สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) 2554 (อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 4, 2012 15:49 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิตและการจำหน่ายในประเทศ

1.1 ปริมาณการผลิต

การผลิตปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 9.87 ล้านตันการผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 9.01 ล้านตัน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนการผลิตปูนเม็ดเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.81แต่การผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) ลดลงร้อยละ 1.21 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปูนเม็ด และการผลิตปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.33 และ 3.92 ตามลำดับสำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 มีปริมาณการผลิตปูนเม็ด 28.97 ล้านตันเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 1.70 ส่วนการผลิตซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) มีจำนวน 27.88ล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.53

1.2 การจำหน่ายในประเทศ

การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศ ไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีปริมาณการจำหน่ายรวม 7.61ล้านตัน แบ่งออกเป็นการจำหน่ายปูนเม็ด 0.16 ล้านตัน และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) 7.45 ล้านตันโดยปริมาณการจำหน่ายรวมในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนลดลงร้อยละ 2.44 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.33 สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 มีปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศรวม 23.54 ล้านตัน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.25การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนชะลอตัวลงเล็กน้อย เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน เป็นอุปสรรคในก่อสร้าง รวมทั้งเกิดปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลงตามไปด้วย แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนและในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 การผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศโดยรวมยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากการเติบโตของภาคอสังหาริมทรัพย์ตามภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะในที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรจะขยายตัวมากขึ้น เนื่องจากมีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนออกสู่ชานเมือง รวมทั้งปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยในการเติบโตของอุตสาหกรรม คือ การเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล

2. การส่งออกและการนำเข้า

2.1 การส่งออก

การส่งออกปูนซีเมนต์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีปริมาณรวม 3.16 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า147.99 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการส่งออกปูนเม็ด จำนวน 1.79 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 72.88 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 1.37 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 75.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกรวมลดลงร้อยละ 7.60 และ 3.66 ตามลำดับและเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกรวมลดลงร้อยละ 15.96 และ5.78 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกปูนซีเมนต์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 มีปริมาณการส่งออกรวม9.57 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 444.48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการส่งออกรวมลดลงร้อยละ 14.40 และ 9.75 ตามลำดับ

สำหรับการส่งออกชะลอตัวลง เนื่องจากตลาดภายในประเทศขยายตัว จึงทำให้ผู้ประกอบการหันมาเน้นตลาดภายในประเทศมากขึ้น สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย คือ เมียนมาร์ บังคลาเทศ กัมพูชาเวียดนาม และลาว ตามลำดับ

2.2 การนำเข้า

การนำเข้าปูนซีเมนต์ไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีปริมาณรวม 4,387.14 ตัน คิดเป็นมูลค่า2,012,903 เหรียญสหรัฐฯ โดยเป็นการนำเข้าปูนเม็ด จำนวน 154.23 ตัน คิดเป็นมูลค่า 65,946 เหรียญสหรัฐฯ และปูนซีเมนต์ (ไม่รวมปูนเม็ด) จำนวน 4,232.91 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1,946,957 เหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.61 และ 25.78 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้น ร้อยละ 34.40 และ 61.56ตามลำดับ

สำหรับการนำเข้าปูนซีเมนต์ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 มีปริมาณการนำเข้ารวม11,400.53 ตัน คิดเป็นมูลค่า 5,046,637 เหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ปริมาณและมูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.26 และ 37.96 ตามลำดับ ทั้งนี้การนำเข้าส่วนใหญ่จะเป็นอะลูมินัสซีเมนต์ ซึ่งไม่สามารถผลิตได้ในประเทศ และบางส่วนเป็นการนำเข้าซีเมนต์ปอร์ตแลนด์คุณภาพสูงเพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ที่ระบุคุณสมบัติของวัสดุที่นำมาก่อสร้าง ตลาดนำเข้าที่สำคัญ คือ จีน เนเธอร์แลนด์อินเดีย และญี่ปุ่น

3. สรุป

ภาวะอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนชะลอตัวลง เนื่องจากอยู่ในช่วงฤดูฝน รวมทั้งเกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ทำให้เป็นอุปสรรคในการก่อสร้างและการขนส่ง ทำให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ลดลงตามไปด้วย แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และในภาพรวมช่วงครึ่งแรกของปี อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์ ตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรรจะขยายตัวมากขึ้นเนื่องจากมีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนออกสู่ชานเมือง รวมทั้งปัจจัยสำคัญที่มีส่วนช่วยในการเติบโตของอุตสาหกรรม คือ การเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล ซึ่งจะมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยลบคือต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศในไตรมาสที่ 4 ปี 2554คาดว่าจะชะลอตัวลง ทั้งที่เป็นช่วงเริ่มต้นที่จะเข้าสู่ฤดูกาลก่อสร้าง เนื่องจากเกิดภาวะน้ำท่วมขังเป็นเวลานานในหลายพื้นที่ทำให้เป็นอุปสรรคในการก่อสร้างและการขนส่ง จึงส่งผลกระทบให้ความต้องการใช้ปูนซีเมนต์ภายในประเทศลดลงตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะเริ่มขยายตัวขึ้นในช่วงต้นปีหน้า เนื่องจากเป็นช่วงฤดูกาลก่อสร้าง รวมทั้งมีการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่เสียหายหลังจากน้ำท่วม

การส่งออกปูนซีเมนต์ลดลง ทั้งนี้ เนื่องจากตลาดภายในประเทศขยายตัว ทำให้ผู้ประกอบการหันมาเน้นตลาดภายในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวโน้มการส่งออกในไตรมาสที่ 4 ปี 2554คาดว่ายังขยายตัวได้ เนื่องจากตลาดส่งออกหลักของไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศกำลังพัฒนายังมีความจำเป็นต้องใช้ปูนซีเมนต์ในกิจกรรมการก่อสร้าง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งคุณภาพของปูนซีเมนต์ไทยเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ