สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) 2554 (อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 5, 2012 10:05 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 เมื่อพิจารณาจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ดัชนีฯ ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ทั้งการผลิตเส้นใยสิ่งทอรวมทั้งการทอสิ่งทอ (ISIC 1711) การผลิตผ้าที่ได้จากการถักนิตติ้งหรือโครเชท์ (ISIC 1730) และการผลิตเครื่องแต่งกายยกเว้นเครื่องแต่งกายที่ผลิตจากขนสัตว์ (ISIC 1810) ลดลงร้อยละ 8.7, 5.5 และ 1.9 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตเส้นใยสิ่งทอฯการผลิตผ้าฯ และการผลิตเครื่องแต่งกายฯ ลดลงร้อยละ 20.7, 41.2 และ 26.5 ตามลำดับ ซึ่งโรงงานอุตสาหกรรมต้นน้ำ โรงงานตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูปและเครื่องนุ่งห่มได้ชะลอการผลิตลงตั้งแต่ปลายไตรมาสที่ผ่านมา จะผลิตเท่าที่มีคำสั่งซื้อเท่านั้น ส่งผลให้การผลิตทั้งที่ผลิตเพื่อการส่งออกและการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศลดลง ซึ่งเป็นเหตุให้มีการนำสินค้าในสต๊อกออกมาจำหน่ายเพิ่มขึ้น ประกอบกับคำสั่งซื้อจากสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปปรับตัวลดลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป และปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นปลายไตรมาสนี้ ทำให้โรงงานผลิตเส้นใยโพลีเอสเตอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นสิ่งทอต้นน้ำที่ได้รับความเสียหายค่อนข้างมากในจังหวัดลพบุรี ขณะนี้ได้หยุดการผลิตแล้ว

2. การส่งออก

การส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 2,183.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มูลค่าการส่งออก 2,096.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯและเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 2,007.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยจำแนกผลิตภัณฑ์ที่สำคัญ ๆ ดังนี้

2.1 เสื้อผ้าสำเร็จรูป ไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 775.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขื้นร้อยละ 4.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 744.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 766.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยเสื้อผ้าสำเร็จรูปที่ผลิตจากฝ้ายมีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดร้อยละ 36.9 ของการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปทั้งหมด

2.2 ผ้าผืน ไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 417.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ1.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีมูลค่าการส่งออก 410.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 378.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2.3 ด้ายและด้ายเส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 280.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 257.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2.4 เส้นใยประดิษฐ์ ไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 244.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่าการส่งออก 219.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 41.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 172.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

3. ตลาดส่งออก

ตลาดส่งออกที่สำคัญของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มไทย มีดังนี้

อาเซียน ไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 396.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.6เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ18.2 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็น ผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ สิ่งทออื่นๆ และด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น

สหภาพยุโรป ไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 379.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 3.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.4 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าส่งออกส่วนใหญ่เป็นเครื่องนุ่งห่ม (เช่น เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องยกทรง รัดทรงและส่วนประกอบ) ผ้าผืน และด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น

สหรัฐอเมริกา ไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 377.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่ลดลงร้อยละ 11.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าการส่งออก 428.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 17.3 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด สินค้าที่ส่งออกส่วนใหญ่เป็นเครื่องนุ่งห่ม เคหะสิ่งทอ และเส้นใยประดิษฐ์ ตามลำดับ

ญี่ปุ่น ไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 205.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.4เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเพิ่มขึ้นร้อยละ 47.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 9.4 ของการส่งออกสิ่งทอทั้งหมด โดยสินค้าส่งออกของไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มของเครื่องนุ่งห่ม ด้ายเส้นใยประดิษฐ์ สิ่งทออื่นๆ และ ผ้าผืน เป็นต้น

4. การนำเข้า

การนำเข้าสิ่งทอในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่นำเข้าส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น เส้นใยใช้ในการทอ ด้ายทอผ้า ผ้าผืน และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้าแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสิ่งทอ และ กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป โดยมีรายละเอียดดังนี้

4.1 กลุ่มสิ่งทอ มีมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอ (เส้นใยฯ เส้นด้ายฯ ผ้าผืน และ ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ) รวมทั้งสิ้น 1,574.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 17.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ14.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าถึงร้อยละ 92.2 ของมูลค่าการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มโดยรวม ผลิตภัณฑ์สำคัญที่นำเข้ามีดังนี้

4.1.1 เส้นใยที่ใช้ในการทอ มีมูลค่านำเข้า 296 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 33.4เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 444.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย สัดส่วนนำเข้าร้อยละ41.3, 18.9 และ 5.1 ตามลำดับ

4.1.2 ด้ายทอผ้าฯ มีมูลค่านำเข้า 179.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 191.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และ เวียดนาม สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 25.0, 15.2 และ 14.5ตามลำดับ

4.1.3 ผ้าผืน มีมูลค่านำเข้า 443.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 469.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น สัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 49.4, 13.6 และ 7.4ตามลำดับ

4.1.4 ผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่นๆ มีมูลค่านำเข้า 87.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนร้อยละ 13.2 ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 77.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และ ไต้หวัน สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 40.5, 16.0และ 6.3 ตามลำดับ

4.2 กลุ่มเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีมูลค่านำเข้าทั้งสิ้น 134.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ29.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 103.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 52.7 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 7.8 ของการนำเข้าสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มทั้งหมด ตลาดนำเข้าหลักคือ จีน ฮ่องกง และญี่ปุ่น สัดส่วนร้อยละ 54.1, 5.3 และ 4.4 ตามลำดับ

4.3 เครื่องจักรสิ่งทอ มีมูลค่านำเข้า 90.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ซึ่งมีมูลค่านำเข้า 85.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น จีน และ ไต้หวัน สัดส่วนนำเข้าร้อยละ 28.5, 15.7 และ13.9 ตามลำดับ

5. สรุปและแนวโน้ม

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 การผลิต การจำหน่ายในประเทศชะลอตัวลง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและปัญหาหนี้สาธารณะของยุโรป โดยเฉพาะจากสหภาพยุโรปส่งผลให้มีคำสั่งซื้อและการส่งออกในไตรมาสนี้ลดลงร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน แต่อย่างไรก็ตามการส่งออกไปยังตลาดหลักอื่นๆ ยังมีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาเซียน ญี่ปุ่น และ สหรัฐอเมริกา เพิ่มขึ้นร้อยละ5.6, 14.4 และ 2.6 ตามลำดับ รวมถึงปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โดยเฉพาะโรงงานผลิตสิ่งทอต้นน้ำที่ได้รับความเสียหายค่อนข้างมากในจังหวัดลพบุรี ขณะนี้ได้หยุดการผลิตแล้ว

แนวโน้มการผลิตและการส่งออกในไตรมาส 4 ปี 2554 มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายๆ จังหวัด ที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ตั้งแต่โรงงานต้นน้ำถึงปลายน้ำ ในห่วงโซ่การผลิตเครื่องนุ่งห่ม อาทิ กลุ่มสิ่งทอ ฟอกย้อม และ โรงงานตัดเย็บเครื่องนุ่งห่ม เป็นจำนวนมากทั้งในจังหวัดลพบุรี และโรงงานที่ตั้งอยู่บนถนนเพชรเกษมได้เริ่มปิดโรงงานไปแล้ว ภาวะดังกล่าวจะกระทบต่อการส่งมอบสินค้าตามที่รับคำสั่งซื้อไว้ หากน้ำท่วมยาวนานจะเสียหายต่อการส่งออกและจะกระทบลามไปจนถึงการส่งออกในปีหน้า เพราะหากลูกค้าขาดความเชื่อมั่นเรื่องการสั่งสินค้า อาจจะหันไปสั่งซื้อจากประเทศคู่แข่งทั้งเวียดนามและจีน ทำให้ไทยเสียส่วนแบ่งการตลาดให้กับคู่แข่ง ซึ่งจะดึงกลับคืนมาได้ยาก จากข้อเท็จจริงโดยทั่วไปของตลาดสหรัฐอเมริกากับสหภาพยุโรป ช่วงที่สินค้าจำหน่ายดีที่สุดคือช่วงก่อนเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ แต่ถ้าหากส่งมอบล่าช้าจะกระทบต่อคำสั่งซื้อที่จะเข้ามาใหม่ในปี 2555 และเหตุผลอีกประการหนึ่งคือการเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้ผู้บริโภคทั้งในสหรัฐอเมริกาและยุโรปจับจ่ายสินค้าเครื่องนุ่งห่มน้อยลงทั้งในสินค้าที่มีคุณภาพและราคาสูง และสินค้าระดับกลางก็เริ่มมีผลกระทบแล้ว ส่วนสินค้าระดับล่างหรือสินค้าที่มีการเพิ่มมูลค่าต่ำ พบว่าขณะนี้ได้เสียส่วนแบ่งตลาดให้กับเวียดนาม กัมพูชา เพราะมีต้นทุนผลิตที่ถูกกว่าและได้สิทธิจีเอสพี (GSP) ส่งผลให้นักลงทุนในประเทศเตรียมแผนย้ายฐานไปยังประเทศดังกล่าว ซึ่งหลังจากนี้จะส่งผลเกิดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตได้ แต่อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการนอกจากจะต้องเร่งขยายการส่งออกไปยังตลาดอื่นๆ ที่ยังคงมีศักยภาพ เพื่อทดแทนตลาดหลักที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติดังกล่าว ยังคงต้องรักษาส่วนแบ่งตลาดกับการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตให้เต็มกำลังด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ