สรุปสถานการณ์เศรษฐกิจอุตสาหกรรมประจำเดือนพฤศจิกายน 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 14, 2011 13:17 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเดือนตุลาคม 2554 ลดลงร้อยละ 35.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน จากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ Hard Disk Drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สำหรับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมมีมูลค่า 12,322.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงหรือหดตัวร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบค่อนข้างมากกับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ

การผลิตในภาคอุตสาหกรรมซึ่งวัดจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม(1) เดือนตุลาคม 2554 ลดลงร้อยละ 35.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน จากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้น การผลิตลดลงในหลายอุตสาหกรรมที่สำคัญ คือ Hard Disk Drive ยานยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องแต่งกาย ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้น ผลกระทบโดยตรงเกิดขึ้นจากความเสียหายของโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่พระนครศรีอยุธยาและปทุมธานีซึ่งพบว่าเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญของประเทศ นอกจากนี้ยังมีโรงงานที่ผลิตสินค้าสำคัญอื่นๆอีกด้วย เช่น สิ่งทอ รองเท้า ผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่มผลิตภัณฑ์ยาง และพลาสติก เป็นต้น

สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิต(2) เดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 46.42 จากร้อยละ 63.92 ในเดือนตุลาคม 2553

หมายเหตุ(1) ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม เป็นดัชนีที่แสดงทิศทางการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทั้งในภาพรวม รายสาขาอุตสาหกรรม และรายผลิตภัณฑ์

(2)อัตราการใช้กำลังการผลิต หมายถึง ค่าร้อยละของการผลิตที่เกิดขึ้นจริงเมื่อเทียบกับความสามารถในการผลิตสูงสุดเต็มศักยภาพ หรือเต็มกำลังการผลิต (capacity)

เมื่อพิจารณาในด้านของการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมในเดือนตุลาคม 2554 ลดลงหรือหดตัวร้อยละ 7.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน แต่หากหักการส่งออกทองคำ การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่ไม่รวมทองคำหดตัวที่ร้อยละ 3.7

อุตสาหกรรมรายสาขาสำคัญ(ตุลาคม2554)

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน การผลิตผลิตภัณฑ์สิ่งทอลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอฯผ้าผืน เสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งที่ผลิตจากผ้าถักและผ้าทอ ร้อยละ 46.3, 20.7, 32.6 และ 16.8 ตามลำดับ เนื่องจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้กระทบต่อการรับคำสั่งซื้ออย่างมาก โรงงานสิ่งทอที่ได้รับความเสียหายมีกำลังการผลิตกว่าร้อยละ 40 ของกำลังการผลิตทั้งหมด ขณะที่มีโรงงานที่ได้รับผลกระทบคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51 ของจำนวนโรงงานทั้งหมด ประกอบกับความผันผวนของราคาวัตถุดิบที่ยังมีผลกระทบต่อเนื่อง

ในด้านการส่งออก โดยภาพรวมลดลงร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนผลิตภัณฑ์ที่ลดลง ได้แก่ ด้ายฝ้าย ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เคหะสิ่งทอ และเสื้อผ้าสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 29.8, 21.1, 31.9 และ 10.2 ตามลำดับจากการหดตัวในตลาดส่งออกหลัก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป

อุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้า การผลิตลดลง ร้อยละ 7.47 โดยเหล็กทรงแบนมีการผลิตที่ลดลง ร้อยละ 17.99 ผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงมากที่สุด คือเหล็กแผ่นเคลือบโครเมียมลดลง ร้อยละ 45.93 รองลงมาคือ เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วนลดลงร้อยละ25.54 ในขณะเดียวกันเหล็กทรงยาวมีการผลิตที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.57 โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นมากที่สุด คือ เหล็กเส้นข้ออ้อยเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.15 และลวดเหล็กแรงดึงสูงเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.61 ในส่วนของดัชนีราคาเหล็กต่างประเทศการเปลี่ยนแปลงของราคาเหล็ก (FOB) โดยเฉลี่ยที่สำคัญในตลาด CIS ณ ท่าทะเลดำ (Black Sea)ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2554 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าพบว่า โดยดัชนีราคาเหล็กปรับลดลงทุกผลิตภัณฑ์

อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิต จำนวน49,439 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2553 ซึ่งมีการผลิต 152,689 คัน ร้อยละ 67.62 โดยเป็นการปรับลดลงของรถยนต์ทุกประเภท (รถยนต์นั่งรถยนต์กระบะ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ) และมีปริมาณการผลิตรถยนต์ลดลงจากเดือนกันยายน 2554 ร้อยละ 71.62 ซึ่งเป็นการปรับลดลงของรถยนต์ทุกประเภทเช่นกัน สำหรับการส่งออกมีจำนวน 54,691 คัน ลดลงจากเดือนตุลาคม 2553 ซึ่งมีการส่งออก 80,359 คัน ร้อยละ31.94

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ การผลิตเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 50.46 เมื่อพิจารณาในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้า ปรับตัวลดลงร้อยละ44.41 สำหรับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงร้อยละ 51.25

ในส่วนมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 23.15 โดยมีมูลค่าการส่งออกรวมคือ 3,563.05 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเครื่องใช้ไฟฟ้ามูลค่าส่งออกลดลงร้อยละ 16.74และมูลค่าส่งออกอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 27.39

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ