สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2554 และแนวโน้มปี 2555

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 17, 2012 15:29 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจโลกในปี 2554 IMF คาดว่าขยายตัวร้อยละ 4.0 เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัวจากปัญหาวิกฤตทางการเงิน แต่ก็ส่งผลให้ประเทศต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรปที่ขณะนี้กำลังลุกลามสู่ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยุโรป ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศจีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล และอาเซียนชะลอตัว นอกจากนี้ประเทศญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติ และเหตุการณ์น้ำท่วมของประเทศไทยส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ เป็นต้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตที่สำคัญในอุตสาหกรรมดังกล่าว

สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากต้นปี โดยราคาน้ำมันดิบ (Dubai) เฉลี่ย 11 เดือนอยู่ที่ 105.76 USD:Barrel และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากความหนาวเย็นที่ทวีความรุนแรงขึ้นในยุโรป ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในช่วงหน้าหนาวเพิ่มมากขึ้น ปริมาณสำรองน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังในปลายปีนี้จะลดลงค่อนข้างมาก และส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับที่สูงต่อไป รวมทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบในอียิปต์สร้างความกังวลต่อตลาด หากเหตุการณ์รุนแรงขึ้นและยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบจากกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางที่อาจลดลงได้ Energy Administration Information (EIA) คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันในปี 2555 จะขยายตัวในอัตรา 1.25 ล้านบาร์เรล/วัน เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกทำให้อุปสงค์น้ำมันลดลง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX มีราคาอยู่ที่ 101.28 USD:Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

ส่วนของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 3.5 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.7 แต่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.6 โดยปัจจัยที่ทำให้อัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก ไตรมาสที่ 2 ของปี 2554 คือ อุปสงค์ต่างประเทศขยายตัวสูงขึ้นในขณะที่อุปสงค์ในประเทศรวมขยายตัวชะลอลง โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของครัวเรือนและการลงทุน ขยายตัวชะลอลง ในขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคของรัฐบาลขยายตัวสูงขึ้นเล็กน้อย การส่งออกสินค้าขยายตัวสูงขึ้น

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ คาดว่าทั้งปี 2554 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ร้อยละ 1.5 เทียบกับในปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 7.8 สำหรับการประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2555 คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.5-5.5 ปรับตัวดีขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปี 2554 โดยมีแรงกระตุ้นทั้งอุปสงค์ภายในประเทศและต่างประเทศ

ในภาคอุตสาหกรรม ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมและอัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2553 โดยมีอุตสาหกรรม Hard Disk Drive และยานยนต์ เป็นอุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีลดลง ส่วนการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนและการลงทุนภาคเอกชน มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2553

สถานการณ์การค้าต่างประเทศของปี 2554 ในเดือน ม.ค.-ต.ค. 2554 นั้นการค้าของไทยมีมูลค่าทั้งสิ้น 389,266.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 25.9 โดยเป็นมูลค่าการส่งออกเท่ากับ 196,768.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 192,498.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน พบว่ามูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 22.8 และมูลค่าการนำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 29.1 ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 4,270.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมูลค่าการส่งออกขยายตัวอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา จนกระทั่งเดือนตุลาคมมูลค่าการส่งออกชะลอลงมาก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยในพื้นที่หลายจังหวัด และกระทรวงพาณิชย์คาดว่าการส่งอออกทั้งปี 2554 จะขยายตัวร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับปี 2553 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกรวมกว่า 220,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

การลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) ของปี 2554 มีมูลค่า274,000 ล้านบาท โดยคาดว่าทั้งปี 2554 จะมีมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุน 500,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากในปี 2553 ซึ่งมีมูลค่าการลงทุน 491,100 ล้านบาท เนื่องจากมีกิจการลงทุนขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น

เมื่อพิจารณาในหมวดของการเข้ามาลงทุน พบว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ประเภทกิจการที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนมากที่สุดคือ หมวดบริการและสาธารณูปโภค มีเงินลงทุน 61,300 ล้านบาท รองลงมา คือ หมวดผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรและอุปกรณ์ขนส่ง มีเงินลงทุน 58,100 ล้านบาท หมวดเคมี กระดาษ และพลาสติก มีเงินลงทุน 51,500 ล้านบาท หมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตร มีเงินลงทุน 43,900 ล้านบาท หมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า มีเงินลงทุน 30,000 ล้านบาท หมวดเหมืองแร่ เซรามิกส์ และโลหะ มีเงินลงทุน 18,800 ล้านบาท และอุตสาหกรรมเบา มีเงินลงทุน 10,400 ล้านบาท

ภาพรวมภาวะอุตสาหกรรมไทยปี 2554 จากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในวงกว้าง ทั้งในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศและในด้านการผลิตซึ่งในภาคการผลิตที่สำคัญ ก็คือ ภาคอุตสาหกรรม โดยในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศมีแนวโน้มที่การบริโภคภาคเอกชนจะขยายตัวในอัตราชะลอลงจากการที่การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนในพื้นที่ที่ประสบปัญหาอุทกภัยมีการหยุดชะงักลง ประกอบกับรายได้ที่ลดลงของผู้ใช้แรงงานจากการหยุดการจ้างงานของสถานประกอบการที่ประสบภัย รวมถึงการสูญเสียรายได้ของเกษตรกรเนื่องจากผลผลิตทางการเกษตรได้รับความเสียหายในวงกว้าง ล้วนส่งผลกระทบให้การบริโภคภาคเอกชนโดยรวมชะลอตัวลงในอนาคต 7-8 และจากทิศทางดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ จีดีพีของภาคอุตสาหกรรม (มูลค่า ณ ราคาคงที่) ตลอดทั้งปี 2554 อยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ 0.5 หรือ ขยายตัวไม่เกินร้อยละ 1.0 สำหรับผลกระทบต่อการผลิตภาคอุตสาหกรรมคาดว่าจะชะลอตัวลงโดยเฉพาะในเขตนิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดอยุธยาและปทุมธานี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และจะกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ในการผลิตสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง และจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบโดยตรงจากการหยุดการผลิต โดยคาดว่าจะทำให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม หรือ MPI (Manufacturing Production Index) ในไตรมาสที่ 4/2554 หดตัวร้อยละ 27.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งจะส่งผลให้ผลผลิตอุตสาหกรรมตลอดทั้งปี 2554 หดตัวติดลบร้อยละ 7-8 และจากทิศทางดังกล่าว คาดว่าจะส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ จีดีพีของภาคอุตสาหกรรม (มูลค่า ณ ราคาคงที่) ตลอดทั้งปี 2554 อยู่ในช่วงหดตัวร้อยละ 0.5 หรือ ขยายตัวไม่เกินร้อยละ 1.0

แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปี 2555 เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความท้าทายหลายประการที่สำคัญ คือ (1) แรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทย (2) ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มสูงขึ้น และผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

ประเด็นแรก เศรษฐกิจไทยในปี 2555 จะมีแรงขับเคลื่อนจากการเร่งการผลิตในหลายสาขาอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการซ่อมแซมถนน อาคารสถานที่และที่พักอาศัย รวมไปถึงการสั่งซื้อเครื่องจักร อุปกรณ์ ชิ้นส่วนอะไหล่ ของโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อแทนที่เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ได้รับความเสียหาย

ประเด็นที่ 2 ความไม่แน่นอนของสถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรเพิ่มขึ้นมาก ที่เป็นเช่นนี้เพราะเศรษฐกิจประเทศหลักอย่างสหรัฐฯ และกลุ่มยูโรอ่อนแอลงมากในช่วงที่ผ่านมา และอาจฉุดให้เศรษฐกิจโลกชะลอลงมากกว่าที่เคยคาดไว้ กรณีของเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีปัญหาเชิงโครงสร้าง ทำให้คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวในอัตราต่ำเป็นเวลายาวนาน ช่องทางกระตุ้นจากนโยบายการเงินการคลังมีจำกัดมากขึ้น ส่วนหนึ่งเพราะต้องลดการใช้จ่ายภาครัฐตามแผนที่ผูกพันไว้

จากประเด็นต่างๆ ข้างต้น คาดว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ปี 2555 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 6.0 -7.0 ส่วน ผลิตภัณฑ์มวลรวม หรือ จีดีพีของภาคอุตสาหกรรม (มูลค่า ณ ราคาคงที่) ปี 2555 จะขยายตัวในช่วงร้อยละ 5.0 - 6.0

สรุปภาวะอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

เหล็กและเหล็กกล้า สถานการณ์เหล็กโดยรวมในปี 2554 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน พบว่าการผลิตโดยรวมลดลง ร้อยละ 6.04 เนื่องจากการชะลอตัวลงของภาคการก่อสร้าง ประกอบกับปริมาณสต๊อกที่เหลือค้างจากการเร่งผลิตในปีก่อน นอกจากนี้เป็นผลมาจากการนำเข้าเหล็กชนิดที่เติมธาตุโบรอนทั้งในกลุ่มของเหล็กเส้นและเหล็กแผ่นจากประเทศจีนเพิ่มมากขึ้น

อุตสาหกรรมเหล็กในปี 2555 คาดว่า ในส่วนของกลุ่มเหล็กทรงยาวซึ่งใช้ในภาคการก่อสร้างจะขยายตัวขึ้นส่วนหนึ่งเพื่อเร่งซ่อมแซมสาธารณูปโภคและบ้านเรือนที่เสียหายจากภาวะอุทกภัยในประเทศ นอกจากนี้ยังเป็นการผลิตเพิ่มขึ้นเพื่อรักษาระดับสต๊อกที่ลดลงในช่วงปลายปี 2554 สำหรับในส่วนของเหล็กทรงแบนคาดการณ์ว่าการผลิตและความต้องการใช้ในประเทศจะลดลงเนื่องจากนิคมอุตสาหกรรมหลายนิคมซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ส่งผลให้ความต้องการใช้เหล็กลดลงด้วย

          ยานยนต์  ในปี 2554 ปริมาณการผลิตรถยนต์ในปี 2554 (ม.ค.-ต.ค.)  มีจำนวน 1,334,677 คัน ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2553 ร้อยละ 1.13 และในปี 2554 ประมาณว่า มีการผลิตรถยนต์ 1,500,000 คัน ลดลง       ร้อยละ 8.83 จากปี 2553 ที่มีการผลิตรถยนต์ 1,645,304 คัน โดยเป็นการผลิตรถยนต์นั่ง  รถยนต์ปิกอัพ           1 ตัน  และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ ประมาณร้อยละ 37, 62 และ 1 ตามลำดับ เนื่องจากในช่วงต้นปี 2554 ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยพิบัติที่เกิดขึ้นใประเทศญี่ปุ่น  ส่งผลให้โรงงานผลิตรถยนต์ในประเทศไทย มีการปรับลดการผลิตอันเนื่องมาจากการขาดแคลนชิ้นส่วน ได้แก่ ชิ้นส่วนสมองกล (Micro Computer Chip) ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในเมืองเซนได และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น และปลายปี 2554 ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ  โดยมีโรงงานประกอบรถยนต์ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง คือ โรงงานผลิตรถยนต์ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ตั้งอยู่ในสวนนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีการหยุดการผลิตตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2554 และคาดว่าจะกลับมาผลิตได้อีกครั้งในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปี 2555 ส่วนโรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์หลายรายก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน ส่งผลให้ไม่สามารถส่งชิ้นส่วนรถยนต์ให้กับผู้ผลิตรถยนต์ทำให้ผู้ผลิตรถยนต์ขาดชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิต อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยบวกที่ช่วยสนับสนุนตลาดในประเทศ เช่น นโยบายการคืนเงินสำหรับรถยนต์คันแรก และกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดโดยการแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาด เป็นต้น

ภาวะอุตสาหกรรมรถยนต์ในปี 2555 คาดว่าจะมีผลิตรถยนต์ประมาณ 2,000,000 คัน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 33 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา อันเป็นผลจากการลงทุนผลิตรถยนต์รุ่นใหม่และรถยนต์ยี่ห้อใหม่ที่เริ่มผลิตในประเทศ เพื่อจำหน่ายในประเทศและส่งออกไปประเทศสำคัญในเอเชีย ตลอดจนการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมรถยนต์ภายหลังจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ของประเทศ และการกระตุ้นยอดจำหน่ายจากนโยบายรถยนต์คันแรก อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องของอัตราดอกเบี้ยและราคาน้ำมัน ที่อาจส่งผลต่อการเลือกซื้อรถยนต์ของผู้บริโภค

เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ในช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม 2554 ปรับตัวลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปรับลดลงร้อยละ 6.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลงร้อยละ 7.4 เมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ได้เร่งผลิตในช่วงปีก่อนหน้าค่อนข้างมากทำให้ยังคงมีสต๊อกสินค้าในตลาดผู้ค้าส่งจำนวนหนึ่งประกอบกับมีฐานตัวเลขที่สูงในปีก่อน นอกจากนี้ในปี 2554 ยังประสบกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนค่อนข้างมาก และมีสถานการณ์ภัยธรรมชาติในหลายประเทศอีกด้วย ขณะที่ดัชนีผลผลิตกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการปรับตัวในช่วงครึ่งแรกของปีค่อนข้างมาก ทั้งจากตลาดในประเทศที่มีการขยายตัวและตลาดส่งออกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกตลาด

ในปี 2555 คาดว่าอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ยังคงขยายตัวได้ แต่มีอัตราการขยายตัวที่ไม่สูงมากนัก โดยอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าคาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-7 * เนื่องจากจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทั้งตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ส่วนอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10-12 * เนื่องจากความต้องการสินค้าไอทีใหม่ๆ ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีปัจจัยเสี่ยงทางด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกา ที่มีความไม่แน่นอนค่อนข้างสูง ซึ่งจะส่งผลให้การซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ลดลงได้

เคมีภัณฑ์ ในปี 2554 การส่งออกเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าประมาณ 21,184 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.86 เมื่อเทียบกับปีก่อน เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ดมีมูลค่าส่งออกประมาณ 24,542 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.47 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออกประมาณ 55,986 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.32 เมื่อเทียบกับปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 3,967 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.78 เมื่อเทียบกับปีก่อน และอุตสาหกรรมสี มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 14,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.47 เมื่อเทียบกับปีก่อน

สำหรับปี 2555 คาดว่า การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมน่าจะอยู่ในทิศทางเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญที่ควรจับตามอง ได้แก่ การปรับเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำของประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบาง ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรป และภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

ผลิตภัณฑ์พลาสติก มูลค่าการส่งออก 10 เดือน สูงขึ้นร้อยละ 17 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์พลาสติกไทยจะอยู่ในภูมิภาคเอเชีย แม้ว่าญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศที่ไทยส่งออกไปมากที่สุด จะได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวก็ตาม แต่ไม่ได้ทำให้ตัวเลขการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบมากนัก ที่เป็นเช่นนี้อาจมีสาเหตุมาจากการที่ภาคการผลิตของญี่ปุ่นหยุดชะงักและต้องหันมาพึ่งพาสินค้านำเข้าจากต่างประเทศอย่างเช่นจากประเทศไทยเพื่อทดแทนสินค้าในประเทศที่ไม่สามารถผลิตได้เพียงพอกับความต้องการ และเป็นโอกาสให้การส่งออกของไทยมีมูลค่าเพิ่มมากขึ้น โดยผลิตภัณฑ์หมวดที่มีมูลค่าการส่งออกสูงสุด คือ หมวด 3926 ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่นๆ อย่างไรก็ตามคาดว่า มูลค่าการส่งออกของไตรมาส 4 จะมีมูลค่าลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2553 กว่าร้อยละ 20 โดยเฉพาะช่วง 2 เดือนหลังเหตุอุทกภัย คือ เดือนพฤศจิกายนและธันวาคม เนื่องมาจากความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงงานผู้ผลิต และคาดว่าการส่งออกปี 2554 จะเพิ่มขึ้นประมาณ 2,580 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.8 ซึ่งจะส่งผลให้การขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 12,054 ล้านบาท

แนวโน้มอุตสาหกรรมพลาสติก ในช่วงปี 2555 การส่งออกจะกลับมาดีขึ้นแต่น่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าปีก่อนหน้าหรือต่ำกว่าร้อยละ 8 เนื่องจากเศรษฐกิจของคู่ค้าหลักในอุตสาหกรรมพลาสติกของไทย ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย และจีน มีแนวโน้มชะลอตัวและค่าเงินบาทแข็งตัวมากขึ้น นอกจากนี้วงจรของอุตสาหกรรมชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะอยู่ในช่วงขาลง ทำให้ความต้องการในการใช้เม็ดพลาสติกในอุตสาหกรรมดังกล่าวลดลงด้วย และการนำเข้าคาดว่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะผลิตภัณฑ์พลาสติกในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง เนื่องจากประชาชนต้องการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยจากเหตุน้ำท่วม นอกจากนี้ความต้องการชิ้นส่วน เพื่อการซ่อมแซมผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์ จะเพิ่มมากขึ้น

ปิโตรเคมีปี 2554 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกปิโตรเคมีของไทยทั้งขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลายในช่วงสิบเดือนของปี 2554 มีอัตราการขยายตัวดีขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของความต้องการใช้สินค้าและบริการที่ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย และเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าต่างๆ กลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ และกลุ่มสิ่งทอ ขณะที่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มยานยนต์มีการขายตัวตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าเพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการสินค้าภายในประเทศและการส่งออก

แนวโน้มภาพรวมของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยในปี 2555 นั้นคาดว่าจะยังคงมีอัตราการเติบโตดีต่อเนื่องจากการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วมที่คาดว่ามาตรการต่างๆ จากภาครัฐจะเริ่มเป็นรูปธรรมตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2555 นำโดยการฟื้นฟูและการกระตุ้นความเชื่อมั่นของภาคการผลิต ขณะที่ภาคเอกชนและภาคครัวเรือนก็จะมีการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูกิจการและที่อยู่อาศัยหลังน้ำลดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้สินค้าเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายในการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ (มาตรการปรับเพิ่มรายได้) ขณะที่ปัญหาวิกฤตการณ์ด้านการเงินของสหรัฐฯ และหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปนั้นคาดว่าจะไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยมากนักเนื่องจากตลาดหลักๆ อยู่ในภูมิภาคเอเชีย โดยตลาดที่น่าจับตาคือตลาดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อาทิ จีน อินเดีย เวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่มีอัตราการขยายตัวของความต้องการสินค้าสูง ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตมีสูงตามไปด้วย

เยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ภาวะการผลิตเยื่อกระดาษ และกระดาษ โดยรวมในปี 2554 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เนื่องจากการขยายตัวของความต้องการตลาดในประเทศ อันเนื่องมาจากอุตสาหกรรมต่อเนื่องจากการจัดพิมพ์สิ่งพิมพ์และหนังสือเกี่ยวกับงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนม พรรษาครบ 7 รอบ ประกอบกับภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ มีการขยายตัวจึงมีความต้องการใช้กระดาษสำหรับบรรจุภัณฑ์และขนส่งสินค้าต่างๆ เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ มีการขยายตัวของความต้องการในตลาดต่างประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากประเทศคู่ค้าสำคัญโดยเฉพาะประเทศจีน มีความต้องการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเพื่อรองรับความต้องการในประเทศจากการเติบโตทางเศรษฐกิจ

แนวโน้มของภาวะอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ ในปี 2555 คาดว่าจะทรงตัว เนื่องจากมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่จะมีผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมเยื่อกระดาษ กระดาษ และสิ่งพิมพ์ รวมทั้งอุตสาหกรรมต่อเนื่องอื่นๆ โดยมีปัจจัยลบทั้งในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลมาจาก ปี 2554 คาดว่าจะต่อเนื่องถึงต้นปี 2555 ได้แก่ สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ของประเทศไทย ส่งผลให้หลายโรงงานหยุดผลิตทั้งโรงพิมพ์โดยเฉพาะ SMEs และโรงงานผลิตอิเล็กทรอนิกส์ และชิ้นส่วนยานยนต์ ก่อให้เกิดการว่างงาน ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจและการลงทุนของนักลงทุนของไทยและต่างชาติ นอกจากนี้ ภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปยังคงมีปัญหา

ผลิตภัณฑ์เซรามิก การผลิตเซรามิก ในปี 2554 มีการเติบโตน้อยกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากในปีนี้ไม่มีมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์สนับสนุนเหมือนในปี 2553 และยังได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ทำให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลง โดยการผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง มีปริมาณ 168.01 ล้านตารางเมตร เมื่อเทียบกับปี 2553 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.10 ในขณะที่การผลิตเครื่องสุขภัณฑ์ มีปริมาณ 7.01 ล้านชิ้น เมื่อเทียบกับปี 2553 ลดลงร้อยละ 2.22

แนวโน้มการผลิตและจำหน่ายเซรามิก ในปี 2555 คาดว่า ความต้องการใช้วัสดุก่อสร้างทั้งกระเบื้องปูพื้น บุผนัง และเครื่องสุขภัณฑ์ ในการปรับปรุงซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลด จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดจากน้ำท่วมอาจส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวลง จนทำให้กำลังซื้อของผู้บริโภคลดลงได้

ปูนซีเมนต์ ในปี 2554 อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์เติบโตขึ้น โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากภาคอสังหาริมทรัพย์ขยายตัวตามภาวะเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในที่อยู่อาศัยประเภทบ้านจัดสรร เนื่องจาก มีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนออกสู่ชานเมือง และปัจจัยสำคัญที่มีส่วนสนับสนุนต่ออุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ คือ การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งมีส่วนช่วยผลักดันให้มีการใช้ปูนซีเมนต์ในประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ก็ไม่ขยายตัวอย่างที่คาดไว้ในช่วงต้นปี เนื่องจากเกิดปัญหาอุทกภัยทำให้มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานานในหลายพื้นที่ ซึ่งถึงแม้ว่าอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์จะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะน้ำท่วม แต่ทำให้เกิดอุปสรรคในการขนส่ง รวมทั้งการก่อสร้างต่างๆ ต้องชะลอออกไป ส่งผลให้การใช้ปูนซีเมนต์ลดลงตามไปด้วย

แนวโน้มของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ในปี 2555 คาดว่าความต้องการใช้ปูนซีเมนต์จะเพิ่มขึ้นหลังจากที่ภาวะน้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย เนื่องจากการซ่อมแซมที่อยู่อาศัย พื้นที่ภาคอุตสาหกรรม รวมถึงเส้นทางการขนส่งที่เสียหายจากน้ำท่วม ทั้งนี้ผู้ประกอบการได้เตรียมการผลิตเพื่อรองรับความต้องการที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นผลอย่างชัดเจนในช่วงไตรมาสที่ 1-ไตรมาสที่ 2 ปี 2555

สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม การผลิตปี 2554 ส่วนใหญ่มีการผลิตลดลงและผลิตตามคำสั่งซื้อเท่านั้น สำหรับการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มในปี 2554 ยังมีมูลค่าส่งออกที่ขยายตัว แม้ว่าประเทศไทยจะประสบอุทกภัยในหลาย ๆ พื้นที่ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ส่วนการส่งออกที่ยังมีมูลค่าเป็นบวกเนื่องจากส่วนใหญ่เป็นคำสั่งซื้อที่มีเข้ามาล่วงหน้า โดยเมื่อคิดเทียบเป็นมูลค่าส่งออกจะมีมูลค่าต่อหน่วยเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์สิ่งทอที่มีมูลค่าส่งออกเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม เสื้อผ้าสำเร็จรูป ผ้าผืน เส้นใยประดิษฐ์ ด้ายฝ้าย และด้ายเส้นใยประดิษฐ์ เป็นต้น

แนวโน้มปี 2555 คาดว่าทั้งปริมาณการผลิตเส้นใยสิ่งทอ ผ้าผืน เครื่องนุ่งห่มโดยเฉพาะเสื้อผ้าสำเร็จรูป จะมีการผลิตที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากปัจจัยการผลิตกระทบต่อเนื่องจากอุทกภัย หากสถานการณ์คลี่คลายและโรงงานที่ได้รับความเสียหายสามารถฟื้นตัว และกลับมาผลิตได้ในระยะเวลาอันสั้น (ไม่เกิน 6 เดือน) จะช่วยลดผลกระทบในอุตสาหกรรมได้ ทั้งนี้ปริมาณการผลิตและมูลค่าการส่งออกสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มจะสามารถฟื้นตัวได้ภายในไตรมาสที่ 2

ไม้และเครื่องเรือน การผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนของไทยในปี 2554 คาดว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากปัจจัยต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น วัตถุดิบไม้ยางพารา ค่าแรง และน้ำมัน เป็นต้น บวกกับผลกระทบของวิกฤตอุทกภัยในวงกว้าง ทำให้ปริมาณการผลิตของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนตลอดปี 2554 ลดลง

แนวโน้มการผลิตและการจำหน่ายในประเทศของอุตสาหกรรมไม้และเครื่องเรือนในปี 2555 คาดว่าจะขยายตัว จากความต้องการไม้และเครื่องเรือนที่เพิ่มขึ้นหลังภาวะน้ำท่วม บวกกับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล กล่าวคือ โครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแห่งแรก จะส่งผลให้ความต้องการไม้และเครื่องเรือนเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยง คือ ต้นทุนการผลิต เช่น วัตถุดิบ น้ำมัน และค่าแรง รวมถึงเงินเฟ้อ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ตลอดจนกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากการต้องแบกรับภาระหลังภาวะน้ำท่วม

ยา การผลิตยาและผลิตภัณฑ์เภสัชกรรม ในปี 2554 คาดว่า มีปริมาณ 29,526.2 ตัน ลดลงจาก ปีก่อน ร้อยละ 3.4 เนื่องจากยาบางชนิดที่อยู่ในรูปแบบยาน้ำ ซึ่งเคยมีความต้องการสูง ถูกควบคุมการจำหน่าย ทำให้ความต้องการลดลง ประกอบกับผู้ผลิตเลิกผลิตยาบางชนิดที่ไม่ได้กำไรด้วย ส่งผลให้ปริมาณการผลิต ในภาพรวมลดลง นอกจากนี้ ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ประเทศไทยประสบปัญหาอุทกภัยในหลายพื้นที่ ทำให้มีโรงงานผลิตยาได้รับความเสียหายไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ หรือแม้โรงงานที่ไม่ได้รับความเสียหาย แต่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ได้หยุดการผลิตชั่วคราวเช่นกัน เพราะต้องเตรียมการป้องกันสายการผลิต

แนวโน้มในปี 2555 คาดว่า ปริมาณการผลิตจะขยายตัว ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการควบคุมการเบิกจ่ายค่ายาที่รัดกุมมากขึ้น โดยให้ความสำคัญกับการสั่งจ่ายยาเกินความจำเป็น ด้วยการดูแลการเบิกจ่ายให้มีความเหมาะสม และใช้ยาสามัญในประเทศทดแทน รวมทั้งงบประมาณอุดหนุนจากภาครัฐรายหัวตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในปีงบประมาณ 2555 มีอัตราเหมาจ่ายรายหัว 2,895.6 บาทต่อปี ปรับขึ้นจากปีก่อนที่มีอัตราหัวละ 2,546 บาทต่อปี ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะช่วยสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมยาในประเทศ และส่งผลให้ปริมาณการจำหน่ายยาในประเทศเพิ่มขึ้นด้วย

ผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว ตั้งแต่ต้นปี 2553 ต่อเนื่องจนถึงปี 2554 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้อุตสาหกรรมรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้ง ส่งผลต่อผลิตภัณฑ์ยางยานพาหนะขยายตัวตามไปด้วย ยกเว้นผลิตภัณฑ์ยางในรถจักรยานยนต์ ที่มีปริมาณการผลิตและการจำหน่ายในประเทศลดลง เนื่องจากมีการนำเข้าสินค้ายางในจักรยานยนต์จากประเทศจีนเข้ามามากผิดปกติ ทำให้ผู้ประกอบการต้องลดการผลิตลง อย่างไรก็ตาม ในช่วงไตรมาสที่ 3 เกิดภาวะน้ำท่วมทำให้โรงงานผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่หยุดการผลิตเป็นการชั่วคราว ส่งผลต่อการขยายตัวของอุตสาหกรรมยางรถยนต์สำหรับในส่วนของการผลิตถุงมือยาง ถุงมือตรวจ ยังขยายตัวได้ดี เนื่องจากเป็นสิ่งจำเป็นที่ใช้ในทางการแพทย์และใช้ในอุตสาหกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมอาหารและบริการ อีกทั้งโรงงานผลิตถุงมือยาง ถุงมือตรวจ ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม เนื่องจากส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ภาคใต้

แนวโน้มปี 2555 คาดว่าอุตสาหกรรมยางและผลิตภัณฑ์ยาง จะขยายตัวได้ดีตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในตลาดโลก สำหรับในส่วนของอุตสาหกรรมยางยานพาหนะผู้ประกอบการวางแผนเพิ่มสัดส่วนการส่งออกเป็นร้อยละ 80 เพื่อทดแทนตลาดอุตสาหกรรมยางยานพาหนะภายในประเทศที่ชะลอตัวลงจากการที่อุตสาหกรรมรถยนต์ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม อย่างไรก็ตาม โรงงานผลิตรถยนต์ที่ปิดตัวไปนั้นบางแห่งสามารถดำเนินการผลิตได้อีกครั้งก่อนสิ้นปี 2554 บางแห่งจะสามารถกลับมาดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มที่ในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2555 ซึ่งคาดว่าจะทำให้อุตสาหกรรมยางยานพาหนะสามารถฟื้นตัวขึ้นได้อีกครั้ง

รองเท้าและผลิตภัณฑ์หนัง ในปี 2554 สถานการณ์การผลิตเมื่อเทียบกับปี 2553 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น คือ ดัชนีผลผลิตกระเป๋าเดินทาง กระเป๋าถือและสิ่งที่คล้ายกัน อานม้าและเครื่องเทียมลาก ดัชนีผลผลิตรองเท้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 และ 6 ตามลำดับ เนื่องจากมีคำสั่งซื้อและการส่งออกที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากฐานเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าที่สำคัญเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจส่งผลให้ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสูงขึ้น ตลอดจนกลุ่มเกษตรกรที่มีรายได้เพิ่มจากราคาสินค้าเกือบทุกชนิดปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยสินค้า แต่ดัชนีผลผลิตการฟอกและตกแต่งหนังฟอก ปี 2554 คาดว่าชะลอตัวลดลงเนื่องจากการผลิตเพื่อไปใช้ในอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ ชะลอการผลิตจากผลกระทบสึนามิในประเทศญี่ปุ่นในช่วงต้นปี และสถานการณ์อุทกภัยภายในประเทศในช่วงปลายปี

แนวโน้มปี 2555 คาดว่าอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หากผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยช่วงปลายปี สามารถฟื้นตัวและกลับมาผลิตได้อย่างรวดเร็ว อีกทั้งนโยบายของรัฐบาลที่เกี่ยวกับรถยนต์คันแรก บ้านหลังแรก รวมทั้งการฟื้นฟูบ้านหลังจากประสบอุทกภัยน้ำท่วม ที่ต้องใช้สินค้าต่อเนื่องจากผลิตภัณฑ์หนัง เช่น เบาะรถยนต์ เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น ซึ่งทำให้คาดว่าจะทำให้ในภาพรวมอุตสาหกรรมรองเท้าและเครื่องหนังจะสามารถเติบโตได้ในปี 2555 สำหรับปัจจัยที่ต้องติดตามในปีหน้าที่อาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออก คือ ปัญหาเศรษฐกิจทั้งในตลาดหลักอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ราคาน้ำมัน ค่าเงินบาท และค่าแรงในประเทศมีแนวโน้มปรับขึ้น

อัญมณีและเครื่องประดับ การผลิตของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2554 เมื่อเทียบกับปี 2553 ลดลงร้อยละ 13.85 ภาพรวมด้านการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับในปี 2554 จะมีการขยายตัวร้อยละ 10.40 โดยตลาดส่งออกที่สำคัญ คือ สวิตเซอร์แลนด์ ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้มูลค่าการส่งออกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลจากการส่งออกเครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยทอง เครื่องประดับแท้ที่ทำด้วยเงิน และเพชร

แนวโน้มการผลิต ในปี 2555 คาดว่าการผลิตจะขยายตัวเพิ่มขึ้น หากมีการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปเป็นไปด้วยดี สำหรับแนวโน้มด้านการส่งออก ในปี 2555 ปัจจัยบวก คือ ความต้องการสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพิจารณาได้จากคำสั่งซื้อในงานบางกอกเจมส์แอนด์ จิวเวลรี่แฟร์ ครั้งที่ 48 ที่ผ่านมา ปัจจัยลบ คือ ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นซึ่งเป็นต้นทุนทำให้เกิดการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้หากการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปมีความชัดเจนยิ่งขึ้นจะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนการเพิ่มขึ้นของมูลค่าการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับได้มากกว่านี้

อาหาร ภาวะการผลิตของอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2554 ไม่รวมน้ำตาล คาดว่าจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 4.1 เนื่องจากการผลิตในหลายสินค้า ได้รับผลดีจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และการที่ประเทศผู้ผลิตสำคัญหลายประเทศประสบปัญหาด้านวัตถุดิบจากภัยธรรมชาติ ส่งผลต่อระดับราคาสินค้าเกษตรและอาหารในตลาดโลกมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นในเกือบทุกสินค้า ส่งผลให้การผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทยได้รับผลดี อย่างไรก็ตามจากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่และจากการที่หลายประเทศในยูโรโซนยังประสบปัญหาวิกฤตทางการเงิน และการแข็งค่าของเงินบาท อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องของการผลิตอุตสาหกรรมอาหารของไทย

          แนวโน้มการผลิตอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2555  คาดว่า จะขยายตัวจากปี 2554เล็กน้อยประมาณร้อยละ 0.1 ขณะที่คาดการณ์การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารในภาพรวมปี 2555 ในรูปเงินเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 7.8  โดยมีปัจจัยภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวของสหรัฐอเมริกา และประเทศ ผู้นำเข้าทั้งสหภาพยุโรปและญี่ปุ่น เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้การผลิตและการส่งออกของไทยในสินค้าอาหารเพิ่มขึ้น  และยังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่างๆ เช่น การประกาศลดค่าเงินของประเทศคู่แข่งและการแข็งค่าขึ้นของค่าเงินบาท ความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจในประเทศของผู้บริโภคที่ยังชะลอการจับจ่ายใช้สอย             ภัยธรรมชาติที่ไม่อาจคาดการณ์ได้  และมาตรการกีดกันทางการค้ารูปแบบต่างๆ ที่ประเทศผู้นำเข้าจะประกาศใช้ในอนาคต

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ