สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) 2554 (อุตสาหกรรมยา)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 5, 2012 10:15 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 มีปริมาณ 7,995.8 ตัน เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4 โดยมาจากคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ ประกอบกับมาตรการควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ที่ให้ใช้ยาในประเทศทดแทนมากขึ้น เป็นการสร้างโอกาสให้มีความต้องการยาสามัญในประเทศเพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้น ร้อยละ 1 เนื่องจากเป็นช่วงปลายปีงบประมาณ ทำให้มีคำสั่งซื้อจากสถานพยาบาลภาครัฐมากขึ้น อย่างไรก็ตามในช่วง 9 เดือนแรกของปี2554 การผลิตยามีปริมาณ 22,876.8 ตัน ลดลง ร้อยละ 0.1 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของ ปีก่อน เนื่องจากยาบางชนิดที่เคยมีความต้องการสูง ถูกควบคุมการจำหน่าย ทำให้ผู้ผลิตลดปริมาณการผลิตลง นอกจากนี้ผู้ผลิตยังเลิกทำการผลิตยาบางชนิดที่ไม่ได้กำไรด้วย ส่งผลให้ปริมาณการผลิตลดลง

2. การจำหน่าย

การจำหน่ายยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 มีปริมาณ 7,590 ตัน ลดลงจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 5.9 สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 มีปริมาณ การจำหน่าย22,097.8 ตัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4 โดยเฉพาะยาน้ำมีปริมาณการจำหน่ายลดลงมากเนื่องจากยาบางรายการที่อยู่ในรูปแบบยาน้ำ ซึ่งผู้ผลิตเคยจำหน่ายได้ปริมาณมากในปีก่อน ถูกเปลี่ยนประเภทจากยาอันตราย เป็นยาควบคุมพิเศษ ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์ เพื่อจำกัดปริมาณการกระจายยา และลดช่องทางการจำหน่าย ไม่ให้มีการนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติด ส่งผลให้ผู้ผลิตไม่สามารถจำหน่ายยาชนิดนั้นได้ในวงกว้างเช่นที่ผ่านมา และแม้ว่าผู้ผลิตจะทำการผลิตยาสามัญชนิดใหม่ ซึ่งมีกำไรดีกว่า ขึ้นมาทดแทนยาที่ไม่ได้กำไรและเลิกผลิต แต่สามารถจำหน่ายได้ในปริมาณน้อย เนื่องจากเป็นยารักษาโรคเฉพาะทาง ส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายลดลง อย่างไรก็ตาม ยายังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต ดังนั้น ปริมาณการจำหน่ายจึงไม่ได้ลดลงมากนัก และหากเทียบกับไตรมาสก่อน ปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 5 เนื่องจากเป็นช่วงปลายปีงบประมาณ ทำให้มีการเร่งการใช้จ่าย เพื่อจัดซื้อยาของสถานพยาบาลภาครัฐ ซึ่งเป็นตลาดหลักของผู้ผลิต

3. การนำเข้า

การนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 มีมูลค่า 10,581.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และไตรมาสก่อน ร้อยละ 5 และ 9.8 ตามลำดับ โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี สวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และอินเดีย ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 4,587.8 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 43.4 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 มีมูลค่าการนำเข้า 29,173.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 2.1 โดยตลาดนำเข้าที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร และอินเดีย ซึ่งการนำเข้าจากประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 12,434.9 ล้านบาท หรือ ร้อยละ 42.6 ของมูลค่าการนำเข้ายารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด

มูลค่าการนำเข้ายายังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่เป็นยาสิทธิบัตร ที่ใช้สำหรับโรคที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การเติบโตของการนำเข้าไม่ได้สูงมาก เนื่องจากตลาดยานำเข้าได้รับผลกระทบจากนโยบายควบคุมการเบิกจ่ายยาในระบบสวัสดิการของรัฐ ซึ่งผู้นำเข้าต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจ ที่นอกเหนือจากกลยุทธ์เดิมที่ดำเนินการอยู่แล้ว (เช่น กิจกรรมเพื่อสังคม และการจำหน่ายยาให้กับบุคลากรทางการแพทย์โดยตรง เป็นต้น) โดยการปรับลดราคายาบางรายการลง ให้สอดคล้องกับรายได้ของคนในประเทศ เพื่อให้ผู้ป่วย/ประชาชนเข้าถึงยาได้มากขึ้น นอกจากนี้ยาสามัญ มีแนวโน้มการนำเข้ามากขึ้นเช่นกันซึ่งเป็นผลจากความต้องการใช้ยาสามัญเพิ่มขึ้นจากนโยบายภาครัฐที่กล่าวข้างต้น

4. การส่งออก

การส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรค ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 มีมูลค่า 1,742.4 ล้านบาท ขยายตัวจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 3.1 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญในไตรมาสนี้ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ ญี่ปุ่น กัมพูชาและมาเลเซีย ซึ่งการส่งออกไปประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 1,159.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 66.6 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด สำหรับในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 4,924.8ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 1.2 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์กัมพูชา มาเลเซีย และญี่ปุ่น ซึ่งการส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวมีมูลค่ารวม 3,307.2 ล้านบาท หรือ ร้อยละ67.2 ของมูลค่าการส่งออกยารักษาหรือป้องกันโรคทั้งหมด ทั้งนี้ มีข้อสังเกตว่าในช่วงนี้ประเทศญี่ปุ่นเปลี่ยนสถานะเป็นตลาดส่งออกหนึ่งที่สำคัญของไทย นอกเหนือจากประเทศในอาเซียน ซึ่งส่วนหนึ่งอาจเกิดจากการที่ญี่ปุ่นประสบภัยสึนามิ เมื่อช่วงไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมา ทำให้บริษัทแม่ในประเทศญี่ปุ่นต้องนำเข้าสินค้า เช่น ยาปฏิชีวนะ จากบริษัทญี่ปุ่นที่เข้ามาร่วมทุนกับประเทศไทยมากขึ้น

สำหรับการขยายตัวของการส่งออก มีสาเหตุจากการที่ผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า และสามารถหาตลาดส่งออกใหม่ๆ รวมทั้งรับจ้างผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลก ในการผลิตสินค้า เพื่อจำหน่ายทั้งในประเทศและอาเซียน อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกลดลง ร้อยละ 8.7 เนื่องจากการส่งออกไปตลาดหลัก เช่น เวียดนาม มีมูลค่าและปริมาณลดลง ซึ่งอาจเกิดจากคู่แข่ง คือ มาเลเซีย และสิงคโปร์ ขยายการส่งออกไปยังประเทศดังกล่าวมากขึ้น

5. สรุปและแนวโน้ม

ปริมาณการผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งการควบคุมการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล ได้สร้างโอกาสให้มีความต้องการยาสามัญในประเทศเพิ่มขึ้น แต่ปริมาณการจำหน่ายยากลับชะลอตัวลง เนื่องจากยาซึ่งผู้ผลิตเคยจำหน่ายได้ปริมาณมากในปีก่อน ถูกเปลี่ยนประเภทจากยาอันตราย เป็นยาควบคุมพิเศษ เพื่อจำกัดปริมาณการกระจายยา และลดช่องทางการจำหน่าย ไม่ให้นำไปใช้เป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาเสพติดส่งผลให้ผู้ผลิตไม่สามารถจำหน่ายยาชนิดนั้นได้ในวงกว้างเช่นที่ผ่านมา และแม้ว่าผู้ผลิตจะทำการผลิตยาสามัญชนิดใหม่ ซึ่งมีกำไรดีกว่า ขึ้นมาทดแทนยาที่ไม่ได้กำไรและเลิกผลิต แต่สามารถจำหน่ายได้ในปริมาณน้อยเนื่องจากเป็นยารักษาโรคเฉพาะทาง ส่วนมูลค่าการนำเข้ายา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นยามีสิทธิบัตร มีอัตราการขยายตัวไม่สูงมากนัก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากนโยบายควบคุมการเบิกจ่ายยาในระบบสวัสดิการของรัฐ สำหรับมูลค่าการส่งออกยามีการขยายตัว โดยผู้ผลิตได้พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพเป็นที่เชื่อมั่นของประเทศคู่ค้า รวมทั้งสามารถหาตลาดส่งออกใหม่ๆ ตลอดจนรับจ้างผู้ผลิตเวชภัณฑ์ชั้นนำของโลก ในการผลิตสินค้า เพื่อจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ

แนวโน้มในไตรมาสที่ 4/2554 คาดว่า ปริมาณการผลิตจะชะลอตัวเล็กน้อย เมื่อเทียบกับ ไตรมาสก่อนเนื่องจากปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ของประเทศ ซึ่งอาจทำให้โรงงานอุตสาหกรรมยาได้รับ ความเสียหายไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ แม้จะมีความต้องการซื้อ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเยียวยาผู้ผลิต ลดผลกระทบที่จะเกิดกับผู้บริโภค และป้องกันไม่ให้เกิดการขาดแคลนยา รวมทั้งควบคุมคุณภาพและราคายา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ได้ขอให้ผู้ผลิตยาที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย แจ้งมายัง อย. ว่าจะให้ผู้ผลิตรายใดผลิตยาให้เป็นการชั่วคราว โดยบริษัทที่ผลิตนั้นจะต้องได้มาตรฐาน GMP ในหมวดที่จะผลิตตามที่ อย. กำหนด สำหรับผู้ผลิตที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ ขอให้เร่งการผลิตให้เต็มศักยภาพดังนั้น ปริมาณการผลิตจึงไม่น่าจะลดลงมาก ในส่วนปริมาณการจำหน่ายยาในประเทศ คาดว่าจะชะลอตัวเช่นกัน แม้มีความต้องการยาชุดน้ำท่วม ได้แก่ ยาลดไข้ ยารักษาโรคน้ำกัดเท้า และยารักษาโรคผิวหนัง รวมถึงยาอื่นๆ เพิ่มขึ้น แต่ปัญหาอุทกภัย ทำให้น้ำท่วมพื้นผิวจราจรในหลายเส้นทาง ส่งผลต่อการกระจายสินค้ารวมทั้งยังไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันต่อความต้องการซื้อด้วย

ด้านมูลค่าการนำเข้า คาดว่า จะขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งจากการนำเข้ายาต้นแบบ และยาสามัญเนื่องจากมีความต้องการสูง รวมทั้ง อย. ให้ผู้ผลิตที่มีความประสงค์นำเข้ายา เพื่อทดแทนยาที่ไม่สามารถผลิตได้ในช่วงน้ำท่วม ประสานกับองค์การเภสัชกรรม ให้องค์การฯ เป็นผู้นำเข้าแทน และส่งมอบยาให้แก่ผู้ผลิต เพื่อส่งต่อให้กับโรงพยาบาล ส่วนมูลค่าการส่งออก คาดว่า จะชะลอตัว เนื่องจากความต้องการภายในประเทศมีจำนวนมาก รวมทั้งผู้ผลิตต้องเตรียมยาไว้เพื่อรับเปลี่ยนกับสินค้าที่เสียหายจากโรงพยาบาลที่ประสบอุทกภัยด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ