สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2554 และแนวโน้มปี 2555(อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 18, 2012 15:53 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ของประเทศไทยมีผู้ประกอบเป็นจำนวนมาก และมีความหลากหลายของประเภทผลิตภัณฑ์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากเคมีภัณฑ์เป็นผลิตภัณฑ์ที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปในอุตสาหกรรมต่างๆ และผลิตภัณฑ์เคมีพื้นฐานก่อให้เกิดการผลิตต่อเนื่องในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นปลายอื่นๆ

โครงสร้างการผลิต

ผู้ประกอบการ

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นปลาย โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 75 สำหรับอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นปลายเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้เงินลงทุนต่ำ ในขณะที่อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้เงินลงทุนสูง

โครงสร้างต้นทุนการผลิต

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานใช้วัตถุดิบและพลังงานค่อนข้างสูง แต่มีการใช้แรงงานต่ำ เช่น ในการผลิตโซเดียมไฮดรอกไซด์ และคลอรีนเหลว มีสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบร้อยละ 45 พลังงานร้อยละ 50 และแรงงานร้อยละ 5 เป็นต้น

สำหรับอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ขั้นปลายมีการใช้วัตถุดิบค่อนข้างสูง เช่นในการผลิต สี สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี ผงซักฟอก และเครื่องสำอาง มีสัดส่วนต้นทุนวัตถุดิบร้อยละ 82, 80-90, 85, 73 และ 70 ตามลำดับ

ทั้งนี้ วัตถุดิบส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และการผลิตเคมีภัณฑ์ขั้นพื้นฐานเป็นกิจการที่ต้องผลิตตลอด 24 ชั่วโมง

การตลาด

ในปี 2554 การนำเข้าเคมีภัณฑ์ (พิกัด 28-38 ยกเว้น 30 35 และ 36) มีมูลค่ารวมประมาณ 4.67 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.62 เมื่อเทียบกับปีก่อน สำหรับการส่งออกเคมีภัณฑ์ (พิกัด 28-38 ยกเว้น 30 35 และ 36) มีมูลค่ารวม 2.03 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.89 เมื่อเทียบกับปีก่อน ดุลการค้าเคมีภัณฑ์ขาดดุล 2.64 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.42 เมื่อเทียบกับปีก่อน

การส่งออก

ในปี 2554 การส่งออกเคมีภัณฑ์อินทรีย์มีมูลค่าประมาณ 21,184 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 35.86 เมื่อเทียบกับปีก่อน เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ดมีมูลค่าส่งออกประมาณ 24,542 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 0.47 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนเครื่องสำอางหรือสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกายมีมูลค่าส่งออกประมาณ 55,986 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.32 เมื่อเทียบกับปีก่อน อุตสาหกรรมปุ๋ยเคมี มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 3,967 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 41.78 เมื่อเทียบกับปีก่อน และอุตสาหกรรมสี มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 14,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.47 เมื่อเทียบกับปีก่อน

การนำเข้า

การนำเข้าเคมีภัณฑ์อนินทรีย์ในปี 2554 มีมูลค่าประมาณ 53,340 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 28.26 เมื่อเทียบกับปีก่อน เคมีภัณฑ์เบ็ดเตล็ดมีมูลค่านำเข้าประมาณ 98,867 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.17 เมื่อเทียบกับปีก่อน ส่วนปุ๋ยมีมูลค่านำเข้าประมาณ 90,502 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 40.44 เมื่อเทียบกับปีก่อน อุตสาหกรรมเครื่องสำอางมูลค่านำเข้าประมาณ 29,588 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.04 เมื่อเทียบกับปีก่อน และอุตสาหกรรมสีมูลค่านำเข้าประมาณ 45,184 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.94

สรุปภาวะอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ปี 2554 และแนวโน้มปี 2555

อุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2554 คาดว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการสินค้าอุปโภค บริโภคที่ใช้ในการฟื้นฟูหลังจากผ่านพ้นวิกฤตปัญญาน้ำท่วมหนักที่ลุกลามไปหลายพื้นที่ของประเทศ สำหรับปี 2555 คาดว่า การเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมน่าจะอยู่ในทิศทางเพิ่มขึ้น แต่ทั้งนี้มีปัจจัยสำคัญที่ควรจับตามอง ได้แก่ การปรับเพิ่มค่าแรงงานขั้นต่ำของประเทศ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบาง ผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจของยุโรป และภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกา ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งปัญหาราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ