สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2554 และแนวโน้มปี 2555(เศรษฐกิจโลก)

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday January 17, 2012 15:48 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

เศรษฐกิจโลก(1)

เศรษฐกิจโลกในปี 2554 IMF คาดว่าขยายตัวร้อยละ 4.0 เศรษฐกิจหลาย ๆ ประเทศเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐฯ ที่เริ่มฟื้นตัวจากปัญหาวิกฤตทางการเงิน แต่ก็ส่งผลให้ประเทศต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาวิกฤติหนี้สาธารณะของสหภาพยุโรปที่ขณะนี้กำลังลุกลามสู่ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของยุโรป ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศจีน อินเดีย รัสเซีย บราซิล และอาเซียนชะลอตัว นอกจากนี้ประเทศญี่ปุ่นได้รับผลกระทบจากเหตุภัยพิบัติ และเหตุการณ์น้ำท่วมของประเทศไทยส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมในหลาย ๆ ประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สหรัฐฯ โดยเฉพาะในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิกส์ เป็นต้น เนื่องจากประเทศไทยเป็นฐานการผลิตขนาดใหญ่ในอุตสาหกรรมดังกล่าว

สถานการณ์การเงินโลกธนาคารกลางหลาย ๆ ประเทศ มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ยังคงผันผวน

สถานการณ์ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากต้นปี โดยราคาน้ำมันดิบ (Dubai) เฉลี่ย 11 เดือนอยู่ที่ 105.76 USD:Barrel และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากความหนาวเย็นที่ทวีความรุนแรงขึ้นในยุโรป ส่งผลให้ปริมาณความต้องการใช้น้ำมันสำเร็จรูปในช่วงหน้าหนาวเพิ่มมากขึ้น ปริมาณสำรองน้ำมันสำเร็จรูปคงคลังในปลายปีนี้จะลดลงค่อนข้างมาก และส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบยังคงอยู่ในระดับที่สูงต่อไป รวมทั้งเหตุการณ์ความไม่สงบในอียิปต์สร้างความกังวลต่อตลาด หากเหตุการณ์รุนแรงขึ้นและยืดเยื้อ จะส่งผลกระทบต่ออุปทานน้ำมันดิบจากกลุ่มประเทศในตะวันออกกลางที่อาจลดลงได้ Energy Administration Information (EIA) คาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันในปี 2555 จะขยายตัวในอัตรา 1.25 ล้านบาร์เรล/วัน เนื่องจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกทำให้อุปสงค์น้ำมันลดลง โดยล่าสุดราคาน้ำมันดิบ NYMEX มีราคาอยู่ที่ 101.28 USD:Barrel ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า

เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา(2)

เศรษฐกิจประเทศสหรัฐฯ ในปี 2554 IMF คาดว่า GDP จะขยายตัวร้อยละ 1.5 โดยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาเศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 1.8 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัว ร้อยละ 3.0 เนื่องจากการบริโภคภายในสหรัฐฯ ที่หดตัว ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2554 อยู่ที่ระดับ 57.8 ในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ระดับ 40.9 อัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมา อยู่ที่ระดับ 74.7 ในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ระดับ 75.4 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 90.1 ในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ระดับ 91.3

การส่งออกในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 15.9 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 17.4 การนำเข้าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 14.6 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 21.7

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศสหรัฐฯ ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2554 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 3.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.7 อัตราเงินเฟ้อในเดือน

หมายเหตุ

(1) - ที่มา www.eia.doe.gov www.thaioil.co.th www.imf.org

(2) - ที่มา www.worldbank.org www.imf.org www.bea.gov www.ceicdata.com www.imf.org

ตุลาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นผลจากราคาพลังงานและอาหารที่เพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 9.1 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 9.7 อัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 8.5 เนื่องจากเศรษฐกิจยังคงชะลอตัว

ทางด้านสถานการณ์การเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2554 ให้คงอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ร้อยละ 0.25 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2555 IMF คาดว่า GDP จะขยายตัว 1.8 ขยายตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2554 จากวิกฤติการณ์ทางการเงินของสหรัฐฯ ที่เริ่มคลี่คลาย

เศรษฐกิจจีน(3)

เศรษฐกิจประเทศจีนในปี 2554 IMF คาดว่า GDP ขยายตัวร้อยละ 9.5 โดยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาเศรษฐกิจประเทศจีนขยายตัวร้อยละ 9.4 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 10.6 อันเป็นผลมาจากการดำเนินนโยบายที่เข้มงวดของรัฐบาล เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีน และปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว มูลค่าการค้าปลีกในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 17.0 ในเดือนตุลาคม 2554 ขยายตัวร้อยละ 17.2 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2554 อยู่ที่ระดับ 104.2 ในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ระดับ 100.5 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 25.2 ในเดือนตุลาคม 2554 ขยายตัวร้อยละ 24.9 การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรขยายตัวเพิ่มขึ้นจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นของภาคอสังหาริมทรัพย์ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 14.0 ในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 13.2

การส่งออกในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 22.0 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 33.4 การส่งออกที่ลดลงเนื่องจากเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญ ๆ เกิดการชะลอตัว การนำเข้าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 27.2 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 43.9

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศจีนในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2554 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 5.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.0 อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 5.5 สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นผลจากราคาพลังงานและสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานใน 3 ไตรมาสที่ผ่านมาปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 4.1

ทางด้านสถานการณ์การเงิน ธนาคารกลางจีน (People's Bank of China) คงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 1 ปี ตั้งแต่กรกฎาคม 2554 เป็นต้นมา อยู่ที่ร้อยละ 6.56 นอกจากนี้ธนาคารกลางจีนได้ผ่อนคลายมาตรการคุมเข้มทางการเงิน เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่ชะลอตัวจากผลกระทบของเศรษฐกิจต่างประเทศ

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจจีนในปี 2555 IMF คาดว่า GDP จะขยายตัวร้อยละ 9.0 มีแนวโน้มชะลอตัวเล็กน้อยจากปี 2554 อันเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว แต่ความต้องการภายในประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจประเทศจีนยังคงขยายตัว

หมายเหตุ

(3) - ที่มา www.stats.gov.cn, www.pbc.gov.cn, www.ceicdata.com, www.imf.org

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่น(4)

เศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นในปี 2554 IMF คาดว่า GDP หดตัวร้อยละ 0.5 โดยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาเศรษฐกิจประเทศญี่ปุ่นหดตัวร้อยละ 0.6 ภาวะเศรษฐกิจญี่ปุ่นในไตรมาส 3 ปี 2554 หดตัวร้อยละ 0.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2553 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 4.9 เนื่องจากการชะลอตัวของการบริโภคภายในประเทศ การบริโภคภาคเอกชนในไตรมาส 3 ปี 2554 หดตัวร้อยละ 0.2 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 2.5 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไตรมาส 3 ปี 2554 อยู่ที่ระดับ 38.6 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2553 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 41.0 การลงทุนภาคก่อสร้างในไตรมาส 3 ปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 7.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2553 ที่หดตัวร้อยละ 0.9 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมไตรมาส 3 ปี 2554 อยู่ที่ระดับ 92.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2553 อยู่ที่ระดับ 94.3

การส่งออกในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาหดตัวร้อยละ 1.8 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 29.1 การส่งออกที่ลดลงอย่างรุนแรงเป็นผลมาจากการแข็งค่าของเงินเยน รวมถึงภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว การนำเข้าในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 12.5 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 19.9

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศญี่ปุ่นในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2554 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 0.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ -0.9 อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 0.2 สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นผลจากราคาพลังงานและอาหารที่เพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 4.6 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 5.1 อัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 4.5 เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวหลังเกิดภัยพิบัติในช่วงเดือนมีนาคม

ทางด้านสถานการณ์การเงิน มติที่ประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (Bank of Japan) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ร้อยละ 0.1 (เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2554) เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นเริ่มฟื้นตัวจากปัญหาภัยพิบัติ แต่ปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทยส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่น เพื่อกระตุ้นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจึงคงอัตราดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับต่ำต่อไป

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2555 IMF คาดว่า GDP จะขยายตัวร้อยละ 2.3 ขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2554 อันเป็นผลมาจากการฟื้นตัวจากผลกระทบของภัยพิบัติในปี 2554

เศรษฐกิจสหภาพยุโรป(5)

เศรษฐกิจสหภาพยุโรปในปี 2554 IMF คาดว่า GDP ขยายตัวร้อยละ 1.6 ในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมา GDP ขยายตัวร้อยละ 1.8 ภาวะเศรษฐกิจสหภาพยุโรปในไตรมาส 3 ปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 1.4 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2553 ซึ่งขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 2.4 การบริโภคในไตรมาส 3 ปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 0.1 ลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ปี 2553 ที่ขยายตัวร้อยละ 1.0 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ระดับ 101.0 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ระดับ 95.4

หมายเหตุ

(4) - www.cao.go.jp www.boj.or.jp www.stat.go.jp www.ceicdata.com www.imf.org

(5) - ที่มา eurostat, www.ecb.int www.ceicdata.com www.imf.org

การส่งออกในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 15.8 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 22.1 การนำเข้าในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวร้อยละ 14.8 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 23.8

ภาวะเงินเฟ้อของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาของปี 2554 มีอัตราเงินเฟ้อโดยทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ 2.7 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.5 อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 3.0 สาเหตุที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเป็นผลจากราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่เพิ่มขึ้น อัตราการว่างงานในช่วง 10 เดือนที่ผ่านมาอยู่ที่ร้อยละ 9.6 เท่ากับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า อัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2554อยู่ที่ร้อยละ 9.9

ทางด้านสถานการณ์การเงิน ธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 1.25 เป็นร้อยละ 1.0 (เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2554) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัวอย่างรุนแรง

อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจสหภาพยุโรปในปี 2555 IMF คาดว่า GDP จะขยายตัวร้อยละ 1.1 ขยายตัวลดลงจากปี 2554 จากปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น และอัตราการว่างงานที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ยังคงกดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจสหภาพยุโรป

เศรษฐกิจเอเชีย(6)

เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคเอเชียในปี 2554 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวร้อยละ 6.2 ต่ำกว่าในปี 2553 ที่เศรษฐกิจขยายตัวร้อยละ 8.2 เศรษฐกิจเอเชียขยายตัวในระดับปานกลาง และมีขนาดของการขยายตัวชะลอลง เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ทั้งการเกิดวิกฤติหนี้สาธารณะในยุโรป และปัญหาการเงินในสหรัฐฯ ส่งผลให้ความต้องการภายนอกชะลอตัวลง ซึ่งเห็นได้จากการส่งออกของประเทศในภูมิภาคที่ขยายตัวชะลอลง อย่างไรก็ตามความต้องการภายในประเทศที่เข้มแข็งจะเป็นปัจจัยเกื้อหนุนให้เศรษฐกิจเอเชียยังคงขยายตัว

ทั้งนี้ IMF คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจในปี 2555 ของภูมิภาคเอเชียว่าจะขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 6.6 และมีอัตราเงินเฟ้อร้อยละ 4.0 ลดลงจากปี 2554 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.3

ฮ่องกง(7)

เศรษฐกิจประเทศฮ่องกง ในปี 2554 IMF คาดการณ์ว่าทั้งปี GDP จะขยายตัวร้อยละ 6.0 โดยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2554 เศรษฐกิจฮ่องกงขยายตัวร้อยละ 5.7 ภาวะเศรษฐกิจฮ่องกงในไตรมาส 3 ปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 4.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวชะลอลงจากการส่งออกที่ชะลอตัวตามความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามการบริโภค และการลงทุนในประเทศยังเป็นปัจจัยเกื้อหนุนเศรษฐกิจที่สำคัญ

การส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 12.6 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 24.7 การส่งออกไปจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของฮ่องกง (คิดเป็นสัดส่วน ร้อยละ 52.9 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของฮ่องกง) ขยายตัวร้อยละ 13.3 ขยายตัวชะลอลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 33.1 การนำเข้าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 14.5 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 29.2

หมายเหตุ

(6) - ที่มา : www.imf.org

(7) - ที่มา : www.imf.org www.censtatd.gov.hk www.fpo.go.th www.gtis.com/gta www.ceicdata.com

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศฮ่องกง ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 มีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปร้อยละ 5.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 5.8 อยู่ในระดับที่ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โดยเฉพาะราคาน้ำมันมีเสถียรภาพมากขึ้น อัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาลในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.5 อัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 อัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มภาพรวมปี 2555 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจฮ่องกงจะขยายตัวร้อยละ 4.3 เป็นการขยายตัวชะลอลงจากปี 2554 โดยมีอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ร้อยละ 4.5 ลดลงจากในปี 2554 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 5.5

เศรษฐกิจเกาหลีใต้(8)

เศรษฐกิจประเทศเกาหลีใต้ ในปี 2554 IMF คาดการณ์ว่าทั้งปี GDP จะขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2554 เศรษฐกิจเกาหลีใต้ขยายตัวร้อยละ 3.7 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 6.8

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ระดับ 148.9 ขยายตัวร้อยละ 7.6 โดยดัชนีในเดือนตุลาคม 2554 ขยายตัวร้อยละ 6.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

การส่งออกในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 21.2 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 29.8 การส่งออกไปยังตลาดสำคัญขยายตัวชะลอลง โดยตลาดส่งออกอันดับหนึ่งของเกาหลีใต้ได้แก่ ตลาดจีน การนำเข้าในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 25.8 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 32.9

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศเกาหลีใต้ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 มีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปร้อยละ 4.4 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.9 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 3.9 ปรับตัวต่ำสุดในรอบ 10 เดือน จากราคาอาหารที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ อัตราการว่างงานในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 3.5 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ ร้อยละ 3.8 อัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 2.9 ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

ทางด้านสถานการณ์การเงิน เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2554 ธนาคารกลางเกาหลีใต้ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.25 จากแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อที่เริ่มลดลง รวมถึงมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก

สำหรับแนวโน้มภาพรวมปี 2555 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจเกาหลีใต้จะขยายตัวร้อยละ 4.4 เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2554 โดยมีอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ร้อยละ 3.5 ลดลงจากในปี 2554 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.5

หมายเหตุ

(8) - ที่มา : www.imf.org www.bok.or.kr ecos.bok.or.kr www.fpo.go.th www.gtis.com/gta www.ceicdata.com

เศรษฐกิจสิงคโปร์(9)

เศรษฐกิจประเทศสิงคโปร์ ในปี 2554 IMF คาดการณ์ว่าทั้งปี GDP จะขยายตัวร้อยละ 5.3 โดยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2554 เศรษฐกิจสิงคโปร์ขยายตัวร้อยละ 5.5 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 15.5 และในไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 เศรษฐกิจสิงคโปร์ซึ่งมีการพึ่งพา การส่งออกสูง มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก รวมถึงภาคการผลิตอุตสาหกรรมที่อาจชะลอตัวลงจากการผลิตสินค้าในกลุ่มเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ที่ลดลงตามภาวะถดถอยของตลาดอิเล็กทรอนิกส์โลก

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ระดับ 130.3 ขยายตัวร้อยละ 8.7 โดยดัชนีในเดือนตุลาคม 2554 ขยายตัวร้อยละ 24.4 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

การส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 19.8 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 33.7 การส่งออกไปยังตลาดสำคัญอย่างมาเลเซีย ฮ่องกง อินโดนีเซีย และจีนขยายตัวชะลอลง การนำเข้าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 20.0 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 30.1

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศสิงคโปร์ ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 มีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปร้อยละ 5.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.6 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 5.4 จากราคาต้นทุนที่พักอาศัย การคมนาคม และราคาอาหารที่เพิ่มสูงขึ้นเป็นสำคัญ อัตราการว่างงานหลังจากปรับฤดูกาล ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 2.0 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.2

สำหรับแนวโน้มภาพรวมปี 2555 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจสิงคโปร์จะขยายตัวร้อยละ 4.3 เป็นการขยายตัวชะลอลงจากปี 2554 โดยมีอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ร้อยละ 2.9 ลดลงจากในปี 2554 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.7

เศรษฐกิจอินโดนีเซีย(10)

เศรษฐกิจประเทศอินโดนีเซีย ในปี 2554 IMF คาดการณ์ว่าทั้งปี GDP จะขยายตัวร้อยละ 6.4 โดยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2554 เศรษฐกิจอินโดนีเซียขยายตัวร้อยละ 6.5 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 5.8 เศรษฐกิจอินโดนีเซียยังขยายตัวได้ดีอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ใน ไตรมาสสุดท้ายของปี 2554 เศรษฐกิจยังได้รับแรงเกื้อหนุนจากการบริโภคของครัวเรือนภายในประเทศที่ยังเข้มแข็ง รวมถึงการส่งออกที่ยังขยายตัวได้ดี

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ระดับ 140.1 ขยายตัวร้อยละ 5.6

การส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 37.5 ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 38.3 การนำเข้าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 33.5 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 42.4

หมายเหตุ

(9) - ที่มา : www.imf.org www.singstat.gov.sg www.gtis.com/gta www.ceicdata.com

(10 )- ที่มา : www.imf.org www.bi.go.id www.bot.or.th www.ceicdata.com

ภาวะเงินเฟ้อของอินโดนีเซีย ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 มีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปร้อยละ 5.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.8 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนตุลาคม 2554 อยู่ที่ร้อยละ 4.4 อัตราเงินเฟ้อชะลอลงอย่างต่อเนื่อง

ทางด้านสถานการณ์การเงิน เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2554 ธนาคารกลางอินโดนีเซียประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากร้อยละ 6.5 มาอยู่ที่ระดับร้อยละ 6.0 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดตั้งแต่ปี 2554 ทั้งนี้เนื่องจากธนาคารกลางอินโดนีเซียมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก ประกอบกับแรงกดดันทางด้านเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่อง

สำหรับแนวโน้มภาพรวมปี 2555 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินโดนีเซียจะขยายตัวร้อยละ 6.3 เป็นการขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยจากปี 2554 โดยมีการคาดการณ์ว่าจะเกิดอัตราเงินฝืดที่ร้อยละ 0.4 ทั้งนี้ในปี 2554 คาดว่าจะมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ระดับร้อยละ 0.2

เศรษฐกิจมาเลเซีย(11)

เศรษฐกิจประเทศมาเลเซีย ในปี 2554 IMF คาดการณ์ว่าทั้งปี GDP จะขยายตัวร้อยละ 5.2 โดยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2554 เศรษฐกิจมาเลเซียขยายตัวร้อยละ 5.1 ภาวะเศรษฐกิจมาเลเซียใน ไตรมาส 3 ปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 5.8 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากภาคการบริการ และภาค การผลิตที่ขยายตัว ขณะที่ทางฝั่งด้านอุปสงค์มีการบริโภคภายในประเทศ และการลงทุนเป็นปัจจัยเกื้อหนุนสำคัญ

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ระดับ 117.2 ขยายตัวร้อยละ 4.7 โดยดัชนีในเดือนตุลาคม 2554 ขยายตัวร้อยละ 6.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน จากการผลิตสินค้าในกลุ่มปิโตรเลียม เคมีภัณฑ์ ยาง และผลิตภัณฑ์พลาสติก รวมถึงสินค้าแร่นอกกลุ่มโลหะ โลหะขั้นพื้นฐาน และผลิตภัณฑ์โลหะที่ขยายตัวเป็นแรงเกื้อหนุน

การส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 16.4 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 31.8 การนำเข้าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 16.8 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 38.6

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศมาเลเซีย ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 มีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปร้อยละ 3.2 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 1.6 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายน 2554 อยู่ที่ร้อยละ 3.4 เงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า และคาดว่าจะทรงตัวต่อเนื่องในช่วงที่เหลือของปี 2554 อัตราการว่างงานในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ร้อยละ 3.1 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.3 อัตราการว่างงานในเดือนกันยายน 2554 อยู่ที่ร้อยละ 3.3

ทางด้านสถานการณ์การเงิน เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2554 ธนาคารกลางมาเลเซียประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.0 เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอน

สำหรับแนวโน้มภาพรวมปี 2555 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจมาเลเซียจะขยายตัวร้อยละ 5.1 เป็นการขยายตัวชะลอลงเล็กน้อยจากปี 2554 โดยมีอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ร้อยละ 2.5 ลดลงจากในปี 2554 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 3.2

หมายเหตุ

(11) - ที่มา : www.imf.go.th www.bnm.gov.my www.statistics.gov.my www.bangkokbank.com www.ceicdata.com

เศรษฐกิจฟิลิปปินส์(12)

เศรษฐกิจประเทศฟิลิปปินส์ ในปี 2554 IMF คาดการณ์ว่าทั้งปี GDP จะขยายตัวร้อยละ 4.7 โดยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2554 เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ขยายตัวร้อยละ 3.6 ภาวะเศรษฐกิจฟิลิปปินส์ในไตรมาส 3 ปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ระดับ 93.3 ขยายตัวร้อยละ 5.3 โดยดัชนีในเดือนกันยายน 2554 ขยายตัวร้อยละ 1.3 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

การส่งออกในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 หดตัวร้อยละ 2.9 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวถึงร้อยละ 38.6 การนำเข้าในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 13.9 ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 26.1

ภาวะเงินเฟ้อของประเทศฟิลิปปินส์ ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 มีอัตราเงินเฟ้อทั่วไปร้อยละ 4.3 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 4.1 ทั้งนี้อัตราเงินเฟ้อในเดือนกันยายน 2554 อยู่ที่ร้อยละ 4.6

ทางด้านสถานการณ์การเงิน เดือนพฤศจิกายน 2554 ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ประกาศคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.5 จากแรงกดดันด้านเงินเฟ้อเริ่มชะลอลง รวมถึงมีความกังวลเกี่ยวกับความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจโลก

สำหรับแนวโน้มภาพรวมปี 2555 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจฟิลิปปินส์จะขยายตัวร้อยละ 4.9 เป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นจากปี 2554 โดยมีอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ร้อยละ 4.1 ลดลงจากในปี 2554 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 4.5

เศรษฐกิจอินเดีย(13)

เศรษฐกิจประเทศอินเดีย ในปี 2554 IMF คาดการณ์ว่าทั้งปี GDP จะขยายตัวร้อยละ 7.8 โดยในช่วง 3 ไตรมาสที่ผ่านมาของปี 2554 เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวร้อยละ 7.5 ภาวะเศรษฐกิจอินเดียในไตรมาส 3 ปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 6.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2554 อยู่ที่ระดับ 181.3 ขยายตัวร้อยละ 6.6 โดยดัชนีในเดือนกันยายน 2554 ขยายตัวร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน

ทางด้านสถานการณ์การเงิน เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2554 ธนาคารกลางอินเดียประกาศขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยปรับขึ้น Repo Rate จากร้อยละ 8.25 เป็นร้อยละ 8.50 และปรับขึ้น Reverse Repo Rate จากร้อยละ 7.25 เป็นร้อยละ 7.50 เนื่องจากระดับอัตราเงินเฟ้อ และระดับอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ยังคงอยู่ในระดับสูง

สำหรับแนวโน้มภาพรวมปี 2555 IMF คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจอินเดียจะขยายตัวร้อยละ 7.5 เป็นการขยายตัวชะลอลงจากปี 2554 โดยมีอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์ร้อยละ 8.6 ลดลงจากในปี 2554 ที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 10.6

หมายเหตุ

(12) - ที่มา : www.imf.go.th www.fpo.go.th www.gtis.com/gta www.ceicdata.com

(13 )- ที่มา : www.imf.org www.bot.or.th www.ceicdata.com

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ