สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) 2554 (อุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 5, 2012 10:09 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีปริมาณการผลิต2.28 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.57 แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 5.79 ทั้งนี้ปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศเริ่มฟื้นตัว และการส่งออกไปตลาดต่างประเทศขยายตัวได้ดี ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้น

2. การตลาด

2.1 การจำหน่ายในประเทศ

ปริมาณการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีปริมาณการจำหน่าย 1.02 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ7.37 และ 3.03 ตามลำดับ ทั้งนี้ปริมาณการจำหน่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น อีกทั้งตลาดของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนยังมีความต้องการสูง โดยเฉพาะตลาดกลางและตลาดบน

2.2 การส่งออก

การส่งออกของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 มีมูลค่าการส่งออกรวมทั้งสิ้น 844.95 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.52 และ 20.74 ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักของไทย ได้แก่สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่นหลังวิบัติภัย และจีน รวมทั้งการส่งออกไปตลาดรองของไทย เช่น ออสเตรเลียประเทศกลุ่มสมาชิกอาเซียน และประเทศแถบตะวันออกกลาง ขยายตัวได้ดี

สำหรับรายละเอียดการส่งออกในแต่ละประเภทผลิตภัณฑ์ของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือน แบ่งเป็น 3 กลุ่มประเภทสินค้า ดังนี้

1) กลุ่มเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน ประกอบด้วย เครื่องเรือนไม้ เครื่องเรือนอื่นๆและชิ้นส่วนเครื่องเรือน ในไตรมาสนี้ มีมูลค่าการส่งออก 270.42 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 32 ของมูลค่าการส่งออกในสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.70 และ 2.12 ตามลำดับ สำหรับผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ สินค้าประเภทเครื่องเรือนไม้ โดยตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าประเภทเครื่องเรือนและชิ้นส่วนเครื่องเรือน คือ ประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย

2) กลุ่มผลิตภัณฑ์ไม้ ประกอบด้วยเครื่องใช้ทำด้วยไม้ อุปกรณ์ก่อสร้างไม้ กรอบรูปไม้ และรูปแกะสลักไม้ ในไตรมาสนี้ มีมูลค่าการส่งออก 69.67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 8 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 17.15 และ 10.17 ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือ รูปแกะสลักไม้ ตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ไม้ คือ ประเทศสหรัฐอเมริกาญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสวิตเซอร์แลนด์

3) กลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ประกอบด้วยผลิตภัณฑ์ไม้แปรรูป แผ่นไม้วีเนียร์ ไม้อัด ไฟเบอร์บอร์ด (Fiber Board) และผลิตภัณฑ์ไม้อื่น ๆ โดยไตรมาสนี้ มีมูลค่าการส่งออก 504.86 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ60 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประเภทไม้และเครื่องเรือนทั้งหมด มูลค่าการส่งออกเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.36 และ 35.81 ตามลำดับโดยผลิตภัณฑ์ที่มีสัดส่วนในการส่งออกมากที่สุดในกลุ่มนี้ คือไม้แปรรูป รองลงมาคือ ไฟเบอร์บอร์ด สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญของกลุ่มไม้แปรรูปและผลิตภัณฑ์ไม้แผ่น ได้แก่ ประเทศจีน มาเลเซีย และเวียดนาม

2.3 การนำเข้า

มูลค่าการนำเข้าในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีจำนวน 175.14 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.40 และ 30.65 ตามลำดับ การนำเข้าสินค้าประเภทไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ส่วนใหญ่จะเป็นการนำเข้าวัตถุดิบไม้ท่อนประเภทไม้เนื้อแข็ง ได้แก่ ไม้แปรรูปและไม้ซุง ซึ่งนำเข้ามาผลิตสินค้าต่อเนื่อง เช่น เครื่องเรือนประเภทต่าง ๆ โดยไม้แปรรูปส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศมาเลเซีย ลาว และนิวซีแลนด์ สำหรับไม้ซุงส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเมียนมาร์และมาเลเซีย และในส่วนของผลิตภัณฑ์ไม้อัดและไม้วีเนียร์นำเข้าจากประเทศจีน และมาเลเซีย

3. สรุปและแนวโน้ม

การผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มฟื้นตัว และการส่งออกไปตลาดต่างประเทศที่ขยายตัวได้ดี ทำให้ผู้ประกอบการมีความเชื่อมั่นในการลงทุนมากขึ้นและเพิ่มปริมาณการผลิตการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 3ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายมากขึ้น อีกทั้งตลาดกลางและตลาดบนยังมีความต้องการสูง

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว และอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล แต่ปัจจัยเสี่ยง คือ ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ทั้งวัตถุดิบ แรงงาน น้ำมันและค่าแรง ตลอดจนเงินเฟ้อที่อยู่ในอัตราสูง อีกทั้งผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมน่าจะเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นในไตรมาสที่ 4 นี้ ทั้งในส่วนของความเสียหายของโรงงานและผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามคาดว่าอุปสงค์ของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนจะขยายตัวหลังน้ำลดในไตรมาสที่ 1 ปี 2555การส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลักและตลาดรองของไทยขยายตัวได้ดี

สำหรับแนวโน้มการส่งออกของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 คาดว่าจะทรงตัว จากอุปสงค์ของตลาดหลักของไทย โดยเฉพาะญี่ปุ่น ที่เริ่มฟื้นฟูประเทศหลัง วิบัติภัย ส่งผลให้อุปสงค์ของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และตลาดรองของไทย โดยเฉพาะประเทศสมาชิกอาเซียน และประเทศแถบตะวันออกกลางและเอเซียใต้ มีศักยภาพและกำลังซื้อสูง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงคือ ความผันผวนของราคาน้ำมัน การแข็งค่าของเงินบาท และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและภาคอสังหาริมทรัพย์ในในตลาดส่งออกหลักของไทย โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา ยังเปราะบาง รวมถึงผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมที่มีผลต่อการผลิตเพื่อการส่งออก เช่น ปัญหาของการส่งมอบสินค้า น่าจะเห็นภาพชัดเจนมากยิ่งขึ้นในไตรมาสที่ 4 นี้

ในสภาวะที่เศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว และเศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยง การพัฒนาบุคลากรในการบริหารจัดการวัตถุดิบ โลจิสติกส์ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการประหยัดพลังงาน เพื่อลดต้นทุนนับว่าเป็นสิ่งจำเป็น รวมถึงการหาพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อขยายตลาดภายในประเทศ การพัฒนาการออกแบบเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า และการหาตลาดใหม่ๆ ที่มีศักยภาพและมีกำลังซื้อสูง เช่น รัสเซียและอินเดีย เป็นต้นเพื่อลดการพึ่งพาตลาดส่งออกหลัก

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ