สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมไตรมาสที่ 3 (กรกฎาคม — กันยายน) 2554 (อุตสาหกรรมอาหาร)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 5, 2012 10:57 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

1. การผลิต

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2554 ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร (ไม่รวมน้ำตาลทราย)เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.4 จากไตรมาสก่อน และร้อยละ 9.5 จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตในกลุ่มสำคัญ เช่น สินค้าประมง ผักและผลไม้ น้ำมันพืช และอาหารสัตว์ ปรับตัวเพิ่มขึ้น (ตารางที่ 1) เป็นผลจากปริมาณวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น และหากพิจารณารวมการผลิตน้ำตาลทรายจะทำให้ภาพรวมของภาวะการผลิตอุตสาหกรรมอาหาร เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนปรับตัวลดลงร้อยละ 35.3 เนื่องจากสิ้นสุดฤดูหีบอ้อยแล้ว การผลิตเป็นการละลายน้ำตาลทรายดิบเพื่อทำการผลิตน้ำตาลทรายขาว แต่หากเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 เป็นผลจากการผลิตน้ำตาลทรายขาวเพื่อชดเชยโควตาส่งออกของปีก่อนที่ถูกนำมาใช้ในประเทศช่วงต้นปี

ภาวะการผลิตในแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสำคัญในช่วงไตรมาสที่ 3 สรุปได้ ดังนี้

? กลุ่มแปรรูปธัญพืชและแป้ง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 35.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากเป็นช่วงที่ปริมาณวัตถุดิบเพิ่มขึ้นตามฤดูกาล และเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากในปีก่อนปริมาณผลผลิตลดลงจากการเกิดโรคระบาด เช่น เพลี้ยแป้งในมันสำปะหลัง ส่งผลให้ความต้องการเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับราคาในตลาดโลกเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้น และเมื่อเทียบช่วง 9 เดือนปี 2554 กับช่วงปี 2553 พบว่า การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3

? กลุ่มแปรรูปประมง ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.9 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เป็นผลจากวัตถุดิบเพิ่มขึ้นภายหลังได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในแหล่งเพาะเลี้ยงในช่วงไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบช่วง 9 เดือนปี 2554 กับช่วงปี2553 พบว่า การผลิตลดลงร้อยละ 0.9 เป็นผลจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น และความวิตกกังวลเรื่องโรคระบาดและภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งจับกุ้งก่อนเวลา ส่งผลต่อคุณภาพและปริมาณวัตถุดิบลดลง

? กลุ่มแปรรูปปศุสัตว์ ปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 12.5 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน เนื่องจากปริมาณวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ภายหลังการเกิดโรคระบาดในสุกรและไก่จากช่วงไตรมาสก่อนประกอบกับราคาต้นทุนอาหารสัตว์เพิ่มขึ้นตามราคาวัตถุดิบนำเข้าที่ปรับเพิ่มขึ้นมาก แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.0 เนื่องจากราคาจูงใจให้ผู้ผลิตผลิตเพิ่มขึ้น โดยช่วง 9 เดือนปี2554 การผลิตปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 10.1 จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจากประเทศญี่ปุ่นที่ประสบภัยพิบัติแผ่นดินไหว และโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด ที่ทำให้เกิดความวิตกกังวลกับการบริโภคอาหารในประเทศ

? กลุ่มแปรรูปผักผลไม้ ปริมาณการผลิตลดลงจากไตรมาสก่อน ร้อยละ 32.7 แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสหภาพยุโรปเข้มงวดกับการนำเข้าผักผลไม้จากประเทศนอกกลุ่มเพิ่มขึ้น จากการตรวจพบสารปนเปื้อนในผักผลไม้นำเข้า และเมื่อเทียบกับช่วง 9เดือนปี 2554 ปริมาณวัตถุดิบ เช่น สับปะรด ข้าวโพดฝักอ่อน และข้าวโพดหวาน ออกสู่ตลาดเพิ่มขึ้น การผลิตได้ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 19.4 เมื่อเทียบกับช่วง 9 เดือนของปีก่อน

? กลุ่มแปรรูปเพื่อใช้บริโภคในประเทศ ได้แก่ น้ำมันพืช ลดลงจากไตรมาสก่อนร้อยละ 3.5 เนื่องจากชะลอการผลิตภายหลังมีการอนุมัติให้นำเข้าน้ำมันปาล์มแยกไขมากลั่นเป็นน้ำมันบริโภคเพื่อแก้ไขปัญหาผลผลิตปาล์มน้ำมันขาดแคลนในช่วงไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6 เนื่องจากผลผลิตปาล์มน้ำมันออกสู่ตลาดตามปกติ สำหรับผลิตภัณฑ์นมผลิตลดลงร้อยละ15.4 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 11.0 ในส่วนของอาหารสัตว์ มีการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 8.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ตามความต้องการใช้ในภาคปศุสัตว์และประมงที่เพิ่มขึ้น

สรุปภาพรวมด้านการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารในช่วง 9 เดือนปี 2554 มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการที่ระดับราคาสินค้าอาหารโดยรวมในตลาดโลกได้ปรับตัวสูงขึ้น ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว ทำให้ภาคการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารโดยเฉพาะกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ส่งออก เช่น น้ำตาล ผักผลไม้ ธัญพืชและแป้ง และปศุสัตว์ขยายตัวได้ดี

2. การตลาด

2.1 ตลาดในประเทศ

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2554 ปริมาณการจำหน่ายสินค้าอาหารภายในประเทศ ลดลงร้อยละ2.8 จากไตรมาสก่อน แต่เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 2) ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากระดับราคาผลผลิตทางการเกษตรปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อระดับรายได้ที่เป็นตัวเงินเพิ่มขึ้น กระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค สำหรับในภาพรวมเมื่อเทียบกับปีก่อน ปริมาณการจำหน่ายในประเทศปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน โดยช่วง 9 เดือนปี 2554 การจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ16.2 พิจารณาได้จากปริมาณการจำหน่ายสินค้าสำคัญๆ เช่น น้ำตาล บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์นม อาหารสัตว์ และปศุสัตว์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 23.1 13.5 2.2 5.7 และ 3.8 ตามลำดับ

2.2 ตลาดต่างประเทศ

1) การส่งออก

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2554 การส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร มีมูลค่ารวม 7,922.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 238,673.9 ล้านบาท โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 27.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 26.8 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจในประเทศผู้นำเข้าฟื้นตัว และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน (ตารางที่ 3-4) เพิ่มขึ้นร้อยละ 42.8 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 36.0 ในรูปของเงินบาท สำหรับภาพรวมช่วง 9 เดือนปี 2554 มีมูลค่าการส่งออก 23,182.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 698,413.5 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 31.6 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 25.4 ในรูปของเงินบาท ซึ่งพบว่า มูลค่าการส่งออกทั้งในรูปของเงินบาทและดอลลาร์ฯ มีการขยายตัวในทุกกลุ่มผลิตภัณฑ์โดยเฉพาะน้ำตาล ปศุสัตว์ ข้าวและธัญพืช ผักผลไม้ และประมง เนื่องจากระดับราคาสินค้าอาหารได้ปรับตัวดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว แม้ว่าค่าเงินบาทจะปรับแข็งค่าขึ้น แต่การส่งออกอาหารในภาพรวมยังสามารถปรับเพิ่มขึ้นตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ในส่วนการส่งออกของแต่ละกลุ่มผลิตภัณฑ์สำคัญ มีดังนี้

  • กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารทะเล มีมูลค่าการส่งออก 2,256.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ67,966.5 ล้านบาท ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 2.9 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน โดยเป็นการชะลอตัวในกลุ่มอาหารทะเลแช่เย็นแช่แข็งตามคำสั่งซื้อที่ลดลงตามฤดูกาล และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.6 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 15.9 ในรูปของเงินบาท สำหรับในช่วง 9 เดือนปี 2554 มีมูลค่าส่งออกรวม 6,304.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 189,929.3ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 23.7 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 17.8 ในรูปของเงินบาท ซึ่งหากพิจารณาการส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่ม คือ กุ้งสดแช่เย็นแช่แข็ง ปริมาณและมูลค่าที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากได้รับผลดีจากการที่สหรัฐอเมริกาประกาศห้ามทำการประมงในบริเวณอ่าวเม็กซิโกจากปัญหาแท่นขุดเจาะน้ำมันระเบิดตั้งแต่ช่วงกลางปี 2553 ประกอบกับการระบาดของโรคไวรัสกุ้งในประเทศผู้ผลิตอย่างอินโดนีเซีย เอกวาดอร์ และเกิดภัยธรรมชาติในจีนและเวียดนาม ทำให้ประเทศผู้นำเข้าหันมาสั่งซื้อสินค้าจากไทยทดแทนอย่างต่อเนื่อง
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ผักผลไม้ มีมูลค่าการส่งออก 887.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ26,726.8 ล้านบาท ปรับลดลงร้อยละ 0.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 0.9 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.5 ในรูปของดอลลาร์ฯหรือร้อยละ 37.6 ในรูปของเงินบาท สำหรับในช่วง 9 เดือนปี 2554 มีมูลค่าส่งออกรวม 2,471.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 74,452.5 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 31.5 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 25.2 ในรูปของเงินบาท เป็นผลจากการที่ประเทศคู่แข่ง ได้แก่ ฟิลิปปินส์ ประสบภัยธรรมชาติทำให้ปริมาณการผลิตและการส่งออกลดลง ซึ่งสินค้าสำคัญในกลุ่ม ได้แก่ สับปะรดกระป๋อง สามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากวัตถุดิบมีปริมาณเพิ่มขึ้นและคำสั่งซื้อมีจำนวนเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังสามารถส่งออกผักและผลไม้แช่เย็นได้เพิ่มขึ้นในหลายสินค้า เช่น พริก กระเจี๊ยบขาว เงาะ ทุเรียน และลำไย
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ มีมูลค่าการส่งออก 607.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ18,288.0 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.6 ในรูปของดอลลาร์ฯ และในรูปของเงินบาทร้อยละ 15.1 จากไตรมาสก่อน และเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 25.1 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 19.1 ในรูปของเงินบาท สำหรับในช่วง 9 เดือนปี 2554 มีมูลค่าส่งออกรวม 1,642.6ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 49,486.1 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 23.7 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 17.8ในรูปของเงินบาท เนื่องจากความต้องการบริโภคในผลิตภัณฑ์ไก่แปรรูปเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่นมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นจากการที่ประชาชนส่วนใหญ่ตื่นตระหนกกับปัญหาการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีในอาหาร ที่เป็นผลสืบเนื่องจากการระเบิดของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิม่า ประกอบกับราคาสินค้าเนื้อสัตว์ได้ปรับตัวสูงขึ้นมาก
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์จากข้าว แป้ง และธัญพืช มีมูลค่าการส่งออก 2,661.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 80,167.0 ล้านบาท ปรับลงลงร้อยละ 2.1 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 2.6 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน สำหรับในช่วง 9 เดือนปี 2554 มีมูลค่าส่งออกรวม 8,112.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ244,404.9 ล้านบาท โดยขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.2 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 26.8 ในรูปของเงินบาท เป็นผลจากราคาผลิตภัณฑ์ธัญพืชในตลาดโลกเพิ่มขึ้น และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนพบว่า การส่งออกผลิตภัณฑ์ในกลุ่มนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.7 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 37.8 ในรูปของเงินบาท โดยเป็นการส่งออกสินค้าข้าวเพิ่มขึ้นร้อยละ 46.2 ในรูปดอลลาร์ฯ เนื่องจากปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
  • กลุ่มผลิตภัณฑ์น้ำตาลทราย มีมูลค่าการส่งออก 842.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ25,387.7 ล้านบาท ปรับลดลงร้อยละ 41.2 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 41.5 ในรูปของเงินบาทจากไตรมาสก่อน สำหรับในช่วง 9 เดือนปี 2554 มีมูลค่าส่งออกรวม 3,140.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 94,618.0 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 50.2 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 43.0 ในรูปของเงินบาท เป็นผลจากปัจจัยด้านราคาที่สูงขึ้นมาก จากการที่ประเทศผู้ผลิตอย่างอินเดียประสบปัญหาภัยธรรมชาติ ส่งผลให้ปริมาณการผลิตและการส่งออกลดลง มีผลต่อปริมาณสต็อกน้ำตาลในตลาดโลกลดลง และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นเช่นกันร้อยละ 141.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 129.9 ในรูปของเงินบาท

? กลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ มีมูลค่าการส่งออก 668.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ20,137.9ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.6 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 43.9 ในรูปของเงินบาท จากไตรมาสก่อน และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 65.0 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 57.2 ในรูปของเงินบาท สำหรับในช่วง 9 เดือนปี 2554 มีมูลค่าส่งออกรวม 1,511.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯหรือ 45,522.7 ล้านบาท โดยขยายตัวร้อยละ 34.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 28.0 ในรูปของเงินบาทเป็นผลจากการส่งออกเพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าประเภทไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์สิ่งปรุงรสอาหาร หมากฝรั่งและขนมที่ไม่มีโกโก้ผสม และนมและผลิตภัณฑ์นม

2) การนำเข้า

การนำเข้าผลิตภัณฑ์อาหารของไทย ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2554 มีมูลค่ารวม 2,500.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 75,336.3 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 3.3 ในรูปของเงินบาทจากไตรมาสก่อน โดยเป็นการนำเข้ากากพืชน้ำมันเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.0 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 15.4ในรูปของเงินบาท (ตารางที่ 5) และหากเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน พบว่า มูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารโดยรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ หรือร้อยละ 14.7 ในรูปของเงินบาท สำหรับในช่วง 9เดือนปี 2554 มีมูลค่านำเข้า 7,356.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 221,630.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.4 ในรูปของดอลลาร์ฯ และร้อยละ 24.2 ในรูปของเงินบาท ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าไขมันและน้ำมันพืช ปลาทูน่าสดแช่เย็นแช่แข็ง เมล็ดพืชน้ำมัน และนมและผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นทั้งในรูปของดอลลาร์ฯ และเงินบาท ตามราคาโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีก่อน

3. นโยบายของภาครัฐ

ในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2554 เนื่องจากเป็นช่วงที่รัฐบาลเริ่มเข้ามารับตำแหน่งภายหลังการเลือกตั้ง มติคณะรัฐมนตรีในช่วงแรกจึงเป็นการกำหนดระเบียบการบริหารราชการ ประกอบกับมีสถานการณ์ภัยธรรมชาติเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ โดยรัฐบาลได้ดำเนินนโยบายและมาตรการต่างๆ เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวม ซึ่งจะเน้นการให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรที่เป็นผู้ผลิตวัตถุดิบเป็นหลัก เช่น การชดเชยและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยที่เกิดขึ้น

4. สรุปและแนวโน้ม

ภาวะการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหารโดยรวมในช่วงไตรมาสที่ 3 ปี 2554 อยู่ในช่วงปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน จากความต้องการในสินค้ากลุ่มปศุสัตว์ ได้แก่ ไก่แปรรูปตลาดญี่ปุ่นมีความต้องการเพิ่มขึ้นจากสภาพปัญหาความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคจากการปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีในอาหารที่เกิดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิด ส่งผลให้การส่งออกไก่แปรรูปของไทยเพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน การผลิตและการจำหน่ายสินค้าอาหารในประเทศมีการชะลอตัวลง แต่การส่งออกยังขยายตัวเพิ่มขึ้น

สำหรับแนวโน้มการผลิตและการส่งออกอุตสาหกรรมอาหาร ในไตรมาสที่ 4 ของปี 2554คาดว่า ทิศทางการผลิต และการส่งออกจะปรับตัวลดลง จากปริมาณวัตถุดิบลดลงในพื้นที่เพาะปลูกที่ประสบอุทกภัย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสินค้าปศุสัตว์ ประมง สับปะรด มันสำปะหลัง ข้าว และผักต่างๆ เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมอาหารส่งออกส่วนใหญ่ที่สร้างมูลค่าสูง ได้แก่ กลุ่มสินค้าอาหารทะเล ประกอบด้วย ทูน่ากระป๋องและแปรรูป กุ้งแช่เย็นแช่แข็งและแปรรูป ปลากระป๋อง และอื่นๆ ซึ่งจะตั้งโรงงานในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ และสมุทรสาคร ซึ่งหากได้รับผลกระทบ จะส่งผลต่อการผลิตของภาคอุตสาหกรรม และเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ รวมถึงการบริโภคทั้งภายในประเทศและการส่งออกต่างประเทศ โดยหากประเมินสถานการณ์การส่งออกช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 ซึ่งจะเป็นช่วงเร่งทำการผลิตสูงสุดเพื่อส่งออกในช่วงเทศกาลปลายปี จะสูญเสียรายได้จากการส่งออกเฉพาะกลุ่มอาหารทะเลในจังหวัดสมุทรปราการ และสมุทรสาคร คิดเป็นมูลค่ากว่า 23,500 ล้านบาท (ประมาณร้อยละ 40 ของมูลค่าส่งออกรวม 58,738 ล้านบาท) แม้ว่าค่าเงินบาทที่เริ่มจะทรงตัวและมีแนวโน้มอ่อนค่าลง แต่ค่าเงินในประเทศคู่แข่งก็อ่อนค่าไม่แตกต่างกัน นอกจากนี้ยังมีปัจจัยลบ เช่น สถานการณ์เศรษฐกิจและภาวะหนี้สาธารณะของประเทศสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศในสหภาพยุโรป ที่เริ่มประสบปัญหาการชำระเงิน ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ รวมถึงการเคลื่อนไหวของระดับราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น และมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต เช่น มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เริ่มมีการบังคับใช้ โดยเฉพาะการทำฉลากระบุร่องรอยคาร์บอนบนตัวผลิตภัณฑ์ที่จำหน่ายในสหภาพยุโรป จะทำให้การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมชะลอตัวลงได้ ขณะที่การจำหน่ายในประเทศ จะประสบปัญหาการขนส่งและการหยุดการผลิตจากการประสบอุทกภัย ทำให้ต้องนำสต๊อกที่ผลิตเพื่อการส่งออกกลับมาช่วยเหลือในประเทศ

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ