สรุปภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ปี 2554 และแนวโน้มปี 2555(อุตสาหกรรมปิโตรเคมี)

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 19, 2012 14:40 —สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม

ภาวะอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ปี 2554

สถานการณ์ปี 2554 มูลค่าการนำเข้าและส่งออกปิโตรเคมีของไทยทั้งขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลายในช่วงสิบเดือนของปี 2554 มีอัตราการขยายตัวดีขึ้นกว่าช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของความต้องการใช้สินค้าและบริการที่ปรับตัวดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชีย และเศรษฐกิจภายในประเทศ ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าต่างๆ กลับมาอีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มบรรจุภัณฑ์ และกลุ่มสิ่งทอ ขณะที่กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มยานยนต์มีการขายตัวตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้มีการนำเข้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้าเพื่อรองรับการขยายตัวของความต้องการสินค้าภายในประเทศและการส่งออก

เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้าปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย ในปี 2554 คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 19,411.40, 35,449.34 และ 112,838.56 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมูลค่าการนำเข้าปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลายขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 33.02, 0.22 และ 15.20 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน ทางด้านมูลค่าการส่งออกปิโตรเคมีขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นปลาย คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 59,122.83, 64,009.68 และ 250,729.34 ล้านบาท ตามลำดับ โดยมูลค่าการส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 61.39, 33.43 และ 35.76 ตามลำดับ เมื่อเทียบกับปีก่อน

แนวโน้มปี 2555

สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยในปี 2555 นั้นคาดว่าจะยังคงมีอัตราการเติบโตดีต่อเนื่องจากการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำท่วมที่คาดว่ามาตรการต่างๆ จากภาครัฐจะเริ่มเป็นรูปธรรมตั้งแต่ในช่วงต้นปี 2555 นำโดยการฟื้นฟูและการกระตุ้นความเชื่อมั่นของภาคการผลิต ขณะที่ภาคเอกชนและภาคครัวเรือนก็จะมีการใช้จ่ายเพื่อฟื้นฟูกิจการและที่อยู่อาศัยหลังน้ำลดมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้สินค้าเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายในการกระตุ้นการใช้จ่ายภายในประเทศ (มาตรการปรับเพิ่มรายได้) ขณะที่ปัญหาวิกฤตการณ์ด้านการเงินของสหรัฐฯ และหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปนั้นคาดว่าจะไม่กระทบต่ออุตสาหกรรมปิโตรเคมีไทยมากนักเนื่องจากตลาดหลักๆ อยู่ในภูมิภาคเอเชีย โดยตลาดที่น่าจับตาคือตลาดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ อาทิ จีน อินเดีย เวียดนาม ซึ่งเป็นตลาดที่มีอัตราการขยายตัวของความต้องการสินค้าสูง ส่งผลให้ความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีเพื่อเป็นวัตถุดิบในการผลิตมีสูงตามไปด้วย

ประเด็นสำคัญในอุตสาหกรรมที่ต้องติดตาม

ปัจจัยภายในประเทศ

-ผลกระทบจากน้ำท่วมที่มีต่อเศรษฐกิจ

-กระบวนการฟื้นฟูประเทศหลังน้ำลด

-นโยบายและมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศ เช่น มาตรการปรับเพิ่มรายได้ o

-ปัญหาความขัดแย้งภายในประเทศ

ปัจจัยภายนอก

-ปัจจัยเสี่ยงจากปัญหาเศรษฐกิจในต่างประเทศทั้งวิกฤตการเงินของสหรัฐฯ และวิกฤตเศรษฐกิจหนี้สาธารณะในสหภาพยุโรปที่ยังไม่มีทางออกที่ชัดเจน ซึ่งอาจส่งผลให้เศรษฐกิจโลกประสบภาวะชะลอตัวอีกครั้ง ขณะที่การฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมายังไม่แข็งแกร่งพอ นอกจากนี้ยังอาจส่งผลต่อภาคการส่งออกของประเทศ

มาตรการหรือโครงการที่สำคัญที่จะกระตุ้นและขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมในแต่ละสาขา

-โครงการจัดทำยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่ง สศอ. ดำเนินการศึกษาในปี 2554 ผลที่ได้รับ ประกอบด้วย ยุทธศาสตร์/แนวทางในการพัฒนาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของประเทศ ที่สามารถนำไปใช้ได้ทั้งระดับมหภาคและจุลภาค สามารถนำไปประกอบการกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติได้ทั้งภาครัฐ ภาคเอกขน และทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

--สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร--

-พห-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ