สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 30, 2011 10:25 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกในไตรมาส 3 ปี 2554 เศรษฐกิจแต่ละประเทศยังคงขยายตัวแต่ชะลอตัวจากไตรมาสก่อนหน้า อันเป็นผลจากปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรปและความสามารถในการชำระหนี้ของประเทศในยุโรป และอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูงในหลาย ๆ ประเทศ เช่น สหรัฐสเปนและกรีซ รวมทั้งปัญหาเงินเฟ้อก็ยังเป็นปัจจัยกดดันการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศเอเชีย

ราคาน้ำมันดิบดูไบในไตรมาส 3 ปี 2554 อยู่ที่ 106.86 USD/Barrel เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี2553 อยู่ที่ 73.82 USD/Barrel สำหรับสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลกราคาน้ำมันยังคงแกว่งตัวขึ้นลง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX ส่งมอบเดือนธันวาคม (ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2554) เพิ่มขึ้น 0.19 USD/Barrel โดยมีราคาอยู่ที่ 94.26 USD/Barrel เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย และปัญหาหนี้ในกลุ่มประเทศยุโรปที่ไม่มีความชัดเจนในการแก้ไขปัญหา รวมทั้งจีนเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันดีเซลในประเทศ โรงกลั่นจึงเพิ่มกำลังการผลิตทำให้จีนต้องการน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศไทย หรือ GDP ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 2.6 ชะลอลงจากไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 3.2 และชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 9.2 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวชะลอลงจาก ไตรมาสที่ 1 ของปี 2554 คือ การชะลอตัวลงทั้งอุปสงค์ในประเทศและต่างประเทศ โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนชะลอลง จากการใช้จ่ายในหมวดสินค้าคงทน โดยเฉพาะรถยนต์ ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาลและการลงทุนรวมชะลอตัวลงเช่นกัน สำหรับอุปสงค์ต่างประทศชะลอตัวลงจากการชะลอตัวของทั้งการส่งออกและการนำเข้า

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2554 จะขยายตัวร้อยละ 3.5-4.0 (ณ วันที่ 22 สิงหาคม 2554) ชะลอลงจากปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.8

ในส่วนของภาคอุตสาหกรรมไทย ไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ของปี2554 พบว่าบางตัวมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมาและไตรมาสเดียวกันของปี 2553 เช่น ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิต โดยอุตสาหกรรมที่มีการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ได้แก่ ยานยนต์ Hard Disk Drive เบียร์ เป็นต้น สำหรับอุตสาหกรรมที่มีอัตราการใช้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ได้แก่ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ขั้นมูลฐาน ผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นต้นส่วนข้อมูลการส่งออกในภาพรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.5 (ม.ค.-ก.ย.54) เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์และส่วนประกอบ ยางพาราเป็นต้น

สถานการณ์การค้าในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ขยายตัวในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาสที่ 3การค้าต่างประเทศของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 127,365.94 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ64,599.52 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 62,766.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 นั้นมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.18 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.44ส่งผลให้ไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ดุลการค้าเกินดุล 1,833.10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.00 สำหรับมูลค่าการนำเข้านั้นเพิ่มขึ้นร้อยละ32.68

การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสุทธิในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 จากข้อมูลเบื้องต้นของธนาคารแห่งประเทศไทย การลงทุนสุทธิในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมมีมูลค่ารวม 40,306.78 ล้านบาท ซึ่งการลงทุนโดยตรงสุทธิในเดือนกรกฎาคม 22,415.14 ล้านบาท สำหรับเดือนสิงหาคมมีมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ17,891.64 ล้านบาท เมื่อพิจารณาการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมตลอดทั้ง 2 เดือน ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554นั้นพบว่ามูลค่าการลงทุนในเดือนกรกฎาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 7,991.44 ล้านบาท และในเดือนสิงหาคมมีมูลค่าการลงทุนสุทธิ 19,142.79 ล้านบาท โดยการลงทุนในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคมของสาขาอุตสาหกรรมมีมูลค่าการลงทุนลดลงร้อยละ 1.31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI)พบว่าในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 การลงทุนที่ได้รับอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI มีจำนวนทั้งสิ้น321 โครงการ ซึ่งลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่มีจำ นวนโครงการ 389 โครงการ โดยในไตรมาสที่ 3 นี้การลงทุนในกิจการต่างๆ มีมูลค่าเงินลงทุนทั้งสิ้น 20,700 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 86.05 โดยโครงการลงทุนนั้นประกอบด้วยโครงการที่ลงทุนจากต่างประเทศ100% จำนวน 113 โครงการ คิดเป็นเงินลงทุน 7,700 ล้านบาท เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยและต่างประเทศ 70 โครงการ เป็นเงินลงทุน 4,200 ล้านบาท และโครงการที่ลงทุนจากไทย 100% จำนวน 138โครงการ เป็นเงินลงทุน 8,800 ล้านบาท

เมื่อพิจารณาตามหมวดของการเข้ามาลงทุนในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 พบว่าประเภทกิจการที่ได้รับการอนุมัติการส่งเสริมการลงทุนมากที่สุด คือ หมวดบริการและสาธารณูปโภคมีเงินลงทุน 6,700 ล้านบาทรองลงมาคือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่งมีเงินลงทุน 4,500 ล้านบาท และหมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตรมีเงินลงทุน 3,400 ล้านบาท

สำหรับแหล่งทุนในเดือนกรกฎาคมซึ่งเป็นเดือนแรกของไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 พบว่านักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่นยังคงมีมูลค่าการลงทุนมากที่สุด โดยได้รับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 34 โครงการ คิดเป็นมูลค่าการลงทุน 3,164 ล้านบาท รองลงมาคือ ประเทศสิงคโปร์ที่มีจำนวน 5 โครงการ มีเงินลงทุน 1,394 ล้านบาทประเทศไต้หวันได้รับการอนุมัติลงทุนจำนวน 4 โครงการ เป็นเงินลงทุน 159 ล้านบาท และประเทศจีน 3โครงการ โดยคิดเป็นเงินลงทุน 135 ล้านบาท

จากสถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศส่งผลกระทบค่อนข้างมากกับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงอุตสาหกรรมต่างๆที่เกี่ยวเนื่องกับทั้งต้นน้ำและปลายน้ำ อาทิ โรงงานผลิตรถยนต์ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัดที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการหยุดการผลิตตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2554และในขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเริ่มผลิตได้อีกครั้งเมื่อไร ส่วนโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หลายรายก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ส่งผลให้ไม่สามารถส่งชิ้นส่วนรถยนต์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นขาดชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิต ในส่วนของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์นอกจากสินค้าได้หยุดสายการผลิตแล้วยังส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานไม่สามารถผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปได้ เมื่อไม่มีชิ้นส่วนและส่วนประกอบส่งให้อีกด้วย ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีผลกระทบมาก ได้แก่ อุตสาหกรรม HDD ซึ่งเป็นผู้ผลิตหลักในอาเซียน ซึ่งได้ประมาณการว่า ในไตรมาสที่ 4/2554 HDD จะปรับตัวลดลงร้อยละ 31 — 37 และ IC จะปรับตัวลดลงร้อยละ 10 - 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เหล็กและเหล็กกล้า สถานการณ์เหล็กโดยรวมในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนพบว่าการผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4.28 เนื่องจากความต้องการเหล็กภายในประเทศเริ่มฟื้นตัวและประกอบกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในโครงการบ้านหลังแรก จึงทำให้ผู้ผลิตผลิตเพิ่มมากขึ้นสำหรับความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มขึ้นเช่นกัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.29 เนื่องจากความต้องการใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีการปรับตัวที่ดีขึ้น เพื่อเร่งการผลิตให้ได้ตามเป้าหมายที่วางไว้เพื่อชดเชยในช่วงที่ผ่านมา

สถานการณ์อุตสาหกรรมเหล็กในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 คาดว่าจะหดตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปีเดียวกันเนื่องจากผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมซึ่งถึงแม้โรงงานเหล็กจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงเนื่องจากโรงงานไม่ได้ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง (เช่น จ.อยุธยา,จ.ปทุมธานี) แต่ก็จะได้รับผลกระทบโดยอ้อมเนื่องจากเหล็กเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะมีผลให้คำสั่งซื้อในส่วนของเหล็กทรงแบนลดลง เมื่อพิจารณาความต้องการใช้เหล็กเส้นคาดว่าชะลอตัวจากภาวะหยุดชะงักของตลาดที่อยู่อาศัยไม่เพียงแต่จะเกิดขึ้นในขณะนี้ แต่น่าจะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ไปจนถึงไตรมาสแรกของปีหน้า แต่จะมีบ้างในการซ่อมแซมอาคาร บ้านเรือน ถนน รวมทั้งสะพานที่เสียหายไป แต่ก็คงไม่มาก

ยานยนต์ อุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ขยายตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี2553 เนื่องจากสภาพเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับการบริโภคและการลงทุนของภาคเอกชนอีกทั้งผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมยานยนต์ ได้เร่งปริมาณการผลิตรถยนต์ เพื่อให้ทันการส่งมอบรถยนต์ที่มียอดค้างการจองอยู่เป็นจำนวนมาก อันเนื่องมาจากการขาดแคลนชิ้นส่วน เช่น ชิ้นส่วนสมองกล (MicroComputer Chip) หรือชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น จากปัญหาภัยพิบัติในประเทศญี่ปุ่น ประกอบกับมีการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่เข้าสู่ตลาดมากขึ้น เมื่อพิจารณาในไตรมาสที่สามของปี 2554 มีการผลิตรถยนต์ จำนวน474,628 คัน เปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.83 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.03 และ 6.29 ตามลำดับ แต่มีการผลิตรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ลดลงร้อยละ 6.29 หากเปรียบเทียบไตรมาสที่สามกับไตรมาสที่สองของปี 2554 ปริมาณการผลิตรถยนต์เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.93 โดยมีการผลิตรถยนต์นั่ง รถยนต์ปิกอัพ 1 ตัน และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆเพิ่มขึ้นร้อยละ 43.18, 36.42 และ 42.65 ตามลำดับ

สำหรับอุตสาหกรรมรถยนต์ในไตรมาสที่สี่ ปี 2554 คาดว่าจะชะลอตัวเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 สาเหตุสำคัญอันเนื่องมาจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยมีโรงงานประกอบรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ โรงงานผลิตรถยนต์ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย)จำกัด ที่ตั้งอยู่ในสวนนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการหยุดการผลิตตั้งแต่วันที่ 4ตุลาคม 2554 และในขณะนี้ยังไม่สามารถกำหนดได้ว่าจะเริ่มผลิตอีกครั้งเมื่อไร ส่วนโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หลายรายก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ส่งผลให้ไม่สามารถส่งชิ้นส่วนรถยนต์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์รายอื่น ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์รายอื่นขาดชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิต

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในช่วงไตรมาสที่ 3/2554 ระหว่างเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน 2554 การผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงเล็กน้อย ร้อยละ 1.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเริ่มทรงตัวปรับตัวเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยตั้งแต่ไตรมาสที่ 2/2554 เป็นผลจากการชะลอลงของผลิตภัณฑ์คอมเพรสเซอร์ และพัดลมขณะที่ การปรับตัวในแต่ละไตรมาสของปี 2554 มีลักษณะปรับตัวเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงจากไตรมาสก่อนเกือบทุกสินค้า ยกเว้นสินค้าขนาดเล็กประเภทหม้อหุงข้าวและกระติกน้ำร้อนไฟฟ้าที่มีการปรับเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอลมากขึ้นเมื่อ 2-3 ปีก่อน ซึ่งมีราคาปรับลดลงบ้างเนื่องจากคู่แข่งมีมากขึ้นและมีลักษณะการใช้ได้หลากหลายมากขึ้นด้วย เช่น หม้อหุงข้าวพร้อมนึ่งด้วย จึงทำให้การผลิตเพื่อขายในประเทศมากขึ้นจากฐานปริมาณการผลิตที่ไม่สูงมากนักในไตรมาสก่อนๆ สำหรับภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 ปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากการผลิต HDDในเดือนสิงหาคม 2554 ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงมาก ขณะที่ การผลิต IC มีอัตราหดตัวในไตรมาสที่ 3/2554 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยหันมานำเข้าจากประเทศในอาเซียน และจีน เนื่องจากการขาดแคลนสารตั้งต้นผลิตที่นำมาจากประเทศญี่ปุ่น

ประมาณการภาพรวมอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 คาดว่าจะจะทรงตัวร้อยละ0.97 ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก ถึงร้อยละ 18.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อันเนื่องมาจากในเดือนตุลาคม 2554 เกิดมหาอุทกภัย ใน 7 นิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและจังหวัดปทุมธานีซึ่งเป็นสถานประกอบการเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนและส่วนประกอบโดยที่นอกจากสินค้าได้หยุดสายการผลิตแล้วยังส่งผลกระทบห่วงโซ่อุปทานไม่สามารถผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูปได้ เมื่อไม่มีชิ้นส่วนและส่วนประกอบส่งให้อีกด้วย ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่มีผลกระทบมาก ได้แก่อุตสาหกรรม HDD ซึ่งเป็นผู้ผลิตหลักในอาเซียน ซึ่งได้ประมาณการว่า ในไตรมาสที่ 4/2554 HDD จะปรับตัวลดลงร้อยละ 31 — 37 และ IC จะปรับตัวลดลงร้อยละ 10 - 12 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนขึ้น

เคมีภัณฑ์ ไตรมาส 3 ปี 2554 การส่งออกเคมีภัณฑ์อนินทรีย์มีมูลค่า 5,534 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.69เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 34.22 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าส่งออก 14,504 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 16.89 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.13 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมีมีมูลค่าการส่งออก 1,155 ล้านบาทลดลงร้อยละ 10.25 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 48.45 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อุตสาหกรรมสีมีมูลค่าส่งออก 3,564 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.04 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.42 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออก 15,582ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.04 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่แล้ว และเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.07 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในไตรมาสหน้าคาดว่าจะมีแนวโน้มลดลง ทั้งนี้เนื่องจากปัญญาอุทกภัยที่ลุกลามไปหลายนิคมอุตสาหกรรม ทำให้หลายโรงงานไม่สามารถทำการผลิตต่อได้ จึงส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ประกอบกับ เศรษฐกิจของญี่ปุ่นชะลอตัว เพราะได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์สึนามิ และปัญหาหนี้ที่ลุกลามไปหลายประเทศในสหภาพยุโรป โดยเฉพาะประเทศกรีก ส่งผลให้การค้าขายกับประเทศเหล่านี้ลดลง รวมทั้งเทศกาลหยุดยาวที่กำลังจะมาถึงด้วย

พลาสติก ไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 2 มูลค่าส่งออกเท่ากับ27,076 ล้านบาท โดยสินค้าของไทยที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุดอยู่ที่หมวด 3923 ของที่ใช้ลำเลียงสินค้าหรือบรรจุสินค้ามีมูลค่า 8,337 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 30 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด โดยส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและสหรัฐอเมริกามากที่สุด รองลงมาได้แก่หมวด 3926 คือผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆมีมูลค่าส่งออก 6,734 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 25 ของมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด ทั้งนี้ได้ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่นและจีนมากที่สุด

สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ยังคงต้องติดตาม ประเด็นวิกฤติการณ์เงินของกรีซ ที่อาจจะลุกลามไปทั่วทวีปยุโรป จะส่งผลต่อเนื่องไปยังประเทศที่เป็นคู่ค้ากับไทย สำหรับผลกระทบจากอุทกภัยครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานคร ทำให้โรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งได้รับผลกระทบ คงต้องรอการฟื้นฟูภายหลังน้ำลด จากการคาดการณ์น่าจะกลับมาเดินเครื่องได้ตามปกติ ปลายไตรมาส 4 ส่วนผู้บริโภคที่อยู่ในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย มีการจับจ่ายใช้สอยน้อยลง เนื่องจากไม่สะดวกต่อการเดินทาง ขาดรายได้ จึงส่งผลต่อความต้องการสินค้าบางประเภทที่ลดลง แต่สินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตในขณะที่น้ำท่วมจะมีความต้องการมากขึ้น เช่น ถุงพลาสติก กระสอบทราบ เรือพลาสติก

ปิโตรเคมี ไตรมาส 3 ปี 2554 การส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้นมีมูลค่าส่งออก 14,700.77 ล้านบาท ลดลงร้อยละ11.69 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 63.43 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปิโตรเคมีขั้นกลางมีมูลค่าส่งออก 16,303.53 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 7.41 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ37.76 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนปิโตรเคมีขั้นปลายมีมูลค่าส่งออก 65,916.38 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.99 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 31.85 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 นั้น คาดว่าอัตราการขยายตัวจะทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา ทั้งในด้านของปริมาณ และมูลค่ารวมทั้งปริมาณและมูลค่าการนำเข้าและส่งออก และจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องเช่น อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมพลาสติก ชะลอความต้องการวัตถุดิบปิโตรเคมีลง ซึ่งจะส่งผลให้การขยายตัวของอุตสาหกรรมปรับลดลง ดังนั้น ในระยะสั้น ผู้ผลิตในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีจำเป็นต้องพึ่งพิงการส่งออกเพิ่มมากขึ้น และต้องวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิต การนำเข้า และการส่งออกเยื่อกระดาษ และกระดาษโดยรวมในไตรมาสนี้ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน เนื่องจากผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายทั้งในประเทศและต่างประเทศ คาดว่าผู้บริโภคจะมีอุปสงค์เพิ่มขึ้นจากเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ จึงมีการผลิตเยื่อกระดาษและกระดาษเพื่อเตรียมรองรับสำหรับการใช้ผลิตเป็นวัตถุดิบและสินค้าต่างๆ ให้กับภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรมและภาคบริการ

สำหรับแนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในไตรมาสหน้าคาดว่า ทั้งภาวะการผลิต การส่งออก และการนำเข้าเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ จะมีอัตราการขยายตัวลดลงเนื่องจากไตรมาสนี้เป็นช่วงปกติที่การผลิตจะชะลอตัวจากการส่งมอบสินค้าเพื่อรองรับเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ในปลายไตรมาสที่ 3/2554 แล้ว ประกอบกับคาดการณ์ว่า ทั้งการผลิต และการบริโภค/การจำหน่ายในประเทศ จะชะลอตัวจากสถานการณ์น้ำท่วมในเกือบทุกจังหวัดของประเทศ ทำให้การขนส่งเยื่อกระดาษ กระดาษและสิ่งพิมพ์ ประสบปัญหาล่าช้าและไม่สามารถกระจายสินค้าได้ทั่วถึง รวมทั้งโรงงานสิ่งพิมพ์ SMEs ส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และต้องปิดโรงงานเพื่อซ่อมแซมอุปกรณ์เครื่องจักร ส่งผลกระทบต่อการผลิตในประเทศ

เซรามิก การผลิตเซรามิก ไตรมาสที่ 3 ปี 2554 กระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 42.57 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ลดลงเพียงเล็กน้อยร้อยละ 0.70 ซึ่งลดลงตามการผลิตในช่วงฤดูฝน แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน การผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.47 สำหรับการผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 1.82 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.31 ซึ่งการผลิตที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน การผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ ลดลงร้อยละ 3.49

สำหรับ การผลิตและจำหน่ายเซรามิก ไตรมาสที่ 4 ปี 2554 แม้ว่าจะเป็นช่วงที่เริ่มเข้าสู่ฤดูกาลขายแต่การผลิตและจำหน่ายเซรามิกจะอยู่ในภาวะทรงตัว เนื่องจาก ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่กินระยะเวลายาวนานจนเข้าสู่ไตรมาสนี้ ทั้งนี้ คาดว่าความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างเพื่อปรับปรุงซ่อมแซมที่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมจะมีแนวโน้มสูงขึ้น ในไตรมาสที่ 1 ปี 2555 อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมอาจส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัว และทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงได้

ปูนซีเมนต์ ภาวะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนชะลอตัวลง เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน รวมทั้งเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทำให้เป็นอุปสรรคในการก่อสร้างและการขนส่งทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลงตามไปด้วย แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และในภาพรวมช่วงครึ่งแรกของปี อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรจะขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนออกสู่ชานเมือง รวมทั้งปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยในการเติบโตของอุตสาหกรรม คือ การเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้นอย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบคือต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 คาดว่าจะชะลอตัวลง ทั้งที่เป็นช่วงเริ่มต้นที่จะเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้าง เนื่องจากเกิดภาวะน้ำท่วมขังเป็นเวลานานในหลายพื้นที่ทำให้เป็นอุปสรรคในการก่อสร้างและการขนส่ง จึงส่งผลกระทบให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะเริ่มขยายตัวขึ้นในช่วงต้นปีหน้า เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลก่อสร้าง รวมทั้งมีการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายหลังจากน้ำท่วม

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 การผลิต การจำหน่ายในประเทศชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรปส่งผลให้มีคำสั่งซื้อและการส่งออกในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกไปยังตลาดหลักอื่นๆ ยังมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น และ สหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ5.6, 14.4 และ 2.6 ตามลำดับ รวมถึงปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยเฉพาะโรงงานผลิตสิ่งทอต้นน้ำที่ได้รับความเสียหายค่อนข้างมากในจังหวัดลพบุรี ขณะนี้ได้หยุดการผลิตแล้ว

แนวโน้มการผลิตและการส่งออกในไตรมาส 4 ปี 2554 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัญหาอุทกภัย ที่เกิดขึ้นในหลายๆ จังหวัด ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ตั้งแต่โรงงานต้นน้ำถึงปลายน้ำในห่วงโซ่การผลิตเครื่องนุ่งห่ม อาทิ กลุ่มสิ่งทอ ฟอกย้อม และ โรงงานตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม เป็นจำนวนมาก ทั้งในจังหวัดลพบุรี และโรงงานที่ตั้งอยู่บนถนนเพชรเกษมได้เริ่มปิดโรงงานไปแล้ว ภาวะดังกล่าวจะกระทบต่อการส่งมอบสินค้าตามที่รับคำสั่งซื้อไว้ หากน้ำท่วมยาวนานจะเสียหายต่อการส่งออกและจะกระทบลามไปจนถึงการส่งออกในปีหน้า เพราะหากลูกค้าขาดความเชื่อมั่นเรื่องการสั่งสินค้า อาจจะหันไปสั่งซื้อจากประเทศคู่แข่ง ทั้งเวียดนามและจีน ทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่ง

ไม้และเครื่องเรือน การผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว และการส่งออกไปตลาดต่างประเทศที่ขยายตัวได้ดี ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้น และเพิ่มปริมาณการผลิต

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว และอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล แต่ปัจจัยเสี่ยง คือ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งวัตถุดิบ แรงงาน น้ำมันและค่าแรง ตลอดจนเงินเฟ้อที่อยู่ในอัตราสูง อีกทั้งผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมน่าจะเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นในไตรมาสที่ 4 นี้ ทั้งในส่วนของความเสียหายของโรงงานและผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามคาดว่าอุปสงค์ของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนจะขยายตัวหลังน้ำลดในไตรมาสที่ 1 ปี 2555

ยา ปริมาณการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ได้สร้างโอกาสให้มีความต้องการยาสามัญในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณการจำหน่ายยากลับชะลอตัวลง เนื่องจากยาซึ่งผู้ผลิตเคยจำหน่ายได้ปริมาณมากในปีก่อน ถูกเปลี่ยนประเภทจากยาอันตราย เป็นยาควบคุมพิเศษ เพื่อจำกัดปริมาณการกระจายยา และลดช่องทางการจำหน่าย ไม่ให้นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดส่งผลให้ผู้ผลิตไม่สามารถจำหน่ายยาชนิดนั้นได้ในวงกว้างเช่นที่ผ่านมา และแม้ว่าผู้ผลิตจะทำการผลิตยาสามัญชนิดใหม่ ซึ่งมีกำไรดีกว่า ขึ้นมาทดแทนยาที่ไม่ได้กำไรและเลิกผลิต แต่สามารถจำหน่ายได้ในปริมาณน้อยเนื่องจากเป็นยารักษาโรคเฉพาะทาง

แนวโน้มในไตรมาสที่ 4/2554 คาดว่า ปริมาณการผลิตจะชะลอตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อน เนื่องจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งอาจทำให้โรงงานอุตสาหกรรมยาได้รับ ความเสียหายไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ แม้จะมีความต้องการซื้อ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเยียวยาผู้ผลิตลดผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภค และป้องกันไม่ให้เกิดการขาดแคลนยา รวมทั้งควบคุมคุณภาพและราคายาสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอให้ผู้ผลิตยาที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย แจ้งมายัง อย. ว่าจะให้ผู้ผลิตรายใดผลิตยาให้เป็นการชั่วคราว โดยบริษัทที่ผลิตนั้นจะต้องได้มาตรฐานGMP ในหมวดที่จะผลิตตามที่ อย. กำหนด สำหรับผู้ผลิตที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ ขอให้เร่งการผลิตให้เต็มศักยภาพ ดังนั้น ปริมาณการผลิตจึงไม่น่าจะลดลงมาก

ยางและผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวได้ดี ตั้งแต่ต้นปี 2553 ต่อเนื่องจนถึงปี2554 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางยานพาหนะ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะขยายตัวตามไปด้วย ยกเว้นผลิตภัณฑ์ยางในรถจักรยานยนต์ที่มีปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศลดลง เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้ายางในจักรยานยนต์จากประเทศจีนเข้ามามากผิดปกติ ทำให้ผู้ประกอบการต้องลดการผลิตลง สำหรับในส่วนของการผลิตถุงมือยางยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

แนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 คาดว่าอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในส่วนของอุตสาหกรรมยางยานพาหนะ จะชะลอตัวลง เนื่องจากปัญหาภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ทำให้โรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่หยุดการผลิตเป็นการชั่วคราว ทำให้ส่งผลต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ทั้งนี้ หากโรงงานผลิตรถยนต์ที่ปิดตัวไปนั้น ฟื้นตัวและสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้เร็ว ก็จะทำให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สำหรับในส่วนของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ และอุตสาหกรรมถุงมือยาง ถุงมือตรวจคาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะถุงมือยาง ถุงมือตรวจ ยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก ตามกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค อีกทั้งโรงงานผลิตถุงมือยางไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม เนื่องจากส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ภาคใต้

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ดัชนีผลผลิตของการฟอกและการตกแต่งหนังฟอก ในไตรมาส 3 ปี 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2554 มีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่เพิ่มขึ้น เป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับมูลค่าการส่งออกสินค้าหนังและผลิตภัณฑ์หนังฟอกและหนังอัด ที่มีมูลค่าการส่งออกมีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลงเล็กน้อย แต่ดัชนีการผลิตรองเท้ามีอัตราการเปลี่ยนแปลงที่ลดลง แต่มูลค่าการส่งออกมีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้น ส่วนการผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกันอานม้าและเครื่องเทียมลาก มีอัตราการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นซึ่งสอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกของเครื่องใช้สำหรับเดินทาง เนื่องจากมีคำสั่งซื้อและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เพราะแนวโน้มเศรษฐกิจดีขึ้นและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงขึ้น

แนวโน้มมูลค่าการส่งออกของอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังใน ปี 2554 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2553 คาดว่าทุกผลิตภัณฑ์จะมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ปัจจัยบวกในปีนี้จะมาจากการขยายตัวด้านการลงทุนที่จะเพิ่มขึ้น ตลอดจนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ คำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้น กำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจัยลบที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมไทย จะมาจากอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ยนโยบาย ราคาน้ำมันต้นทุนและการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น แต่เนื่องจากวิกฤตอุทกภัยในหลายจังหวัดที่ส่งผลกระทบต่อโรงงานอุตสาหกรรม แนวโน้มในปี 2555 สินค้าในกลุ่มแฟชั่นคาดว่าการส่งออก โดยเฉพาะในไตรมาสแรก จะชะลอตัวลดลง เนื่องจากการผลิตที่หยุดชะงักจากการที่ไม่สามารถส่งวัตถุดิบเข้าโรงงาน การขาดแคลนวัตถุดิบ แรงงานไม่สามารถเข้าไปทำงาน การส่งสินค้าไม่ตรงเวลา และลูกค้ายกเลิกหรือชะลอการสั่งซื้อสินค้า

อัญมณีและเครื่องประดับ ภาพรวมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 ด้านการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.52 และการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.63 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ด้านการส่งออกโดยภาพรวมมีการขยายตัวร้อยละ 11.50 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เป็นผลจากการได้รับคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นซึ่งทำให้มูลค่าการส่งออกพลอยเพิ่มขึ้นร้อยละ 40.93 เครื่องประดับแท้ทำด้วยเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.59 และเครื่องประดับแท้ทำด้วยทองเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.61 สำหรับการนำเข้าสินค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบในไตรมาสนี้เพิ่มขึ้นร้อยละ 117.78 เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา และเพิ่มขึ้นร้อยละ 114.52 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าทองคำยังไม่ขึ้นรูป เนื่องจากในปลายไตรมาสที่ 3 มีการปรับลดลงของราคาทองคำในตลาดโลกจากระดับสูงสุด 1,900 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ มาอยู่ระดับต่ำกว่า 1,700 เหรียญสหรัฐฯต่อออนซ์

แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 ปัจจัยด้านบวก คือ ความสำเร็จของการจัดงานบางกอกเจมส์แอนด์ จิวเวลรี่แฟร์ ครั้งที่ 48 ที่ผู้ประกอบได้รับคำสั่งซื้ออย่างมาก และราคาทองคำในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นสู่ระดับมากกว่า 1,800 เหรียญสหรัฐฯ ต่อออนซ์ อีกครั้งจะเป็นสาเหตุให้เกิดการส่งออกทองคำยังไม่ได้ขึ้นรูปเพิ่มขึ้นอย่างมาก ปัจจัยด้านลบ คือ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้หากการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมีความชัดเจนยิ่งขึ้นจะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับได้มากกว่านี้ อย่างไรก็ดีในภาพรวมคาดการณ์ว่าแนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 จะขยายตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ผ่านมา

อาหาร ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2554 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาลทราย) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 9.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตในกลุ่มสำคัญ เช่นสินค้าประมง ผักและผลไม้ น้ำมันพืช และอาหารสัตว์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น (ตารางที่ 1) เป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และหากพิจารณารวมการผลิตน้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหารเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 35.3 เนื่องจากสิ้นสุดฤดูหีบอ้อยแล้ว การผลิตเป็นการละลายน้ำตาลทรายดิบเพื่อทำการผลิตน้ำตาลทรายขาว แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 เป็นผลจากการผลิตน้ำตาลทรายขาวเพื่อชดเชยโควตาส่งออกของปีก่อนที่ถูกนำมาใช้ในประเทศช่วงต้นปี

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 คาดว่าทิศทางการผลิต และการส่งออกจะปรับตัวลดลง จากปริมาณวัตถุดิบลดลงในพื้นที่เพาะปลูกที่ประสบอุทกภัยซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าปศุสัตว์ ประมง สับปะรด มันสำปะหลัง ข้าว และผักต่างๆ เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารส่งออกส่วนใหญ่ที่สร้างมูลค่าสูง ได้แก่ กลุ่มสินค้าอาหารทะเล ประกอบด้วย ทูน่ากระป๋องและแปรรูป กุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ปลากระป๋อง และอื่นๆ ซึ่งจะตั้งโรงงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการและสมุทรสาคร ซึ่งหากได้รับผลกระทบ จะส่งผลต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงการบริโภคทั้งภายในประเทศและการส่งออกต่างประเทศ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ