมียาที่ผู้ผลิตเคยจำหน่ายได้ปริมาณมาก ถูกเปลี่ยนประเภทจากยาอันตราย เป็นยาควบคุมพิเศษที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ เพื่อป้องกันการใช้ยาที่ไม่เหมาะสม เช่น นำไปผลิตยาเสพติด ส่งผลให้ไม่สามารถซื้อหายาชนิดนั้นได้ในวงกว้างเช่นที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามผู้ผลิตได้ปรับกลยุทธ์ในการทำตลาดใหม่ เพื่อทดแทนตลาดยาบางชนิดที่มีขนาด เล็กลง ด้วยการส่งเสริมการจำหน่ายยาชนิดอื่นแทน เช่น ยาที่รักษาโรคเฉพาะทาง ให้แก่สถานพยาบาลภาครัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลักของผู้ผลิต นอกจากนี้ผู้ผลิตที่ไม่ต้องการแข่งขันด้านราคาในการประมูลยา ได้เริ่มไปเพิ่มการผลิตสินค้าใหม่ๆ เช่น ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมสุขภาพ เพื่อชดเชยกับรายได้ที่สูญหายไป และหากเทียบกับไตรมาสก่อน การจำหน่ายลดลง ร้อยละ 0.7 ซึ่งปรับตัวดีขึ้นกว่าไตรมาสแรก ตามวัฐจักรธุรกิจที่จะจำหน่ายสินค้าได้ดีในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี ซึ่งเป็นช่วงเข้าสู่ปลายปีงบประมาณ ทำให้มีการเร่งการใช้จ่ายงบประมาณของสถานพยาบาลภาครัฐ

3. การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 มีมูลค่า 9,637.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 2.2 และ 7.6 ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และอิตาลี ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 4,120 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 42.8 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 มีมูลค่าการนำเข้า 18,592.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 0.5 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ เยอรมนี

สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และอิตาลี ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 8,055.9 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 43.3 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

มูลค่าการนำเข้ายายังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นยาสิทธิบัตร ที่ใช้สำหรับโรคที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามการเติบโตของการนำเข้าไม่ได้สูงมาก เนื่องจากตลาดยานำเข้าได้รับผลกระทบจากนโยบายควบคุมการเบิกจ่ายยาในระบบสวัสดิการของรัฐ ซึ่งผู้นำเข้าต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจ ที่นอกเหนือจากกลยุทธ์เดิมที่ดำเนินการอยู่แล้ว (เช่น กิจกรรมเพื่อสังคม และการจำหน่ายยาให้กับบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง เป็นต้น) โดยการปรับลดราคายาบางชนิดลง ให้สอดคล้องกับรายได้ของคนในประเทศ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงยาได้มากขึ้น นอกจากนี้ยาสามัญ มีแนวโน้มการนำเข้ามากขึ้นเช่นกัน เป็นผลจากความต้องการใช้ยาสามัญเพิ่มขึ้นจากนโยบายภาครัฐที่กล่าวข้างต้น

4. การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 มีมูลค่า 1,689.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 12.9 และ 13.2 ตามลำดับ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย และญี่ปุ่น โดยการส่งออกไปประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 1,138.1 ล้านบาท หรือร้อยละ 67.4 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด สำหรับในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 3,182.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 7.6 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในช่วงครึ่งปีแรก ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ กัมพูชา มาเลเซีย และญี่ปุ่น ซึ่งการส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 2,147.6 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 67.5 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด มีข้อสังเกตว่า ในช่วงนี้ญี่ปุ่นเป็นตลาดส่งออกหนึ่งที่สำคัญของไทย นอกเหนือจากอาเซียน ทั้งนี้ อาจเกิดจากในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 ญี่ปุ่นประสบภัยสินามิ ทำให้บริษัทแม่ต้องนำเข้าสินค้า เช่น ยาปฏิชีวนะ จากบริษัทที่เข้ามาร่วมทุนกับประเทศไทยมากขึ้น สำหรับการขยายตัวของการส่งออก มีสาเหตุจากการที่ผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าและสามารถขยายตลาดส่งออกได้อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรับจ้างผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลกผลิตสินค้า เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและอาเซียน

5. นโยบายภาครัฐ

5.1 กระทรวงสาธารณสุข ได้ออกประกาศ ณ วันที่ 14 เมษายน 2554 เรื่อง การกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา พ.ศ. 2554 (ซึ่งเป็น GMP ตามแนวทางของ PIC/S หรือ Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme) โดยให้ยกเลิกประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดรายละเอียดเกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการในการผลิตยาแผนปัจจุบัน ตามกฎหมายว่าด้วยยา พ.ศ. 2546 (ซึ่งเป็น GMP ตามแนวทางของ WHO) และให้ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับตั้งแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (7 กรกฎาคม 2554) สำหรับผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบัน ซึ่งได้รับอนุญาตก่อนประกาศนี้ใช้บังคับ ให้ดำเนินการแก้ไขปรับปรุง ให้เป็นไปตามที่กำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ภายใน 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศกระทรวงฉบับนี้ใช้บังคับ ทั้งนี้ เพื่อให้การผลิตยาแผนปัจจุบันในประเทศไทยมีคุณภาพมาตรฐานเท่าสากล ซึ่งจะสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนผู้ใช้ยา และสามารถส่งออกแข่งขันในตลาดยาต่างประเทศได้

5.2 คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 เห็นชอบในหลักการร่างพระราชบัญญัติสถาบันวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ.....ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยมอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกันพิจารณาเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติ แล้วส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

6. สรุปและแนวโน้ม

ปริมาณการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ได้สร้างโอกาสให้มีความต้องการยาสามัญในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณการจำหน่ายยากลับชะลอตัวลง เนื่องจากมียาที่ผู้ผลิตเคยจำหน่ายได้ในปริมาณมาก ถูกเปลี่ยนประเภทจากยาอันตราย เป็นยาควบคุมพิเศษ ทำให้ไม่สามารถซื้อหายาชนิดนั้นได้ในวงกว้างเช่นที่ผ่านมา ซึ่งผู้ผลิตได้พยายามหาตลาดยาอื่นทดแทน ในส่วนมูลค่าการนำเข้ายา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยามีสิทธิบัตรนั้น มีอัตราการขยายตัวไม่สูงมากนัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากนโยบายควบคุมการเบิกจ่ายยาในระบบสวัสดิการของรัฐ สำหรับการส่งออกมีการขยายตัวเช่นกัน โดยผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้าและสามารถขยายตลาดส่งออกอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งรับจ้างผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลกผลิตสินค้า เพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ

แนวโน้มไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 คาดว่า ปริมาณการผลิตและการจำหน่ายยา รวมถึงมูลค่าการนำเข้ายา ที่ส่วนใหญ่เป็นยาสิทธิบัตร จะมีแนวโน้มขยายตัวจากไตรมาสนี้ เนื่องจากเป็นไตรมาสสุดท้ายของปีงบประมาณ โดยสถานพยาบาลภาครัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลักสำหรับผู้ผลิตและผู้นำเข้ายา จะมีการจัดซื้อยาจำนวนมากในช่วงดังกล่าว นอกจากนี้จากนโยบายภาครัฐที่เข้มงวดการเบิกค่าใช้จ่ายด้านยา อาจทำให้ความต้องการยาสามัญเพิ่มขึ้น ซึ่งนับเป็นโอกาสของผู้ผลิตยาในประเทศ สำหรับตลาดต่างประเทศ จะมีการสั่งซื้อมากในช่วงไตรมาส 2-3 เช่นกัน ทำให้คาดการณ์ได้ว่ามูลค่าการส่งออกจะมีทิศทางขยายตัว ก่อนจะชะลอตัวลงในไตรมาสสุดท้ายของปีตามวัฎจักรธุรกิจ ซึ่งผู้ซื้อจะชะลอการสั่งซื้อลง เพื่อบริหารสินค้าคงคลังไม่ให้เหลือในปริมาณที่สูงมากในช่วงปลายปี

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ