สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) 2554 (อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 5, 2012 10:39 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

การผลิตยางแปรรูปขั้นต้นในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.31 และ 12.23 ตามลำดับ สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ยางที่สำคัญ แบ่งออกเป็น การผลิตยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน ยางใน และถุงมือยาง ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางใน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.94 5.95 และ 7.56 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตยางนอกรถยนต์และยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.48 และ 8.93 ตามลำดับ ในขณะที่การผลิตยางในลดลงร้อยละ 5.26 ในส่วนของถุงมือยาง ถุงมือตรวจมีการผลิตเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 0.92 และ 0.88 ตามลำดับ

ในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2554 การผลิตยางแปรรูปขั้นต้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.45 สำหรับการผลิตยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ5.21 และ 11.00 ตามลำดับ แต่ในส่วนของการผลิตยางในลดลงร้อยละ 8.88 และในส่วนของถุงมือยาง ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.53

ในภาพรวมการผลิตยางแปรรูปขั้นต้นขยายตัวเพิ่มขึ้น และการผลิตผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวเกือบทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะยางยานพาหนะ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะขยายตัวตามไปด้วย อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการผลิตยางใน ในช่วง 9 เดือนแรก ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในช่วงต้นปี มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางในรถจักรยานยนต์จากจีนมากผิดปกติ โดยผลิตภัณฑ์ยางในรถจักรยานยนต์จากจีน ถึงแม้จะถูกเก็บภาษีนำเข้าร้อยละ 10 แล้ว ยังมีราคาขายถูกกว่ายางในภายในประเทศมากกว่าร้อยละ 50 เนื่องจากสินค้าจากจีนมีต้นทุนที่ต่ำมาก ทำให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยางในภายในประเทศ สำหรับในส่วนของการผลิตถุงมือยาง ถุงมือตรวจ ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์ และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นในประเทศ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.58 และ 40.05 ตามลำดับ สำหรับการจำหน่ายยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน และยางใน เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน มีการปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.09 11.10 และ 11.24 ตามลำดับ และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนยางนอกรถยนต์ และยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้น ร้อยละ 0.09 และ6.37 ตามลำดับ ขณะที่ยางในมีปริมาณการจำหน่ายลดลง ร้อยละ 17.41 สำหรับถุงมือยาง ถุงมือตรวจเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มีปริมาณการจำหน่ายเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.62 และ11.05 ตามลำดับ

ในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2554 การจำหน่ายยางแปรรูปขั้นต้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.20สำหรับการจำหน่ายยางนอกรถยนต์ ยางนอกรถจักรยานยนต์/รถจักรยาน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.21 และ 0.07 ตามลำดับ ในส่วนของถุงมือยาง ถุงมือตรวจ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีการจำหน่ายลดลงร้อยละ 14.01

การจำหน่ายยางและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศ ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวขึ้น ทำให้ความต้องการใช้ยางเพื่อนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในประเทศยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องอย่างไรก็ตาม ในส่วนของการจำหน่ายยางในภายในประเทศ ในช่วง 9เดือนแรก ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในช่วงต้นปีมีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยางในรถจักรยานยนต์จากจีนมากผิดปกติ ซึ่งมีราคาต่ำกว่ายางในภายในประเทศมาก จึงทำให้ส่งผลกระทบต่อการจำหน่ายภายในประเทศ

2.2 ตลาดส่งออก

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นของไทย ประกอบด้วย ยางแผ่น ยางแท่ง น้ำยางข้นและยางพาราอื่นๆ โดยในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 3,746.15 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.14 และ 89.10 ตามลำดับ และในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2554 ยางแปรรูปขั้นต้น มีมูลค่าการส่งออก 10,199.57 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 84.35 สำหรับตลาดส่งออกที่สำคัญยังคงเป็นประเทศจีน มาเลเซีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

สำหรับการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ซึ่งประกอบด้วย ยางยานพาหนะ ถุงมือยาง ยางรัดของหลอดและท่อ สายพานลำเลียงและส่งกำลัง ผลิตภัณฑ์ยางที่ใช้ในทางเภสัชกรรม ยางวัลแคไนซ์ และผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ ซึ่งมูลค่าการส่งออกผลิตภัณฑ์ยาง ในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีจำนวน 2,255.70 ล้านเหรียญสหรัฐฯเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 11.92 และ 34.87ตามลำดับ ในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2554 การส่งออกของผลิตภัณฑ์ยาง มีมูลค่า 6,255.91 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33.51 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกาญี่ปุ่น เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์

การส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นและผลิตภัณฑ์ยางที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ประเทศผู้ใช้ยางทุกประเทศมีแนวโน้มความต้องการเพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะประเทศจีนเป็นประเทศที่นำเข้ายางแปรรูปขั้นต้นเกือบร้อยละ 40ของการส่งออกยางแปรรูปขั้นต้นทั้งหมดของไทย และอินเดียมีการนำเข้ายางธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามอุตสาหกรรมรถยนต์ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ปริมาณการผลิตยางภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ในประเทศ ประกอบกับกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ให้ขยายตัวขึ้นด้วย

2.3 ตลาดนำเข้า

ในไตรมาสที่ 3 ปี 2554 การนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง ยางและเศษยาง และวัสดุทำจากยางมีมูลค่ารวม 608.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยผลิตภัณฑ์ยางนำเข้าที่สำคัญของไทย คือ ยางสังเคราะห์ผลิตภัณฑ์ยางวัลแคไนซ์ และยางรถยนต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการนำเข้ารวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.71 และ 34.68 ตามลำดับ ในช่วง 9 เดือนแรกของ ปี 2554 มูลค่าการนำเข้าผลิตภัณฑ์ยาง ยางและเศษยาง วัสดุทำจากยาง มีมูลค่า 1,704.40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 31.82 การนำเข้าที่เพิ่มขึ้นนี้ เนื่องจากเศรษฐกิจภายในประเทศเริ่มฟื้นตัว ทำให้ความต้องการใช้ยางของผู้บริโภคเพิ่มขึ้น อีกทั้งกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนให้การนำเข้ายางพาราและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้นด้วยตลาดนำเข้าที่สำคัญได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา ไต้หวัน และเยอรมนี

3. สรุปและแนวโน้ม

อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวได้ดี ตั้งแต่ต้นปี 2553 ต่อเนื่องจนถึงปี 2554โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยางยานพาหนะ เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจโลกเริ่มขยายตัว ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะขยายตัวตามไปด้วย ยกเว้นผลิตภัณฑ์ยางในรถจักรยานยนต์ที่มีปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศลดลง เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้ายางในจักรยานยนต์จากประเทศจีนเข้ามามากผิดปกติ ทำให้ผู้ประกอบการต้องลดการผลิตลง สำหรับในส่วนของการผลิตถุงมือยางยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ

แนวโน้มในไตรมาสที่ 4 ปี 2554 คาดว่าอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง ในส่วนของอุตสาหกรรมยางยานพาหนะ จะชะลอตัวลง เนื่องจากปัญหาภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ทำให้โรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่หยุดการผลิตเป็นการชั่วคราว ทำให้ส่งผลต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมยางรถยนต์ ทั้งนี้หากโรงงานผลิตรถยนต์ที่ปิดตัวไปนั้น ฟื้นตัวและสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้เร็ว ก็จะทำให้อุตสาหกรรมยางรถยนต์ขยายตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย สำหรับในส่วนของอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยางอื่นๆ และอุตสาหกรรมถุงมือยาง ถุงมือตรวจ คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะถุงมือยาง ถุงมือตรวจ ยังคงมีความต้องการอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก ตามกระแสความวิตกกังวลการรักษาสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค อีกทั้งโรงงานผลิตถุงมือยางไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม เนื่องจากส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ภาคใต้ สำหรับการส่งออกคาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ยางแปรรูปขั้นต้น ตามความต้องการของประเทศผู้ใช้ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ประกอบกับกรอบข้อตกลง FTA ก็มีส่วนช่วยผลักดันการส่งออกยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นด้วย อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ต้องระวังคือ ผลของกรอบ FTA นอกจากจะช่วยผลักดันการส่งออกแล้ว ยังส่งผลให้การนำเข้ายางและผลิตภัณฑ์ยางเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวยังคงมีความไม่แน่นอนและผันผวน โดยเฉพาะวิกฤตหนี้สินในสหรัฐอเมริกาและยุโรปอาจจะยืดเยื้อและขยายตัวเป็นวงกว้าง รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทส่งผลกระทบต่อศักยภาพการแข่งขันในตลาดโลกของสินค้าไทยและรายได้ของผู้ส่งออก

สำหรับด้านราคายางพารามีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราในตลาดโลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งทิศทางราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งน้ำมันเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตยางสังเคราะห์เมื่อราคาน้ำมันเพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตยางสังเคราะห์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ทำให้ผู้ผลิตหันมาใช้ยางธรรมชาติมากขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการเก็งกำไรในตลาดซื้อขายล่วงหน้า ทำให้เกิดการกักตุนยางพารา ซึ่งปัจจัยต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลทำให้ราคายางธรรมชาติในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ