สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 2 (เมษายน — มิถุนายน) พ.ศ. 2554(อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 12, 2011 13:38 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 มีการผลิตยางแผ่นและยางแท่ง ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 27.96 และ 18.71 ตามลำดับ ตามปริมาณวัตถุดิบน้ำยางสดที่ลดลง เนื่องจากในช่วงต้นของไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงยางผลัดใบ มีการหยุดพักกรีดยาง ประกอบกับเกิดภาวะน้ำท่วมและดินถล่มทำให้พื้นที่ปลูกยางในหลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทยได้รับความเสียหาย แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตยางแผ่นและยางแท่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.38 และ 10.05 ตามลำดับ

ในส่วนของการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญของไทย คือ การผลิตยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนชะลอตัวลงเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 3.63 และ 4.87 ตามลำดับ แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และในช่วงครึ่งแรกของปียังคงขยายตัวได้ดี สำหรับ การผลิตยางใน ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงในส่วนของการผลิตยางในรถจักรยานยนต์ คิดเป็นร้อยละ 21.91 และ 25.11 ตามลำดับ เนื่องจากมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางในรถจักรยานยนต์จากจีน เข้ามาทุ่มตลาดภายในประเทศเป็นจำนวนมาก โดยผลิตภัณฑ์ยางในรถจักรยานยนต์จากจีน ถึงแม้จะถูกเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 10 แล้ว ยังมีราคาขายถูกกว่ายางในภายในประเทศกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากสินค้าจากจีนมีต้นทุนที่ต่ำมาก ทำให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางในรถจักรยานยนต์ในประเทศต้องลดการผลิตลง สำหรับในส่วนของการผลิตถุงมือยางยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ 2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 การจำหน่ายยางแผ่นและยางแท่งในประเทศลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 2.89 และ 21.54 ตามลำดับ เนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางแผ่นและยางแท่งได้รับผลกระทบจากการลดลงของปริมาณน้ำยางสดที่เข้าสู่ตลาดน้อย จากช่วงฤดูกาลผลัดใบและปัญหาน้ำท่วมและดินถล่มในภาคใต้ของไทย แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนยังขยายตัวได้ โดยเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.66 และ 33.16 ตามลำดับ ในส่วนของการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ แบ่งออกเป็น การจำหน่ายยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางใน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ชะลอตัวลง และเมื่อมองในภาพรวมในช่วงครึ่งแรกของปี การจำหน่ายยางนอกรถยนต์ยังขยายตัวได้ดี แต่สำหรับการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ยางใน โดยเฉพาะยางในรถจักรยานยนต์ยังคงลดลง เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้ายางในจากจีนมากผิดปกติ สำหรับการจำหน่ายถุงมือยางเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 24.67 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.39

2.2 ตลาดส่งออก การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทยประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้น และยางพาราอื่นๆ โดยมีมูลค่าการส่งออกในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 จำนวน 2,878.53 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออกลดลงร้อยละ 19.48 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 77.09 ตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ จีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ สำหรับในส่วนของการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ประกอบด้วยยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของ หลอดและท่อ สายพานลำเลียงและสายพานส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ทางเภสัชกรรม ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก จำนวน 2,015.39 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและ ไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นก่อนร้อยละ 1.54 และ 35.28 ตลาดส่งออกหลักที่สำคัญ ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย ญี่ปุ่น และเยอรมนี

สำหรับในภาพรวม ครึ่งแรกปี 2554 มูลค่าการส่งออก ยางแปรรูปขั้นต้นมีมูลค่า 6,453.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 81.70 สำหรับมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางมีมูลค่า 4,000.21 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 32.76.เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

มูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทยที่ลดลงในไตรมาส 2 ปี 2554 เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อน เนื่องจากจีนชะลอการสั่งซื้อออกไป อันเป็นผลจากราคายางที่เพิ่มสูงขึ้นมากในช่วงไตรมาสที่ 1 ประกอบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ รวมทั้งวิกฤตนิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น ทำให้โรงงานผลิตยางรถยนต์ในญี่ปุ่นบางแห่งหยุดดำเนินการผลิต ทำให้คำสั่งซื้อยางพาราลดลง เห็นได้ชัดจากระดับราคายางพารา ที่ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงในช่วงต้นของเหตุภัยพิบัติดังกล่าว ซึ่งผลจากทั้ง 2 เหตุการณ์ดังกล่าวได้ส่งผลชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 2 อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมในช่วงครึ่งปีแรกมูลค่าการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ยางแปรรูปขั้นต้นในตลาดโลกยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะประเทศอินเดียมีการนำเข้ายางธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ปริมาณการผลิตยางภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ประกอบกับกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวขึ้นด้วย โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง คือ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี และสหราชอาณาจักร สำหรับประเทศคู่แข่งที่สำคัญ คือ มาเลเซีย จีนและอินโดนีเซีย

2.3 ตลาดนำเข้า ในไตรมาสที่ 2 ปี 2554 การนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง ยางรวมเศษยาง และวัสดุทำจากยาง มีมูลค่า 580.98 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 12.79 และ 27.21 ตามลำดับ และในช่วงครึ่งแรกปี 2554 มีมูลค่าการนำเข้า 1,096.07 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.37 เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ยางของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น อีกทั้งกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนให้การนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นด้วย สำหรับตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเยอรมนี

3. สรุปและแนวโน้ม

อุตสาหกรรมยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาส 2 ปี 2554 ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน เนื่องจากในช่วงต้นของไตรมาสที่ 2 เป็นช่วงยางผลัดใบ มีการหยุดพักกรีดยาง ส่งผลให้ปริมาณน้ำยางสดออกสู่ตลาดน้อย ประกอบกับเกิดภาวะน้ำท่วมและดินถล่มทำให้พื้นที่ปลูกยางในหลายจังหวัดทางภาคใต้ของไทยได้รับความเสียหาย แต่ภาพรวมในช่วงครึ่งปีแรกยังขยายตัวได้ดี สำหรับอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางยังขยายตัวได้ ยกเว้นในผลิตภัณฑ์ยางในรถจักรยานยนต์ที่มีปริมาณการผลิตและจำหน่ายในประเทศลดลง เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้ายางในจักรยานยนต์จากประเทศจีนเข้ามามากผิดปกติ ทำให้ผู้ประกอบการต้องลดการผลิตลง ในส่วนของการผลิตถุงมือยางยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

แนวโน้มในไตรมาสที่ 3 คาดว่าอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศจะขยายตัวได้ดี เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยางรถยนต์

สำหรับการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 2 ลดลงจากไตรมาสก่อน เนื่องจากจีน ชะลอการสั่งซื้อลง ในช่วงที่ราคายางปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ประกอบกับเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ รวมทั้งวิกฤตนิวเคลียร์ในประเทศญี่ปุ่น ทำให้ปริมาณการสั่งซื้อลดลง อย่างไรก็ตาม ในภาพรวมการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากความต้องการใช้ยางในตลาดโลกยังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอินเดีย ที่มีความต้องการใช้ยางเพิ่มขึ้นมากตามการขยายตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ ประกอบกับกรอบข้อตกลง FTA ยังมีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวอีกด้วย สำหรับผลิตภัณฑ์ถุงมือยาง ยังคงขยายตัวได้ดี เนื่องจากความต้องการถุงมือยางในตลาดโลกยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค

ถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางจะมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม คือ ความผันแปรของสภาพอากาศที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อปริมาณการผลิตยาง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อราคาวัตถุดิบยางและต้นทุนการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง รวมทั้งการแข่งขันที่มีแนวโน้มเพิ่มความรุนแรงมากขึ้น ทั้งจากการเพิ่มเนื้อที่ปลูกยางภายในประเทศ และการปลูกยางเพิ่มของประเทศคู่แข่งที่สำคัญ เช่น ประเทศมาเลเซีย รวมทั้งการขยายการผลิตของประเทศผู้ผลิตยางรายใหม่ เช่น ประเทศเวียดนาม ซึ่งจะทำให้ประเทศผู้ใช้ยางมีทางเลือกอื่นมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงกับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ